อาชีพเพิ่มรายได้ “การเลี้ยงปลากัด” ทำง่าย รายได้ดีจริง

คนไทยหลายคนไม่รู้จัก “ปลากัด” หรือบางคนเพียงแต่เคยได้ยินชื่อและไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแท้ที่จริง “ปลากัด” สร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยได้อย่างมาก ในแวดวงปลากัดเองก็มีการซื้อขาย เพาะเลี้ยง บางคนมีที่ดิน มีบ้านหลังใหญ่ ก็ด้วยการ “เพาะปลากัดขาย”

โดยเฉพาะในพื้นที่สำคัญอย่างฉะเชิงเทรา นครปฐม เพชรบุรี และหลายจังหวัดในภาคใต้ แม้แต่ทางภาคเหนือหรืออีสานก็มีกลุ่มคนเพาะเลี้ยงปลากัดจำหน่ายเช่นกัน แม้ชื่อเสียงวงการนี้จะไม่ใหญ่โต แต่ในความจริงสามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้เกินความคาดหมายที่เดียว

อย่างไรก็ดี www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าอาชีพการเพาะเลี้ยงปลากัดไม่ใช่นึกจะทำก็ทำได้ ขั้นแรกคือคุณต้องใจรัก การเพาะปลากัดมีขั้นตอนหลายอย่าง รวมถึงมีเทคนิคที่ต้องศึกษา

อย่างการสังเกตตัวผู้ตัวเมีย การเทียบคู่ การอนุบาลลูกปลา การคัดแยกปลาเมื่อมีขนาดโต การเทสต์ปลาว่าเก่งพอจะขายได้หรือยัง ไหนจะเรื่องอาหารและเทคนิคการหาพ่อปลาแม่ปลามาผสมพันธุ์เพื่อให้ได้ลูกเก่งๆ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ประสบการณ์มากกว่าความรู้ แต่ถ้าสนใจและทำได้จริง ขอบอกว่า “รวยทุกคน”

ประเภทของปลากัด

การเลี้ยงปลากัด

ภาพจาก bit.ly/30Jg4fA

1. ปลากัดลูกหม้อ

มีลักษณะลำตัวค่อนข้างหนาเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น ส่วนหัวค่อนข้างโต ปากใหญ่ ครีบสั้นสีเข้ม เดิมมักจะเป็นสีเขียว , น้ำเงินแกมแดง แต่ปัจจุบันมีหลายสี เช่น สีแดง สีน้ำเงิน สีม่วง สีเขียว ถือเป็นปลาที่มีความอดทน กัดเก่ง ได้รับความนิยมสำหรับการกัดพนัน ปัจจุบันนิยมเรียกเป็นกลุ่มของ ปลากัดครีบสั้น

2. ปลากัดลูกทุ่ง

มีลักษณะลำตัวเล็กกว่าพันธุ์ลูกหม้อ ลำตัวค่อนข้างยาว ครีบยาวปานกลางหรือยาวกว่าพันธุ์ลูกหม้อเล็กน้อย สีไม่เข้มมากนัก ส่วนมากมักจะเป็นสีแดงแกมเขียว เป็นพันธุ์ที่มีความตื่นตกใจได้ง่ายที่สุด การกัดจะมีความว่องไวมากกว่าพันธุ์ลูกหม้อ

3. ปลากัดลูกผสม

เป็นลูกปลาที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างปลากัดลูกหม้อกับปลากัดลูกทุ่ง ผู้เพาะต้องการให้ปลาลูกผสมที่ได้มีลักษณะปากคม กัดคล่องแคล่วว่องไวแบบปลาลูกทุ่ง และมีความอดทนแบบปลาลูกหม้อ ปลาลูกผสมนี้จะกัดทนกว่าปลาลูกทุ่ง

4. ปลากัดจีน

เป็นปลากัดที่เกิดจากการเพาะและคัดพันธุ์ปลากัดโดยเน้นเพื่อความสวยงาม พยายามคัดพันธุ์เพื่อให้ปลามีหางยาวและสีสันสดเข้ม

การเพาะเลี้ยงปลากัด

6

ภาพจาก bit.ly/2I8VI9m

1. การเตรียมพ่อแม่พันธุ์

ปลากัดจะสมบูรณ์เพศเมื่ออายุ 4 – 6 เดือน สามารถนำไปใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ การเลือกปลาเพศผู้ควรเลือกปลาที่คึกคะนอง สำหรับปลาเพศเมียควรเลือกปลาที่มีท้องแก่ คือมีไข่แก่เต็มที่ โดยสังเกตได้จากส่วนท้องของปลา ซึ่งจะขยายตัวพองออกอย่างชัดเจน

