เจ๊จง vs เจ๊โอว กลยุทธ์ร้านอาหาร ความเหมือนที่แตกต่าง!
หากพูดถึงเจ้าของกิจการร้านอาหาร “หมูทอด เจ๊จง” เชื่อว่ามีน้อยคนมาก ที่จะไม่รู้จักกับเธอ และหากพูดถึงร้าน “เจ๊โอว ข้าวต้มเป็ด” ก็เชื่ออีกว่าน้อยคนมากที่จะไม่รู้จักเช่นเดียวกัน
แล้ว 2 ร้าน “เจ๊จง vs เจ๊โอว” มีความเหมือนกัน และแตกต่างกันอย่างไร วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com มีข้อมูลมานำเสนอ และเปรียบเทียบให้ดูกันแบบชัดเลยครับ ลองวิเคราะห์ดู
ภาพจาก www.facebook.com/JehJong
“หมูทอดเจ๊จง” ขยายกิจการร้านอาหารไปแล้วกว่า 10 สาขา ถือเป็นขวัญใจของคนทำงาน พนักงานออฟฟิศ ย่านพระราม 4 มามากกว่า 14 ปี ด้วยรสชาติอร่อยง่ายๆ ราคาเบากระเป๋าของหมูทอด รวมถึงข้าวแกงอื่นๆ ในร้าน จึงทำให้ร้านหมูทอดเจ๊จงได้รับความนิยม ทำให้คนไปกินเกิดติดใจ พูดต่อกันมากขึ้นเรื่อยๆ บ้างก็ถามหาพิกัด ฝากซื้อก็มี แต่ถ้าใครจะไปกินที่ร้านต้องทนยืนต่อแถวกันยาวเหยียด ไม่แปลกที่ร้านหมูทอดเจ๊จงจะมีรายได้วันละหลายแสนบาท จนได้รับฉายาว่า “หมูทอดร้อยล้าน”
จุดเริ่มต้นของ “ร้านหมูทอดเจ๊จง” เกิดขึ้นจากการที่เจ๊จงได้ไปซื้อข้าวหมูทอดให้ลูกกินเมื่อหลายปีก่อน แม่ค้าขายกล่องละ 10 บาท ฟังเหมือนถูก แต่พอเปิดออกมามีหมู 4 ชิ้นเรียงกันอยู่ เจ๊จงจึงบอกกับลูกว่า เจ๊จงจะทำขายบ้าง และจะให้หมูเยอะกว่านี้อีก ด้วยความที่เจ๊จงอยากมีรายได้เพิ่มจากการขายข้าวแกงบุฟเฟ่ต์อยู่ในตอนนั้น อีกทั้งรู้สึกว่าตัวเองขายเสร็จก็กลับบ้านเร็วเกินไป ทิ้งเวลาไปกว่า 8 ชั่วโมง จึงคิดว่าเวลาที่ทิ้งไปน่าจะทำอะไรขายต่อจากข้าวแกงหมดได้
พอรุ่งขึ้นเจ๊จงไปซื้อหมูมาทำหมูทอด 8 กิโลกรัม ทำแบบที่เคยไปซื้อกล่องละ 10 บาท แต่ทำได้ไม่นาน ก็เปลี่ยนความคิดมาทำแบบของตัวเอง หันมาใช้หมูสามชั้นทอด ปรากฏว่าขายดิบขายดี แต่สุดท้ายเจ๊จงเห็นใจลูกค้าที่รักสุขภาพ จึงเปลี่ยนมาใช้หมูเนื้อแดงทอด จนกระทั่งมาถึงทุกวันนี้ โดยสาขาแรกอยู่ที่บริเวณหลังโลตัสพระราม 4
ภาพจาก www.facebook.com/RanCeXow
ส่วนร้านเจ๊โอว มีเมนูเด็ดขึ้นชื่ออย่าง “มาม่าเจ๊โอว” แต่ที่จริงแล้ว ร้านเจ๊โอวไม่ได้ขายมาม่าเป็นหลัก ชื่อเต็มๆ คือร้าน “เจ๊โอว ข้าวต้มเป็ด” ร้านเปิดอยู่แถว ถ.จรัสเมือง รองเมือง ปทุมวัน ร้านนี้เปิดมากว่า 60 ปี สืบทอดกิจการกันมากว่า 3 ชั่วอายุคน อาจจะด้วยทำเลของร้านที่อยู่ในย่านออฟฟิศ สถานศึกษา จึงทำให้ขายดีมาก
ในยุคแรกของร้านที่เริ่มจากรุ่นก๋งกับอาม่า เดิมที่ขายแค่ข้าวข้าวต้มเป็ด กระเพาะหมู และเป็ดพะโล้ พอมาถึงรุ่นเจ๊โอว ก็ได้เพิ่มเมนูให้มากขึ้น เช่น ผัดผักบุ้ง เกี่ยมไฉ่ หมูกรอบ จนปัจจุบันกลายเป็นร้านข้าวต้มที่มีเมนูกับข้าวให้เลือกหลากหลาย
สำหรับแนวคิดของร้านในการคิดค้นเมนู ก็แค่เอาความรู้สึกของคนในบ้านมาสร้างเมนูที่ขาย โดยดูว่าคนในบ้านและลูกๆ อยากกินอะไร เช่น เมนูผัดผัก จับฉ่าย ยำแซลมอน พวกนี้ก็บรรดาลูกหลานในบ้านเจ๊โอวอยากกิน
ในส่วนของอาหารธรรมดาอย่าง “มาม่า” นั้น ที่ทำให้เพิ่มมูลค่าเป็นหลักร้อยให้กับร้าน เกิดขึ้นมาจากด้วยความที่มีลูกค้าบางส่วนมาดูบอลรอบดึก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ครัวปิดไปแล้ว เจ๊โอวก็เลยอยากจะหาเมนูบางอย่างที่สามารถทำได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยากมาเสิร์ฟให้ลูกค้ากลุ่มนี้ได้กิน ซึ่งก็คงไม่มีอะไรจะง่ายไปกว่ามาม่าอีกแล้ว
ช่วงแรกๆ เป็นการต้มแบบธรรมดา แต่พอทำไปทำมาก็เริ่มมีการใส่เครื่องมากขึ้น เริ่มแต่งหน้าจัดหม้อให้น่ากินมากกว่าเดิม จนลูกค้าบางคนก็เอาไปถ่ายลงใน Social Media ต่อมาไม่นานคนก็เริ่มรู้จัก และก็เริ่มมาสั่งแบบที่ทางร้านยังไม่ได้เตรียมตัวจะขาย การทำแต่ละหม้อก็เลยดีเลย์ไปบ้างเล็กน้อย จนบางครั้งกว่าจะเก็บครัวเสร็จถึง 6 โมง 7 โมงเช้าก็มี
สิ่งที่ทำให้เมนูมาม่าธรรมดา สามารถเพิ่มมูลค่าให้เป็นหม้อละหลายร้อยบาทได้ ไม่ใช่เป็นเพราะกระแสหรือหน้าตาที่ดูน่าทานเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงส่วนผสมข้างใน ไม่ว่าจะเป็นกุ้งตัวใหญ่ๆ กรรเชียงปูแบบเต็มๆ คำ ที่ใส่เครื่องแบบไม่ยั้งให้ลูกค้าได้กินกันแบบถึงรสถึงชาติ เพราะถ้าไปกินซีฟู้ดพวกนี้ ปกติก็กิโลละหลายร้อยบาทอยู่แล้ว
กลยุทธ์ร้านอาหาร…เจ๊จง
1.ไม่ได้ขายแค่หมูทอดอย่างเดียว
ภาพจาก www.facebook.com/JehJong
ปัจจุบันนี้ร้านหมูทอดเจ๊จงไม่ได้มีแค่การขายหมูทอดเพียงอย่างเดียว แต่ได้ขายข้าวแกงซึ่งมีรายการอาหารให้เลือกหลากหลาย และที่สำคัญราคายังถูกจนน่าเหลือเชื่อ เมื่อเทียบกับร้านข้าวแกงประเภทเดียวกัน และคาดว่าในอนาคตร้านหมูทอดเจ๊จงน่าจะมีจำนวนสาขาที่มากกว่าในปัจจุบันอย่างแน่นอน
2.ทำการตลาดแบบปากต่อปาก
ภาพจาก www.facebook.com/JehJong
ร้านขายหมูทอดของเจ๊จงในช่วงแรก ใช่ว่าจะขายดีเหมือนเช่นทุกวันนี้ ขายได้เรื่อยๆ เมื่อคนไปกินแล้วนำมาบอกปากต่อปาก รสชาติอร่อย ราคาถูก ต่อมาเจ๊จงจึงเลิกขายข้าวแกงบุฟเฟ่ต์ โดยลูกค้ากลุ่มแรกเป็นพวกจักรยานยนต์รับจ้าง แท็กซี่ สามล้อย่านพระราม 4
โดยช่วงแรกๆ มีการใส่ถุงเดินขาย และเอาใส่ตะกร้าปั่นจักรยานไปขายตามอู่รถเมล์ด้วย ปัจจุบันแม้ว่า “ร้านหมูทอด เจ๊จง” จะมีการเติบโตและขยายสาขาไปแล้ว 10 สาขา โดยสาขาทั้งหมดอยู่ภายใต้การบริหารของเจ๊จงและลูกๆ ที่เรียนจบออกมาสานต่อกิจการของครอบครัว
3.บริหารร้านโดยยึดหลัก 4 อ.
ภาพจาก www.facebook.com/JehJong
สำหรับความสำเร็จของร้านหมูทอดเจ๊จง มาจาก 4 อ. โดย
- อ. 1 คือ อร่อย เจ๊จงปรับปรุงสูตรจนลงตัว เลือกใช้เครื่องปรุงรสไก่ที่ทำให้การหมักหมูทอดรสชาติกลมกล่อม ทำให้ได้หมูทอดสีเหลืองทอง กรอบน่ากิน
- อ. 2 คือ อดทน ขยัน ซื่อสัตย์ หากไม่ติดธุระสำคัญจริงๆ เจ๊จงจะไม่หยุดทำงาน ตื่นตี 2 เตรียมหมูทอดและข้าวแกงในร้าน ตี 3 ครึ่ง ให้ลูกน้องเริ่มทอดหมู ส่งไปสาขาต่างๆ ทอดทั้งวันจนถึงบ่าย พอ 4 โมงเย็นจึงปิดร้านพักผ่อน และเปิดร้านอีกทีตอน 5 โมงเย็นจนถึง 1 ทุ่ม โดยเจ๊จงต้องอดทนเพราะต้องดูแลลูกน้องกว่า 200 ชีวิต จริงๆ แล้วเจ๊จงไม่ต้องทำงานก็ได้ แต่อยากให้ลูกน้องเห็นเป็นแบบอย่างที่ดี ส่วนเรื่องความซื่อสัตย์ จะยึดถือความซื่อสัตย์ต่อลูกค้าในแง่ที่ว่า ลูกค้าต้องได้ทานของดีมีมีคุณภาพ ราคาที่คุ้มค่า ตามหลักคิดของร้านที่ว่า “ถูก ดี มีน้ำใจ”
- อ. 3 คือ เอาใจใส่ต่อลูกค้า ทำอาหารที่มีคุณภาพให้ทาน
- อ.4 คือ การอบรม เจ๊จงไม่เคยหยุดที่จะหาความรู้ โดยพยายามแบ่งเวลาเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตลาด การสร้างแบรนด์ หรือการทำแพ็กเกจจิ้ง
4.ใช้ครัวกลางควบคุมมาตรฐานอาหารให้อร่อยทุกสาขา
ภาพจาก www.facebook.com/JehJong
ปัจจุบันร้านหมูทอดเจ๊จงมีจำนวน 10 สาขา โดยหลักการควบคุมคุณภาพมาตรฐานของหมูทอดและอาหารอื่นๆ ให้เหมือนกันทุกสาขาของเจ๊จง คือ จะใช้ครัวกลางจากสาขาพระราม 4
ในการส่งวัตถุดิบ แต่ก็มีบางสาขาที่ปรุงด้วยสูตรต้นตำรับที่ร้าน เพราะลูกๆ ของเจ๊จงมีประสบการณ์จากการช่วยเหลือเจ๊งจงมายาวนาน จึงทำให้รสชาติอร่อยทุกสาขา
5.หมูทอดธรรมดา ราคาสบายกระเป๋า
ภาพจาก www.facebook.com/JehJong
ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ เคยถามเจ๊จงว่า ทำไมลูกค้าที่มากินข้าวร้านเจ๊จง เจ๊จงบอกว่าที่ลูกค้าติดใจ และชอบทานข้าวหมูทอดเจ๊จง อาจเป็นเพราะราคาถูก สบายกระเป๋า เพราะเป็นแค่หมูทอดธรรมดาเท่านั้น ซื้อหมูที่มีคุณภาพประมาณวันละ 160-180 กิโลกรัม จึงทำให้ลูกค้าคงคิดว่าราคาไม่ได้แพงกว่าตามท้องตลาดทั่วไป
6.ไม่ขยายสาขาเพิ่ม และไม่ขายแฟรนไชส์
ภาพจาก www.facebook.com/JehJong
หลายคนที่ชื่นชอบในรสชาติอาหารของร้านหมูทอดเจ๊จง อาจอยากรู้ว่าร้านหมูทอดเจ๊จงขายแฟรนไชส์หรือไม่ ทีมงานไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ได้สอบถามไปยังเจ๊จงว่า ไม่มีการขายแฟรนไชส์ และขยายสาขาเพิ่มจาก 10 สาขาในตอนนี้
แต่ที่ผ่านมาก็มีผู้ใหญ่หลายๆ คนได้แนะนำให้เจ๊จงทำร้านอาหารแบบ Food Truck ขายหมูทอดตามรถ แล้วก็ขายแฟรนไชส์อีกที แต่เจ๊จงยังต้องรอให้ตนเองมีความพร้อมมากกว่านี้ ในการทำร้านอาหารแบบ Food Truck แล้วขายแฟรนไชส์
7.ทำข้าวกล่องให้คนรับไปขายสร้างรายได้
ภาพจาก www.facebook.com/JehJong
ช่วงที่ผ่านมา เจ๊จงได้มีการจัดทำข้าวกล่องเจ๊จง เพื่อให้คนอยากอยากมีรายได้รับไปขายต่อ โดยขายส่งให้กับผู้ที่สนใจอยากมีรายได้เสริม ราคากล่องละ 30 บาท สามารถขายต่อได้กล่องละ 35-40 บาท
โดยเจ๊จงจะเป็นคนหาสถานที่ขายให้ วางขายตามบูธ ตามเคาน์เตอร์ต่างๆ หรือใครที่สนใจและมีสถานที่ขายที่ดี ก็สามารถติดต่อสอบถามเจ๊จงได้โดย โทร.087-5436222
กลยุทธ์ร้านอาหาร…เจ๊โอว
1.จัดเมนูตามใจลูกค้า
ภาพจาก www.facebook.com/RanCeXow
มาม่าเจ๊โอวเริ่มต้นจากทีแรกก็เป็นแค่มาม่าต้มแบบธรรมดา ทำไปทำมาลูกค้าอยากให้ใส่วัตถุดิบโน่น นี่ นั่น ร้านเจ๊โอว ก็จัดให้ตามใจลูกค้า เริ่มกลายเป็นมาม่าที่หน้าตาน่ากินมากกว่าเดิม
ประกอบกับลูกค้าของร้านบางคนทำงานดึก ดูบอลดึก หรืออยากออกมาหาอะไรกินดึกๆ แต่บางทีก็เบื่อข้าวต้มกุ้ยธรรมดา เมนูมาม่าเจ๊โอว จึงเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ตอบโจทย์รอบดึกของลูกค้าได้ดีมาก
2.ดังได้เร็วเพราะกระแสโซเชี่ยล
ภาพจาก www.facebook.com/RanCeXow
เป็นผลสืบเนื่องจากข้อแรกเมื่อมาม่าผสมผสานวัตถุดิบใหม่ๆ ดูแล้วอลังการงานสร้าง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ลูกค้าส่วนใหญ่มักจะ แช๊ะ และแชร์ ทำให้มาม่าเจ๊โอว เริ่มเป็นที่รู้จักในโซเชี่ยล
และเกิดการพูดถึงแบบปากต่อปาก ประกอบกับรสชาติและหน้าตาของสุดยอดเมนูนี้ใครเห็นเป็นต้องอยากลองกินสักครั้ง ราคาหม้อละ 120-800 บาท ถ้ามากันสัก 3-4 คนก็ราคาก็หารกันไปซึ่งแต่ละคนจ่ายไม่มากแต่ได้ความอร่อยคุ้มค่าสุดๆ
3.คุณภาพของวัตถุดิบสมราคา
ภาพจาก www.facebook.com/RanCeXow
อันที่จริงมาม่าแบบพิเศษๆ นี้ก็มีให้เห็นหลายร้าน แต่บางทีเสียงที่บ่นตามมาก็คือคุณภาพไม่สมราคา ซึ่งแตกต่างจากมาม่าเจ๊โอว ที่คัดเอาแต่วัตถุดิบชั้นดีไม่ว่าจะเป็นกุ้งตัวใหญ่สดๆ กรรเชียงปูเต็มๆคำ ซึ่งลูกค้าสัมผัสได้ในเรื่องคุณภาพและปริมาณของวัตถุดิบที่ผสมผสานเข้ามา กลายเป็นจุดขายที่ไม่เน้นกำไรแต่เอาใจลูกค้าจำนวนมาก
4.เทคนิคเปิดร้าน – ปิดร้าน ให้คนคิดถึง
ภาพจาก www.facebook.com/RanCeXow
ร้านเจ๊โอวเปิดขายข้าวต้มเป็นหลักโดยจะเปิดร้านประมาณ 5 โมงเย็นถึง ตี 1 ซึ่งขายดีและมีลูกค้าจำนวนมาก โดยปกติหากขายดีเช่นนี้ ช่วงหยุดเทศกาลหรือโอกาสพิเศษใด ๆ ร้านค้าจะไม่หยุดร้านเพราะถือว่าเป็นเวลาที่จะดึงดูดลูกค้าเข้าร้านได้มากขึ้น แต่ร้านเจ๊โอวทำในสิ่งที่ตรงข้ามคือเลือกจะหยุดช่วงเทศกาล ไม่ใช่เพราะไม่อยากขาย
