เปิดร้านอาหารขนาดเล็ก ใช้เงินลงทุนเท่าไหร่?
การลงทุนใน ธุรกิจอาหาร นับว่าเป็นเทรนด์ยอดฮิตที่ไม่ว่ายุคไหนสมัยใดก็ยังขายได้ ทุกวันนี้มองไปรอบตัวเราเห็นร้านอาหารรายล้อมเต็มไปหมด ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ร้านริมทาง รถเข็น ฟู้ดคอร์ท คำถามที่น่าสนใจคือหากเราสนใจอยากทำธุรกิจร้านอาหารบ้างเราควรเริ่มต้นจากอะไร และควรมีเงินทุนแค่ไหน ถึงจะคุ้มค่า
www.ThaiSMEsCenter.com ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับแวดวงคนทำธุรกิจอยากเสนอเคล็ดลับเล็กน้อยเป็นข้อคิดสะกิดใจสำหรับคนที่อยากมีร้านอาหารของตัวเอง ว่าสิ่งสำคัญในการเริ่มต้นไม่ใช่แค่เงินทุน แต่มีเรื่องของแผนธุรกิจเข้ามาเกี่ยวด้วย แผนธุรกิจนี่แหละที่จะทำให้เรารู้ว่าเราต้องใช้เงินเท่าไหร่ ใช้ทำอะไร
ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าก่อนจะเริ่มต้นเปิดร้านได้ เงินของเราต้องใช้จ่ายกับอะไรบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราด้วยว่าคิดจะเปิดร้านอาหารใหญ่ หรือเล็ก รูปแบบบริการเป็นอย่างไร ยิ่งมีขนาดใหญ่ บริการมาก เงินทุนก็ยิ่งมาก แผนธุรกิจก็ยิ่งจำเป็น ในทางกลับกันหากเราเอาเงินทุนที่ตัวเองมีเป็นตัวตั้งแบบที่ไม่ต้องขอสินเชื่อเพิ่มเติมเราก็จะทราบได้เหมือนกันว่าร้านอาหารที่เราคิดจะทำนั้นมีขนาดแค่ไหน
สัดส่วนเงินลงทุนในธุรกิจร้านอาหาร
อย่างที่กล่าวไว้หากเราไม่แน่ใจว่าเงินทุนที่มีจะเพียงพอกับการเปิดร้านอาหารในระดับไหน ลองมาดูสัดส่วนเงินลงทุนที่ต้องใช้จะช่วยทำให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นโดยปกติทั่วไปสัดส่วนเงินลงทุนที่ใช้ในร้านอาหารคือ 14:10:76
1. 14% สำหรับการตกแต่งร้าน
ร้านอาหารก็จำเป็นที่ต้องมีโต๊ะ และอุปกรณ์ต่างๆอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า รวมถึงบรรยากาศร้าน แนะนำว่าถ้าเริ่นต้นใหม่ยังไม่ต้องลงทุนส่วนนี้มาก ให้ดูสะอาดไว้ก่อน ถ้าขายดีติดตลาดค่อยเอากำไรมาลงทุนส่วนนี้เพิ่มเติม
2. 10% สำหรับอุปกรณ์ในครัว
ห้องครัวคือหัวใจของร้านอาหาร ดังนั้นเราต้องมีอุปกรณ์ที่ครบถ้วน ในตอนเริ่มแรกเราอาจใช้เครื่องครัวในบ้านที่พอมีอยู่มาช่วยเสริมอันไหนยังไม่จำเป็นก็อย่าเพิ่งซื้อ จะได้ไม่กลายเป็นต้นทุนจม ร้านจะได้มีกำไรได้มากขึ้นอีกสักหน่อย
3. 76% สำหรับวัตถุดิบประกอบอาหาร
หรือคือเงินหมุนเวียนที่ส่วนใหญ่คือค่าวัตถุดิบในการประกอบอาหาร รวมถึงใช้จ่ายจิปาถะทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ เงินเดือนลูกจ้างค่าแก๊ส และค่าใช้จ่ายฉุกเฉินอื่นๆ
