อวสาน Messenger ชื่อดัง AOL หลังจากให้บริการมากว่า20ปี!
การแข่งขันในเชิงธุรกิจนั้นไม่ธรรมดา สินค้าตัวใดก็ตามหากไม่มีการปรับตัวไปตาม กระแสของสังคม แม้ในช่วงเวลาหนึ่งจะเคยบูมถึงขีดสุด แต่สุดท้ายก็มีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นว่าไม่อาจต่อยอดความสำเร็จนั้นได้อย่างถาวร
เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่ www.ThaiSMEsCenter.com นำมาให้ดูกันคือโปรแกรมแชท รุ่นแรกๆอย่าง AOL ที่ตอนนี้ออกมาประกาศแล้วว่าจะปิดให้บริการหลังจากวันที่ 15 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป
ภาพจาก goo.gl/VC5d7q , goo.gl/WZvVdt
ใครที่เป็นสาวกของการเล่นอินเทอร์เนตมาตั้งแต่ยุคแรกน่าจะรู้จักกับ AOL Instant Messenger (AIM) ซึ่งถือเป็นโปรแกรมแชทตัวแรกๆบนคอมพิวเตอร์ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1997 แล้ว ถือว่าเป็นโปรแกรมแชทแถวหน้าของยุคนั้นซึ่งมีคู่แข่งอย่าง ICQ
ซึ่งภายหลังก็โดน AOL ซื้อกิจการไป นอกจากนี้คู่แข่งของ AOL ก็ยังมีทั้ง Yahoo Messenger และ MSN โดยผู้ใช้ของ AIM ก็จะอยู่ในอเมริกาเหนือซะเป็นส่วนใหญ่
ในยุคที่รุ่งเรืองนั้น AOL เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง กับโลโก้ที่คุ้นเคยกันดีรูปคนสีเหลืองทำท่าวิ่ง และเคยโด่งดังถึงขนาดไปปรากฏอยู่ในภาพยนตร์อย่าง You’ve Got Mail และซีรี่ส์ Sex and the City ในช่วงหนึ่งบริษัทเคยมีมูลค่าสูงถึง 224,000 ล้านดอลล่าร์
ภาพจาก goo.gl/SF3Ccq
ก่อนที่จะลดลงและเหลือแค่ 4,400 ล้านดอลล่าร์ และได้ขายกิจการต่อให้กับ Verizon เมื่อปี 2015 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ Facebook ซื้อ Whatsapp ในราคาที่มากกว่า 19,000 ล้านดอลล่าร์ ซึ่ง ณ เวลานั้นก็นับได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดีอย่างมากของ AOL
อันที่จริงสถานการณ์ของ AOL นั้นเริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่ ปี 2012 ที่ทีมงานหลักเกือบทั้งหมดถูกปลดออก และ AOL ก็ได้เริ่มปิดการเชื่อมต่อของโปรแกรมภายนอก ทางผู้บริหารในขณะนั้นได้ให้ความเห็นว่า ต้องการลดรายจ่ายของบริษัทในส่วนของพนักงานเพราะค่าใช้จ่ายโดยรวมของบริษัทที่ใช้ในการทำระบบนั้นสูงมาก
แน่นอนว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ AOL มาถึงทางตันนั้นก็เพราะเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ที่ก้าวล้ำและนำหน้าไปอย่างรวดเร็วทำให้มีคนใช้บริการของ AOL น้อยลงซึ่งคนก็หันไปใช้บริการเทคโนโลยีแชตบนอุปกรณ์พกพาอย่างWhatsApp, Facebook Messenger, Line และอื่นๆ
ภาพจาก goo.gl/SF3Ccq
ถึงแม้ว่าบางโปรแกรมจะไม่ได้เป็นที่นิยมในประเทศอื่นๆ นอกจากสหรัฐฯ แต่ก็ว่ามีฐานผู้ใช้งานรวมทั่วโลกในเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก และอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญเช่นกันก็คือการที่ AOL เองไม่ได้มีความพยายามในการปรับรูปแบบธุรกิจตัวเองเพื่อย้ายฐานไปอยู่บนโทรศัพท์มือถือ
จากข้อมูลสถิติของ Statista ที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้งานเมื่อต้นปี 2017 ระบุว่า บริการ IM ยอดฮิตมากที่สุดทั่วโลก 5 อันดับแรกได้แก่ WhatsApp, Facebook Messenger, QQ Mobile, WeChat, และ Skype ซึ่งแน่นอนว่ามีถึง 4 ใน 5 อันดับนี้ที่หลายองค์กรนำมาใช้เป็นการสื่อสารเรื่องงานเป็นหลักด้วย
งานนี้ใครที่คุ้นเคยกับ AOL ก็คงจะใจหายกันไม่น้อยแต่ AOL ก็ระบุว่าผู้ใช้ยังคงสามารถใช้บริการ ได้จนถึงวันที่ปิดบริการ รวมไปถึงยังสามารถดาวน์โหลลดแอพพลิเคชันมาติดตั้งบนเครื่องได้รวมถึงอีเมลล์ของ AOL (@aol.com) ยังคงใช้งานได้ตามปกติหลังวันที่ 15 ธันวาคมด้วย
ภาพจาก goo.gl/HNRoFE
ทั้งนี้เมื่อมีการปิดตัวของ AOL ไฟล์และหลักฐานการสนทนาของผู้ที่เคยใช้บริการก็จะถูกลบออกไปจากระบบด้วยเช่นกัน ทาง AOL จึงแนะนำให้ผู้ใช้เซฟข้อมูลดังกล่าวก่อนที่จะถึงวันปิดบริการ และสำหรับใครที่กำลังมีความหวังว่า AOL จะโมดิฟายด์ตัวเองกลับมาอีกครั้งก็ขอตอกย้ำให้เจ็บใจยิ่งขึ้นว่าเรื่องนี้ไม่มีในแผนการตลาดของทางบริษัทแต่อย่างใด
นับว่าเป็นเคสตัวอย่างที่น่าสนใจกับการต่อสู้ในโลกของธุรกิจที่ใครปรับตัวได้เร็วกว่าก็มีสิทธิ์อยู่รอดแต่มองโดยภาพรวมแล้วทางบริษัทเองอาจจะไม่ได้มุ่งเน้นมาที่ธุรกิจด้านนี้จึงยอดตัดเรื่องนี้ออกไปอย่างง่ายดายซึ่งก็ไม่รู้ว่าแผนงานต่อไปจะดำเนินในทิศทางไหนของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่ในแวดวงไอทีมาอย่างยาวนาน
สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S
ขอบคุณข้อมูลจาก goo.gl/f1XsY6