วิธีการคัดเลือกผู้ซื้อธุรกิจแฟรนไชส์

ปัจจุบัน ระบบธุรกิจแฟรนไชส์ ที่ประสบความสำเร็จได้ ส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการคัดเลือกผู้ซื้อแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์ซีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบงาน เพราะผู้ที่เป็นแฟรนไชส์ซีจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างธุรกิจแฟรนไชส์ให้เติบโต 

โดยหลังจากได้วางกลยุทธ์การทำการตลาด เพื่อที่จะขายธุรกิจแฟรนไชส์เรียบร้อยแล้ว เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ หรือทีมขายแฟรนไชส์แต่ละแบรนด์ ต้องไม่ควรที่จะบุ่มบ่ามรีบรับใครเข้ามาเป็นแฟรนไชส์ซี เพียงเพราะเห็นว่าได้ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์มาเป็นเงินก้อน ต้องทำการศึกษาและมีกระบวนการคัดเลือกแฟรนไชส์ซีอย่างชาญฉลาด

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com ได้มีวิธีการคัดเลือกแฟรนไชส์ซี เหมาะสำหรับจะคัดเลือกเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในการขายแฟรนไชส์ ให้เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ได้พิจารณา เพื่อเป็นช่องทางในการขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์

1.มีความมั่นใจในตัวเองและมีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้

ระบบธุรกิจแฟรนไชส์

เพราะเมื่อแฟรนไชส์ซีเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบธุรกิจแฟรนไชส์ จำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในธุรกิจที่แฟรนไชส์ซีอาจไม่รู้และเข้าใจมาก่อน

การคัดเลือกเอาแฟรนไชส์ซีที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ สามารถปฏิบัติตามระบบที่วางเอาไว้ จะทำให้เกิดความเข้าใจในระบบธุรกิจแฟรนไชส์ได้เร็วขึ้น

2.มีเงินทุนและทำเลเยี่ยม

ko6

ผู้ที่มีทำเลดีและมีเงินพร้อมที่จะลงทุน คือ ผู้ที่เป็นต่ออย่างมาก และอยู่ในเป้าหมายที่เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ และทีมงานการตลาดแบรนด์แฟรนไชส์ จะต้องเลือกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบแฟรนไชส์ เพราะธุรกิจแฟรนไชส์จำเป็นต้องมีการลงทุนมากกว่าการเริ่มต้นธุรกิจด้วยตัวเอง ที่การทำธุรกิจตัวเองสามารถพัฒนาไปทีละขั้นตอนได้

แต่การซื้อแฟรนไชส์จะเริ่มต้นธุรกิจอย่างมีระบบ จึงทำให้ต้องใช้เงินลงทุนสูงในระยะแรก เพื่อสร้างมาตรฐานคุณภาพให้กับร้าน สินค้า บุคลากร รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ ที่สำคัญต้องดูว่าผู้ที่ต้องการจะซื้อแฟรนไชส์จากคุณไปนั้น จะต้องมีทำเลที่มีศักยภาพ ดึงดูดลูกค้าได้ดี ซึ่งตรงนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเลือกคนที่จะมาทำธุรกิจแฟรนไชส์

3.มีความรู้เรื่องระบบแฟรนไชส์

ko4

คุณลักษณะของแฟรนไชส์ซีที่ดี ควรที่จะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องแฟรนไชส์มาบ้างพอสมควร แต่ไม่ต้องถึงขั้นแตกฉาน แต่อย่างน้อยควรมีความเข้าใจพื้นฐานว่า วัตถุประสงค์ของระบบแฟรนไชส์คืออะไร รู้ว่าข้อดีข้อเสียของระบบแฟรนไชส์

อีกทั้ง ผู้ที่คิดจะซื้อแฟรนไชส์ยังต้องทำความเข้าใจว่า ทำไมตัวเองต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ให้กับเจ้าของแฟรนไชส์ ซึ่งเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์จะต้องใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวในการพิจารณาผู้ซื้อแฟรนไชส์ด้วย แต่ถ้าคุณเลือกพิจารณาแฟรนไชส์ซีที่ไม่รู้เรื่องระบบแฟรนไชส์เลย อาจทำให้เกิดการทะเลาะกันในภายหลังได้นะครับ

4.มีความสามารถทำงานตามระบบ ให้บรรลุผลสำเร็จได้

ko2

คุณลักษณะข้อนี้ไม่ได้มีอยู่ในตัวของทุกคน แฟรนไชส์ซีที่ดีจะต้องเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้บรรลุผลสำเร็จเสมอ เสมือนว่าเป็นการสร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมาใหม่และให้เติบโตยิ่งขึ้น

ถ้าแฟรนไชส์ซีมีความพยายามที่จะบริหารธุรกิจ มีการวางเป้าหมายการเติบโตธุรกิจ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างทีมงานของตัวเองให้แข็งแกร่ง ก็จะทำให้ระบบธุรกิจแฟรนไชส์ประสบความสำเร็จ มีความมั่นคงสูง ดังนั้น เจ้าของแฟรนไชส์และทีมขายจะต้องไม่ลืมที่จะใช้หลักการข้อนี้ ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นแฟรนไชส์ซีด้วย ถือว่าสำคัญมาก

5.มีประสบการณ์ทำงาน และรู้หลักการจัดการมาบ้าง

ko3

ถ้าคุณคัดเลือกแฟรนไชส์ซีที่มีความเข้าใจระบบงานจากองค์กรขนาดใหญ่มาก่อนจะได้เปรียบอย่างมาก เพราะการทำงานกับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีระบบและขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจน จะทำให้แฟรนไชส์ซีให้ความสำคัญกับงานเอกสาร การเข้าร่วมการประชุม การรับนโยบาย สามารถการทำงานตามระบบแฟรนไชส์ที่เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์วางเอาไว้

ที่สำคัญผู้ที่จะมาซื้อแฟรนไชส์ จะต้องรู้จักการแสดงความคิดเห็นต่างๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจ ที่จะทำให้เกิดความทุ่มเทในการพัฒนาธุรกิจตัวเอง เพราะเขาจะเข้าใจหลักการบริหารธุรกิจเป็นอย่างดี เมื่อเจ้าของแฟรนไชส์และทีมขายเห็นว่า มีผู้ที่มีคุณลักษณะดังกล่าวแล้ว ก็อย่ารอช้า นำเสนอสิ่งดีๆ ของระบบแฟรนไชส์ ให้กับบุคคลเหล่านั้นในทันที

ได้เห็นแล้วว่า การคัดเลือกผู้เข้าร่วมลงทุนทำแฟรนไชส์เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงแค่เลือกคนดี มีเงินทุนเท่านั้น ควรมีการทดสอบคุณสมบัติ มีการสัมภาษณ์ ทดลองงาน ผ่านการฝึกอบรม

เพราะระบบงานแฟรนไชส์ต้องการผู้ที่เข้าใจระบบการทำงานขององค์กร เน้นการประสานงานเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น การเปิดรับผู้ซื้อแฟรนไชส์ หรือแฟรนไชส์ซี ที่จะเข้ามาร่วมลงทุนธุรกิจด้วย จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปครับ

อ่านบทความทั้งหมดเกี่ยวกับแฟรนไชส์ คลิก goo.gl/VyJ92n
หรือสนใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ต่างๆ คลิก goo.gl/8pzn7i

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/2V0NbbK

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช