วิกฤต SMEs ไทยกับ COVID 19
ตอนนี้สิ่งที่ทุกคนคิดเหมือนกันอันดับแรกคือ “ยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID 19” ให้ได้ เมื่อสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID 19 และทำให้สถานการณ์โดยรวมปลอดภัยมากขึ้น ก็ยังมีสิ่งที่ต้องคิดต้องทำและหนักหนาสาหัสไม่แพ้กันคือ “กระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง”
หากจะเปรียบเทียบกันไป www.ThaiSMEsCenter.com มองว่า “เศรษฐกิจ” ตอนนี้ก็เป็นเหมือนคนป่วยอาการหนัก โอกาสรอดก็ 50-50 อยู่ที่ว่าหมอจะมาทันและเลือกใช้วิธีช่วยได้ถูกต้องทันเวลาหรือไม่ เพราะอย่างที่ทราบว่าตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในปี 2563 นี้ไม่น่าจะเติบโตได้ตามคาดการณ์แถมยังน่าจะลดลงเยอะด้วย
คาดการณ์จากทุกสำนักฟันธง! ปี 2563 เศรษฐกิจไม่โตกว่าเดิม
ภาพจาก bit.ly/2JRfGmr
เริ่มจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ได้ประเมินไว้ว่า โควิด-19 จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปี 2020 ลดลงเหลือเพียงราว 18 ล้านคน หรือลดลง 54.6 เปอร์เซ็นต์ โดย TMB Analytics ปรับลดคาดการณ์ GDP จาก 2.7 เปอร์เซ็นต์ เหลือ -0.8 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2020 โดยมีแนวโน้มที่สถานการณ์จะกลับมาฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4
และศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ได้ปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปี 2563 จากเดิม 2.7% ลงมาอยู่ที่ 0.5% เป็นการเติบโตต่ำสุดในรอบ 11 ปี ถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์ในปี 2552 และหากเศรษฐกิจไทยจะกระเตื้องขึ้นมาได้บ้างก็ต้องเป็นช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการควบคุสถานการณ์โรคระบาดว่าจะทำได้ดีแค่ไหนและปัจจัยภายนอกคือการระบาดของโรคในต่างประเทศก็มีผลต่อการฟื้นกลับคืนของเศรษฐกิจไทยด้วย
ในส่วนสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัวไม่ต่ำกว่า -8% และมีโอกาสหดตัวถึงตัวเลขสองหลัก บนสมมติฐานค่าเงิน 30.50 บาท/ดอลลาร์ (ณ วันที่ 6 เมษายน 2563 เท่ากับ 32.895 บาท/ดอลลา)
วิกฤติ COVID 19 บรรดา SMEs ไทยสาหัสแค่ไหน?
ภาพจาก bit.ly/3eaEzHT
วิกฤต COVID 19 ครั้งนี้ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างรุนแรง มากกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 ซึ่งในครั้งนั้นเรามีปัญหากับสถาบันการเงินและบริษัทใหญ่ๆที่มีการกู้เงินดอลล่าร์จากต่างประเทศเยอะ ในขณะที่ภาค การเกษตร ภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออก ยังพอช่วยประคองเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะเมื่อค่าเงินบาทในตอนนั้นอ่อนลงอย่างมาก ทำให้เราส่งออกสินค้าต่างๆ และการท่องเที่ยวดีขึ้น แต่มาวิกฤตครั้งนี้
ผลกระทบที่รุนแรงกลับเป็นด้านการท่องเที่ยว เกษตรกรรมและการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นกำลังหลักสำหรับ GDP ของประเทศไทยในปัจจุบัน แถมวิกฤตครั้งนี้ยังส่งผลกระทบทั่วโลก แม้แต่ภาคการผลิตและส่งออกก็ชะลอตัวจากคำสั่งซื้อที่ลดลงด้วย ผลกระทบดังกล่าวจะมีผลต่อคนจำนวนมาก และอาจมีคนตกงานถึง 5 ล้านคน และ GDP ของปีนี้น่าจะลดลงมากกว่า 6%