2. การเทียบพ่อแม่พันธุ์

เมื่อได้พ่อแม่พันธุ์ที่ต้องการนำปลาใส่ขวดแก้วใสขวดละตัวแยกเพศกันไว้ก่อน แล้วนำมาตั้งเทียบกันไว้ โดยการวางขวดใส่ปลาให้ชิดกันและไม่ต้อมีกระดาษปิดคั่น ต้องการปล่อยให้ปลามองเห็นกัน ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “การเทียบ” ควรเทียบไว้นานประมาณ 4 – 7 วัน เพื่อให้ปลาเกิดความเคยชินซึ่งกันและกัน เมื่อปล่อยลงบ่อเพาะแม่ปลาจะไม่ถูกพ่อปลาทำร้าย

3. การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์

ส่วนมากนิยมใช้ภาชนะต่างๆไม่มีบ่อถาวร เช่น อ่างดินเผา กะละมัง ถัง หรือตุ่มน้ำขนาดเล็ก เพราะสะดวกกว่าการเพาะในบ่อ ภาชนะดังกล่าวมักมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร ใส่น้ำสะอาดลงในภาชนะที่เตรียมไว้ให้มีระดับสูงประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร จากนั้นใส่พันธุ์ไม้น้ำที่มีใบหรือลำต้นอยู่ผิวน้ำ เช่น จอก ผักตบชวา ผักบุ้ง หรือผักกระเฉด ลงไปบ้างเล็กน้อยเพื่อให้ปลาสร้างหวอดได้ง่าย

4. การปล่อยปลาลงบ่อเพาะ

เมื่อเทียบปลาไว้เรียบร้อยแล้วจึงปล่อยปลาทั้งคู่ลงบ่อเพาะที่เตรียมไว้ ต้องพยายามอย่าให้ปลาตื่นตกใจมากนัก จากนั้นหาแผ่นวัสดุ เช่น กระดาษแข็ง หรือแผ่นกระเบื้อง ปิดบนภาชนะที่ใช้เพาะ โดยปิดไว้ประมาณ 2 ใน 3 ของพื้นที่ปากภาชนะ เพราะปลากัดมักชอบวางไข่ในบริเวณที่มืด เนื่องจากต้องการความเงียบสงบ วัสดุที่นำมาปิดจะสามารถช่วยบังแสงและกันลมไม่ให้หวอดของปลาแตก เทคนิคที่สำคัญคือ การปล่อยพ่อแม่ปลาควรปล่อยในตอนเย็น เวลาประมาณ 17.00 – 18.00 น.

การอนุบาลลูกปลากัด

5

ภาพจาก bit.ly/33H0OBO

การอนุบาลลูกปลากัดจะเริ่มจากที่ลูกปลาเริ่มหากินอาหาร ลูกปลากัดต้องการอาหารที่มีชีวิต แต่ปัญหาจะอยู่ที่ว่าลูกปลากัดเป็นลูกปลาที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ปากจะไม่ใหญ่พอที่จะจับกินอาร์ทีเมียหรือไรแดงได้ อาหารที่เหมาะสมจะใช้ให้ลูกปลากินในช่วงนี้คือไข่แดง

โดยใช้ไข่ไก่หรือไข่เป็ดมาต้มให้สุกแล้วแกะเอาเฉพาะไข่แดงไปเลี้ยงปลา เนื่องจากลูกปลากัดจะต้องการจับกินอาหารมีชีวิตยังไม่สามารถกัดแทะอาหารได้ ดังนั้นต้องนำเอาไข่แดงที่จะใช้ เช่น ลูกปลากัด 1 ครอกจะใช้ไข่แดงขนาดเท่าเม็ดถั่วดำต่อการให้ 1 ครั้ง

การเลี้ยงปลากัดให้สามารถจำหน่ายได้

4

ภาพจาก bit.ly/3jHifbe

มีทั้งแบบที่เป็นบ่อดินและบ่อปูนซีเมนตร์ ถ้าเป็นบ่อดินควรมีขนาด 10 – 30 ตารางเมตร ถ้าเป็นบ่อซีเมนต์ควรมีขนาด 2 – 6 ตารางเมตร มีความลึกประมาณ 50 – 60 เซนติเมตร คัดแยกลูกปลาจากบ่ออนุบาลโดยคัดเอาเฉพาะปลาเพศผู้มาเลี้ยง

เนื่องจากปลาเพศผู้เป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าและราคาสูงกว่าปลาเพศเมียมาก ปล่อยเลี้ยงในอัตรา 150 – 200 ตัว ต่อเนื้อที่ 1 ตารางเมตร สำหรับบ่อดิน และอัตรา 100 – 150 ตัว ต่อเนื้อที่ 1 ตารางเมตรสำหรับบ่อซีเมนต์ ใช้เวลาเลี้ยงอีกประมาณ 50 – 60 วัน ปลาจะมีขนาดประมาณ 5 เซนติเมตร สามารถคัดแยกใส่ขวดเพื่อรอจำหน่ายต่อไป

ราคาในการจำหน่ายปลากัด

3

ภาพจาก bit.ly/3jITX0p

ปลากัดสำหรับเดิมพันจะมีฤดูกาลแข่งขันโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่ปลากัดส่วนใหญ่จะมีความเก่งและกัดได้ดี ราคาขายของปลากัดในกลุ่มเดิมพันซึ่งเป็นตลาดที่มีกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคราคาขายต่อตัวประมาณ 40-50 บาท หรือบางรายก็ขายเป็นชุด เช่น 12 ตัว 1,000 ซึ่งการทำตลาดของเจ้าของบ่อปลากัดส่วนใหญ่จะมี “ปลาลอง” คือปลาขนาดเล็กให้ลูกค้าลองเอาไปกัดดูก่อน

ซึ่งปลากัดมีความพิเศษตรงที่หากบ่อไหนเก่งก็จะเก่งเหมือนกันทั้งคอก แต่ก็ต้องมาคัด “รอย” หรือขนาดของตัว เพื่อให้สามารถกัดกับคู่ต่อสู้ได้แบบไม่เสียเปรียบ สำหรับกลุ่มการขายปลากัดเดิมพันถือว่ามีรายได้ค่อนข้างดีแถวแปดริ้วหรือนครปฐมมีการทำอาชีพนี้กันอย่างชัดเจน

มีเงินหมุนเวียต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 20,000 -30,000 บาท และอีกกลุ่มคือการเพาะปลากัดเพื่อความสวยงาม ตรงนี้ส่วนใหญ่ปลากัดยิ่งแปลกยิ่งขายดี เช่น ฮาร์ฟมูน คราวเทล หรือสีแปลกๆอย่างสีธงชาติ เป็นต้น ราคาขายส่วนใหญ่เริ่มตั้งแต่หลักพันไปถึงหลักหมื่นบาทก็ยังมี

วิธิสร้างรายได้ด้วย “การหาปลากัดจากบ่อ ส่งขาย”

2

ภาพจาก bit.ly/34DDR1E

นอกจากจะเป็นคนเพาะแล้ว วิธีการสร้างรายได้ที่นิยมอีกแบบหนึ่งคือ “การหาปลาขาย” โดยคนเหล่านี้อาจไม่มีบ่อของตัวเองแต่อาศัยติดต่อบ่อปลาที่สนิทเพื่อถามว่ามี “ปลาเบอร์ไหนเก่ง” ซึ่งเจ้าของบ่อส่วนหนึ่งก็ต้องอาศัย “คนจับปลา” เหล่านี้ในการนำปลาไปขาย ซึ่งต้องมีการ “เทสต์” ก่อนว่าปลากัดดังกล่าว เนื้อหนัง เขี้ยว เชิงกัดเป็นอย่างไร

หากเทสต์ในสนามผ่าน ก็จะสั่งออร์เดอร์จากบ่อว่าต้องการปลาเบอร์เก่งนี้จำนวนเท่าไหร่ บางครั้งถ้าเก่งมากถึงกับต้องขอ “ปิดบ่อ” (หมายถึงขอเหมาทั้งบ่อห้ามขายให้คนอื่นอีกในบ่อนั้น) เมื่อคนจับปลามีปลาเก่งก็จะกระจายให้ลูกค้าที่ตัวเองรู้จัก ราคาขายก็จะบวกเพิ่มจากหน้าบ่อหรือถ้ายิ่งมีผลงานราคาก็ยิ่งแพง จากปลากัดหน้าบ่อตัวละ 60-80 บาท

เมื่อเก่งจริง อาจขายที่ตัวละ 100 หรือ 3 ตัวพันธุ์ (ส่วนใหญ่เป็นลูกนอก จากมาเลเซีย อินโดนีเซีย) สำหรับลูกค้าที่ซื้อปลากัดเก่งเหล่านี้ไปก็จะนำไปเดิมพันในสนาม อัตราต่อรองก็แล้วแต่คู่ต่อสู้ ซึ่งการตีไก่ กัดปลาถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนไทยที่มีมาอย่างช้านาน

1

ภาพจาก bit.ly/2V368rL

สำหรับคนที่สนใจเพาะเลี้ยงหรืออยากหารายได้จากปลากัดก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ดี และไม่ใช่แค่ปลากัดเก่งเท่านั้นวงการที่ใหญ่และได้การยอมรับมากกว่าคือปลากัดสวยงามที่ถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศไทยถึงกับมีประกาศจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ประกาศให้ “ปลากัดไทย” เป็นสัตว์น้ำประจำชาติอีกด้วย


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/36NdvwY

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด