หนังสือ “ธุรกิจสร้างสุข” ของผู้เขียน “พิชชารัศมิ์”
หนังสือ “ธุรกิจสร้างสุข” หรือ “The Business for Happiness: Japanese Style” เป็นหนังสือเล่มที่ 4 ของผู้เขียน “พิชชารัศมิ์” ซึ่งแรงบันดาลใจในการเขียนคือ การที่ได้เห็นคนวัยทำงานหลายๆ คนต้องเผชิญความเครียดและกดดันในชีวิตมากมายจนกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายและไม่มีความสุขกับชีวิต ข่าวตามสื่อต่างๆ ก็นำเสนอว่ามีคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากมายอย่างที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนในสมัยไหน
“พิชชารัศมิ์” เลยมานั่งคิดว่า จริงๆ แล้วคนเราต้องการอะไรในชีวิตกันแน่ ชื่อเสียง เงินทอง ยศฐาบรรดาศักดิ์ ครอบครัว หรือความสำเร็จในหน้าที่การงาน แล้วก็พบคำตอบว่า ไม่ว่าสิ่งที่คนเราต้องการจะแตกต่างกันอย่างไร แต่พื้นฐานอย่างหนึ่งที่ทุกๆ คนในโลกนี้ต้องการก็คือ “ความสุข” และ “ความสำเร็จด้านอื่นๆ ที่ปราศจากความสุขก็คือความล้มเหลว”
“อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนเรามีความสุข” แล้วก็ศึกษาต่อไปว่าสภาพแวดล้อมและทัศนคติในการทำงานแบบใดที่จะช่วยทำให้เราสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้
หนังสือ ธุรกิจสร้างสุข จึงเล่าถึงองค์กรญี่ปุ่น 16 แห่งที่มุ่งมั่นดำเนินนโยบายเพื่อสร้างความสุขถึงแม้จะดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เช่น ผลิตผงวุ้น ปลูกแอปเปิ้ล หมักซีอิ๊ว ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ทำซอฟต์แวร์ เว็บไซต์ รับจัดงานศพ ฯลฯ แต่ทั้ง 16 แห่งมีสิ่งที่เหมือนกันคือ การดำเนินกิจการโดยมีองค์ประกอบของความสุขเป็นพื้นฐาน
เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็ได้ข้อคิดหลายๆ ประการ
1.เส้นทางสู่ความสุข
คุณจะได้ทราบว่าปัจจัยที่จะทำให้คุณมีความสุขในชีวิตได้มีอะไรบ้าง และหากคุณออกเดินทางตามเส้นทางนั้น คุณก็จะได้พบความสุขในไม่ช้า หลักแห่งความสุข 4 ประการที่กล่าวถึงในเล่มนี้ ได้แก่
- การตระหนักรู้ในจุดแข็งของตัวเอง และมุ่งมั่นพัฒนาสิ่งนั้น ไม่ใช่ทำงานแบบเบื่อๆไปวันๆแบบปราศจากความท้าทาย
- การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว ได้แก่ ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน คู่ค้า จะทำให้คนเรามีความสุข สุขภาพดี อายุยืนยาว
- การมองโลกในแง่ดี ไม่หวั่นไหวกับอุปสรรค การมีจิตใจเข้มแข็งในการเผชิญความท้าทายต่างๆ และเอาชนะปัญหาต่างๆให้ได้
- มีความเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ต้องเปรียบเทียบหรือแข่งขันกับคนอื่น และพัฒนาตัวเองให้ดีที่สุดและดีกว่าตัวเองในเมื่อวาน
2.วิธีสร้างองค์กรที่มีประสิทธิภาพ
ในหนังสือได้กล่าวเกี่ยวกับงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ทาคาชิ มาเอโนะ แห่งมหาวิทยาลัยเคโอ ประเทศญี่ปุ่น ผู้ซึ่งเป็นรุ่นบุกเบิกในการศึกษาเกี่ยวกับความสุขของมนุษย์ในประเทศญี่ปุ่นได้มีการนำปัจจัยเรื่อง “ความสุขของพนักงาน” มาดำเนินนโยบายบริษัท
และมีความเห็นร่วมกันว่า “การพัฒนาพนักงานให้มีความสุขจะส่งผลต่อประสิทธิภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน และไม่เกี่ยงถึงแม้จะต้องทำงานหนักบ้าง” ค่าตอบแทนและตำแหน่งงานสูงๆกลับไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างดีเยี่ยม การพัฒนาพนักงานให้มีความสุขซึ่งได้ถูกกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ต่างหากที่ส่งผลทำให้องค์กรก้าวหน้าขึ้น
3.ไอเดียในการทำธุรกิจใหม่ๆ
การพัฒนาจุดเด่นของสินค้าธรรมดาในท้องถิ่นให้ขายดีไปทั่วประเทศ เช่น สหกรณ์อูมาจิที่ผลิตผลิตภัณฑ์จากส้มยูซุจนโด่งดัง การจ้างงานผู้สูงอายุหรือคนพิการมาช่วยพัฒนาองค์กร หลักการทำการตลาดให้โดนใจผู้บริโภค หรือการเปลี่ยนปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญให้กลายเป็นธุรกิจที่ยอดเยี่ยม
4.แรงบันดาลใจดีๆ
หนังสือได้ยกตัวอย่างองค์กรและบุคคลที่มุ่งมั่นพัฒนาตนเอง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคและชะตากรรมที่อาจดูโหดร้ายจนประสบความสำเร็จ ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆโดยไม่พยายาม แต่ก็ไม่มีใครที่จะพยายามแล้วจะไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน การที่จะเป็นคนที่มีความสุขได้นั้น จะเชื่อว่า “ไม่มีคำว่าล้มเหลวหากยังไม่ล้มเลิก”
5.การสร้างประโยชน์ให้สังคม
ในหนังสือได้กล่าวถึงบริษัทต่างๆ ที่ขายสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เช่น เว็บไซต์ที่ต้องการสร้างความสุขให้กับผู้อ่าน เกษตรกรที่ต้องการปลูกผลไม้ปลอดสารพิษเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประทานผลไม้ดีๆ สัปเหร่อที่ตั้งใจแต่งศพเพื่อส่งผู้ตายครั้งสุดท้าย ฯลฯ
ที่สำคัญ!!! หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณ “รู้สึกดี” และ “มีความสุข” กับชีวิตมากขึ้นค่ะ