ส่องกฎหมายแฟรนไชส์อาเซียน มีที่ไหนบ้าง
ปัจจุบันหลายๆ ประเทศทั่วโลกยังไม่มี กฎหมายแฟรนไชส์ บังคับใช้ แต่สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนเริ่มมีกฎหมายแฟรนไชส์ (Franchise Law) บังคับใช้แล้ว โดยปัจจุบันมี 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม
ส่วนประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายแฟรนไชส์โดยเฉพาะมี 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และบรูไน
สำหรับประเทศที่คุณต้องการขยายแฟรนไชส์ไปนั้น อาจต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของประเทศนั้นๆ ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ที่คิดขยายแฟรนไชส์ในต่างประเทศ
จะต้องทำความเข้าใจกฎระเบียบการลงทุนของแต่ละประเทศให้ถ่องแท้ หรือไม่ก็ต้องมีทีมกฎหมายที่เชี่ยวชาญการลงทุนในประเทศนั้นๆ คอยช่วยเหลือ
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะนำเสนอกฎหมายการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ รวมถึงนักลงทุนชาวไทย นำไปพิจารณาการก่อนตัดสินใจลงทุนในประเทศเหล่านี้ครับ
1.กฎหมายธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศมาเลเซีย
ภาพจาก goo.gl/DHddny
มาเลเซียมีกฎหมายที่กำกับดูแลธุรกิจแฟรนไชส์โดยเฉพาะ ภายใต้ Malaysian Franchise Act 1998 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1999 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม ปี 2012
ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2013 สำหรับรับหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล คือ Registrar of Franchises ภายใต้กระทรวงการค้าภายใน กิจการสหกรณ์และการคุ้มครองผู้บริโภค (Ministry Of Domestic Trade, Co-Operatives and Consumerism) หรือเรียกสั้นๆ ว่า KPDNKK
กฎหมายนี้ครอบคลุมการซื้อขายแฟรนไชส์ในมาเลเซีย (Sale) และการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ในมาเลเซีย (Operation) โดยไม่คำนึงว่า แฟรนไชส์จะเกิดจากการซื้อขายและยอมรับกันภายในมาเลเซียหรือไม่ก็ตาม
การจดทะเบียนแฟรนไชส์
การขายแฟรนไชส์ในมาเลเซียต้องดำเนินการจดทะเบียนให้เรียบร้อยก่อนกับหน่วยงาน Registrar of Franchises ภายใต้ KPDNKK เจ้าของแฟรนไชส์ (ในกรณีนิติบุคคล) ที่ไม่จดทะเบียนจะถือว่ากระทำผิดกฎหมายและมีโทษปรับสูงสุด 250,000 ริงกิต สำหรับการกระทำผิดครั้งแรก และ 500,000 สำหรับการกระผิดครั้งที่ 2
การไม่จดทะเบียนแฟรนไชส์จะทำให้สัญญาแฟรนไชส์ที่เกิดขึ้นเป็นโมฆะ และไม่มีผลในทางกฎหมาย โดยมีกรณีตัวอย่างของสัญญาแฟรนไชส์ที่ไม่ได้จดทะเบียน ทำให้ศาลสั่งให้เจ้าของแฟรนไชส์คืนเงิน
และผลประโยชน์ที่ได้รับทั้งหมดจากผู้ซื้อแฟรนไชส์ การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในปี 2012 ได้กำหนดโทษปรับในอัตราเดียวกันกับบุคคลที่ใช้คำว่า “แฟรนไชส์” ในการดำเนินธุรกิจ โดยไม่ได้จดทะเบียนกับหน่วยงานจดทะเบียนแฟรนไชส์อีกด้วย
ในการดำเนินการจดทะเบียนแฟรนไชส์นั้น จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับระบบแฟรนไชส์ทั้งหมด โดยยื่นขอจดทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ที่เรียกว่า Malaysian Franchise Express (MyFEX)
ผู้มีหน้าที่จดทะเบียนประกอบด้วย เจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ ผู้รับสิทธิแฟรนไชส์ ผู้รับสิทธืแฟรนไชส์จากเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ต่างชาติ ตัวแทนเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ และที่ปรึกษาด้านแฟรนไชส์
สิ่งที่เจ้าของแฟรนไชส์จะต้องดำเนินการในขั้นตอนการจดทะเบียน คือ การแสดงบัญชีที่ได้รับการตรวจรับรอง (Audited Accounts) เป็นระยะเวลา 3 ปีย้อนหลัง เพื่อแสดงว่าการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ประสบความสำเร็จ อย่างน้อย 1 สาขา หมายความว่า เจ้าของแฟรนไชส์ต้องเป็นผู้ที่ดำเนินธุรกิจมาแล้วมากกว่า 3 ปี ก่อนที่จะขยายแฟรนไชส์
อ่านกฎหมายแฟรนไชส์มาเลเซีย goo.gl/DvMbYD , goo.gl/2EiQmE
2.กฎหมายธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศอินโดนีเซีย
ภาพจาก goo.gl/JGFEhu
กฎหมายหลักของอินโดนีเซียที่ใช้ควบคุมธุรกิจแฟรนไชส์ในอินโดนีเซีย ได้แก่ Government Regulation No. 42 ซึ่งกฎหมายดังกล่าว ได้รวมถึงธุรกิจ Modern Store และห้างสรรพสินค้าด้วย ต่อมากระทรวงการค้าได้ออกกฎระเบียบเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนให้เกิดหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่กับ SMEs ภายในประเทศ
รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการใช้วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้แก่ประชาชน ซึ่งกฎระเบียบที่สำคัญได้แก่ กฎกระทรวงการค้าเลขที่ 53/2012 ว่าด้วยการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ และกฎกระทรวงการค้าเลขที่ 68/2012
ว่าด้วยการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ประเภท Modern Store รวมถึงกฎกระทรวงการค้าเลขที่ 07/2012 ว่าด้วยการประกอบธุรกิจแฟรนไซส์ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม สาระสำคัญของกฎระเบียบในธุรกิจแฟรนไชส์ มีดังนี้
- ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์จะต้องใช้วัตถุดิบหรือสินค้าท้องถิ่นอย่างน้อยร้อยละ 80
- ผู้เป็นเจ้าของแฟรนไชส์จะต้องพิจารณาให้ SMEs ในท้องถิ่นเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนในการประกอบการด้วย
- ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์จะถูกจำกัดไม่ให้ขยายสาขาเกิน 150 แห่ง สำหรับ Modern Store และไม่เกิน 250 แห่งสำหรับแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่ม อาจส่งผลให้นักลงทุนที่ประสงค์จะดำเนินการเองทั้งหมด (Company – owned ) ทั่วประเทศอินโดนีเซียติดปัญหาการจำกัดการขยายสาขา
- ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ต้องประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับใบอนุญาตฯ กล่าวคือ ถ้าขอใบอนุญาตประเภทอาหารและเครื่องดื่มจะต้องจำหน่ายสินค้าในประเภทนี้ หากจะดำเนินกิจกรรมอื่นเพื่อสนับสนุนธุรกิจหลัก สามารถทำได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนสินค้าที่ขายได้
- หลักเกณฑ์ข้างต้นเกี่ยวกับการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น (2.1.1) จำนวนร้าน (2.1.3) อาจขอยกเว้นได้
อย่างไรก็ตามเกณฑ์ในชั้นนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะคิดคำนวณอย่างไร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนยังสามารถเจรจาเพื่อหาทางออกได้ เช่น การยืนยันว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต้องนำเข้าทั้งหมด ฯลฯ เป็นต้น
3.กฎหมายธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศเวียดนาม
ภาพจาก goo.gl/UMXYRH
นับตั้งแต่ปี 2549 ประเทศเวียดนามได้มีกฎหมายธุรกิจแฟรนไชส์ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงบังคับใช้ อันได้แก่
1. Decree No. 35/2006/ND-CP of the Government dated 31 March 2006 Detailing the Provisions of the Commercial Law on Commercial Franchising
2. Circular No. 09/2006/TT-BTM of the Ministry of Trade (ปัจจุบันคือ Ministry of Industry and Trade) dated 25 May 2006 Providing Guidelines on the Registration of Franchising Activities โดยจะกำหนดขั้นตอนการจดทะเบียนและแบบฟอร์มมาตรฐาน ซึ่งเป็นการรองรับบทบัญญัติและเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ใน Decree No. 35/2006/ND-C
โดยมีเงื่อนไขบังคับเบื้องต้นสำหรับการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่สำคัญ มีดังนี้
ธุรกิจของแฟรนไชส์ซี ที่จะรับการให้แฟรนไชส์ จะต้องเป็นธุรกิจที่เปิดดำเนินการมาแล้วในประเทศเวียดนามไม่น้อยกว่า 1 ปี (Article 5 of Decree No. 35/2006/ND-CP)
ธุรกิจของแฟรนไชส์ซีจะต้องได้รับอนุญาตตามทะเบียนพาณิชย์ให้ดำเนินธุรกิจในประเทศเวียดนามได้โดยชอบด้วยกฎหมาย (Article 6 of Decree No. 35/2006/ND-CP)
การจดทะเบียนธุรกิจแฟรนไซส์ กล่าวคือ ธุรกิจแฟรนไชส์จากต่างประเทศ จะต้องดำเนินการจดทะเบียน ณ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (Ministry of Industry and Trade) (Article 17 of Decree No. 35/2006/ND-CP)
เอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับการจดทะเบียน ได้แก่ คำขอจดทะเบียนธุรกิจแฟรนไซส์ คำรับรองธุรกิจแฟรนไชส์ คำรับรองสถานะทางกฎหมายของแฟรนไชส์ซอร์ คำรับรองเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินอุตสาหกรรม ที่มีในประเทศเวียดนามหรือในต่างประเทศในกรณีของการอนุญาตให้ใช้สิทธิ
นอกจากนี้ ในกรณีที่เอกสารใดเป็นภาษาต่างประเทศจะต้องแปลเป็นภาษาเวียดนาม และรับรองโดยโนตารีพับพลิคของเวียดนาม หรือรับรองโดยสถานกงสุลของเวียดนามที่อยู่ต่างประเทศ (Article 19 of Decree No. 35/2006/ND-CP)
อ่านกฎหมายแฟรนไชส์เวียดนาม goo.gl/uSMpRS
4.กฎหมายธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ดีรัฐบาลได้มีความพยายามที่จะควบคุมการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ โดยการยกร่างกฎหมายในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะขึ้น
โดยที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ พ.ศ. …. เพื่อจัดระเบียบการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย
รวมทั้งเพื่อพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ และสร้างความเป็นธรรมแก่เจ้าของแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์ซอร์ และผู้ซื้อแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์ซี ในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์
ในเมื่อปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ สัญญาแฟรนไชส์ ซึ่งถือเป็นสัญญาประเภทหนึ่งจึงต้องอยู่ ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่นำมาใช้บังคับกับสัญญาแฟรนไชส์ ได้แก่ หมวดว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
โดยนำมาใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการเกิดสัญญา การแสดงเจตนาของคู่สัญญา การตีความสัญญา ผลของสัญญา การบอกเลิกสัญญา และการผิดสัญญา เช่นเดียวกับกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับ ได้แก่
1.พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 คู่สัญญาสองฝ่ายจะมีฐานะไม่เท่าเทียมกันเนื่องจากแฟรนไชส์ซีจะมีอำนาจในการเจรจาต่อรองน้อยกว่าแฟรนไชส์ซอร์
สัญญาแฟรนไชส์ยังถือเป็นสัญญามาตรฐานและสัญญาสำเร็จรูปประเภทหนึ่ง เพราะเป็นสัญญาที่แฟรนไชส์ซอร์ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่าย ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่าเป็นผู้กำหนดเนื้อหาสาระของสัญญา หรือข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้เป็นการล่วงหน้า
โดยที่แฟรนไชส์ซีซึ่งเป็นผู้ที่จะเข้ามาทำสัญญา สามารถแสดงเจตนาเข้าทำสัญญา โดยไม่ต้องมีการเจรจาต่อรอง ซึ่งหากว่าข้อสัญญาดังกล่าว แฟรนไชส์ซอร์ได้เปรียบแฟรนไชส์ซีเกินสมควร
ข้อสัญญาดังกล่าวถือเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ในกรณีเช่นนี้ กฎหมายกำหนดให้สัญญามีผลใช้บังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรม และพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น
2. กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา สัญญาแฟรนไชส์นั้นมีความเกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าหรือบริการ และสิทธิบัตร
เนื่องจากหากแฟรนไชส์ซอร์ประสงค์ที่จะให้แฟรนไชส์ซีสามารถใช้เครื่องการการค้าหรือบริการ หรือสิทธิบัตรของตนก็จะต้องมีการจดทะเบียนสัญญา
อนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าหรือบริการ หรือสิทธิบัตรกับทางราชการด้วย ส่วนที่แตกต่างกันระหว่างสัญญาแฟรนไชส์และสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา คือ แฟรนไชส์ซีจะต้องจ่ายค่าตอบแทนในการใช้สิทธิและเข้าร่วมประกอบธุรกิจ
ส่วนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญานั้นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิอาจไม่จำต้องจ่ายค่าตอบแทนก็ได้ขึ้นอยู่กับการตกลงกันของคู่สัญญา
3. พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เกี่ยวข้องกับความลับทางการค้าในแง่ที่ว่า ข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ในการประกอบธุรกิจ
เช่น สูตรอาหารหรือเครื่องดื่ม คู่มือการปฏิบัติงาน และรายชื่อลูกค้า อาจถือได้ว่าเป็นความลับทางการค้าของแฟรนไชส์ซอร์ ที่จำเป็นจะต้องได้รับความคุ้มครอง
โดยแฟรนไชส์ซีจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลความลับ หรือนำข้อมูลซึ่งเป็นความลับนั้น ไปใช้ในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับแฟรนไชส์ซอร์ ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิของแฟรนไชส์ซอร์ในเรื่องดังกล่าว แฟรนไชส์ซอร์ย่อมสามารถที่จะฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทน และขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการกระทำเช่นว่านั้นได้
4. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ธุรกิจประเภทนี้ทั้งแฟรนไชส์ขายสินค้าและแฟรนไชส์ให้บริการ ย่อมต้องมีลูกค้าหรือผู้บริโภคเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ
ในแง่นี้ลูกค้าหรือผู้บริโภค จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการโฆษณาสินค้าที่อาจเกินจริง การปิดฉลากสินค้า หรือการกำหนดให้ธุรกิจใดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา เป็นต้น
5. พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ เช่นกัน
โดยทั้งแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซี จะถูกควบคุมมิให้มีการใช้วิธีการ ที่กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าถือว่าเป็นการผูกขาด หรือการกระทำที่เป็นการใช้อำนาจเหนือตลาด เว้นแต่มีความจำเป็นและมีเหตุผลสมควร โดยจะต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียก่อน
6. กฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวกับธุรกิจนั้นโดยตรง การขายสินค้าและการให้บริการในธุรกิจแฟรนไชส์ นอกจากจะต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องข้างต้นแล้ว
ยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงกฎหมายเฉพาะ ที่เกี่ยวกับธุรกิจนั้นโดยตรง เช่น พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2535 เป็นต้น
อ่านกฎหมายแฟรนไชส์ไทย goo.gl/o99SDz
5.กฎหมายธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศสิงคโปร์
ภาพจาก goo.gl/FGfUBL
ประเทศสิงคโปร์เป็นอีกประเทศหนึ่งในอาเซียนที่ไม่มีกฎหมายแฟรนไชส์บังคับใช้โดยตรง ทั้งยังไม่มีข้อกำหนด ระเบียบกฎเกณฑ์เฉพาะเจาะจงสำหรับการจัดตั้งธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศสิงคโปร์ แต่มิได้หมายความว่าการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศสิงคโปร์จะไม่มีข้อกำหนดกฎเกณฑ์อื่นมาควบคุม
แฟรนไชส์ซอร์ที่ประสงค์จะดำเนินธุรกิจในประเทศสิงคโปร์ จะต้องระมัดระวังในการทำสัญญาแฟรนไชส์ในประเด็นเรื่องการแข่งขันทางการค้า (กล่าวคือ สัญญาแฟรนไชส์ต้องไม่ก่อให้เกิดการจำกัดหรือบิดเบือนการแข่งขันทางการค้า) ข้อกำหนดอันไม่เป็นธรรม (อาทิ การจำกัดความรับผิดหรือข้อยกเว้นความรับผิดในกรณีบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่)
กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายเครื่องหมายทางการค้าและกฎหมายความลับทางการค้า) และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องของประเทศสิงคโปร์
ซึ่งเหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีกฎหมายแฟรนไชส์บังคับใช้โดยตรงแต่ยังมีกฎหมายภายในอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถบังคับใช้ได้โดยมิจำต้องมีกฎหมายเฉพาะเจาะจงโดยตรง สำหรับประเด็นเรื่องกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญาแฟรนไชส์นั้น
ศาลของประเทศสิงคโปร์เปิดช่องให้อิสระแก่คู่สัญญาทั้งสองฝ่าย (แฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซี) ในการเจรจาตกลงที่จะกำหนดว่าจะใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับแก่สัญญาของตน 1) รูปแบบธุรกิจที่สามารถจัดตั้งเพื่อประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ แฟรนไชส์ซอร์สามารถเลือกที่จะจัดตั้งธุรกิจของตนในรูปแบบต่างๆ ในประเทศสิงคโปร์ได้ ดังนี้
- ห้างที่มีหุ้นส่วนเพียงรายเดียว (Sole Proprietorship)
- ห้างหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด (Partnership)
- ห้างหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด (Limited Liability Partnership)
- บริษัทจำกัด (Company)
ชาวต่างชาติที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในสิงคโปร์ แต่ประสงค์ที่จะประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ในสิงคโปร์ จะต้องยื่นขอใบอนุญาตการจ้างงาน (Employment Pass) ตามข้อกำหนดการเข้าเมืองของประเทศสิงคโปร์ก่อนอันดับแรก เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงจะสามารถนำไปจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจต่อ Accounting & Corporate Regulatory Authority หรือ ACRA45 ได้
อ่านกฎหมายแฟรนไชส์สิงคโปร์ goo.gl/ZjSSfq
6.กฎหมายธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศฟิลิปปินส์
ภาพจาก goo.gl/wHPsJ5
การดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ในฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบของการขายสิทธิ์ให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่น ภายใต้การจัดทำสัญญาแฟรนไชส์ ซึ่งเอกสารสัญญาทางกฎหมาย ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงต่างๆ อาทิ การให้สิทธิ์แฟรนไชส์ ระยะเวลาสัญญา ค่าธรรมเนียม การโอนสิทธิ์
นักลงทุนต่างชาติสามารถจัดตั้งบริษัทที่ถือหุ้นเองทั้งหมด เพื่อขยายสาขาแฟรนไชส์ได้โดยตรงในฟิลิปปินส์ มีข้อดีคือ สามารถควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจแฟรนไชส์ในฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้กฎหมายค้าปลีก ยังมีข้อจำกัดบางประการสำหรับบริษัทต่างชาติในลงทุนในลักษณะดังกล่าว คือ มีการกำหนดให้บริษัทต่างชาติจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท
โดยถือหุ้นเองทั้งหมดเพื่อขยายสาขาแฟรนไชส์ ในฟิลิปปินส์ต้องจดทะเบียนชำระแล้ว (Paid-up Capital) ไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และบริษัทแม่ต้องมีสินทรัพย์สุทธิ (Net Worth) อย่างน้อย 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งข้อจำกัดนั้นส่งผลให้การลงทุนในรูปแบบดังกล่าว จำกัดเฉพาะบริษัทต่างชาติรายใหญ่เท่านั้น
7.กฎหมายธุรกิจแฟรนไชส์ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า
ภาพจาก goo.gl/e6KQSK
สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าก็เป็นอีกประเทศหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ไม่มีการตรากฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เป็นการเฉพาะเช่นเดียวกันกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน
ดังนั้น ในเรื่องของสัญญาแฟรนไชส์จึงต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาของประเทศพม่า ค.ศ. 1872 (Myanmar Contract Act 1872) ซึ่งเป็นกฎหมายกลางว่าด้วยเรื่องสัญญาโดยทั่วไป โดยบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสัญญาแฟรนไชส์ มีดังนี้
- มาตรา 2 (h) ที่กำหนดว่า สัญญาเป็นความตกลงที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย
- มาตรา 2 (a) และ (b) ที่กำหนดว่า ความตกลง ได้แก่ คำเสนอและคำสนองรับคำเสนอนั้น
- มาตรา 11 ที่กำหนดเกี่ยวกับความสามารถของบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญาในการเข้าทำสัญญา
- มาตรา 14 ที่กำหนดเกี่ยวกับเจตน์จำนงอิสระของคู่สัญญาในการเข้าทำสัญญา
- มาตรา 22 มาตรา 23 และมาตรา 24 ที่กำหนดเกี่ยวกับค่าตอบแทนตามกฎหมายที่จะต้องกำหนดไว้ในสัญญาหรือข้อตกลง
นอกจากบทบัญญัติเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยสัญญาดังกล่าวข้างต้นแล้ว กฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาก็เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญต่อการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เช่นกัน
โดยบทบัญญัติเกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องได้แก่ การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า (Trademark licensing) การอนุญาตให้ใช้สิ่งประดิษฐ์ (Invention licensing) และการอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ (Copyright licensing)
อ่านกฎหมายแฟรนไชส์ในเมียนมาร์ goo.gl/dBGyCZ
8.กฎหมายธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศลาว
ภาพจาก goo.gl/hXPBLG
ประเทศลาวเป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่ไม่มีกฎหมายแฟรนไชส์บังคับใช้โดยตรง ทั้งยังไม่มีข้อกำหนด ระเบียบกฎเกณฑ์เฉพาะเจาะจง สำหรับการจัดตั้งธุรกิจแฟรนไชส์ เหมือนดังเช่นประเทศสิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ
แต่มิได้หมายความว่า การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศลาว จะไม่มีข้อกำหนดกฎเกณฑ์อื่นมาควบคุม กฎหมายที่สามารถนำมาปรับใช้ ได้แก่
กฎหมายที่เกี่ยวกับนิติกรรมสัญญาและกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายเครื่องหมายทางการค้าและกฎหมายความลับทางการค้า) เป็นหลัก
เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีกฎหมายแฟรนไชส์บังคับใช้โดยตรง แต่ยังมีกฎหมายภายในอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถบังคับใช้ได้โดยมิจำต้องมีกฎหมายเฉพาะเจาะจงโดยตรง
อ่านกฎหมายแฟรนไชส์สปป.ลาว goo.gl/KavwjB
9.กฎหมายธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศกัมพูชา
ภาพจาก goo.gl/WaEvsa
ปัจจุบันประเทศกัมพูชาไม่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องแฟรนไชส์ มีเพียง The Law on Commercial Enterprises ที่มีบทบัญญัติบางส่วน ครอบคลุมถึงธุรกิจแฟรนไชส์ ในลักษณะของการประกอบธุรกิจทั่วไปในประเทศกัมพูชา
อาทิ การประกอบธุรกิจของธุรกิจต่างชาติ ที่สามารถกระทำได้โดยผ่านรูปแบบการจัดตั้งธุรกิจ อันได้แก่ สำนักงานผู้แทนทางการค้า สำนักงานสาขา หรือบริษัทสาขา
