สสว. – สถาบันอาหาร เดินหน้าจับคู่ธุรกิจ คลัสเตอร์มะพร้าว รุกตลาดไต้หวัน
สสว. ร่วมกับ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม นำผู้ประกอบการ คลัสเตอร์มะพร้าว จาก 26 เครือข่าย เจรจาจับคู่ธุรกิจกับเทรดเดอร์ 17 บริษัทที่ไต้หวัน เผยมะพร้าวน้ำหอมของไทยยังคงมาแรง เป็นที่นิยมในตลาดไต้หวันทั้งแบบผลสดตัดแต่ง และชนิดที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์แบบขวดและกระป๋อง ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมคำสั่งซื้อคาดว่าเมื่อรวมทุกผลิตภัณฑ์จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท หลังประสบผลสำเร็จในตลาดจีนที่มีมูลค่าคำสั่งซื้อราว 100 ล้านบาทในปีแรก ปลายเดือนกันยายนนี้เตรียมพาตลุยเพิ่มที่ตลาดเวียดนาม พร้อมจัดประกวดสุดยอดผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยมอบรางวัลให้เครือข่ายมะพร้าวที่ร่วมโครงการ หวังสร้างโอกาสทางการตลาดและต่อยอดให้แบรนด์มะพร้าวไทย
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยความคืบหน้า การดำเนินการโครงการสนับสนุนเครือข่ายSME ปี 2560 ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว ตามที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อย(สสว.) ว่า ระหว่างวันที่ 20 – 22 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา นายวชิระ กอแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายประสานเครือข่ายผู้ให้บริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
(สสว.) เป็นผู้นำคณะผู้ประกอบการสมาชิกเครือข่ายมะพร้าวที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 26 ราย จากหลายจังหวัด อาทิ จ.ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฏร์ธานี เป็นต้น เดินทางไปประเทศไต้หวัน ณ กรุงไทเป เพื่อศึกษาดูงานสำรวจตลาดค้าปลีก พร้อมเยี่ยมชมโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปที่มีชื่อเสียง อาทิ บริษัท I-MEI FOODS จำกัด และเจรจาจับคู่ธุรกิจ(Business Matching) กับบริษัทนำเข้าและค้าส่งของไต้หวันรวม 17 บริษัท
“ผลิตภัณฑ์มะพร้าวน้ำหอมของไทย ได้รับความสนใจจากเทรดเดอร์ในไต้หวันค่อนข้างมากทั้งที่เป็นมะพร้าวผลสดตัดแต่งแบบเจีย และน้ำมะพร้าวพร้อมดื่มบรรจุขวด/กระป๋อง
เนื่องจากมะพร้าวน้ำหอมของไทยที่เป็นผลผลิตจากภาคกลาง อาทิ ราชบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม จะมีรสชาติและกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในตลาดไต้หวันอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังให้ความสนใจ น้ำมันมะพร้าว มะพร้าวแก้ว และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวในกลุ่มเครื่องสำอางและอื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอรวบรวมคำสั่งซื้อ คาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทในปีแรก หลังประสบผลสำเร็จในตลาดจีนจากการนำผลิตภัณฑ์ไปออกบูธในงานมหกรรมอาหาร FHW CHINA 2017 ซึ่งมีมูลค่าคำสั่งซื้อราว 100 ล้านบาท และในปลายเดือนกันยายนนี้เตรียมไปเปิดตลาดที่เวียดนามในลำดับต่อไป”
นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้จัดทำความร่วมมือกับผู้จัดจำหน่ายในประเทศ โดยการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีก-ส่งสมัยใหม่หลายแห่ง เพื่อขยายช่องทางการทำตลาดในประเทศอีกด้วย ทั้งส่งเสริมการทำตลาดออนไลน์
โดยการจัดทำ E-Market Place ผ่านทางเว็บไซต์ shopee และการผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ทั้งหมด 26 เครือข่าย ในรูปแบบเว็บไซต์ Coconut Pavilion เพื่อเชื่อมโยงสู่ผู้บริโภคได้โดยตรงทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไป
โดยล่าสุดในวันที่ 26 ก.ย. 2560 นี้ เตรียมแถลงผลสำเร็จโครงการฯ พร้อมจัดประกวดและมอบรางวัลสุดยอดผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยให้แก่เครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อหาผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการสื่อสารแบรนด์มะพร้าวไทย ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่สมาชิกเครือข่ายและต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้อย่างยั่งยืน