เปิดสูตรต้นทุน ร้านหมูสะเต๊ะ ตั้งราคาแค่ไหน ไม่ให้เจ๊ง
“เมนูหมูๆ” ไม่ว่าจะหมูปิ้งข้าวเหนียว หรือว่า หมูสะเต๊ะ จุดเด่นคือเป็นอาหารทานง่ายๆ ราคาไม่แพง คนที่คิดอะไรไม่ออก ก็เลือกลงทุนกับร้านหมูปิ้งหรือหมูสะเต๊ะ เพราะเชื่อว่าไงก็ขายได้แน่ ไม้ละ 3 – 5 บาท ขายได้สักวันละ 100 ไม้ (ขายทั้งวันไม่ใช่แค่ช่วงเช้าหรือเย็น) รายได้ต่อวันก็ 300 – 500 บาท ขายทุกวัน 1 เดือน มีรายได้ 10,000 – 15,000 บาท
หักลบต้นทุนประมาณ 50% กำไรต่อเดือนก็น่าจะไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาท ถ้ายิ่งมีคนในครอบครัวร่วมด้วยช่วยกัน คนหนึ่งทำงานประจำ ให้อีกคนไปขายหมูปิ้ง หมูสะเต๊ะ เงินเดือนประจำ + กำไรจากการขายของ รายรับต่อเดือนน่าจะเกินกว่า 20,000 บาท
www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าถ้าเรามีสูตรสำเร็จตายตัวและคิดตามตรรกะง่าย ๆนี้ รายได้ก็น่าจะทำให้แฮปปี้กันถ้วนหน้า แต่ในความเป็นจริงที่ยิ่งกว่าละคร หลายคนลองขายหมูปิ้งหรือหมูสะเต๊ะ ผลปรากฏว่า ขาดทุนไม่เป็นท่า และก็พาลคิดไปว่า ธุรกิจนี้คู่แข่งเยอะ แม้ลูกค้าจะเยอะแต่เฉลี่ยแล้วลงทุนไม่คุ้มค่า บางคนเปิดร้านได้ไม่ถึงเดือนก็เลิกราล้มโต๊ะกันไป
ภาพจาก bit.ly/2XDhxno
สิ่งสำคัญและหัวใจของการทำหมูปิ้งหรือหมูสะเต๊ะ นอกจากคุณภาพสินค้า บริการที่ดี ความอดทนเอาใจใส่ สูตรการตั้งราคาให้เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญ บางคนตั้งราคาให้ถูกเข้าไว้เพื่อให้ลูกค้ามาซื้อ แม้จะขายได้ทีละมากๆ แต่พอรวมรายได้ปรากฏว่าขาดทุน ทั้งหมดนี้ก็เพราะเราตั้งราคาขายที่ผิดพลาด
โดยเฉพาะกับหมูสะเต๊ะที่เชื่อว่าหลายคนชอบมากๆ กับหมูสีเหลืองๆ ย่างในไฟอ่อนๆ กลิ่นหอมถูกใจ จิ้มกับอาจาดแสนอร่อยบางทีกินเพลินๆ เกินคนละ 10-20 ไม้ หลายคนบอกว่า “ขายหมูสะเต๊ะ” กำไรดี ซึ่งจะดีหรือไม่ดีคนลงทุนต้องรู้จักกับการคำนวณต้นทุนที่เหมาะสมด้วย
ภาพจาก bit.ly/2ZHWayE
ปัจจุบันการลงทุนกับหมูสะเต๊ะ ถ้าไม่คิดจะทำเอง เขาก็มีแฟรนไชส์มากมายให้เราเลือกเริ่มต้น ส่วนใหญ่ค่าแฟรนไชส์ในธุรกิจหมูสะเต๊ะจะอยู่ประมาณ 15,000 บาท ราคาต้นทุนที่ส่งวัตถุดิบพร้อมขายให้ลูกค้าส่วนใหญ่คือ
- ราคาส่งหมูสะเต๊ะไม้ละ 3 บาท (ราคานี้รวมทั้งน้ำจิ้มทั้ง 2 ชนิด) ราคาปลีก 5 บาท
- ขนมปังปอนด์ละ 30 บาท ( 1 ปอนด์สามารถแบ่งได้ 12-15 ชิ้น ชิ้นละ 5 บาท)
ภาพจาก bit.ly/2KFkmyc
โดยเฉลี่ยถ้าผู้ลงทุนขายได้ 300 ไม้ ภายใน 1 วันก็จะได้กำไรทันที 600 บาท หรือภายใน 1 เดือน ก็จะได้กำไรทันที 18,000 บาท หมายถึงถ้าลงทุน 15,000 บาท แค่ 1 เดือนก็คืนทุนมีกำไรเอาไปต่อยอดลงทุนเพิ่มได้
หรือบางคนไม่เลือกลงทุนแบบแฟรนไชส์แต่เลือกการทำหมูสะเต๊ะแบบออนไลน์ หรือขายส่งให้กับคนอยากขาย ตามข้อมูลจะพบว่าการขายแบบจัดส่งนี้ขั้นต่ำประมาณ 1,000 ไม้ขึ้นไป ราคาไม้ละ 3.50 บาท คนขายเอาไปบวกกำไรขายเพิ่มเองเป็นไม้ละ 5-7 บาท
หรือขายเป็นชุด ๆละ 30-40 บาท ก็แล้วแต่กลยุทธ์การขาย ซึ่งถือว่าการขายหมูสะเต๊ะแบบจัดส่งอาจทำให้บางคนมีรายได้ต่อเดือนเกินกว่า หลักหมื่นบาท แต่ความน่าสนใจคือ การตั้งราคาขาย เอาอะไรมาเป็นเกณฑ์เพื่อพิจารณาราคาขายต่อไม้ให้เหมาะสม
การตั้งราคาขายหมูสะเต๊ะ แบบไม่ให้เจ๊ง
ภาพจาก bit.ly/2X8x0wy
วิธีการคำนวณตั้งราคาขาย ไม่ใช่สักแต่ว่าจะเอาขายถูกเพื่อให้ขายได้มากๆ บางทีจะกลายเป็นเข้าเนื้อไม่รู้ตัว ขายไปเท่าไหร่ก็ไม่มีกำไร ทั้งที่สินค้ามีความต้องการของลูกค้ามาก ลองมาดูวิธีเบื้องต้นในการคำนวณราคาต่อไม้ของหมูสะเต๊ะแบบคร่าวๆ
ยกตัวอย่าง ซื้อหมูจากตลาด 1 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 150 บาท เอามาทำหมูสะเต๊ะได้ 50 ไม้ ต้นทุนส่วนนี้เท่ากับ 3 บาท เอามารวมกับต้นทุนวัตถุดิบอื่นๆที่นำมาประกอบจนเป็นหมูสะเต๊ะได้อย่างสมบูรณ์ บวกกับต้นทุนผันแปร ที่หมายถึง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบริหารจัดการต่างๆ
ภาพจาก bit.ly/2Xt4iG0
ราคาขายที่เราเห็นตามตลาดส่วนใหญ่จึงมีราคาหมูสะเต๊ะอยู่ที่ 5-7 บาท และเพื่อให้ได้กำไรมากก็ต้องเน้นขายในเชิงปริมาณในราคาที่ไม่ต่ำกว่านี้เพื่อให้มีกำไรมากขึ้น ส่วนใหญ่หมูสะเต๊ะเราจึงเห็นขายเป็นเซตชุดละ 30-40 บาท คล้ายกับการจัดโปรโมชั่นที่ทำให้ขายได้ทีละจำนวนมากๆ และได้กำไรจากการขายมากขึ้น
อย่างไรก็ดีต้นทุนที่แท้จริงก็ยังผันแปรกับค่าวัตถุดิบที่อาจไม่แน่นอนในแต่ละเดือน รวมถึงค่าเช่าพื้นที่ของผู้ลงทุนเองที่มีอัตราไม่เท่ากัน ไม่นับรวมเรื่องปริมาณการขายที่มีผลโดยตรงเพราะหากอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความต้องการสินค้าสูงอาจทำให้สามารถตั้งราคาขายได้ถูกกว่าพื้นที่ที่มีอัตราการซื้อน้อย เพื่อถัวเฉลี่ยให้ยอดขายในแต่ละวันมีกำไรได้มากขึ้น
ภาพจาก bit.ly/2YdQigt
เหนือสิ่งอื่นใดเรื่องของรสชาติและคุณภาพก็ยังเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะปริมาณหมูต่อไม้ หากรีดให้หมู 1 กิโลกรัมทำหมูสะเต๊ะได้จำนวนมากๆ อาจทำให้เรามีปริมาณสินค้าขายได้มากขึ้น
แต่คนกินจะรู้สึกว่าหมูสะเต๊ะเราปริมาณน้อยไม่มีคุณภาพสัมพันธ์กับราคาเขาก็จะเลือกไปรับประทานอาหารอย่างอื่นที่ราคาใกล้เคียงกันแต่อิ่มท้องได้มากกว่า ดังนั้นปริมาณหมูต่อไม้จึงควรให้สมเหตุสมผลและให้คนซื้อไม่รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบก็เป็นเทคนิคส่วนหนึ่งที่จะดึงให้ลูกค้าอยู่กับร้านหมูสะเต๊ะเราได้มากขึ้น
*** สูตรการคิดคำนวณราคาดังกล่าวนี้ มีตัวแปรที่ต้องเอามาคิดรวมกันอีกหลายอย่างทั้งค่าการตลาด ค่าเช่าพื้นที่ ต้นทุนผันแปรของแต่ละบุคคล ราคาเบื้องต้นจึงเป็นค่าประมาณการณ์ให้พอมองเห็นภาพและแนวทางในการคิดเบื้องต้น***
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ bit.ly/2Jf8ph8