ทั้งนี้ สำนักงานผู้แทนทางการค้าและสำนักงานสาขา มีสถานะเป็นตัวแทนให้แก่บริษัทต่างชาติ ที่เป็นตัวการและไม่มีสถานะเป็นบุคคลทางกฎหมาย แยกต่างหากจากตัวการของตนเอง (Article 271 of the Law on Commercial Enterprises)
นอกจากนี้ กฎหมายฉบับได้กำหนดขอบเขตกิจกรรมต่างๆ ภายในประเทศกัมพูชาของแต่ละรูปแบบธุรกิจต่างชาติที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศกัมพูชา
ข้อกฎหมายอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การทำธุรกิจในประเทศกัมพูชา จะต้องมีป้ายชื่อสถานประกอบการเป็นภาษาเขมร เป็นชื่อภาษาเขมรที่เขียนขึ้นจากการเลียนเสียงของชื่อภาษาต่างประเทศ และสามารถกำกับชื่อภาษาต่างประเทศได้แต่ตัวอักษรต้องมีขนาดเล็กกว่าและตำแหน่งการจัดวางต้องอยู่ใต้ชื่อภาษาเขมร
การแปลชื่อจากภาษาต่างชาติมาเป็นภาษาเขมร หรือจากภาษาเขมรไปเป็นภาษาต่างชาตินั้น เป็นการต้องห้าม (Article 5 of the Law on Commercial Enterprises) เหมือนดังเช่นหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน
ชาวต่างชาติและธุรกิจต่างชาติ มิอาจเข้ามาถือครองหรือมีกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศกัมพูชาได้ หลักการนี้ได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้ง ในกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศเลยทีเดียว (Article 44 of the Constitution)
หากธุรกิจต่างชาติประสงค์ที่จะถือครองหรือมีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินในประเทศกัมพูชา อาจพิจารณาจัดตั้งนิติบุคคลที่มีสัญชาติกัมพูชาในการประกอบธุรกิจ โดยมีหุ้นส่วนที่มีเสียงข้างมากเป็นชาวกัมพูชา (51%) หรือการพิจารณาทำสัญญาเช่าที่ดินระยะยาวจากชาวกัมพูชา
เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำหนด หรือห้ามอัตราขั้นสูงสุดของอายุสัญญาเช่าที่ดินไว้สำหรับที่ดินของเอกชน และอาจกำหนดให้สามารถโอน ขายหรือเปลี่ยนมือสิทธิการเช่าระยะยาวดังกล่าวได้ในสัญญาเช่า
สำหรับที่ดินของรัฐนั้น สามารถทำการเช่าระยะยาวได้ไม่เกิน 40 ปี แต่สามารถขยายระยะเวลาเช่าต่อไปได้ภายหลังสิ้นระยะเวลาดังกล่าว (แต่ความไม่แน่นอนและปัจจัยแทรกแซงบางอย่าง ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน
เช่น เมื่อสัญญาเช่าสิ้นอายุลง สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินเช่าดังกล่าวอาจตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าในทันที เช่นนี้ ข้อกำหนดและเงื่อนไขสำหรับประเด็นดังกล่าวในสัญญาเช่าจึงเป็นสาระสำคัญในการพิจารณาเข้าทำสัญญาและลงทุน)
อ่านกฎหมายแฟรนไชส์กัมพูชา goo.gl/dMy9kk
ประเทศไทยแม้ยังไม่มีกฎหมาย ว่าด้วยการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์โดยเฉพาะ แต่ก็ยังดีที่มีหลายๆ ครั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามที่จะหยิบยกเรื่องการออกกฎหมายแฟรนไชส์มาพูดกันในเวทีต่างๆ เพื่อหวังผลให้เกิดเป็นรูปธรรม เพราะเราคงทราบกันดีว่า การลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ได้มีปัญหาเกิดอยู่บ่อยครั้ง
เพราะความไม่ซื่อสัตย์ของเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ ได้ทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ หรือแฟรนไชส์ซี ตกเป็นเหยื่อไปแล้วหลายราย แต่ก็ไม่มีใครกล้าออกมาร้องเรียน ไม่รู้ว่าจะใช้กฎหมายส่วนไหนมาบังคับใช้ และไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนเป็นผู้รับผิดชอบ
ท่านใดสนใจอยากให้ร่างสัญญาแฟรนไชส์โดยถูกต้องตามหลักกฎหมายแจ้งความประสงค์ได้ที่
โทร : 02-1019187, Line : @thaifranchise
อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com
เลือกซื้อแฟรนไชส์ไทยขายดี เริ่มต้นธุรกิจ goo.gl/Kx628s
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3aOIv1D