เทคนิคเปิดร้านสินค้าราคาเดียว แบบไม่ต้องซื้อแฟรนไชส์
ร้านสินค้าราคาเดียว ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจนี้ถือว่าเติบโตมาก สินค้าราคาเดียวก็เริ่มต้นกันตั้งแต่ 10 บาท, 20 บาท, 60 บาท, 69 บาท ทำเลนอกห้างสรรพสินค้าก็มีหลายแบรนด์เปิดอยู่แทบจะทุกซอกทุกมุม
หรือบางแบรนด์ก็เจาะทำเลในห้าง เฉลี่ย 1 ห้าง มีร้านประเภทนี้ราว 2-4 แบรนด์ บางแห่งมี 7-8 แบรนด์ มูลค่าการตลาดปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่องปีละ 20-50% มีผู้ประกอบการโดยรวมทั้งหมดกว่า 15 แบรนด์ มีสาขารวมทุกแบรนด์ทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 590 แห่ง
โดยเฉลี่ยร้านสินค้าราคาเดียวเหล่านี้จะมีคนแวะเวียนมาเยี่ยมชมใช้บริการไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 -10,000 คน (ขึ้นอยู่กับคุณภาพร้าน สินค้า และทำเล) มีการใช้จ่ายต่อบิลประมาณครั้งละ 200 บาท
www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าร้านสินค้าราคาเดียวยังเป็นอะไรที่เติบโตและไปได้ไกลอีกมากซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการเหล่านี้มักขยายธุรกิจในรูปแบบของแฟรนไชส์เพราะดีทั้งต่อเจ้าของกิจการและง่ายสำหรับผู้อยากลงทุนแต่ก็มีคนอีกไม่น้อยที่มองว่าหากคิดจะทำธุรกิจร้านสินค้าราคาเดียวโดย “ไม่ซื้อแฟรนไชส์” จะพอเป็นไปได้ไหม หรือถ้าทำได้จะมีเทคนิคที่ต้องใช้ยังไงบ้าง
ทำไม “ร้านสินค้าราคาเดียว” ถึงฮิต!
ภาพจาก bit.ly/31OXemB
ร้านสินค้าราคาเดียวในปัจจุบันนอกจากเลือกใช้กลยุทธ์ด้านราคาถูกอละราคาเดียว ยังใช้เทคนิคการ ดีไซน์ การตกแต่งร้าน รวมถึงสินค้า ที่ชูความเป็นญี่ปุ่น และความเป็นญี่ปุ่นนี้ยังรวมไปถึงตัวสินค้า บรรจุภัณฑ์ ชุดพนักงาน สไตล์การให้บริการ
แม้กระทั่งชื่อร้าน ก็ล้วนแต่ตั้งชื่อที่ฟังดูแล้วเป็น ญี่ปุ่นแทบทุกร้านเช่นกัน โดยปัจจุบันมีหลายแบรนด์ทั้งรายเล็กรายใหญ่ทั้งเปิดในห้างและทำเลนอกห้าง เช่น ร้านโตคูยะ , ร้านเอโกะ , Bear Store , Moshi Moshi , Miniso , เพนกวิน , Twenty Shop , โคโมโนยะ, MR.D.I.Y. , อิโระ อิโระ, Mumuso , ร้าน Look Cool , STRAWBERRY CLUB
ทัดดาวทุกอย่าง 20 , นพรัตน์ 20 เป็นต้น
แต่การที่ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาถูกก็ไม่ได้หมายความว่า ร้านสินค้าราคาเดียวจะอยู่ได้ด้วยการนำเสนอสินค้าเพียงไม่กี่ชนิด ซึ่งแต่ละร้านเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในจุดนี้ดี และจัดแบ่งหมวดหมู่พร้อมจำนวนสินค้าจำนวนมากไว้ให้ลูกค้าเลือกอย่างจุใจในพื้นที่จำกัด เรียกว่าการบริหารร้านสินค้าราคาเดียวทุกอย่างต้องกระชับและชัดเจน เพื่อทำให้สินค้าขายได้ไวและหมุนเวียนสินค้าเข้ามาใหม่
แต่ละร้านแม้จะมีพื้นที่ร้านตั้งแต่ 90 – 300 ตารางเมตร แต่ขนาดพื้นที่ร้านที่นิยมส่วนใหญ่จะอยู่แค่ 100 ตารางเมตรอัดแน่นเป็นด้วยการจัดเรียงสินค้าตั้งแต่ใกล้ ๆ 1,000 – 5,000 ชนิด ซึ่งเทคนิคการจัดเรียงสินค้าก็สำคัญ ต้องจัดเรียงให้ดูง่าย หยิบสะดวก และยังสวยงามด้วย ตั้งแต่ตัวสินค้า แพ็กเกจจิ้ง ต่างๆ
7 เทคนิคทำกำไรร้านสินค้าราคาเดียว
ภาพจาก bit.ly/37lWYNk
แม้จะเป็นร้านที่คนนิยมแต่หากไร้ซึ่งเทคนิคในการบริหารจัดการ ร้านแนวนี้คงไม่ทำกำไรให้ผู้ลงทุนได้แน่ เราจะตัดเรื่องทำเลที่ตั้งออกไปเพราะเชื่อว่าหลายคนคงเลือกทำเลที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ลองมาดูเทคนิคอื่นๆ ว่ามีอะไรบ้าง
1. บริการที่ดี
การบริการเป็นหัวใจสำคัญ วิธีที่ง่ายที่สุดที่ร้านสินค้าราคาเดียวต้องทำคือการมีมิตรไมตรีที่ดีต่อลูกค้า เช่น ยิ้มแย้มแจ่มใส กล่าวคำทักทาย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่รู้จักหรือไม่ก็ตาม การทักทายหรือพูดอย่างเป็นมิตรจะทำให้ลูกค้าอยากเข้ามาใช้บริการ
2. ให้คำปรึกษาลูกค้าได้
ด้วยความหลากหลายของสินค้าและวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน รวมถึงจำนวนของสินค้าที่มีมากในร้านคนขายต้องมีความรู้เพียงพอที่จะอธิบายถึงวิธีการใช้งาน การแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ตำแหน่งของสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า
3. สินค้ามีให้เลือกมากมาย
ความคาดหวังของลูกค้าที่เข้ามาในร้านสินค้าราคาเดียวคือสินค้ามีให้เลือกเยอะแยะมากมาย ยิ่งเป็นของแปลกใหม่ ยิ่งน่าสนใจ ดีกว่าเข้ามาในร้านแล้วเจอของแค่ไม่กี่ชิ้น ถือว่าไม่ดึงดูดลูกค้าให้อยากใช้บริการได้
ภาพจาก bit.ly/31LLXUc
4. สินค้าไม่ขาดสต๊อก
ลูกค้าบางรายอาจต้องการสินค้าในปริมาณมาก สิ่งสำคัญของร้านคือต้องมีสต๊อกสินค้าในปริมาณพอสมควร ไม่ใช่มีแค่ที่วางโชว์ หรือถ้าไม่มีจริงๆ ก็ต้องสามารถสั่งสินค้าที่ลูกค้าต้องการให้ได้ จะทำให้ลูกค้าประทับใจมากขึ้น
5. มีสินค้าให้ตรงกับเทศกาลต่าง ๆ
ในแต่ละช่วง ในแต่ละเทศกาล ลูกค้าจะซื้อสินค้าที่ตรงกับเทศกาลให้เหมาะสมกับการใช้งานของตนเอง เช่นใกล้สงกรานต์ ก็จะซื้อขันน้ำ ซื้อปืนฉีดน้ำ หรือช่วงปีใหม่ ก็จะเป็นอุปกรณ์แต่งบ้าน การเตรียมสินค้าตรงกับเทศกาล ทำให้ลูกค้านิยมร้านเรามากขึ้น
6. การจัดวางสินค้าเป็นหมวดหมู่
ไม่ว่าร้านจะมีขนาดเล็กหรือมีขนาดใหญ่ก็ตามควรจัดหมวดหมู่ ให้เลือกสินค้าได้ง่ายทำให้ลูกค้า เพื่อลูกค้าจะได้หาสินค้าได้ตามต้องการและสามารถตัดสินใจซื้อได้ทันที ดีกว่าหาไม่เจอแล้วก็เลิกไม่ซื้ออะไรจากในร้านเลย
7. มีต้นทุนที่คุ้มค่า ทำให้สินค้าน่าใช้
ต้นทุนเป็นเรื่องที่สำคัญ หลายคนมองที่จะทำอย่างไรให้ต้นทุนถูกที่สุด แต่ก็ต้องระวังเรื่องคุณภาพ ถ้านึกเอาแต่ต้นทุนถูกแต่ได้สินค้าไร้คุณภาพมาขาย จะทำให้ลูกค้าไม่อยากกลับมาซื้อซ้ำอีก สำคัญคือให้ต้นทุนที่เหมาะกับคุณภาพ ลูกค้ารู้สึกว่าได้สินค้าที่ดีในราคาที่ถูก
กำไร “ร้านสินค้าราคาเดียว” อยู่ตรงไหน
ภาพจาก bit.ly/2SCYhlt
วิเคราะห์ในแง่ต้นทุน การใช้กลยุทธ์ราคาเดียว เป็นการใช้วิธีการคำนวณแบบเฉลี่ยต้นทุนโดยรวม สินค้าหลายชิ้นในร้านมีต้นทุนใกล้เคียงกับราคาขาย หรือบางชิ้นก็ราคาถูกแบบไม่น่าเชื่อ แต่อีกหลายๆ ชิ้นต้นทุนก็น่าจะต่ำกว่าราคาขาย
หากมองในแง่ของกำไรแล้วกล่าวได้ว่า ยอมขาดทุนในสินค้าบางรายการ เพื่อเป็นตัวเรียกลูกค้าเข้าร้าน ซึ่งจากพฤติกรรมการซื้อเมื่อลูกค้าเดินเข้ามาซื้อสินค้าจะไม่ได้ซื้อเพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่มักจะเลือกซื้อสินค้าหลายๆ อย่างติดไม้ติดมือกลับบ้านไปด้วย ทำให้โดยรวมแล้วร้านค้าสามารถเอากำไรจากสินค้าบางรายการมาถัวเฉลี่ยได้
กลยุทธ์ราคาเดียวนี้แม้ว่ากำไรต่อหน่วย (ชิ้น) ของสินค้าจะไม่มากนัก แต่อาศัยการขายได้ในปริมาณมากๆ และถ้าพิจารณาให้ดีแล้วจะพบว่ามีข้อดีอยู่หลายประการ คือ ลูกค้าได้รับความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้าไม่ต้องกังวลว่าราคาสินค้าจะเป็นเท่าไร และสามารถสร้างจุดขายให้ร้านเกิดการแนะปากต่อปากโดยไม่ต้องมีการโฆษณา ได้อีกด้วย
วิธีการลงทุน “ร้านสินค้าราคาเดียว” แบบไม่ต้องซื้อแฟรนไชส์
ภาพจาก bit.ly/2UJFp77
หากเราคิดลงทุนธุรกิจนี้แบบไม่ซื้อแฟรนไชส์ สิ่งที่เราต้องคิดคือ “เรามีงบประมาณในการลงทุนเท่าไหร่” “ทำเลอยู่ที่ไหน” “จะเอาสินค้าจากที่ไหน” “บริหารจัดการสต็อคเป็นไหม”
1. ต้นทุน
ตัวอย่างจากผู้ลงทุนเปิดร้านสินค้าราคาเดียวที่ไม่ซื้อแฟรนไชส์ให้ข้อมูลว่า ต้นทุนคือ “ค่าเช่าตึก” “ค่าตกแต่งร้าน” “ค่าชั้นวางสินค้าต่าง” ในส่วนนี้ประมาณ 20,000 -35,000 บาท และอีกต้นทุนที่สำคัญคือ “สินค้าที่จะนำมาขาย” โดยร้านสินค้าราคาเดียวหากสินค้ามีน้อย สินค้าไม่เต็มร้าน สินค้าไม่มีให้เลือก ก็ไม่ดึงดูดลูกค้า จึงต้องลงสินค้าให้มากให้หลากหลาย ยิ่งร้านใหญ่ต้นทุนสินค้ายิ่งเยอะ โดยเฉลี่ยต้นทุนส่วนนี้ประมาณ 100,000 บาท
2. รู้จักการสต๊อกสินค้าที่ขายดี
โดยส่วนใหญ่แล้วสินค้าที่เราต้องสต๊อกคือของที่ขายดีและขายได้ในจำนวนมาก เช่น ถ่านไฟฉายขนาดต่าง ๆ , ทิชชู่แห้ง ทิชชู่เปียก แบบต่างๆ , ผงซักฟอก , น้ำยาปรับผ้านุ่ม , จาน ชาม ช้อน เป็นต้น นอกจากสินค้าสต๊อกก็ต้องมีสินค้าใหม่ๆ หมุนเวียนที่เป็นสินค้าแปลกใหม่เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้นด้วย
3. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย
ถ้าเป็นการลงทุนแบบแฟรนไชส์เขาจะสอนเราทุกอย่างตั้งแต่แหล่งสินค้า วิธีการบริหารจัดการร้าน แต่ถ้าเราลงทุนเองสิ่งเหล่านี้เราก็ต้องทำเองให้เป็น เพราะสินค้ามีการหมุนเวียนทุกวัน รายจ่าย รายได้ มีหมุนเวียนทุกวัน การไม่ทำบัญชีให้ชัดเจนเราจะไม่มีทางรู้เลยว่าเราใช้จ่ายส่วนไหนไปบ้าง มีรายได้วันนี้เท่าไหร่ ต้นทุนเท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ ถือเป็นสิ่งที่คนลงทุนควรตระหนักเนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญมาก
ภาพจาก bit.ly/2tU9So6
4. โฆษณาประชาสัมพันธ์ร้านอย่างถูกวิธี
ถ้าลงทุนในแบบแฟรนไชส์ส่วนใหญ่ทุกแพคเกจลงทุนเจ้าของแฟรนไชส์จะรวมวิธีการส่งเสริมการตลาดให้เราด้วยนั้นคือจะช่วยโปรโมทให้คนที่ติดตามได้รู้ว่ามีสาขาเปิดใหม่ที่ไหนอย่างไร ซึ่งหากเราลงทุนเองการโฆษณาเราก็ต้องทำเอง โดยต้องรู้จักการใช้เพจเฟสบุ๊ค อินสตราแกรม ยูทูป ให้เกิดประโยชน์แก่ธุรกิจมากที่สุด
5. สร้างจุดเด่นให้กับธุรกิจ
ร้านสินค้าราคาเดียวอย่าคิดว่าแค่เปิดร้านแล้วจะขายได้ เราต้องมีจุดที่ทำให้ลูกค้าจดจำ หลายแบรนด์เลือกใช้ธีมสินค้าญี่ปุ่นมาเป็นจุดขาย ซึ่งแบรนด์ใหญ่เหล่านี้ได้เปรียบตรงที่สามารถสั่งสินค้าจากแหล่งผลิตที่ละมากๆ ทำให้ต้นทุนสินค้าถูก ในฐานะที่เราสร้างธุรกิจเองก็ควรมีจุดขายของร้าน ทั้งการแต่งร้าน หรือการแต่งกายของพนักงาน เพื่อให้ลูกค้าจดจำและอยากเข้ามาใช้บริการมากที่สุด
หรือถ้าอยากลงทุนเปิดร้านสินค้าราคาเดียวแบบไม่ต้องยุ่งยากวุ่นวาย ก็เลือกใช้บริการของแฟรนไชส์ที่มีหลายแบรนด์ เช่น
ทัดดาวทุกอย่าง 20 ที่มีค่าแฟรนไชส์ 79,000 บาท ใช้งบการลงทุน 30,000 – 699,000 แล้วแต่แพจเกจที่เลือก
นพรัตน์ 20 ที่ใช้งบในการลงทุน 190,000 -1,740,000 บาท ขึ้นอยู่กับแพคเกจที่เลือก ข้อดีของการลงทุนในแบบแฟรนไชส์คือไม่ต้องยุ่งยากกับการเริ่มต้น ทางแฟรนไชส์ช่วยเหลือจัดการให้ทุกอย่าง แนะนำแหล่งสินค้า วางระบบบริหารจัดการร้าน เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ลงทุน สำหรับใครที่อยากเริ่มต้นในธุรกิจร้านสินค้าราคาเดียว การเลือกลงทุนแบบแฟรนไชส์ถือว่าช่วยให้ง่ายขึ้นอีกเยอะ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/2P2jkNr
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
อ้างอิงข้อมูลจาก https://bit.ly/2SUo3C9