อะไรก็แพง! มีเงินแค่ไหนถึงจะพอใช้ช่วงสงกรานต์
เดือนเมษายนของทุกปีคนไทยจะใจจดจ่อกับช่วงหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์แต่จากปัญหาการแพร่ระบาดโควิดทำให้ในปี 2563 กลายเป็นปีแรกที่ประกาศห้ามมีการเล่นสาดน้ำ แถมยังประกาศในปีนั้นว่าวันสงกรานต์ไม่เป็นวันหยุดราชการ ไม่ใช่วันหยุดประจำปี ที่ต้องให้เลื่อนไปก่อนแล้วจะมาชดเชยให้ภายหลัง ทำให้เป็นสงกรานต์ที่หลายคนต้องมาทำงานแทนการได้หยุดยาว มาถึงในปี 2564 มาตรการคุ้มเข้มก็ยังต่อเนื่อง
รัฐบาลประกาศห้ามเล่น สาดน้ำ ประแป้ง จัดคอนเสิร์ต ปาร์ตี้โฟม อย่างเด็ดขาดในทุกกรณี แต่ในปี 2565 นี้ ภาครัฐมีมติให้สามารถจัดงานสงกรานต์ จัดกิจกรรมตามประเพณีได้ และอนุญาตให้เดินทางกลับภูมิลำเนาได้ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด 19 ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเต็มที่
แต่ปัญหาสำคัญที่คนไทยต้องเจอในปีนี้ www.ThaiSMEsCenter.com มั่นใจว่าคือเรื่อง “ค่าครองชีพ” อะไรก็แพง ที่ราคาสินค้าหลายอย่างเพิ่มสูงอย่างมาก ดังนั้นการเดินทางกลับบ้านไปหาญาติพี่น้องในปีนี้ เงินที่ควรติดกระเป๋าก็ต้องมีมากขึ้น และเราควรมีเท่าไหร่ และรายจ่ายจากการเดินทางจะสูงมากแค่ไหน ลองไปดูข้อมูลน่าสนใจเหล่านี้
สงกรานต์ 2565 ทำอะไรได้บ้าง?
สงกรานต์ปีนี้อนุญาตให้เล่นน้ำ และจัดกิจกรรมตามประเพณี เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ การละเล่น การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรี โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และมีการกำกับอย่างเคร่งครัด แต่สิ่งที่ห้ามทำคือ ห้ามประแป้ง ปาร์ตี้โฟม จำหน่ายและบริโภคแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน ต้องมีการกำหนดช่องทางเข้า-ออกจากงาน จัดจุดคัดกรอง และควบคุมความหนาแน่นในพื้นที่จัดงาน (1 ต่อ 4 ตารางเมตร)
และต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่าง ตลอดเวลาที่ร่วมงาน นอกจากนี้ให้พิจารณาตรวจ ATK ก่อนเดินทาง หรือ ก่อนร่วมงานภายใน 72 ชั่วโมงด้วย แต่เชื่อว่าแม้จะมีมาตรการคุ้มเข้มต่างๆ คนส่วนใหญ่ก็ยังคิดจะเดินทางไปเยี่ยมญาติ กลับบ้านไปพบพ่อแม่พี่น้อง หรือวางแผนเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัว ซึ่งสิ่งที่ต้องวางแผนคือเรื่องค่าใช้จ่ายเพราะในปีนี้ค่าครองชีพทุกอย่างสูงมาก
ก่อนสงกรานต์มีสินค้าอะไรปรับขึ้นราคาบ้าง?
หากได้ติดตามข่าวเป็นระยะจะพบว่ามีสินค้าอุปโภค บริโภคเตรียมปรับราคาจำนวนมาก รวมถึงราคาน้ำมันที่เป็นตัวแปรสำคัญในเดือนมีนาคมต่อเนื่องมาถึงเมษายนมีสินค้าปรับขึ้นราคาได้แก่
- น้ำมันแพง เบนซิน 46 บาทต่อลิตร สูงสุดในรอบ 14 ปี
- ไวไว ขอปรับราคาเพิ่ม 5.50 – 6 บาท
- แก๊สหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัม เตรียมปรับราคาขึ้นสิ้นเดือนจาก 318 บาท อยู่ที่ 333 บาท และอาจสูงขึ้นแบบขั้นบันไดตามประกาศ
- ไข่ไก่ ปรับราคาขึ้น 10 สตางค์ เป็น 3.20 ราคาหน้าฟาร์ม
- ปลากระป๋อง และอาหารกระป๋อง เตรียมปรับราคาขึ้น 5-15%จากราคาเหล็กแผ่นทำกระป๋อง ที่ปรับสูงขึ้น
- ค่าไฟต่อหน่วย(FT)แพงขึ้น 23 สตางค์ เป็น 4.00 บาท
สงกรานต์ปีนี้ควรมีเงินใช้ในช่วงเทศกาลเท่าไหร่?