อย่างไรก็ดีเมื่อรู้สัดส่วนเงินที่จะใช้ลงทุนในร้านอาหาร ลองมาดูกันว่าเงินเก็บที่เรามีจะพอเปิดร้านอาหารได้ในระดับไหนและจะคุ้มค่าแค่ไหนกับการลงทุน
สมมุติว่าเรามีเงินเก็บสำหรับการเปิดร้านประมาณ 100,000 บาท แบบไม่ต้องกู้ยืมใคร ถ้าใช้สัดส่วนข้างต้นเราจะต้องแบ่งเงินสำหรับการตกแต่งร้าน 14,000 บาท ซึ่งในวงเงินประมาณนี้อาจทำให้ร้านอาหารเรามีโต๊ะรับลูกค้าได้ไม่เกิน 10 ที่
ก็ถือเป็นร้านขนาดเล็ก ส่วนต่อมาคือเงิน 10,000 บาท สำหรับการซื้ออุปกรณ์เครื่องครัว ซึ่งเราสามารถประหยัดในส่วนนี้จากอุปกรณ์เครื่องครัวที่เรามีอยู่เดิมได้ สุดท้ายคือเงินสดหมุนเวียนอีกประมาณ 76,000 บาท เป็นค่าวัตถุดิบ และใช้จ่ายจิปาถะต่างๆ
จะเห็นได้ว่าหากเรามีเงินทุนอยู่ที่ 100,000 บาท เราอาจจะเปิดร้านอาหารขนาดเล็กได้เท่านั้น อาจจะเป็นร้านอาหารตามสั่งทั่วไป หรือประเภทซื้อกลับบ้านเพราะจำนวนที่นั่งสำหรับรับลูกค้านั้นมีจำกัด ราคามาตรฐานของร้านอาหารขนาดเล็กนี้ราคาต่อเมนูควรประมาณ 30-50 บาท ถือว่าเหมาะสม
แน่นอนเช่นกันว่าหากเราคิดจะเปิดร้านที่ขนาดใหญ่กว่านี้ บริการที่ครบวงจรมากกว่านี้ วงเงินที่เราต้องใช้ก็ย่อมจะมากตามไปด้วย ที่สำคัญร้านยิ่งขนาดใหญ่ยิ่งต้องวางแผนธุรกิจให้รัดกุม
เพื่อนำแผนธุรกิจนี้ไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินมาลงทุนทำร้านอาหาร หรือหากไม่คิดจะกู้ยืมให้ต้องเสียดอกเบี้ย ก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละคนว่าจะบริหารจัดการอย่างไร เช่นการลงทุนร่วมกับเพื่อน การยืมเงินจากคนรู้จัก เป็นต้น
ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจไม่เฟื่องฟู การเปิดร้านอาหารแม้เป็นการลงทุนที่มีลูกค้าเข้าร้านแน่นอน แต่สิ่งสำคัญคือการตลาดเนื่องด้วยคู่แข่งนั้นมีจำนวนมาก เราต้องมีกลยุทธ์ที่ทำให้ลูกค้ารู้จักร้านอาหารของเรา
และเข้ามาใช้บริการ ดังนั้นเคล็ดลับสำคัญที่จะทำให้ร้านอาหารมีกำไรหรือขาดทุนก็ขึ้นอยู่กับ แผนธุรกิจ การบริหารเงินลงทุน กลยุทธ์การตลาด การพัฒนาสินค้าให้น่าสนใจ ทุกอย่างต้องทำอย่างสอดคล้อง สำหรับมือใหม่อาจเริ่มต้นสะสมประสบการณ์จากร้านเล็กๆ ไปพลางๆ จะช่วยให้เราเติบโตในธุรกิจร้านอาหารได้ดีกว่ารีบโตแต่ไปตันเอาปลายทาง
สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมาย ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S
ภาพจาก freepik.com