หนี้! กับ โควิด19 คนไทยกลัวอะไรมากกว่ากัน

ถามความกังวลของเราตอนนี้กลัวอะไรมากกว่ากันระหว่าง ตกงาน….เป็นหนี้…..หรือว่ากลัวติดโควิด อันที่จริงทั้ง 3 เรื่องนี้สัมพันธ์กันอย่างชัดเจน เพราะปัญหาโควิด 19 ระบาดหนักเกือบจะทั่วประเทศโดยมีรายงานติดเชื้อไปแล้วใน 59 จังหวัด (30 มีนาคม 2563)

นำมาสู่คำสั่งปิดห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ธุรกิจบริการต่างๆ บางจังหวัดถึงกับล็อคดาวน์ตัวเอง เมื่อธุรกิจชะงัก ตัวเลขคนตกงานว่างงานจึงสูง บางบริษัทแบกภาระไม่ไหวรายได้ไม่มี มีแต่รายจ่ายก็ตัดสินใจเลิกกิจการกันไปจำนวนมาก เมื่อมีคนตกงาน เมื่อมีคนว่างงานแต่ “รายจ่าย” ไม่ได้ว่างตามไป มันยังเท่าเดิมและมีแต่จะเพิ่มขึ้น

www.ThaiSMEsCenter.com คาดการณ์ว่าช่วงเวลา 1-2 เดือนต่อจากนี้คือหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจภาพรวม เป็นศึกชี้ชะตาคนไทยทั้งประเทศหาก “เอาอยู่” ควบคุมการแพร่ระบาดได้ สถานการณ์โดยรวมอาจเข้าสู่ภาวะปกติในอีก 3-4 เดือน

แต่หากตรงกันข้ามเรา “เอาไม่อยู่” “คุมไม่ได้” ตัวเลขการตกงาน ว่างงาน ภาระหนี้สิน จะเพิ่มเป็นเท่าทวีคูณ และนั่นหมายถึง “หายนะ” ที่หากไม่ติดเชื้อตาย ก็อาจจะอดตายกันไปเลยทีเดียว

หากนับย้อนลงไปนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของประเทศไทยที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างน่าเป็นห่วง นับตั้งแต่ปี 1997 ประเทศไทยนั้นเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปทั้งหมด 4 ครั้ง

1. วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997

หนี้ กับ โควิด19

ภาพจาก bit.ly/3dGMhZR

ทำให้คนไทยรู้จักกับคำว่า “ค่าเงินบาทลอยตัว” จากอัตราแลกเปลี่ยน 25 บาท/1ดอลลาร์ กลายเป็น 56 บาท/1ดอลลาร์ คนกู้เงินจากต่างประเทศมาลงทุนต่างล้มละลาย สถาบันการเงินหลายแห่งปิดกิจการ คนไทยจำนวนมากตกงาน GDP ของไทยลดลงติดต่อกัน 4 ไตรมาส

2. วิกฤติซับไพรม์ในอเมริกา ปี 2008

34

ภาพจาก bit.ly/2wOULxv

แม้จะเกิดขึ้นในอเมริกาแต่ก็มีผลกระทบมาถึงประเทศไทยเพราะสินค้าส่งออกไปขายในสหรัฐได้น้อยลงรวมถึงวัตถุดิบที่อเมริกาเคยนำเข้าก็ลดน้อยลงด้วย ตอนนั้น GDP ของไทยลดลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส

3. การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2013

จากวิกฤติหนี้สาธารณะของประเทศในสหภาพยุโรป ที่ผนวกรวมกับวิกฤติภัยแล้งในเมืองไทย ทำให้ภาคการผลิต การอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรมได้รับผลอย่างหนัก GDP ของไทยลดลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส

4. ความไม่สงบทางการเมือง ปี 2013-2014

33

ภาพจาก bit.ly/2JpwPn7

จากการชุมนุมประท้วงรัฐบาลจนนำไปสู่การปิดกรุงเทพฯ ที่นำมาสู่การทำรัฐประหาร แน่นอนว่ากระทบภาคธุรกิจชัดเจนทั้งการท่องเที่ยว การลงทุน การค้า ขณะนั้น GDP ของไทยลดลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส

และจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กล่าวว่าสิ้นไตรมาส 3 ปี 62 “หนี้ครัวเรือนของไทย” มีจำนวน 13,238,562 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะพุ่งสูงขึ้นอีก เกิน 80% ของ GDP โดยทั้งหมดนี้ เป็นผลพวงมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยชะลอตัว

และสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำรายได้หลายธุรกิจหยุดชะงัก ประชาชนมีสภาพคล่องการใช้จ่ายเงินลดลง จึงส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น หนี้หลักๆ ของกลุ่มครัวเรือน คือ ค่าสินค้าอุปโภค บริโภค (41.5%) รองลงมาคือ ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโด และเช่าที่อยู่อาศัย (24.4%) เช่าซื้อยานพาหานะ (17.1%) และหนี้สินจากการกู้ยืมลงทุนธุรกิจ (17.0%)

ในภาคครัวเรือนว่าน่าห่วงแต่ภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งประเทศน่าห่วงยิ่งกว่า เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายด้านแทบจะหยุดชะงัก สิ่งที่ตามมาคือรายได้ของอุตสาหกรรมหายไป เกิดภาวะ “Income Shock” และจะลุกลาม

กลายเป็นพายุลูกใหญ่ถล่มเศรษฐกิจทั่วประเทศ ปัจจัยหลักคือรายได้จากการท่องเที่ยวที่เคยหล่อเลี้ยงผู้คนนับล้านจากรายได้เดือนละกว่าแสนล้านบาทกลายมาเป็น “วิกฤติหนี้” ที่บั่นทอนสถาบันการเงินและเศรษฐกิจของประเทศเป็นเหมือนห่วงโซ่ที่กระทบกันไปเรื่อยๆ

ไม่มีงาน! ไม่มีเงิน! คนไทยจะอยู่ในสภาวะนี้ได้นานแค่ไหน

32

ภาพจาก bit.ly/2QTt79s

จากข้อมูลระบุว่าตัวเลขบัญชีเงินฝากธนาคารของคนไทยเดือนมกราคม 2563ประเทศไทยมีบัญชีเงินฝากจำนวน 101.5 ล้านบัญชี แต่ 87% ของบัญชีทั้งหมด มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า คนไทยส่วนใหญ่มีเงินสำรองไม่เกิน 50,000 บาท/ครัวเรือน นั่นหมายความว่า หากรายจ่ายยังเท่าเดิม รายได้ไม่มีเพิ่ม คนไทยจะอยู่ในภาวะนี้ได้ประมาณ 3 เดือน

คำถามคือถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปอีก 3 เดือนสิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออะไร คำตอบคือ “Great Depression” อันหมายถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่รุนแรงซึ่งเคยเกิดขึ้นในอเมริกาช่วงปี ค.ศ. 1930 ซึ่งในตอนนั้นกว่าที่เศรษฐกิจจะกลับมาที่จุดเดิมได้ก็ใช้เวลาหลายปี และตอนนี้รู้สึกเหมือนว่าทุกอย่างกำลังจะเจริญรอยตามเพื่อก้าวไปสู่ Great Depression ครั้งนั้น

31

ภาพจาก thairath

มองไปที่รอบโลกตัวเลขคนว่างงานเพิ่มก้าวกระโดดล่าสุดของสหรัฐอเมริกาพุ่งแตะ 3.3 ล้านคน ยังไม่นับรวมในสหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆที่ได้ผลกระทบจากโควิด 19 เช่นเดียวกัน เมื่อมีคนตกงานย่อมหมายถึงการขาดรายได้ สิ่งที่ต้องทำคือเอาเงินเก็บที่มีออกมาใช้ แต่เมื่อเงินหมด กำลังการซื้อก็จะลดลงทันตาเห็น เป็นผลกระทบแบบลูกโซ่เมื่อคนไม่จับจ่าย

