หมดแรงต้านออนไลน์! 10 แบรนด์ดังธุรกิจค้าปลีกสหรัฐฯ ทยอยปิดสาขาครั้งใหญ่
ในที่สุดเวลานั้นก็มาถึงเมื่อ ธุรกิจค้าปลีก ชื่อดังในสหรัฐอเมริกา ที่โด่งดังและดำเนินธุรกิจมายาวนาน คิดว่าเอ่ยชื่อมาคนไทยน่าจะรู้จักกันดี ต่างต้องทยอยกันปิดสาขาไปเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง บางแบรนด์ถึงกับต้องปิดฉากตัวเองลงอย่างน่าใจหาย คาดการณ์กันว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 3,500 สาขา ที่จะทยอยปิดตัวลงในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกในสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับวิกฤติครั้งใหญ่นี้ ล้วนแต่มาจากการประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินในองค์กร ส่วนหนึ่งสะสมมาจากวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐฯ
และพฤติกรรมการช้อปปิ้งของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยหันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทาง “ออนไลน์” มากขึ้น ส่งผลให้ลูกค้าเข้าร้านน้อยลง ไม่แปลกที่ ผู้ให้บริการ E-Commerce โดยเฉพาะรายใหญ่ เช่น Amazon กลายมาเป็น “คู่แข่งหลัก” ของค้าปลีกแบบอิฐและปูนไปแล้ว
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะพาคุณไปดูโฉมหน้าของ 10 แบรนด์ธุรกิจค้าปลีกในสหรัฐฯ ที่ทยอยกันปิดสาขา เพื่อลดต้นทุน และปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ พร้อมมุ่งเน้นการขายบนออนไลน์ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมค้าปลีกที่มุ่งหน้าไปทางออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมแล้วมาดูเพื่อนำไปเป็นกรณีศึกษาได้นะครับ
1. Payless ShoeSource
ดิสเคาน์สโตร์รองเท้าแฟชั่นชื่อดัง เปิดธุรกิจตั้งแต่ปี 1956 ปัจจุบันมีกว่า 4,400 สาขาใน 30 ประเทศ ทว่าล่าสุดได้ยื่น Chapter 11 bankruptcy protection เป็นการยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ เพื่ออยู่ในการคุ้มครองจากการล้มละลายตามกฎหมายฟื้นฟูกิจการ และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อวางแผนปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท โดยเบื้องต้นต้องปิด 400 สาขาในสหรัฐฯ และเปอร์โตริโกทันที และจะทยอยปิดเพิ่มเติม รวมแล้วอยู่ที่ 1,000 สาขา
อย่างไรก็ตาม Payless ยังมีความหวังว่า จะสามารถทำให้สาขาไม่ทำกำไร พลิกฟื้นกลับมาทำกำไรได้ อีกทั้งมีแผนลดหนี้ขององค์กร และขยายเข้าสู่ช่องทางค้าปลีกออนไลน์ ด้วยการหาพันธมิตรธุรกิจ E-Commerce รายใหญ่ เช่น Amazon และ Zappos.com เพื่อนำรองเท้าเข้าไปจำหน่ายในช่องออนไลน์
2. The Limited
ร้านค้าปลีกเครื่องแต่งกายแฟชั่นสำหรับผู้หญิง เป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการที่มีอันต้องปิดสาขา 250 แห่งทั่วประเทศสหรัฐฯ พร้อมทั้งเลิกจ้างพนักงาน 4,000 คน เหตุผลสำคัญที่ทำให้ Fashion Retailer
รายนี้ตัดสินใจปิดฉากธุรกิจหน้าร้านทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ผ่านมาผู้บริโภคเดินช้อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้าน้อยลง ส่งผลให้สาขาของ The Limited มีลูกค้าเข้าร้านน้อยลงตามไปด้วย
3. BCBG
ค้าปลีกแฟชั่นที่ปัจจุบันมี 570 สาขาทั่วโลก ในจำนวนนี้อยู่ในสหรัฐฯ 175 แห่ง ล่าสุดได้ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ด้วยการปิดหน้าร้าน 120 สาขา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในตลาดสหรัฐ พร้อมทั้งปรับ Business Model จากเดิม
เน้นเปิดสาขาเอง ไปโฟกัสการขายผ่าน E-Commerce และขายผ่านร้านค้าปลีกอื่น อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Women’s Wear Daily รายงานว่า BCBG จะยื่นพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อฟื้นฟูกิจการให้อยู่รอด
4. Bebe
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Bebe เชนร้านค้าปลีกเครื่องแต่งกาย มียอดขายลดลง อย่างไตรมาสล่าสุดเมื่อก่อน ยอดขายสาขาลดลง 10.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ลดลง 2.5% ซึ่งยอดขายที่ตกลงเช่นนี้ เป็นสัญญาณให้ Bebe ต้องปรับตัว โดยวางแผนปิด 170 สาขา และหันไปรุกการขายบนออนไลน์เต็มตัว
5. Guess
Fashion Retailer รายใหญ่ของสหรัฐฯ ที่แจ้งเกิดในยุค 80s ปัจจุบันมีสาขาทั่วโลก ทั้งในอเมริกา ยุโรป และเอเชีย แต่วันนี้เป็นอีกแบรนด์ที่จำเป็นต้องปรับปรุงผลกำไรให้ดีขึ้น ด้วยการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในสหรัฐฯ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ปิดไปแล้ว 62 สาขา ล่าสุดประกาศปิดอีก 60 สาขา
ขณะเดียวกันหันไปลงทุนในตลาดยุโรป และเอเชียมากขึ้น โดยในยุโรป Guess มีรายได้เติบโต 11% เป็นผลมาจากการเปิดสาขาใหม่ และผลจากการรุกช่องทาง E-Commerce ในยุโรป
6. Abercrombie & Fitch
ร้านค้าปลีกเสื้อผ้าแนวเท่ๆ อย่าง Abercrombie & Fitch กำลังปิด 60 สาขาในสหรัฐฯ เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรกสำหรับ Abercrombie & Fitch เพราะนับตั้งแต่ปี 2013 ตัวเลขจำนวนสาขาทยอยลดลงมาเรื่อยๆ จากกว่า 800 สาขา กระทั่งปัจจุบันเหลืออยู่ 674 สาขา
ผู้บริหารของ Abercrombie & Fitch บอกว่าเป็นผลจากการแข่งขันที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายมากเกินไป ทำให้กำไรขั้นต้นต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ แต่ที่ผ่านมาพยายามปรับแบรนด์ให้ดูทันสมัยขึ้น และออกแบบสาขาโฉมใหม่ให้ดูสดใส เพื่อให้แบรนด์นี้ยังคงดำเนินต่อไป
7. American Apparel
อีกหนึ่งสัญลักษณ์วงการแฟชั่นของอเมริกาที่เกิดในยุค 80s และประสบความสำเร็จกลายเป็นแบรนด์ขวัญใจหนุ่มสาวชาวอเมริกัน แต่ใครจะคิดว่าความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรแฟชั่นแบรนด์นี้ จะต้องเผชิญกับภาวะขาดสภาพคล่องในองค์กร ถึงกับต้องขายทรัพย์สินทางปัญญา และทรัพย์สินอื่นๆ ให้กับบริษัท Gildan Activewear จากแคนาดา
โดยข้อตกลงนี้ ไม่รวมร้านค้า American Apparel 110 สาขา นั่นเท่ากับว่า ถ้าไม่มีผู้ซื้อร้านค้าสาขาเหล่านี้ ทั้ง 110 สาขาต้องปิดตัวลงในที่สุด และจะมีพนักงานกว่า 2,000 คนที่ถูกเลิกจ้าง
อย่างไรก็ตาม สาขายังเปิดให้บริการต่อไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน เป็นไปตามใบอนุญาต 100 วันที่ทำไว้กับ Gildan ซึ่งขณะนี้บนหน้าเว็บไซต์ของแบรนด์ ได้ประกาศว่าที่สาขาลด 80% ถึงเมษายนนี้ และเตรียมพบกับ Flagship Store บนออนไลน์ฤดูร้อน 2017
8. Crocs
ต้นกำเนิดรองเท้าสำหรับนักแข่งเรือและการใช้งานทางน้ำ ด้วยการใช้งาน และดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ Crocs ได้รับความนิยมจากคนทั่วไปในวงกว้าง กระทั่งต่อมามีสินค้าหลากหลายดีไซน์ รองรับผู้บริโภคทุกกลุ่ม เส้นทางความสำเร็จของ “Crocs” ดูจะราบรื่น ไม่มีอุปสรรคใดๆ
แต่แล้วเมื่อเดือนมีนาคม Andrew Rees ประธานของ Crocs ได้ออกมาเผยสถานการณ์ธุรกิจขณะนี้ว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เรายังคงมุ่งขจัดการดำเนินงานที่ซับซ้อนไม่จำเป็นออกจากธุรกิจ โดยศึกษาโครงการต้นทุนขององค์กร เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร หนึ่งในวิธีการคือ ปิดสาขา 158 แห่ง นั่นทำให้ในปี 2018 สาขา Crocs จะอยู่ที่ 400 สาขา ลดลงจาก 558 สาขาเมื่อปี 2016
9. Kmart
เชนค้าปลีกที่อยู่ในเครือของ “Sears Holdings Corporation” จัดอยู่ในเซ็กเมนต์ค้าปลีกขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า Big Box Store ภายในจำหน่ายของกินของใช้ครบทุกประเภท ตั้งแต่อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องแต่งกาย สินค้ากีฬา เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ไปจนถึงเครื่องประดับ
แต่วันนี้ Kmart พบกับสถานการณ์ยากลำบากไม่ต่างจาก Sears ทำให้บริษัทแม่ตัดสินใจปิด 108 สาขาภายในเมษายนนี้เช่นกัน นั่นเท่ากับเชนค้าปลีกในกลุ่ม “Sears Holdings Corporation” ต้องปิดสาขารวมแล้ว 150 สาขา
10. Macy’s
ห้างสรรพสินค้าอายุยาวนาน 158 ปี พบกับภาวะยอดขายตกลง และได้รับผลกระทบจากค้าปลีกออนไลน์ ที่รุกคืบเข้ามาแย่งชิงลูกค้าจากช่องทาง Physical Store มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อยอดขายหน้าร้านหดหาย ในที่สุดต้องปิด 68 สาขา และเลิกจ้างพนักงานเกือบ 4,000 คนในช่วงต้นปี 2560 ซึ่งการปิดสาขาปีนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนปิดสาขา 100 แห่งภายใน 2 ปีจากนี้ พร้อมทั้งเดินหน้าลงทุนช่องทางขายออนไลน์
ทั้งนี้กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา The Wall Street Journal รายงานว่า Macy’s ได้รับข้อเสนอการเข้าครอบครองกิจการจาก Hudson’s Bay เชนค้าปลีกจากแคนาดา คงต้องติดตามต่อไปว่าห้างสรรพสินค้าในตำนานของสหรัฐฯ รายนี้ จะเดินไปในทิศทางใดหลังจากนี้ที่มีค้าปลีกจากต่างแดนเข้ามาซื้อกิจการ
ทั้งหมดเป็นเพียงแค่ 10 แบรนด์ธุรกิจค้าปลีกบางส่วน ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสหรัฐอเมริกา ที่กำลังปิดตัวลง เพื่อลดต้นทุน และปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจใหม่ รองรับกับเทรนด์อุตสาหกรรมค้าปลีกที่จะไปทางออนไลน์มากขึ้น เราหวังว่าข้อมูลเหล่านี้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกในเมืองไทย ไม่มากก็น้อย เพื่อเตรียมตัวรับมือกับค้าปลีกออนไลน์
ธุรกิจไหนที่อยากโปรโมทสินค้าผ่านออนไลน์ หรืออยากเปิดร้านค้าออนไลน์ สามารถคลิกเข้าไปทำการเปิดร้านค้าออนไลน์แบบฟรีๆ ได้ที่ https://goo.gl/PPE6TL
Tips
- Payless ShoeSource ปิด 400 สาขา
- The Limited ปิด 250 สาขา
- BCBG ปิด 120 สาขา
- Bebe ปิด 170 สาขา
- Guess ปิด 60 สาขา
- Abercrombie & Fitch ปิด
- American Apparel ปิด 110 สาขา
- Crocs ปิด 158 สาขา
- Kmart ปิด 150 สาขา
- Macy’s ปิด 60 สาขา
อ้างอิงข้อมูลและขอบคุณรูปภาพจาก goo.gl/rGklbE