อาชีพเพิ่มรายได้ “การเลี้ยงแพะ” ทำง่าย รายได้ดีจริง
การเลี้ยงแพะ ขายได้ทั้งเนื้อ นม หนัง และขน แต่การเลี้ยงแพะในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังขาดข้อมูลบางอย่างทำให้ผลผลิตได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งการเลี้ยงแพะยังมีข้อดีที่น่าสนใจหลายอย่าง
เช่น การเลี้ยงแพะใช้ระยะเวลาสั้นกว่าการเลี้ยงวัว , แพะหากินเก่ง และกินใบไม้ได้หลายชนิด , แพะทนทานต่อทุกสภาพอากาศ , แพะมีขนาดตัวเล็ก ใช้พื้นที่น้อย จัดการง่าย เป็นต้น
www.ThaiSMEsCenter.com มองว่านี่คืออีกหนึ่งอาชีพเกษตรกรรมที่น่าสนใจและควรส่งเสริมให้มีการเลี้ยงแพะกันเพิ่มมากขึ้น โดยข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่า ปี 2562 มีจำนวนแพะในประเทศไทยทั้งสิ้น 832,533 ตัว
(แพะเนื้อ 803,768 ตัว แพะนม 28,765 ตัว) มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ จำนวน 65,850 ครัวเรือน โดย กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการส่งเสริม และสร้างความเข้มแข็งแก่ชมรมเกษตรกรเลี้ยงแพะระดับจังหวัด 64 ชมรมจังหวัด สมาชิกเกษตรกรเลี้ยงแพะ 7,551 ราย
สายพันธุ์แพะที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย
ภาพจาก bit.ly/33YxaXN
สำหรับพันธุ์ของแพะที่นิยมนำมาเลี้ยงมีหลายประเภท แต่สายพันธุ์ที่กรมปศุสัตว์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์ให้สามารถเลี้ยงได้ในประเทศไทย มี 7 พันธุ์ดังนี้
- แพะพันธุ์พื้นเมือง แพะพันธุ์พื้นเมืองในภาคใต้ มีสีหลากหลาย ส่วนใหญ่พบว่ามีสีดำ น้ำตาล หรือน้ำตาลสลับดำ แพะโตเต็มที่เพศเมียนมีความสูงตรงปุ่มหน้าขาประมาณ 48.5 ซม. มีน้ำหนักตัวประมาณ 12.8 – 16.4 กก. แพะพันธุ์พื้นเมืองไทยมีลักษณะคล้ายกับ แพะพันธุ์กัตจัง (Kambing Katjang) พันธุ์พื้นเมืองของประเทศมาเลเซีย
- แพะพันธุ์แองโกลนูเบียน (Anglonubian) เป็นแพะที่ให้ทั้งเนื้อและนม มีหลายสี ทั้งสีเดียวในตัวและสีด่างปัน สันจมูกเป็นเส้นโค้ง ใบหูยาวปรกลง นำเข้ามาเลี้ยงและขยายพันธุ์ในไทยกว่า 20 ปี
- แพะพันธุ์บอร์ (Boer) เป็นแพะพันธุ์เนื้อขนาดใหญ่ จากประเทศแอฟริกาใต้ มีลำตัวสีขาว หัวและคอจะมีสีแดง ใบหูยาวปรก นำเข้ามาเมื่อปลายปี 2539
- แพะพันธุ์ซาเนน (Saanen) เป็นแพะพันธุ์นม สีขาวทั้งตัว หูใบเล็กตั้ง หน้าตรง
- แพะพันธุ์หลาวซาน (Laoshan) เป็นแพะพันธุ์นม จากประเทศจีน มีลักษณะคล้ายพันธุ์ซาเนน
- แพะพันธุ์อัลไพน์ (Alpine) เป็นแพะพันธุ์นม สีน้ำตาลหรือดำ ใบหูเล็กตั้ง หน้าตรง มีแถบสีข้างแก้ม
- แพะพันธุ์ทอกเก็นเบิร์ก (Toggenburg) เป็นแพะพันธุ์นม ลำตัวสีช็อกโกแบต ใบหูตั้ง หน้าตรง มีแถบสีขาวข้างแก้ม
รูปแบบการเลี้ยงแพะ
ภาพจาก https://bit.ly/3j3eXif
- การเลี้ยงแบบผูกล่าม เพื่อให้แพะหาหญ้ากินรอบบริเวณที่ผูก โดยผู้เลี้ยงต้องมีน้ำ และแร่ธาตุให้แพะกินเวลากลางคืน การเลี้ยงแบบปล่อย เป็นการเลี้ยงที่ประหยัดงบประมาณ เพราะเป็นการปล่อยให้แพะออกหากินเองประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง แต่มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรปล่อยในเวลาที่ฝนตกหรือแดดร้อนจัด เพราะแพะอาจเจ็บป่วยได้
- การเลี้ยงแบบขังคอก การเลี้ยงแบบนี้จะขังแพะไว้ในคอก ซึ่งจะมีแปลงหญ้าเพื่อให้แพะได้กิน บางครั้งต้องตักหญ้าให้แพะกินบ้าง ในคอกควรมีน้ำและอาหารข้น ซึ่งการเลี้ยงแบบนี้จะใช้เงินลงทุนสูง
- การเลี้ยงแบบผสมผสานกับการปลูกพืช คือ การปลูกพืชปะปนไปกับการเลี้ยงแพะ เช่น ปลูกยางพารา ปลูกปาล์มน้ำมัน และปลูกมะพร้าว ในภาคใต้ของไทย เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงแพะควบคู่ไปกับการทำสวนยางจำนวนมาก
รูปแบบโรงเรือนสำหรับเลี้ยงแพะ
ภาพจาก bit.ly/2ECd3WU
- พื้นที่ตั้งคอกควรสูงกว่าพื้นดินประมาณ 1-2 เมตร และมีบันไดทางขึ้นคอกทำมุม 45 องศา
- พื้นคอกควรทำเป็นร่องเว้นระยะห่าง 1.5 เซนติเมตร เพื่อให้มูลหรือปัสสาวะของแพะร่วงลงมายังพื้นด้านล่าง จะได้ทำให้พื้นคอกแห้งและมีความสะอาดตลอดเวลา
- ผนังคอกควรสร้างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และใช้ความสูงประมาณ 1.5 เมตร เพื่อป้องกัน ไม่ให้แพะกระโดดข้าม
- สำหรับหลังคาโรงเรือน สามารถสร้างได้หลายแบบให้เหมาะสมกับสภาพอากาศหรือต้นทุนในการสร้าง แต่ควรให้หลังคาโรงเรือนสูงจากคอกประมาณ 2 เมตร
- พื้นที่ในการเลี้ยงแพะ แพะแต่ละตัวต้องการพื้นที่ส่วนตัวละ1-2 ตารางเมตร หรือแล้วแต่ขนาดตัวของแพะ สามารถแบ่งคอกในโรงเรือนได้ตามการใช้งานต่างๆอาทิ คอกแม่แพะอุ้มท้อง, คอกสำหรับคลอดลูกแพะ, คอกสำหรับลูกแพะ และที่สำคัญคือ รั้วคอกแพะควรสร้างด้วยไม้ไผ่หรือลวดตาข่าย ไม่ควรใช้รั้วลวดหนาม เพราะจะทำให้แพะพลาดไปโดนได้
ต้นทุนเบื้องต้นและรายได้สำหรับการเลี้ยงแพะ
ภาพจาก bit.ly/3i3i4Fm
ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี (สศท.10) ระบุว่าเกษตรกรนิยมเลี้ยงพันธุ์ลูกผสมบอร์ ซึ่งจะใช้พ่อพันธุ์ที่มีสายเลือดแท้ผสมกับแม่พันธุ์พื้นเมือง หรือแม่พันธุ์ที่มีสายเลือดบอร์ต่ำ ลักษณะเด่นของแพะพันธุ์บอร์ คือส่วนหัวจนถึงคอมีสีน้ำตาล ส่วนลำตัวมีสีขาว เป็นพันธุ์ที่โตเร็ว และเป็นที่ต้องการของตลาด การเลี้ยงแพะเนื้อมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,119 บาท/ตัว แยกเป็นค่าพันธุ์สัตว์ 1,950 บาท
ค่าแรงงาน 540 บาท และส่วนที่เหลือ 629 บาท เป็นค่าอาหาร ยาป้องกันโรค และ ค่าเสื่อมโรงเรือนและอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับราคาขายเกษตรกรสามารถจำหน่ายแพะเนื้อ (อายุเฉลี่ย 6-7 เดือน น้ำหนักประมาณ 30-35 กก./ตัว) ในราคาเฉลี่ย 3,825 บาท/ตัว (127 บาท/นน.ตัว 1 กก.) ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 706 บาท/ตัว
ภาพจาก bit.ly/3665J12
ทั้งนี้การเลี้ยงแพะเนื้อจะใช้พื้นที่ไม่มากนัก สามารถกินอาหารได้หลากหลาย เช่น อาหารหยาบ ได้แก่ ฟางข้าว หญ้าสด ใบกระถิน และลำต้นข้าวโพดฝักอ่อน ส่วนอาหารข้น ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป รำข้าว กาก และเปลือกมันสำปะหลัง โดยแพะเนื้อต้องการอาหารวันละ 1-2 กก./วัน อีกทั้ง ยังทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้แพะเนื้อเจริญเติบโต และสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพเกษตรกรรมที่น่าสนใจสำหรับใครที่สนใจในการเลี้ยงแพะ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากกรมปศุสัตว์ที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ หรือศึกษาหาข้อมูล เทคนิควิธีการเลี้ยง จากเกษตรกรที่มีประสบการณ์จะช่วยให้เราสามารถเลี้ยงแพะได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมเรื่องของตลาดโดยเฉพาะมือใหม่ที่หัดเลี้ยงจำเป็นต้องมีตลาดรองรับและควรเริ่มเลี้ยงจากน้อยๆและค่อยๆขยายเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3kmLlg1 , https://bit.ly/35Bn6Xb , https://bit.ly/3bYluIc
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3hZIyrh