เจ้าของแฟรนไชส์ไทยต้องรู้! กฎหมายการลงทุนแฟรนไชส์ในเวียดนาม
ปัจจุบันประเทศในกลุ่มอาเซียนเริ่มมี กฎหมายแฟรนไชส์ (Franchise Law) บังคับใช้แล้ว โดยปัจจุบันมี 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม
ส่วนประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายแฟรนไชส์โดยเฉพาะมี 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และบรูไน สำหรับประเทศที่เจ้าของแฟรนไชส์ต้องการเปิดตลาด
อาจต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของประเทศนั้นๆ ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ที่คิดขยายแฟรนไชส์ในต่างประเทศ วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com มีข้อมูลการลงทุนแฟรนไชส์ในตลาดเวียดนามมาฝาก เจ้าของแฟรนไชส์ไทย ว่าต้องรู้อะไรครับ
Single Unit Franchising ได้รับความนิยมในเวียดนาม
ภาพจาก bit.ly/3nfVHPz
ปัจจุบันรูปแบบการขยายแฟรนไชส์ไปในประเทศเวียดนามมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบสัญญาแฟรนไชส์โดยตรง (Direct franchising) ที่มีการพัฒนาให้สิทธิ์ในการเปิดกิจการได้มากกว่า 1 แห่ง เช่น รูปแบบแฟรนไชส์ที่มีการให้สิทธิ์ในการเปิดดำเนินธุรกิจได้หลายสาขา (multi-unit) หรือการให้สิทธิ์แบบ Development agreements
รวมทั้งแบบสัญญาแฟรนไชส์หลัก (Master franchise agreements) ซึ่งตามปกติแล้วการขายสิทธิ์แฟรนไชส์ในเวียดนาม เจ้าแฟรนไชส์ (Franchisor) มักจะต้องการหาผู้ซื้อแฟรนไชส์ (Franchisee) ที่สามารถขยายธุรกิจในพื้นที่ให้เติบโตได้ ดังนั้นการขายสิทธิแฟรนไชส์แบบมีสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจได้เพียง 1 แห่ง (single unit franchising) จึงไม่เป็นที่นิยมในเวียดนาม
เทคนิคเปิดตลาดแฟรนไชส์ในประเทศเวียดนาม
ภาพจาก skyluckthailand
เจ้าของแฟรนไชส์ที่จะเข้าไปเปิดตลาดแฟรนไชส์ในเวียดนาม จะต้องดำเนินกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค และกฎระเบียบข้อบังคับของกฎหมายการลงทุนแฟรนไชส์ในเวียดนาม เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
- ควรทำการสำรวจตลาดก่อนที่จะมีการตั้งราคาของผลิตภัณฑ์และค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์
- เลือกผลิตภัณฑ์/บริการที่มีศักยภาพหรือเป็นที่นิยม แม้ว่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจะยังคงเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
- เน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีการเติบโตสูง
- เข้าร่วมงานแสดงสินค้าหรือเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง เพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์ สร้างความรับรู้และจดจำสินค้าแก่ผู้บริโภค อย่างน้อย 3 ปีติดต่อกัน จะทำให้คู่ค้าเกิดความคุ้นเคยต่อแบรนด์สินค้า
- เลือกทำเลที่เหมาะสมและราคาไม่แพง ในเมืองที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เช่น นครโฮจิมินห์ และกรุงฮานอย ที่ยังมีทำเลให้เลือกมาก
- ปรับกลยุทธ์ให้เข้าถึงตลาดที่มีวัฒนธรรมแตกต่าง ด้วยการศึกษาวัฒนธรรม นิสัยและรสนิยมของคนในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จของธุรกิจ
ภายใต้ข้อกำหนดการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ของเวียดนาม ที่ใช้ Decree No. 35/2006/ND-CP (ซึ่งถูกแก้ไขด้วย Decree 120/2011/ND-CP ในเดือนมกราคมปี 2016 and Decree No. 8/2018/ND-CP ในเดือนมกราคม 2018) เป็นกรอบแนวทางสำหรับการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ ภายใต้กฎระเบียบดังกล่าว อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถทำธุรกิจแฟรนไชส์ได้ทั้งแบบเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ (Franchisor) และแบบผู้รับสิทธิดำเนินธุรกิจ (Franchisee) ในเวียดนาม
โดยมีข้อกำหนดว่าเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ต่างชาติจำเป็นต้องดำเนินการหรือทำธุรกิจอย่างน้อย 1 ปี ก่อนที่จะเปิดธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนาม และต้องขึ้นทะเบียนประกอบธุรกิจแฟรนไชส์กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม
แฟรนไชส์ต่างชาติไม่ต้องจดทะเบียนบริษัท แต่ต้องขึ้นทะเบียนแฟรนไชส์ในเวียดนาม
ภาพจาก bit.ly/2LiYVEG
แม้ว่าเจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์ต่างประเทศ สามารถขยายตลาดแฟรนไชส์โดยไม่ต้องจดทะเบียนบริษัทในประเทศเวียดนาม (บริษัทจดทะเบียนธุรกิจในต่างประเทศ) แต่จะต้องขึ้นทะเบียนประกอบธุรกิจแฟรนไชส์กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม มิฉะนั้นต้องเสียค่าปรับในอัตรา 220–440 ดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้จะเป็นจำนวนที่ไม่มาก
แต่บริษัทมีความเสี่ยงที่อาจจะต้องถูกเรียกคืนกำไรที่ได้รับจากการดำเนินกิจการทั้งหมดในบางกรณี ทั้งนี้ หากเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์เป็นชาวเวียดนาม จะได้รับยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม
1. เอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ประกอบไปด้วย สำเนาเอกสารแนะนำธุรกิจแฟรนไชส์ (The Franchise Introduction Statement) และข้อตกลงของแฟรนไชส์ รวมไปถึงใบสมัครและเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เอกสารการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา โดยที่เอกสารเหล่านี้ต้องแปลเป็นภาษาเวียดนาม
2. ข้อตกลงแฟรนไชส์ในเวียดนาม กฎหมายของประเทศเวียดนามไม่ได้บังคับให้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมใดๆ ในข้อตกลงธุรกิจแฟรนไชส์ ผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์และผู้รับสิทธิ์ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ มีอิสระที่จะเจรจาข้อกำหนดและเงื่อนไขของข้อตกลงแฟรนไชส์ โดยที่ข้อตกลงแฟรนไชส์จะต้องเขียนเป็นภาษาเวียดนาม และมีผลบังคับใช้แม้จะเลือกพิจารณาตัดสินข้อพิพาทด้วยอำนาจศาลต่างประเทศ
3. ภาษีธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนาม ถึงแม้ว่าเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ต่างชาติจะไม่ได้จดทะเบียนธุรกิจในเวียดนาม แต่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้รับสิทธิดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนาม และถือเป็นการทำสัญญาระหว่างบริษัทเวียดนามกับบริษัทต่างชาติ จึงจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับค่าธรรมเนียมใดๆ ที่เรียกเก็บจากผู้รับสิทธิดำเนินกิจการ ซึ่งประกอบด้วย
- ค่าธรรมเนียมแรกเข้า (Franchise fees)
- ค่าธรรมเนียมต่ออายุ (Royalties)
- ค่าธรรมเนียมการบริหาร (Administrative fees)
- ค่าโฆษณา (Advertising fees)
- ค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management fees)
โดยเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ชาวต่างชาติในเวียดนามต้องเสียภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับการให้บริการในเวียดนามดังต่อไปนี้
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) : 5%
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) : 5%
ขณะเดียวกัน เจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ในประเทศจะต้องเสียภาษีในอัตราภาษี ดังนี้
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) : 10%
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) : 20%
4. การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในเวียดนาม การเข้ามาลงทุนธุรกิจในเวียดนาม เจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รวมถึงการจด URL และเว็บไซต์กับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติเวียดนาม (the National Office of Intellectual Property of Vietnam) เพื่อป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
5. การเป็นผู้รับสิทธิดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ต่างประเทศในเวียดนาม นักลงทุนต่างชาติสามารถเป็นผู้รับสิทธิ์ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ได้ เมื่อมีการจัดตั้งนิติบุคคลในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม สามารถเปิดธุรกิจเฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการโดยชาวต่างชาติตามที่เวียดนามได้ผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO)
ตัวอย่างเช่น หากต้องการเปิดกิจการโรงแรมและให้บริการด้านการท่องเที่ยวก็จำเป็นต้องจัดตั้งแบบ Joint venture กับบริษัทด้านการท่องเที่ยวท้องถิ่นของเวียดนามที่มีใบอนุญาตประกอบการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ (International Tourism License) เท่านั้น ในขณะที่การเปิดร้านอาหารหรือร้านค้าปลีกในเวียดนามนักลงทุนต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของคนเดียวได้
6. การจัดตั้งธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม โดยส่วนใหญ่ไม่มีการกำหนดเงินทุนขั้นต่ำสำหรับการดำเนินการธุรกิจในเวียดนาม จากรายงานของ International Grocery Research Organization (IGD) คาดว่า ภายในปี 2564 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อของเวียดนามจะเติบโตร้อยละ 37.4 ทำให้เวียดนามเป็นตลาดร้านสะดวกซื้อที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย เนื่องจากธุรกิจค้าปลีกในประเทศเวียดนามเปิดกว้างสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ นักลงทุนต่างชาติจึงสามารถสร้างธุรกิจค้าปลีกได้โดยไม่ต้องมีหุ้นส่วนจากคนในท้องถิ่น
แบรนด์แฟรนไชส์ใหม่ๆ ควรใช้บริการที่ปรึกษากฎหมาย
นอกจากนี้ นักลงทุนชาวเวียดนามยังคงมีความลังเลที่จะลงทุนในแบรนด์ใหม่ๆ ที่ต้องการเงินลงทุนสูงและยังไม่มีข้อมูลผลประกอบการในภูมิภาคมาก่อน ดังนั้น จึงควรใช้บริการบริษัทที่ปรึกษากฎหมายในการจัดทำสัญญาแฟรนไชส์ และจดทะเบียนธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อให้มีความรัดกุมและเป็นไปตามกฎหมายของเวียดนามกำหนด
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
แหล่งข้อมูลจาก
- https://bit.ly/3nfVHPz
- http://tvbc.or.th/detail_event.php?qno=1850
- https://aiti.thaichamber.org/clmv-report/20395
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3ogwJkz