เลื่อนสงกรานต์! ไม่จัดงาน! คนไทยจะทำอะไรดี
ย้อนภาพความทรงจำ สงกรานต์ของทุกปี เราต้องเห็นประเพณีวันไหล คนแห่มาเล่นสงกรานต์ หนุ่มสาวแต่งชุดสีสันลายดอก มาพร้อมแป้ง ขันน้ำ ปืนฉีดน้ำ เด็กๆทั้งหลายยิ้มกันหน้าบานเพราะว่าได้เล่นน้ำ สาดน้ำ คลายร้อน เพราะหนึ่งปีจะมีแค่ครั้งเดียว
สงกรานต์จึงถือเป็นเทศกาลที่คึกคักที่สุดของคนไทยก็ว่าได้ แต่ปีนี้นั่นแตกต่างเนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่เริ่มกันมาตั้งแต่ต้นปี 2563 และยาวนานต่อเนื่องมาถึงตอนนี้ และดูท่าว่าระดับความรุนแรงจะยังมีต่อเนื่องถึงขนาดที่ตอนนี้รัฐบาลมีประกาศ “เลื่อนงานสงกรานต์ออกไป”
มาตรการเลื่อนงานสงกรานต์ออกไปแม้หลายคนจะรู้ดีว่าประเพณีสงกรานต์อยู่คู่ประวัติศาสตร์ไทยมานานกว่า 100 ปี แต่ด้วยสถานการณ์ที่แตกต่างของปีนี้ การเลื่อนงานสงกรานต์จึงน่าจะเป็นผลดีกับทุกฝ่ายมากกว่า
www.ThaiSMEsCenter.com เข้าใจความรู้สึกของทุกคนในช่วงนี้ที่ 1 ปีจะมีเทศกาลใหญ่สักครั้งก็ต้องมาถูกCOVID 19 เล่นงานและยังไม่รู้ด้วยว่างานสงกรานต์ในปีนี้จะไปจัดช่วงไหนหรือไม่ก็ยกเลิกไปเริ่มกันใหม่อีกทีปีหน้าเลย
ก่อนจะเลื่อนสงกรานต์! งานเทศกาล ประกาศงดจัดไปแล้ว!
ภาพจาก Freepik
ในช่วงที่ยังไม่ชัดเจนว่าวันหยุด 13-15 เมษายน จะยังมีเหมือนเดิมหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ การจัดงาน “สงกรานต์” ในพื้นที่ต่างๆ ถูกยกเลิกไปจำนวนมาก ซึ่งก็คือเรื่องดีที่แม้ปีนี้เราจะไม่ได้สนุกสนานตามเทศกาลที่ควรจะเป็น แต่ก็เป็นมาตรการป้องกัน “ที่ดีที่สุด” เรียกว่า “ยอมจบแต่ไม่ยอมเจ็บ” เพราะหากดื้อดึงจัดงานในสถานการณ์แบบนี้อัตราความเสี่ยงที่จะแพร่ระบาดนั้นถือว่าสูงมาก
นำร่อง งดจัดงานประกาศเป็นเจ้าแรกคือ งานสงกรานต์ที่ถนนข้าวเหนียวจังหวัดขอนแก่นและ เทศกาลวันไหลที่ชลบุรี หลังจากนั้นอีกไม่กี่วันต่อมา กรุงเทพมหานครก็ประกาศงดจัดกิจกรรมสงกรานต์ที่ถนนสีลม ถนนข้าวสาร และบริเวณราชประสงค์ รวมถึงงดจัดกิจกรรมอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์แห่ขบวนรอบกรุงให้ประชาชนสรงน้ำขอพร แม้กระทั่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็ออกมาสนับสนุนแนวคิดงดจัดงานสงกรานต์และคิดว่าควรเลื่อนกิจกรรมทุกอย่างออกไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายมากขึ้น
ความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ “เห็นด้วย” กับการงดจัดงานซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ถึงแม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจตอนนี้จะซบเซาอย่างหนัก และประเพณีสงกรานต์ก็เคยเป็นเทศกาลที่สร้างรายได้มหาศาลและดึงเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามาได้จำนวนมาก แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นแตกต่าง เราจะมามัวคิดถึงแต่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ ปัญหาเฉพาะหน้าตอนนี้คือ “ควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID 19 ให้ได้” ซึ่งมาตรการของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาถือว่าไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ จากที่คิดว่า “เอาอยู่” แต่ตอนนี้เริ่มที่จะ “เอาไม่อยู่” แต่อย่างน้อยการมีมาตรการแรงๆ ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไร การกล้าคิดกล้าตัดสินใจแบบเด็ดขาดจึงเหมาะกับสถานการณ์ในช่วงนี้อย่างมาก
ประกาศเลื่อนงานสงกรานต์ 13-14-15 มาทำงานปกติ
ภาพจาก khaosod
ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เสนอให้ปิดผับทั่วประเทศ รวมทั้ง โรงภาพยนต์ สนามม้า สนามมวย สนามกีฬา รวมทั้งเลื่อนเปิดสถานศึกษา รวมถึงเลื่อนการจัดงานสงกรานต์ออกไป ดังนั้น 13-14-15 เมษายน ที่เราเคยได้หยุดยาวกัน ปีนี้จะไม่เป็นยังงั้นเพราะประกาศให้เป็นวันทำงานตามปกติ คำถามที่ตามมาก็คือ “เลื่อนจัดสงกรานต์แล้วจะแก้ปัญหาได้จริงหรือ?”
บรรดานักวิชาการ หรือบรรดาคุณหมอและผู้มีความรู้ต่างก็ออกมาให้ความเห็นเรื่องนี้และมองว่าการเลื่อนงานสงกรานต์เป็นแค่มาตรการหนึ่งในการลดการเดินทางของคน แต่อย่าลืมว่าคนไทยอีกส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นพนักงานออฟฟิศ ไม่ได้เป็นข้าราชการ และคนเหล่านี้ยังพร้อมจะเดินทางกลับภูมิลำเนาเช่นเคย เพียงแต่ปริมาณของผู้คนที่เดินทางอาจจะลดน้อยลง แต่ก็ยังมีการเดินทางเกิดขึ้นอยู่ดี สิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันคือมาตรการในการป้องกันที่มีมากกว่า เลื่อนการจัดงานสงกรานต์
แต่หลายคนก็แสดงความเห็นอีกว่า อย่างน้อยได้ลงมือออกมาตรการอะไรมาบ้างก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ช่วยได้บ้างก็ยังดีกว่าช่วยไม่ได้เลย แต่เชื่อว่าคนไทยอีกจำนวนมากจะได้รับผลกระทบกับเรื่องนี้หลายคนวางแผนเดินทางกลับบ้าน จองตั๋วล่วงหน้า ซึ่งทุกอย่างเมื่อประกาศไม่ใช่วันหยุดจึงต้องเปลี่ยนแผนหรือล้มเลิกกันไปโดยปริยาย
สงกรานต์ไม่ใช่สงกรานต์ แล้วคนไทยจะทำอะไรดี
1. กักตัวอยู่กับบ้าน
ภาพจาก Freepik
ช่วงนี้เราต้องพูดถึง “หยุดอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ลดกิจกรรมทางสัมคมทุกอย่าง สอดคล้องกับมาตรการของภาครัฐที่มีการกำหนด พรก.ฉุกเฉินและตามมาด้วยการประกาศเคอร์ฟิวในในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. แม้แต่สถานีขนส่งก็มีการงดจำหน่ายตั๋วเดินทาง สายการบินก็ประกาศหยุดบินชั่วคราว บางจังหวัดก็มีการล็อคดาวน์ตัวเอง ทำให้สงกรานต์ปีนี้เรา จะได้เห็นอีกมุมหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องอยู่กับบ้านมากกว่าออกไปทำกิจกรรมข้างนอก
2. ทำงาน
ภาพจาก Freepik
แม้จะมีหลายบริษัทที่ให้พนักงาน Work From Home แต่บางแห่งก็ยังต้องไปทำงานเหมือนเดิมแม้จะรู้สึกแปลกที่ทุกปี 13-14-15 เมษายน เราจะได้หยุดยาว ถ้าปีนี้ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น บางคนวางแผนหยุดยาวกันไม่ต่ำกว่า 10 วันเลยทีเดียว แต่เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนี้ก็ต้องทำใจและยอมรับความจริงดังนั้นเมื่อไม่ใช่วันหยุดก็ต้อง “ทำงาน” หรือถ้าไม่อยากทำงาน ก็ต้อง “ลาหยุด” กันเอง
3. รดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่
ภาพจาก bit.ly/2VacJmh
แม้ประกาศเลื่อนการจัดงานสงกรานต์ออกไปและ 13-15 เมษายน ไม่ใช่วันหยุด แต่ในความรู้สึกว่าเดือนเมษายนเป็นเดือนแห่งสงกรานต์เราก็ยังรู้สึกแบบนั้นอยู่ และหนึ่งในประเพณีดีงามที่เราไม่ควรละเลยคือ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ซึ่งถ้าหากเราไม่ได้เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงนี้ก็รดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ที่เรารู้จักและอยู่ใกล้ๆ หรืออาจจะเปลี่ยนจากการใช้น้ำธรรมดามาเป็นการใส่เจลล้างมือให้ผู้หลักผู้ใหญ่ใช้ฆ่าเชื้อโรคแทนก็ได้
4. เข้าวัดใส่บาตร (แล้วกลับบ้าน)
ภาพจาก bit.ly/2XkAMBU
หลายวัดก็ยังคงมีกิจกรรมทำบุญกันเช่นเคยเพียงแต่อาจจะไม่คึกคักเหมือนทุกปีรวมถึงอาจจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำบุญจากที่ไปรวมกันตักบาตร อาจจะแค่เอาข้าวเอาขนมไปใส่บาตรที่วัดแล้วก็กลับเข้าบ้านเพื่อเป็นการลดการพบปะและชุมนุม อย่างไรก็ดีเชื่อว่าในช่วงสงกรานต์แม้หลายคนจะกลัว COVID-19 แต่ในช่วงเวลาแบบนี้ในฐานะที่เราเป็นเมืองพุทธและเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเองและครอบครัวร่วมถึงอาจทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติสนิทมิตรสหายที่ล่วงลับไปแล้ว
5. สาดน้ำสงกรานต์กันในครอบครัว
ภาพจาก bit.ly/2JPxgri
เมื่อทุกที่ประกาศงดจัดงานสงกรานต์ เพื่อให้เราไม่รู้สึกว่าเดือนเมษายนปีนี้เงียบเหงาจนเกินไป ก็จัดการเล่นน้ำกันในครอบครัว มีพ่อแม่ ลูกหรือญาติๆ ก็เล่นกันเป็นกลุ่มเล็กๆ มีปืนฉีดน้ำ กะละมัง ขันน้ำ ใช้พื้นที่บริเวณบ้านตัวเอง ไม่ต้องออกไปเล่นน้ำที่ไหน เพื่อลดความเสี่ยงในการเข้าสถานที่ชุมชน แถมการเล่นน้ำกันในครอบครัวยังเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นในครอบครัวได้ด้วย
6. จัดปาร์ตี้เล็กๆ ในครอบครัว
ภาพจาก Freepik
ถ้ากลัวจะเบื่อ จะเหงา เมษายนของทุกปีต้องได้สนุก ต้องได้เฮฮา แต่ปีนี้ทุกอย่างไม่เป็นใจ เราอาจเปลี่ยนแผนมาจัดเป็นงานปาร์ตี้เล็กๆ ในหมู่ญาติพี่น้อง ทำอาหารปิ้งย่าง สุกี้ ส้มตำ ไก่ย่าง รับประทานกันเอง อาจจะทำให้เราค้นพบความสุขในอีกรูปแบบ หลังจากที่ทุกปีเราจะไปสนุกนอกบ้าน ปีนี้ลองมาสนุกกันในบ้านดูบ้างก็น่าจะดีไม่น้อย
7. เยี่ยมญาติแบบออนไลน์
ภาพจาก Freepik
สังคมไทยชัดเจนในเรื่อง “ครอบครัวใหญ่” แต่ละบ้านมีญาติพี่น้อง ที่อาจจะอยู่ต่างจังหวัด อาศัยช่วงสงกรานต์ที่ทุกคนจะได้กลับบ้านปีละครั้ง แต่เมื่อมีสถานการณ์ของการแพร่ระบาด COVID-19 การกลับบ้านไปเยี่ยมญาติอาจกลายเป็นเราที่นำเชื้อโรคไปฝาก ดังนั้น ปีนี้ควรหันมาเยี่ยมญาติแบบออนไลน์ เช่น การ Video Call คุยกันที่อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นหน้าเห็นตาของญาติพี่น้อง แม้ตัวเราจะไม่ได้เดินทางไปเองก็ตาม
สถานการณ์ของ COVID-19 ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบ ต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรปที่ตอนนี้เหมือนจะกลายเป็นศูนย์กลางแพร่ระบาดแทนประเทศจีนไปแล้ว คาดการณ์ว่าผลกระทบจาก COVID-19 นี้รุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งที่เคยเจอ แต่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วก็ต้องหาวิธีรับมือและแก้ไข สำคัญคือทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน มีวินัยต่อสังคมมากขึ้นอย่าเห็นแก่ตัว การป้องกันที่ดีที่สุดต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อนไม่จำเป็นต้องไปรอให้ใครหน้าไหนมาช่วย
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
ขอบคุณข้อมูล
https://bit.ly/3d6PBxa , https://bit.ly/2Ubyh1r , https://bit.ly/33vrZ12 , https://bit.ly/3b2Yvdq
อ่านบทความเพิ่มเติม https://bit.ly/2VijVgc