แต่เจ๊โอวมองเรื่องต้นทุนว่าเทศกาลราคาวัตถุดิบมักแพงกว่าปกติ หรือจะซื้อมาสต๊อกเก็บไว้ ก็จะไม่สดใหม่ ร้านเจ๊โอวใส่ใจเรื่องคุณภาพและอยากให้ลูกค้าได้รับแต่สิ่งที่ดีที่สุด และการเปิดปิดร้านแบบนี้ยังทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความเป็นพรีเมี่ยม ที่ไม่ใช่นึกจะมาเมื่อไหร่ก็มา จะไปกินเมื่อไหรก็ได้ ทำให้ร้านค้าดูมี Story ที่เป็นจุดขายมากขึ้น
5.สร้างแพลตฟอร์มโซเชี่ยลของตัวเอง
ภาพจาก www.facebook.com/RanCeXow
ร้านเจ๊โอว ข้าวต้มเป็ด เป็นธุรกิจแบบครอบครัว ล้วนๆ ตั้งแต่คนที่คอยคุมการทำอาหาร คนเก็บเงิน หรือแม้แต่คนสร้างแพลตฟอร์มโซเชี่ยล ก็เป็นคนในครอบครัวทั้งสิ้น เพจของร้านก็ไม่ได้เว่อวังอลังการใช้โปรไฟล์ง่ายคือรูปเจ๊โอว
พร้อมกับบอกเวลาเปิด ปิดร้าน และการตอบคำถามที่เรียบง่ายแต่รวดเร็ว การโพสต์อัพเดทก็เน้นภาพอาหาร บรรยากาศในร้าน ดูแล้วเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ทำให้มีคนติดตามนับแสนทีเดียว
6.ขายดีแต่ไม่คิดมีสาขาเพิ่ม
ภาพจาก www.facebook.com/RanCeXow
เห็นขายดีขนาดนี้หลายคนเชียร์ให้เปิดสาขา หรือขายแฟรนไชส์ แต่สิ่งที่เจ๊โอวให้ความสำคัญคือ “คุณภาพ” การขยายสาขาอาจทำให้ได้เงินมากขึ้น รวยมากขึ้น แต่จะรับประกันได้ยังไงว่าทุกร้านรสชาติ และคุณภาพจะเหมือนกัน ยิ่งเป็นการขายแฟรนไชส์ด้วยยิ่งคุมยาก
หากไม่มีระบบบริหารจัดการที่ดี ลำพังแค่ร้านแรกและร้านเดียวแบบนี้ก็ขายดีและไม่มีเวลาไปคิดทำอย่างอื่น และการมีแค่ร้านเดียวก็ยังทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าถ้าอยากกินต้องมาที่ร้านนี้ ไม่ใช่จะไปที่ไหนก็มีร้านเจ๊โอวทุกที่ เป็นการสร้างภาพลักษณ์และสร้างแบรนด์ของร้านที่แข็งแกร่งมาก
7.ทำธุรกิจด้วยคำว่า “เต็มที่”
ภาพจาก www.facebook.com/RanCeXow
ไม่ว่าจะร้านเล็กร้านใหญ่ถ้าเจ้าของร้านใส่ใจและทำ “เต็มที่” ลูกค้าจะประทับใจและเริ่มโฆษณาแบบ “ปากต่อปาก” ให้เราได้อีกทาง ร้านเจ๊โอวก็เช่นกัน ทุกเมนูของร้านกำชับพ่อครัวเสมอว่าเครื่องปรุงต้องใส่เต็มที่ ทำให้เหมือนเวลาทำกับข้าวให้คนที่บ้านกิน เราอยากกินดี กินอร่อยแค่ไหน เราก็ต้องทำแบบนั้นให้กับลูกค้าเช่นกัน
ได้เห็นหรือยังว่า ร้านอาหารของ “เจ๊จง vs เจ๊โอว” ได้ใช้กลยุทธ์บริหารจัดการร้านอาหารอย่างไรบ้าง มีความเหมือน แต่ก็มีความแตกต่างบ้าง ลองดูว่ามีความเหมือนกันอย่างไร และแตกต่างกันอย่างไรครับ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
อ่านบทความเพิ่มเติม https://bit.ly/2RpLwej