เครดิตบูโร ! รู้จักให้ดี เพื่อความสบายใจในการขอสินเชื่อ

น่าจะเป็นอีกหนึ่งสถาบันที่ใครหลายคนเคยได้ยินและรู้จักกับคำว่าบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินให้กับสถาบันการเงินต่างๆ

แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเครดิตบูโร หลายต่อหลายครั้งที่ขอสินเชื่อไม่ผ่านก็โทษว่าเป็นความผิดของ เครดิตบูโร ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติเลยแม้แต่น้อย

เครดิตบูโร

ในฐานะที่ www.ThaiSMEsCenter.com ก็อยู่ในแวดวงของธุรกิจเช่นกันเราจึงนำข้อมูลความจริงอ้างอิงจากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินธนาคารแห่งประเทศไทยมาทำให้ทุกคนเข้าใจคำว่าเครดิตบูโรที่ถูกต้องชัดเจนแบบแท้จริง

เครดิตบูโร(Credit Bureau) กับระบบการเงินไทย

kd

ในปี 2545 ได้มีการตรา พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545 โดยมีเหตุผลเพื่อให้การกู้ยืมหรือการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินนั้นได้มีข้อมูลเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและประวัติการชำระหนี้ของลูกค้าอย่างเพียงพอ

ซึ่งการปล่อยสินเชื่อโดยมีข้อมูลไม่ครบถ้วนที่ผ่านมานั้นก่อให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงของสถาบันการเงินนั้นรวมถึงระบบของสถาบันการเงินโดยรวม

นอกจากนี้การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตในขณะนั้นยังไม่มีกฏหมายเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทำธุรกรรมข้อมูลเครดิต รวมทั้งยังไม่มีกฏหมายคุ้มครองประชาชนผู้เป็นเจ้าของข้อมูลไว้เป็นการเฉพาะ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่จำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

และในปี 2548 มีการควบรวมกิจการของบริษัทข้อมูลเครดิตทั้ง 2 แห่งและเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ National Credit Bureau ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2548 เพื่อให้ข้อมูลเกิดการรวมศูนย์ ไม่เป็นภาระแก่ประชาชนและนิติบุคคลผู้เป็นเจ้าของข้อมูลในการตรวจสอบกรณีมีบริษัทข้อมูลเครดิตหลายแห่ง

หน้าที่สำคัญของเครดิตบูโร

kd1

หลายคนมีความเข้าใจว่าสาเหตุที่สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อให้เนื่องจากทางเครดิตบูโรขึ้นบัญชีดำหรือที่รู้จักันในนามว่า “Blacklist” แต่ในความเป็นจริงนั้นหน้าที่ของเครดิตบูโรคือการจัดเก็บรักษาและรวบรวมประมวลผลข้อมูลสินเชื่อของลูกค้าจากสถาบันการเงินตามที่สถาบันการเงินหรือบริษัทที่เป็นสมาชิกจัดส่งมาให้เท่านั้น

และเมื่อเราได้ทำการขอกู้เงินจากสถาบันการเงินและไม่ได้รับการอนุมัตินั้นอาจมีสาเหตุมาจากหลายประการเช่น เรามีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่สถาบันการเงินเป็นผู้กำหนด หรือข้อมูลที่ปรากฏในเครดิตบูโรไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสถาบันการเงินที่ขอกู้ ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการที่เรามีประวัติการชำระหนี้ไม่ดีหรือมีการผิดชำระหนี้กับสถาบันการเงินอื่นนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ทางเครดิตบูโรจึงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือมีสิทธิ์อำนาจในการอนุมัติหรือเข้าร่วมการตัดสินใจในเรื่องการขอสินเชื่อของลูกค้าแต่อย่างใดซึ่งหากมีใครที่กล่าวอ้างในเรื่องที่เป็นเท็จเหล่านี้สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่ 0-2643-1250

หากประวัติเครดิตไม่ดีควรทำอย่างไร

kd4

1.ติดต่อสถาบันการเงิน

การติดต่อกับสถาบันการเงินที่เคยเป็นหนี้นั้นเพื่อชำระหนี้ที่ค้างให้เสร็จสิ้นแต่หากมีหนี้คงค้างจำนวนมากควรเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้เพื่อขอลดหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ต่อไป

2.เริ่มการสร้างประวัติสินเชื่อใหม่

การสร้างประวัติสินเชื่อใหม่นั้นต้องเริ่มจากการสร้างวินัยที่ดีในการชำระหนี้ให้ตรงเวลา ไม่ผิดนัดชำระหนี้อีก เนื่องจากทุกความเคลื่อนไหวในการชำระหนี้ของเรานั้นจะถูกจัดเก็บเป็นข้อมูลทั้งหมด

vb10

5 เหตุผลทำไมเราต้องไปตรวจเครดิตบูโร

รายงานของเครดิตบูโรนั้นถือเป็นความลับเฉพาะที่คนอื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้องไม่อาจล่วงรู้ข้อมูลได้และเพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อนการขอสินเชื่อหรือขออมุมัติเงินในการกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือทำธุรกิจควรขอตรวจเครดิตบูโรซึ่งก็มีเหตุผลสำคัญ5ประการที่ควรรู้

  1. ถือเป็นการเตรียมตัวก่อนไปขอสินเชื่อกับทางธนาคารดังคำว่ารู้เราก่อนไปหาเขาก็จะทำให้เราดำเนินการในเรื่องการขอสินเชื่อได้อย่างสบายใจขึ้น
  2. ถือเป็นการตรวจและป้องกันตัวเองไม่ให้มีหนี้งอกหรือหนี้ที่ไม่ใช่ของเราด้วย
  3. เป็นการสร้างความมั่นใจว่าเรามีประวัติค้างชำระหรือไม่ ซึ่งถ้าข้อมูลไม่ถูกต้องเราสามารถขอแก้ไขได้ทันท่วงที
  4. เป็นการเช็คสถานะตัวเองว่าเมื่อชำระหนี้ที่ค้างหมดไปแล้ว มีสถานการณ์ปิดบัญชียอดหนี้เป็นศูนย์เรียบร้อย
  5. เป็นการยืนยันข้อมูลส่วนบุคคล เช่นชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ให้ถูกต้องครบถ้วนอีกครั้ง

ไขข้อข้องใจทำไมขอสินเชื่อไม่ผ่าน

kd3

เราอาจเคยเจอเหตุการณ์เหล่านี้กันมาบ้างสำหรับบางคนที่บอกว่าให้ข้อมูลไปครบถ้วนแล้ว ประวัติหนี้เสียก็ไม่มี แต่ทั้งนี้การขออนุมัติสินเชื่อที่ไม่ผ่านนั้นอาจมีเหตุผลมาจากหลายประการเช่น นโยบายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการแต่ละแห่งที่ไม่เหมือนกัน

หรือภาระหนี้ที่มีอยู่และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ รวมถึงหลักประกันความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อก็มีส่วนสำคัญ แม้กระทั่งประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาหรือโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้มากหรือน้อยก็เป็นเหตุผลประกอบการตัดสินใจของสถาบันการเงินได้เช่นกัน

แต่ทั้งนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้สถาบันการเงินนั้นต้องชี้แจงเหตุผลที่ไม่ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ขอสินเชื่อทราบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรและต้องจัดส่งลงทะเบียนไปให้ผู้ขอสินเชื่อได้รับทราบด้วย

และสำหรับใครที่แก้ปัญหาแบล็คลิสต์เป็นที่เรียบร้อยและอยากเริ่มต้นการลงทุนสร้างกำไรให้แบบไม่ต้องมีหนี้สินกันอีกขอแนะนำการทำธุรกิจในย่านทำเลทองที่เรามีให้เลือกทำธุรกิจได้ตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/MoX2vF

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด