เทคนิคการเป็นช่างไฟฟ้าเบื้องต้น
ช่างไฟฟ้า เป็นอีก อาชีพที่มีความน่าสนใจ เพราะทุกวันนี้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ล้วนเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์
จึงจำเป็นต้องอาศัยผู้มีความชำนาญเฉพาะทาง ในการแก้ไขปัญหาต่างๆอันเกิดขึ้นกับไฟฟ้าภายในบ้าน ด้วยเหตุนี้การเลือกเรียนสาขาวิชานี้จึงแทบไม่มีโอกาสตกงาน ถ้าไม่เลือกงาน และมีความสามารถมากพอ
อีกทั้งยังสามารถศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไปอย่างสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าจนกลายเป็นวิศวกรได้อีกด้วย อย่างไรก็ดีการเป็นช่างไฟฟ้าแม้จะไม่ใช่เรื่องยากแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย สำคัญคือเราต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าชอบและใจรักที่จะทำอาชีพนี้หรือไม่
พร้อมกันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com ได้รวบรวมสิ่งที่คนเป็นช่างไฟฟ้าควรรู้ เครื่องมือสำหรับช่างไฟฟ้า และแนวทางการศึกษาสำหรับคนที่ต้องการเดินสายอาชีพนี้
สิ่งที่ช่างไฟฟ้าควรรู้
1.ชนิดของไฟฟ้า
ภาพจาก bit.ly/2FHYwsD
ไฟฟ้าสามารถเกิดขึ้นจากแหล่งกำเนิดหลาย ๆ แบบ ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 2 แบบใหญ่ ๆ ดังนี้
- ไฟฟ้ากระแสตรง ( Direct current หรือ D.C . ) เป็นกระแสไฟฟ้าที่มีทิศทางการไหลไปทางเดียวกัน โดยตลอดระยะทางที่วงจรกระแสไฟฟ้าปิด เช่น ถ่านไฟฉาย ไดนาโม เป็นต้น
- ไฟฟ้ากระแสสสลับ (Alternating current หรือ A.C.) เป็นกระแสไฟฟ้าที่มีการไหลวนเวียนกลับไปกลับมา ทั้งขนาดของกระแสไฟฟ้าและแรงดันไม่คงที่ จะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ คือ กระแสไฟฟ้าจะไหลไปทางหนึ่งก่อนต่อมาจะไหลสวนกลับการไหลไปมา 1 รอบ เรียกว่า 1 ไซเกิล (Cycle) และความถี่หมายถึงจำนวนไซเกิล ในประเทศไทยนิยมใช้กระแสไฟฟ้าที่มีความถี่ 50 เฮิรตซ์ หรือ 50 รอบ ต่อ 1 วินาที
2.คุณสมบัติของกระแสไฟฟ้า
ภาพจาก bit.ly/3kjBt6F
นอกจากรู้ว่าไฟฟ้ามีแบบกระแสตรง และกระแสสลับ ช่างไฟฟ้าก็ควรรู้คุณสมบัติของไฟฟ้าแต่ละชนิดด้วย เช่น ไฟฟ้ากระแสตรง มีค่าแรงดันหรือแรงเคลื่อนไฟฟ้าเป็นบวกเสมอ , สามารถเก็บประจุไว้ในเซลล์หรือแบตเตอรี่ได้ ส่วนกระแสไฟฟ้าสลับ มีคุณสมบัติคือสามารถส่งไปที่ไกลๆ ได้ดี กำลังไม่ตก และสามารถแปลงแรงดันให้สูงขึ้น หรือต่ำลงตามความต้องการด้วยการใช้หม้อแปลง
3.วงจรไฟฟ้า (Circuit)
ภาพจาก bit.ly/3iAHvza
หมายถึง ทางเดินของกระแสไฟฟ้าซึ่งไหลมาจากแหล่งกำเนิดผ่านไปยังตัวนำและเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือ โหลด (Load) แล้วไหลกลับไปยังแหล่งกำเนิด โดยมีวิธีการต่อวงจรไฟฟ้าหลายวิธีเช่น
- การต่อแบบแบบอนุกรม (Series Circuit) โดยเอาปลายด้านหนึ่งต่อกับปลายอีกด้านหนึ่งต่อเรียงไปเรื่อย ๆ การต่อไฟฟ้าแบบอนุกรมส่วนใหญ่จะไม่นิยมใช้ในการต่อวงจรทั่วไป
- การต่อวงจรไฟฟ้าแบบขนาน (Parallel Circuit) เป็นการต่อวงจรที่ใช้ทั่วไปกับไฟฟ้าแสงสว่าง และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเรือน เช่น พัดลม หม้อหุงข้าว เตารีด เป็นต้น
- การต่อวงจรแบบผสม (Compound Circuit) เป็นการต่อโดยการนำแบบอนุกรมและขนานต่อ
ร่วมเข้าไปในวงจรเดียวกัน การต่อแบบนี้นิยมใช้อุปกรณ์อีเล็คโทรนิกส์ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
อุปกรณ์สำหรับช่างไฟฟ้าที่ควรรู้จัก
ภาพจาก bit.ly/3c1Y70d
อาชีพช่างไฟฟ้าทำงานบนความเสี่ยงเพราะอันตรายจากกระแสไฟฟ้าหากไหลผ่านเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นคนทำงานเป็นช่างซ่อมไฟฟ้าจึงต้องรู้จักการใช้เครื่องมือให้ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง โดยมีเครื่องมือที่ควรรู้จักดังนี้
- ไขควง มีทั้งไขควง ปากแบบ ปากแฉก ขึ้นอยู่กับการใช้งานในแต่ละสถานที่
- ไขควงวัดไฟ แตกต่างจากไขควงสกรู เพราะไขควงวัดไฟจะมีหลอดไฟอยู่ที่ด้าม ใช้ในการทดสอบวงจรไฟฟ้า
- มีดคัตเตอร์ สำหรับใช้ในการปอกฉนวน ตัด หรือควั่นสายไฟฟ้า
- คีม มีทั้งคีมตัด คีมปากแบน คีมปากจิ้งจก คีมปอกสาย คุณประโยชน์ในการใช้งานจะแตกต่างกันออกไป
- สว่าน ใช้ในการเจาะยึดอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยมีหลายประเภทเช่น สว่านข้อเสือ สว่านเฟือง สว่านไฟฟ้า เป็นต้น
- ค้อน ใช้ในการตอกตะปูเพื่อยึดเข็มขัดรัดสาย
- สายไฟ มีทั้งสายไฟแรงสูง และสายไฟทั่วไป (สายไฟในบ้าน) ซึ่งการเดินสายไฟก็จะมีทั้งแบบเดินสายคู่และเดินสายเดี่ยว แล้วแต่ประเภทของงาน
- ฟิวส์ ทำด้วยโลหะผสมระหว่างตะกั่วและดีบุก ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้กระแสไฟฟ้าไหลเข้ามามากเกินไป
- สวิตซ์ เป็นอุปกรณ์ที่ตัดต่อวงจรไฟฟ้าในส่วนที่ต้องการทำหน้าที่คล้ายสะพานไฟ
- สะพานไฟ เป็นอุปกรณ์สำหรับตัดต่อวงจรไฟฟ้า
- สตาร์ตเตอร์ ทำหน้าที่ต่อวงจรหรือตัดวงจรอุ่นไส้ของหลอดไฟฟ้า
- บัลลาสต์ ทำหน้าที่เพิ่มความต่างศักย์ไฟฟ้า
- มิเตอร์ไฟฟ้า ใช้สำหรับการทดสอบวงจรไฟฟ้า มีหลายแบบเช่น แกลแวนนอมิเตอร์ , แอมมิเตอร์ , โวลต์มิเตอร์ ,มัลติมิเตอร์ เป็นต้น
เส้นทางของคนที่มีใจรักและอยากเป็น “ช่างไฟฟ้า”
ภาพจาก bit.ly/35Cq2Tj
โดยหลังจากจบระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สามารถเลือกเรียนต่อในระดับ ปวช.สาขาช่างไฟฟ้า จากนั้นต่อยอดในระดับ ปวส.สาขาช่างไฟฟ้า และสามารถไต่ระดับขึ้นไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โดยมีหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าเช่น สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า , วิศวกรรมอุตสาหกรรม , ครุศาสตร์อุตสาหกรรม เป็นต้น โดยสามารถยกระดับความรู้ความสามารถได้จนถึงปริญญาเอก โดยลักษณะของงานที่เกี่ยวข้องกับอาชีพช่างไฟฟ้าเช่น
- ซ่อมบำรุง
- ตรวจสอบระบบ
- ติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า
- ตรวจซ่อมอุปกรณ์
โดยมีอาชีพที่รองรับหลากหลายเช่นประกอบกิจการส่วนตัว, เป็นพนักงานตรวจซ่อมประจำโรงงานหรือบริษัท, วิศวกรไฟฟ้า , พนักงานการไฟฟ้าของรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น อัตราเงินเดือนขึ้นอยู่กับโครงสร้างของบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่หากทำงานในรัฐวิสาหกิจนอกจากเงินเดือนแล้วยังมีสวัสดิการที่ดี และมีความมั่นคงสูงมาก
อย่างไรก็ดี การเป็นช่างไฟฟ้า สิ่งที่ต้องมีคือความละเอียด รอบคอบ เพราะไฟฟ้ามีความอันตรายอยู่ในตัวเอง การประมาทแม้เพียงนิดเดียว โดยไม่ป้องกันหรือคิดว่าไม่อันตรายอาจนำมาสู่ความเสียหายต่อชีวิตได้ การเป็นช่างไฟฟ้าที่ดีจึงต้องค่อยๆสะสมประสบการณ์และทำงานอย่างใจเย็น เพื่อให้ประสบความสำเร็จได้อย่างที่ใจต้องการ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/2ZBpucB , https://bit.ly/2DWJi2w
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3kkG34z