ถึง ณ วันนี้ภาครัฐเองก็สรรหามาตรการหลายอย่างออกมาพยุงบรรดา SMEs ให้อยู่รอด แต่ก็ดูเหมือนว่าหลายแห่งจะ “ไม่รอด” ด้วยการประกาศปิดกิจการแบบถาวร อีกหลายแห่งมีการปรับลดเงินเดือนพนักงาน รวมถึงมีการจ้างออกเพื่อลดต้นทุน รวมไปถึงบางแห่งมีการปิดกิจการชั่วคราวโดยไม่จ่ายเงินเดือนพนักงาน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความหนักหนาสาหัสชนิดที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก และต่อไปนี้คือสิ่งที่บรรดา SMEs ที่ต้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้ตรงจุดที่สุด
4 มาตรการที่เหล่า SMEs ต้องการความช่วยเหลือด่วนที่สุด
ภาพจาก bit.ly/2Rpz2TS
1.การเยียวยาต้องใหญ่และเพียงพอ
การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ต้องมีขนาดใหญ่และเพียงพอต่อการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจที่จำเป็น ตัวเลขที่หลายๆประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือสิงคโปร์ใช้ในขั้นต้นคือ 10% ของ GDP ซึ่งถ้าใช้มาตรฐานเดียวกันจะอยู่ที่ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งประเทศไทยยังมีกรอบวงเงินหนี้สาธารณะที่สามารถใช้ได้ และไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากต่างประเทศ (IMF)
2.ช่วยเหลือให้ครบทุกกลุ่มอาชีพ
มาตรการช่วยเหลือต้องครอบคลุมประชาชนที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม เกษตรกร ลูกจ้าง อาชีพอิสระ เจ้าของกิจการ โดยภาครัฐต้องคิดให้ครบถ้วน ไม่ใช่การคิดแยกส่วนเป็นแต่ละกระทรวง ทำให้เกิดความสับสน ว่าใครได้ ใครไม่ได้ ปัจจุบัน เกษตรกร ลูกจ้าง SMEs ดูแลด้วยคนละหน่วยงาน ไม่เห็นในภาพรวม ประชาชนจำนวนมากต้องมารอลุ้นว่าจะได้รับความช่วยเหลือหรือไม่
3.ต้องชะลอการเลิกจ้างให้มากที่สุด
เมื่อแรงงานถูกเลิกจ้าง โอกาสจะกลับมาเข้าสู่ระบบยาก เสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูง ต้องพยายามช่วยให้ธุรกิจเลิกจ้างให้น้อยที่สุด เพราะสุดท้ายถ้าถูกเลิกจ้าง ภาครัฐก็ต้องช่วยอยู่ดี แนวคิดเดียวกับการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย แทนที่จะมารักษาผู้ป่วย อาจอยู่ในรูปแบบที่รัฐช่วยออกเงินเดือนในบางส่วนและแตกต่างกันตามผลกระทบของแต่ละธุรกิจ เช่น ท่องเที่ยว โรงแรม การบิน ถูกกระทบมากกว่าธุรกิจอื่น
4.ต้องให้ความช่วยเหลือที่สอดคล้องกับความต้องการ
เช่น สถานการณ์ปัจจุบัน ธุรกิจขนาดเล็ก SMEs อาจไม่ได้ต้องการ Soft Loan เพราะหนี้ปัจจุบันก็เยอะอยู่แล้ว เขาต้องการเงินช่วยเหลือมากกว่าการเพิ่มหนี้ หรือการช่วยรับภาระดอกเบี้ยให้ประชาชน และการชะลอการจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆไม่จำเป็นต้องเร่ง เพราะผู้รับเหมากับราชการได้รับผลกระทบน้อย งบประมาณต้องลงตรงประชาชนให้มากที่สุด
ก่อนจะให้คนอื่นช่วย SMEs ก็ต้องช่วยตัวเองก่อน
และอย่างที่ทราบว่ามาตรการใดๆ ในตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะช่วยเหลือ SMEs ได้ดีแค่ไหน เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดยังน่าเป็นห่วง การทุ่มกำลังในช่วงนี้คือหยุดการแพร่ระบาดให้ได้ ดังนั้นเหล่า SMEs ก็ต้องรู้จักพึ่งพาตัวเองให้ได้ในช่วงนี้โดยมี 2 วิธีที่พอจะทำได้คือ
ภาพจาก bit.ly/3aYYaJ8
1.เพิ่มรายได้
มองช่องทางขายออนไลน์ หรือต่อยอดรูปแบบธุรกิจอื่น ๆ เพื่อเพิ่มช่องทาง และโอกาสในการขายท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น มี 2 สิ่งที่ไม่ได้เปลี่ยนไป นั่นคือ ผู้คนยังคงมีความต้องการบริโภค และความต้องการในการหารายได้ ดังนั้นอุปสงค์ของสินค้าอุปโภคและบริโภคในตลาดยังคงมีอยู่ แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคอาจเปลี่ยนไปจากเดิม ในวิกฤตที่คนไม่ยอมออกจากบ้านเพื่อไปจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า ช่องทางออนไลน์จึงเป็นอีกทางเลือกในการซื้อสินค้าและบริการ
ดังนั้น SMEs จึงควรมองหาทุก ๆ แพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าออนไลน์ และใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเหล่านั้นอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือ marketplace โดยมีเทคนิคย่อยๆ ที่ใช้ได้ผลยกตัวอย่างเช่น
- เปลี่ยนเมนูที่ใช้วัตถุดิบหายากหรือมีโอกาสเสียง่าย ให้เป็นวัตถุดิบที่หาง่ายขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงในการทำ stock
- เปลี่ยนพนักงานเสิร์ฟเป็นพนักงานส่งอาหาร และผันตัวเองมาให้บริการแบบ take away หรือส่งอาหารตรงถึงบ้าน
- ปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการ เช่นธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศเกาหลีใต้ เปลี่ยนการให้บริการโดยการเช่าลานจอดรถกว้างและให้บริการฉายภาพยนตร์จอยักษ์แบบ drive through หรือธุรกิจการไหว้เคารพสุสานบรรพบุรุษของจีน หรือเช็งเม้ง ก็ยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการได้ โดยการรับจัดหาอาหาร และ live การไหว้บรรพบุรุษให้กับลูกค้าที่ไม่สามารถเดินทางมาด้วยตนเอง
ภาพจาก bit.ly/3aYYaJ8
2.ลดรายจ่าย
วิเคราะห์และปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปการนำบัญชีรายรับและรายจ่ายมาวิเคราะห์ เพื่อหาว่ารายจ่ายตรงจุดไหนที่สามารถตัดออก เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น สินค้าฟุ่มเฟือยประเภทต่าง ๆ หรือรายจ่ายที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ในช่วงเวลานี้
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ถือเป็นเส้นทางหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจไทยอยู่ระหว่างความเป็นกับความตาย การแก้ปัญหาก็ต้องดำเนินไปทีละอย่าง เริ่มจากแก้ปัญหาหลักคือยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID 19 ให้ได้จากนั้นค่อยมาคิดกันเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไหนอย่างไรให้ฟื้นคืนกลับมาได้มากที่สุด
แต่ที่แน่นอนว่าปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้จะไม่ใช่เรื่องระยะสั้นแต่เป็นปัญหาระยะยาวคิดคร่าวๆ อย่างน้อยก็น่าจะลากยาวไปถึงปลายปี แต่ก่อนหน้านี้ขอให้มีบางส่วนที่ฟื้นคืนมาได้บ้าง แม้จะไม่กลับมาดีดังเดิมในทันใดอย่างน้อยให้หายใจได้ด้วยตัวเอง เบื้องต้นให้ได้เท่านี้ก็ดีใจเหลือเกินแล้ว
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3aQOgsR , https://bit.ly/2XbFxh3 , https://bit.ly/3aQQybr
อ่านบทความเพิ่มเติม https://bit.ly/2Xwr4My