ภาคธุรกิจทั้งอุตสาหกรรมอาหาร ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า การท่องเที่ยว ก็จะได้รับผลกระทบโดยตรง อย่าลืมว่ากำลังซื้อของคนส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง ส่วนคนที่มีเงินหนาระดับรัฐมนตรี เจ้าสัวร้อยล้านพันล้านก็เป็นเพียงแค่ส่วนน้อยในสังคมหากนับคนทั้งประเทศ

และสำหรับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ปกติ สิ่งที่เราอาจต้องเจอคือ “เงินเฟ้อจะติดลบ” หรือในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า เงินฝืด อันหมายถึง ราคาสินค้าบริการ โดยทั่วไปในระบบเศรษฐกิจจะมีราคาที่ต่ำลง

ซึ่งปัจจัยที่ช่วยดึงราคาให้ต่ำลงอยู่ 2 ประการก็คือ ต้นทุนของผู้ผลิตลดลง และ ความต้องการสินค้าที่ลดลง ดังนั้นเราจะได้เห็นโปรโมชันลดแลกแจกแถม จากผู้ขายสินค้าในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน จนกว่าจะมีผู้ขายที่ทนไม่ไหวและออกไปจากระบบ ราคาสินค้าถึงจะไม่ลดลง

แม้คำว่าราคาสินค้าต่ำลง หรือเงินเฟ้อติดลบ จะเป็นเรื่องดีสำหรับผู้บริโภคแต่ถ้าในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว เรื่องนี้จะไม่ค่อยดีนักเพราะคำว่าเงินเฟ้อติดลบ หมายถึงมูลค่าของเงินสดจะเพิ่มขึ้นตามเวลา สวนทางกับความเชื่อในอดีตว่ามูลค่าของเงินสดจะด้อยค่าตามเวลา ดังนั้นผู้คนจะต่างพากันถือเงินสด เลื่อนการลงทุน เลื่อนการใช้จ่าย และพอเป็นแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เศรษฐกิจก็จะวนกลับไปในทิศทางที่แย่ลง

30

ภาพจาก bit.ly/3bC4Eh0

ด้วยสถานการณ์นับถึงตอนนี้เรายังประเมินไม่ได้ว่าจะแย่ลงไปถึงขั้นไหน ที่สำคัญนี่ไม่ใช่ภัยที่เรามองเห็นไม่เหมือนฝนตก น้ำท่วม หรือแผ่นดินไหว แต่มันคือภัยที่เกิดจากโรคระบาด ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศใดประเทศหนึ่ง

แต่มันเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก หากประเทศใดประเทศหนึ่งก้าวข้ามวิกฤตินี้ได้แต่ประเทศอื่นๆ รอบโลกยังต้องเผชิญปัญหานี้อยู่ เรื่องความเป็นอยู่ ปากท้อง รายได้ ภาคธุรกิจต่างๆ ก็ยังคงได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน

งานนี้ถือเป็นบททดสอบที่ใหญ่และน่ากลัวและยังไม่รู้ว่าจะลงเอยแบบไหนอย่างไร ถามว่าตอนนี้กลัวอะไร ระหว่างเป็นหนี้ ตกงาน ติดเชื้อโควิด 19 คำตอบสั้นๆ ขอไม่เลือกสักอย่างเพราะกลัวทุกอย่างที่พูดมานั่นแหละ


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

bno3

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/2xeeHKi
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล
https://bit.ly/33Tjb58 , https://bit.ly/2WTbIS0 , https://bit.ly/3byNdhe , https://bit.ly/3dG0BCb

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3aHECZL

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด