หมดยุคเสือนอนกิน! ธุรกิจร้านซ่อมคอมพิวเตอร์
ไม่น่าเชื่อว่ายุคดิจิทัลที่คนรู้จักกับคอมพิวเตอร์และ Smartphone ให้ความสำคัญราวกับเป็นปัจจัยที่ 5 ของการดำรงชีวิต แนวทางที่ดูเหมือนจะดีแต่กลับไม่ดีสำหรับ “ธุรกิจร้านซ่อมคอมพิวเตอร์”
เราเชื่อว่าในช่วงเวลาหนึ่งเกือบทุกคนเคยต้องยกคอมพิวเตอร์ของตัวเองแบกเคสขึ้นรถ ขึ้นแท็กซี่ เอาไปให้ร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ จะไปด้วยอาการใดก็แล้วแต่ แต่ขั้นต่ำค่าบริการจะเริ่มที่ประมาณ 300 บาทสำหรับการลง Windows ใหม่
เรียกว่าร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ในยุคนั้นเบ่งบานราวกับดอกเห็ดถึงขนาดที่บางห้างสรรพสินค้ามีการยกทั้งชั้นให้เป็นศูนย์ซ่อมคอมเช่นที่ห้างเซียร์รังสิต หรือที่ฮิตติดใจรู้จักกันดีก็ที่พันธุ์ทิพย์พลาซ่า
เรียกว่าเป็นยุคทองที่ไม่น่าเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีต่อมาจากธุรกิจที่เป็นเหมือนเสือนอนกินรอให้คนหิ้วคอมพิวเตอร์มาหาจะกลายเป็นธุรกิจดาวร่วงที่กำลังจะล้มหายตายจาก
www.ThaiSMEsCenter.com มองว่านี่คือผลกระทบจากยุคดิจิทัลที่พฤติกรรมของผู้บริโภคมีส่วนสำคัญในการลบธุรกิจร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ให้หายไป แต่จะเรียกว่าสูญพันธ์ไปเลยก็คงไม่ได้ เอาเป็นว่าบรรดาร้านเล็กๆ ที่สายป่านไม่ยาว ต่างล้มหายไปเป็นจำนวนมากที่ยังอยู่ได้คือร้านใหญ่ที่มีการบริหารจัดการดีและสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้ก้าวตามยุคสมัยได้ทันเวลา
ต้นทุนสำหรับการเปิดร้านซ่อมคอมพิวเตอร์
ภาพจาก bit.ly/2zaAznx
ถ้าจะทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งว่าทำไมธุรกิจร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ถึงอยู่ยากถึงขั้นอยู่แทบไม่ได้ในยุคนี้ ต้องลองมาดูต้นทุนสำคัญของการเปิดร้านทั้งต้นทุนความรู้และต้นทุนอุปกรณ์มีอะไรกันบ้าง ไปดู
นิยามคำว่าซ่อมคือการตรวจสอบอาการของพวกโปรแกรม ลงโปรแกรมให้ใหม่ / config / ลง driver รวมถึงตรวจสอบอาการ Hardware ซ่อมแผงวงจร หรือ เปลี่ยนอาจจะทั้งเครื่องหรือบางส่วนของคอมพิวเตอร์
ถ้าทำร้านรับซ่อมนอกจากความรู้ในเรื่องคอมพิวเตอร์รุ่นต่างๆ ความรู้เรื่องโปรแกรมอย่างลึกซึ้ง จำเป็นต้องมีการสต็อคพวก Hardware เช่น Mainbaord , CPU , GPU , RAM , HDD
แต่ร้านส่วนใหญ่จะไม่สต็อคพวกนี้มากเพราะประมาณการณ์ได้ยากและส่วนใหญ่จะเป็นทุนจม ส่วนมากใช้วิธีหาคอนเนคชั่นจากร้านที่เขาขาย ต้องการชิ้นไหนก็ไปเอาจากร้านในราคาที่ถูกกว่า ส่วนเรื่องของ software ถ้าหากใช้แบบถูกลิขสิทธิ์ราคาจะแพงมาก ส่วนใหญ่จึงออกลูกซิกแซกเป็นกลยุทธ์หนึ่งของร้านซ่อมคอมที่ทำให้ตัวเองต้นทุนไม่สูงเกินไป
ภาพจาก bit.ly/33M5wwt
ลองมาดูในเรื่องรายจ่ายกันบ้างแน่นอนว่าต้องมีค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่า รายจ่ายที่ต้องสำรอง เช่น การไปซื้อของมาซ่อม/เปลี่ยน (ก่อนที่จะเก็บเงินได้จากลูกค้า) บางรายมีต้นทุนดังกล่าวนี้รวมกว่า 20,000/เดือน สมมุติตั้งเป้าค่าแรงสำหรับการซ่อมไว้ที่เคสละ 500 บาท เท่ากับว่าในเดือนนั้นเราต้องมี 40 งานจึงจะเรียกว่าไม่ขาดทุน
งบประมาณในการเปิดร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ 1 ร้านขั้นต่ำประมาณ 50,000 บาท เป็นอย่างน้อยขึ้นอยู่กับขนาดร้าน ทำเลที่ตั้ง และอุปกรณ์ที่เอามาลงในร้าน ในยุคที่เฟื่องฟู ยกตัวอย่างที่พันธ์ทิพย์พลาซ่า บางร้านสามารถทำรายได้ต่อเดือนเกินกว่า 100,000 บาท
บางร้านที่มีขนาดใหญ่สามารถทำรายได้ต่อเดือนสูงกว่า 1,000,000 บาท แต่ในยุคที่ซบเซาของธุรกิจจากรายได้หลักแสนหลักล้าน กลับมามีรายได้เพียงแค่ 50,000 –60,000 ต่อเดือนสวนทางกับค่าครองชีพ ค่าเช่าที่นับวันจะยิ่งแพงขึ้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมร้านที่สายป่านไม่ยาว การบริหารจัดการไม่ดี ต้องทยอยปิดกิจการลงไป
5เหตุผลที่ทำให้ร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ไม่เป็นเสือนอนกินอีกต่อไป
ภาพจาก pixabay.com
1.Smartphone เข้ามามีบทบาทแทนคอมพิวเตอร์
ทั้งที่ความจริงแล้วร้านซ่อมคอมควรที่จะเติบโตคู่ไปกับตลาด IT เพียงแต่ว่ามีตลาด Smartphone ขึ้นมาตีคู่แย่งลูกค้าส่วนใหญ่ที่มีกำลังซื้อต่ำให้หันไปสนใจ Smartphone แทน ทำให้ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์หดหายไปเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ส่งผลกระทบกับปริมาณร้านซ่อมคอม ในเมื่อลูกค้าน้อยลงทำให้ต้องปิดกิจการไปเป็นแถบ ๆ
ภาพจาก bit.ly/2Zc9CiA
2.การพัฒนาโปรแกรม Windows
ระบบปฏิบัติการ Windows ในยุคหลังๆได้ออกแบบมาให้สามารถแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น นับตั้งแต่ Windows Vista มีการพัฒนา Interface ทำการลง Windows จากการพัฒนาในส่วนนี้ทำให้การใช้ง่ายเป็นเรื่องง่ายขึ้นรวมถึงผู้ใช้งานสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองทำให้ความสำคัญของร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ลดน้อยลง
3.Youtuber สายIT มีเยอะมาก
น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญลำดับต้นๆ เพราะยุคนี้มี Youtuber สาย IT ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ดและคนก็สามารถเข้าถึงคอนเทนต์เหล่านี้ผ่านสมาร์ทโฟนได้ทุกที่ทุกเวลา
ทำให้ผู้ใช้งานส่วนมากสามารถซ่อมคอมพื้นฐานได้ด้วยตัวเองอีกประการหนึ่งสำหรับผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์แบรนด์ ซึ่งทุกวันนี้มีการรับประกันที่ดีขึ้น เพียบพร้อมด้วยศูนย์บริการมากมาย ทำให้เข้าถึงผู้ใช้งานได้ง่าย ไม่ได้ต้องไปง้อร้านซ่อมคอมเหมือนเหมือนเมื่อก่อน
ภาพจาก bit.ly/2Hk0r4K
4.รับซ่อมคอมแบบออนไลน์
เมื่อการเปิดร้านมีต้นทุนเรื่องค่าเช่า ที่ถือว่าเป็นต้นทุนที่แพงมากสวนทางกับลูกค้าที่ดูจะน้อยลงมาก คนส่วนใหญ่จึงหันมาเปิดร้านรับซ่อมคอมแบบออนไลน์ที่ลูกค้าสามารถเลือกได้เลยว่าอยากจะติดต่อให้ใครมาซ่อมคอมพิวเตอร์ให้เรา
ไม่จำเป็นต้องยกไปที่ร้านเพราะส่วนใหญ่ช่างจะมาหาเราเองถึงบ้าน ค่าบริการก็ว่ากันไปตามแต่กรณี สะดวกและสบายแบบนี้ชัดเจนว่าทำไมร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ถึงอยู่ยาก
5.เศรษฐกิจไม่ดี/การตลาดแข่งขันรุนแรง
โลกยุคดิจิทัลผู้เล่นรายใหญ่ต่างก็เอาใจลูกค้าด้วยการพัฒนาระบบต่างๆ ออกมาให้สามารถใช้งานได้ง่าย เพื่อดึงดูดให้คนสนใจ รวมถึงโปรโมชั่นประเภทลดแลกแจกแถม ไม่รวมการแข่งขันหั่นราคาที่ทำให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์
หรือแม้กระทั่งคอมพิวเตอร์เอง มีราคาถูกลงมาก ยุคนี้การมีคอมพิวเตอร์สักเครื่องจึงไม่ต้องลงทุนแพงแถมบริการดีเพื่อแข่งขันกัน เวลาคอมพิวเตอร์เกิดปัญหาก็ไม่จำเป็นต้องแบกไปร้านซ่อมคอมเพราะมีบริการหลังการขายให้เลือกใช้
ถือเป็นวัฏจักรในวงจรของธุรกิจจากสุดยอดการลงทุนที่ดูดีมีกำไรมาสู่จุดซบเซาถึงขั้นต้องปิดกิจการ ทางออกที่ดีที่สุดคือการปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ยิ่งเปลี่ยนตัวเองได้เร็วโอกาสเติบโตของธุรกิจก็มีมาก ร้านซ่อมคอมพิวเตอร์หลายแห่งก็อัพเกรดตัวเองให้มีบริการที่หลากหลาย ในยุค IT ร้านค้าที่เกี่ยวกับIT ก็ยังมีความสำคัญเพียงแต่ใครจะปรับตัวได้เร็วกว่าคนนั้นก็รอด
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S