ค่าครองชีพที่แพงโดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ขึ้นสูงมาก ผลสำรวจระบุว่า ประชาชนร้อยละ 84.1 ระบุว่าได้รับผลกระทบจากน้ำมันแพง ทำให้ต้องจ่ายค่าน้ำมันเพิ่มขึ้นมีค่าเดินทางเพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 57.1 เลือกใช้วิธีรับมือกับน้ำมันแพงด้วยการ งดเดินทาง งดเที่ยวช่วงวันหยุด แต่เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ก็คาดว่าปริมาณคนที่เดินทางไปต่างจังหวัดยังมีจำนวนมาก ลองคำนวณรายจ่ายเบื้องต้นว่าเท่าไหร่ เพื่อให้เห็นตัวเลขแบบง่ายๆ
สมมุติเดินทางจากกรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทาง ประมาณ 260 กิโลเมตร เดินทางด้วยรถกระบะ (เครื่องยนต์ 2500) คิดอัตราประหยัดน้ำมันในกรณีรถใหม่ไม่กินน้ำมันประมาณ 12 กิโลเมตร/ลิตร คิดราคาน้ำมันชนิด B7 ราคา 29.94 จะต้องมีค่าใช้จ่ายน้ำมัน ไป-กลับประมาณ 1,500 บาท แต่ในความเป็นจริงการเดินทางออกต่างจังหวัดส่วนใหญ่จะมีสัมภาระและคนเดินทางร่วมด้วย ทำให้อัตราเร่งเพิ่มขึ้น ใช้น้ำมันมากขึ้น คิดเฉพาะค่าน้ำมันไปกลับ จึงไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 บาท ทั้งนี้หากเดินทางไปถึงที่หมายแล้วมีการออกไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ ราคาน้ำมันก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ในส่วนของรายจ่ายทั่วไปเช่นค่าอาหาร เครื่องดื่ม การซื้อของฝากสำหรับญาติผู้ใหญ่ และเงินสำหรับใช้หมุนเวียนต่างๆ คาดว่าปีนี้ต้องมีเงินติดตัวไม่ต่ำกว่า 10,000 – 20,000 บาท เพื่อให้ครอบคลุมในทุกการใช้จ่าย ซึ่งเงินจำนวนนี้อาจเพิ่มขึ้นถ้าเป็นการเดินทางที่ไกลขึ้น หรือมีการใช้จ่ายให้กับญาติผู้ใหญ่
คำถามคือจะมีวิธีการอะไรบ้างที่จะมาลดค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลหยุดยาวให้เรามีรายจ่ายน้อยลงได้บ้าง ซึ่งก็มีหลายวิธี ได้แก่
1.ทำอาหารทานกันเองในหมู่ญาติพี่น้อง
การทำอาหารทานเอง เช่นอาจเลือกซื้อวัตถุดิบจากตลาด ซึ่งผัก 1 กำราคาแค่ประมาณ 5-10 บาท ถ้าเทียบกันกับการซื้ออาหารทาน โดยใช้เงินไม่ถึง 1,000 บาท ก็ซื้อวัตถุดิบง่ายๆ มาทำอาหารทานได้
2.ไม่ออกไปท่องเที่ยวพักผ่อนอยู่กับครอบครัว
การมาหาญาติผู้ใหญ่แล้วเลือกพักผ่อนกับครอบครัวไม่ออกไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ นอกจากประหยัดค่าใช้จ่ายได้ยังป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 ได้อีกทางด้วย
3.ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์อาจเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากเป็นเทศกาลแต่หากลดปริมาณลงได้รายจ่ายก็จะลดลงเช่นกัน
4.ลดค่าใช้จ่ายในเดือนอื่นๆ เพื่อมาสมทบใช้ช่วงสงกรานต์
คนที่เดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงสงกรานต์เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ก็ควรมีการวางแผนในการลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นเพื่อนำมาสมทบการใช้จ่ายในช่วงสงกรานต์นี้
5.วางแผนในการเดินทางให้ชัดเจน
การวางแผนเส้นทางที่ชัดเจนจะทำให้เราประหยัดค่าน้ำมันได้พอสมควร เนื่องจากไม่ต้องวิ่งออกนอกเส้นทาง ทำให้ควบคุมค่าใช้จ่ายได้
อย่างไรก็ดีรายได้ของคนไทยเมื่อเทียบกับรายจ่ายบางคนไม่พอใช้ เงินเดือนไม่ชนเดือน แต่เมื่อมีเทศกาลสงกรานต์มาเกี่ยวข้องอาจทำให้ต้องกู้ยืมหรือใช้เครดิตเงินสด ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้กับคนไทยเพิ่มขึ้น แต่คนไทยหลายคนก็พร้อมที่จะเลือกใช้วิธีเหล่านี้เพราะ 1 ปีมีเทศกาลความสุขเพียง 1-2 ครั้ง หลังจากเทศกาลสงกรานต์ค่อยมาคิดวางแผนเรื่องการเงินกันใหม่อีกครั้ง
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/335phDi
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3Ix42t2 , https://bit.ly/3LaRgSL , https://bit.ly/3Lf0m0Q , https://bit.ly/36sUulF
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3JUWHFh