หมดยุคเสือนอนกิน! ธุรกิจตู้เติมเงิน
น่าสนใจว่าธุรกิจยุคใหม่ต่อจากนี้จะมีการปรับตัวอย่างไรให้ก้าวทันกระแสเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทต่อการทำธุรกิจอย่างแท้จริง ในอดีตมีหลายธุรกิจที่เคยทำกำไรมหาศาลแต่เมื่อถูก Disrupt ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่
ในแง่ผู้บริโภคอาจได้ประโยชน์แต่หลายธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันถึงขั้นต้องปิดกิจการ ลดจำนวนสาขา รายได้ที่เคยมีมหาศาลก็เริ่มหดหาย ในขณะที่รายจ่ายยังมีเท่าเดิมและมีแต่จะเพิ่มขึ้น นั่นคือปัญหาที่มาของคำว่า “หมดยุคเสือนอนกิน” ไม่เว้นแม้แต่ “ธุรกิจตู้เติมเงิน” ที่พวกเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ผู้ประกอบการเองที่ต้องมองการณ์ไกลใครที่ขยับปรับตัวได้เร็วกว่าก็มีโอกาสอยู่รอดได้มากกว่า ดังนั้นคำว่าเสือนอนกินในโลกยุคใหม่จึงไม่น่าจะใช้ได้อีกต่อไป เดี๋ยวนี้ไม่มีสินค้าหรือบริการใดๆ ที่จะรอให้ลูกค้าเข้ามาหา มีแต่สินค้าและบริการเหล่านั้นต้องพุ่งเข้าหาลูกค้าให้มากขึ้น
จุดเริ่มต้นของธุรกิจ “ตู้เติมเงิน”
ภาพจาก bit.ly/2Zrc1Fi
ย้อนไปสัก 5-6 ปีก่อนน่าจะเป็นยุคทองของ “ธุรกิจตู้เติมเงิน” เบอร์หนึ่งของธุรกิจนี้คือ “ตู้บุญเติม” ที่เริ่มวางตลาดครั้งแรกประมาณปี 2551 จุดเริ่มต้นของธุรกิจตู้เติมเงินเริ่มจากความนิยมในการใช้งานโทรศัพท์ระบบ “เติมเงิน” ที่ต้องมีการเติมเงินเข้าระบบก่อนจึงจะใช้บริการได้จากการซื้อบัตรเติมเงินตามร้านค้าปลีกโทรศัพท์มือถือ, ร้านสะดวกซื้อ และตัวแทนเติมเงิน (โมบายท็อปอัพ) นำมาสู่บริการ “ตู้อัตโนมัติ” ในที่สุด
จากนั้นธุรกิจตู้เติมเงินก็เติบโตตามลำดับขั้นด้วยวิธีการที่เหมือน “เสือนอนกิน” รอให้คนเข้ามาใช้บริการ โดยภาพรวมมูลค่าการเติมเงินโทรศัพท์มือถือนั้นมีทั้งหมด 31,300 ล้านบาท โดย 22% ของจำนวนดังกล่าว หรือ 7,110 ล้านบาท
เป็นการเติมเงินผ่านตู้บุญเติมที่เป็นผู้ครองตลาดอันดับหนึ่ง โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา ตู้บุญเติมมีทั้งหมด 130,000 ตู้ มูลค่าการใช้งาน31,500 ล้านบาท ประมาณการว่ามียอดใช้บริการต่อวันถึง 2.1 ล้านครั้ง (เฉลี่ยคนละ 55 บาท/ครั้ง) ผ่านผู้ใช้งานประจำ 25 ล้านเลขหมาย
ภาพจาก bit.ly/2VgdYlV
และแน่นอนว่าตลาดตู้เติมเงินเองก็ต้องมีการแข่งขันสูงให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่เริ่มมีมากขึ้น เป็นที่มาของตู้เติมงานจากหลายหลายยี่ห้อที่ทยอยเปิดตัวกันออกมาถ้าไม่นับตู้บุญเติมก็ยังมีคู่แข่งอีกหลายรายเช่น True , เติมสบายพลัส เป็นต้น
กระแสของ Fintech ส่งผลกระทบต่อธุรกิจตู้เติมเงิน
ภาพจาก bit.ly/2P9zlDR
จากกระแสของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปการเข้ามาของการตลาดออนไลน์ที่เข้มข้น โดยเฉพาะเรื่องของ Fintech ที่ถือเป็นเรื่องใหม่ที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชนมากขึ้น จนเมื่อธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงิน / ชำระบิลค่าสินค้าและบริการ รวมถึงการเติมเงินผ่านระบบ Internet Banking
เท่ากับว่าเป็นผลกระทบโดยตรงสู่ธุรกิจตู้เติมเงินแม้หลายคนอาจมองโลกแง่ดีว่าเรื่องนี้ไม่มีผลกระทบกับธุรกิจมากนัก ด้วยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่คือระดับรากหญ้าที่รายได้ไม่สูงและไม่ได้สนใจใช้เทคโนโลยีเติมเงินผ่านระบบ Mobile Banking มากนัก
แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีผลต่อรายได้ถึงขนาดที่เบอร์หนึ่งในธุรกิจนี้อย่าง “ตู้บุญเติม” ออกมาประกาศชัดว่าปี 2561 ที่ผ่านมาตู้บุญเติมไม่มีการเพิ่ม “ตู้บุญเติม” เพราะต้องการบริหารตู้บุญเติมอีกกว่า 30,000 ตู้ที่ประเมินแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมค่อนข้างต่ำจากจำนวนตู้บุญเติมที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 130,000 ตู้
พร้อมยังได้วางแผนที่จะขยายไปตลาดต่างประเทศมากขึ้นโดยเล็งไว้ที่เมียนมาเป็นประเทศแรก และยังต้องดิ้นไปสู่การขยายลูกค้ากลุ่มใหม่ในรูปแบบแอพพลิเคชั่น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัว BeWallet เพื่อรองรับตลาดอีวอลเล็ต
รวมถึงการสร้าง Bemall เพื่อลุยตลาดอีคอมเมิร์ซด้วย พร้อมกับตั้งเป้ายอดมูลค่าใช้บริการภาพรวม 48,000 ล้านบาทในปี 2562 หรือคาดว่าบริการใหม่จะต้องมีผู้ใช้งานไม่น้อยกว่า 200,000 ราย
“ธุรกิจตู้เติมเงิน” ต้องดิ้นเพื่ออยู่รอด
ภาพจาก bit.ly/2zjCbv2
จากธุรกิจที่ทำกำไรสวยงามรายได้บริษัทกำไรปีละกว่า 500 ล้านบาท และมูลค่าการตลาดของบริษัทก็มีแต่เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ตอนนี้ถึงเวลาที่ต้อง “ดิ้นรน” กันมากขึ้น ลบภาพเสือนอนกินเพราะตอนนี้ต้องดิ้นเพื่อดึงลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น
หลายค่ายตู้เติมเงินไม่มีนโยบายเพิ่มตู้ใหม่แต่พยายามเพิ่มประสิทธิภาพตู้เติมเงินเก่าที่มีอยู่แล้วให้เกิดมูลค่ามากขึ้น ไม่นับรวมการหากลยุทธ์การตลาดใหม่ๆอย่าง ตู้บุญเติม จับจังหวะที่ธนาคารหลายแห่งปิดสาขา คิดโมเดลใหม่คือตู้ขายเครื่องดื่มและซิมมือถือ เพื่อที่จะเป็นทางเลือกดึงลูกค้าจากร้านสะดวกซื้อมาใช้บริการให้มากขึ้น
โดยไปจับมือร่วมกับ เอไอเอสและเริ่มติดตั้งตู้ดังกล่าวไปกว่า 2,000 ตู้ และพร้อมจะขยายเพิ่มมากขึ้นและยังมีแนวคิดธุรกิจตู้ชาร์จไฟสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ร่วมมือกับดีแทคที่ได้แตกไลน์ทำธุรกิจจำหน่ายมอเตอร์ไซด์พลังงานไฟฟ้า
www.facebook.com/vendingplusfanpage/
หรือแม้แต่มาเก็ตแชร์อันดับ 2 ในตลาดอย่าง “เติมสบาย” ก็มีแผนติดตั้งตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติ “เวนดิ้งพลัส” เช่นกัน และกำลังมองหาพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าให้ตัวเองมากขึ้น โดยสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจยุคใหม่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพุ่งเข้าหาลูกค้า ไม่ใช่รอลูกค้าพุ่งเข้าหาตัวเองเหมือนในอดีต
ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจหากจะพูดถึงเสือนอนกินยุคนี้ก็เห็นจะมีแต่ “ร้านสะดวกซื้อ” ที่ยังมีแนวทางเติบโตอย่างสดใสสวนทางกับอีกหลายธุรกิจที่ต้องมีการขยับและปรับตัวมากขึ้น
แต่เชื่อได้เลยว่าในอนาคตแม้แต่ร้านสะดวกซื้อที่ตอนนี้ยังไม่มีผลกระทบมากนักแต่ในอนาคตก็คงเจอปัญหาไม่ต่างกัน สำคัญที่ว่าจะมีการวางแผนและเตรียมรับมือในเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้าอย่างไร
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S