ลุงโช จากลูกชาวนา สู่เจ้าของรีสอร์ท ธุรกิจเพื่อสังคม!
บ่อยครั้งก่อนที่คนเราจะตัดสินใจทำอะไรสักอย่างมักจะมองหาแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนตัวเอง มุมมองจากคนที่เพิ่งเริ่มลงมือมักคิดว่ายากเสมอกับการก้าวไปสู่จุดสูงสุดเหมือนที่คนอื่นทำไว้ แต่ความคิดนั้นคือ “นามธรรม” ส่วนจะเป็น “รูปธรรม” ได้หรือไม่นั้นอยู่ที่ “ลงมือทำ” ไม่ใช่มัวแต่คิด
www.ThaiSMEsCenter.com อยากให้ทุกคนประสบความสำเร็จในชีวิตกับสิ่งที่ตั้งใจ ไม่จำเป็นว่าคุณต้องมีพื้นฐานที่ดี ไม่จำเป็นว่าต้องมีเงินทุนถึงจะเริ่มธุรกิจได้ มีบุคคลมากมายที่เขาเริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นจาก “ศูนย์” ถ้าเขาทำได้เราก็ต้องทำได้ “หนึ่งสมอง สองมือ และความตั้งใจ” คือกุญแจสำคัญที่พาชีวิตเราไปสู่ความสำเร็จได้ทุกยุคสมัย
จดหมายข่าวฉบับปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณโชฎึก คงสมของ (ลุงโช) ที่แม้ชื่อจะไม่คุ้นหูสักเท่าไหร่แต่ในแวดวงคนมีอุดมการณ์เพื่อชีวิต ลุงโช นับเป็นที่รู้จักอย่างดี
ชีวิตการต่อสู้ตั้งแต่เด็กกว่าจะไต่เต้าขึ้นมาถึงวันที่ประสบความสำเร็จเป็นเจ้าของรีสอร์ท “เฮือนกาฬสินธุ์-สวนดอนธรรม” บนพื้นที่กว่า 50 ไร่ และมี 3 สาขาทั่วประเทศ มีแง่มุมที่คนรุ่นใหม่ควรศึกษาเป็นแนวทางมากมาย ใครที่อยากจุดไฟในตัวเอง จดหมายข่าวฉบับนี้มีเชื้อเพลิงดีๆ ให้เติมพลังได้มากมาย
ชีวิตลูกชาวนา “ลำบากแต่ดี”
ต้นทุนชีวิตของเราไม่เท่ากัน ใครที่เกิดมายากจน หาเช้ากินค่ำ ชีวิตไม่สุขสบายอย่าคิดว่านั้นคือความลำบาก ให้คิดเสมอว่ามันคือประสบการณ์ชีวิตที่ต่อให้ในอนาคตเราเจออะไรก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อีกต่อไป ลุงโชเล่าให้ฟังว่า ตัวของลุงเอง
เป็นลูกชาวนาเต็มขั้น บ้านเกิดอยู่ที่กาฬสินธุ์ ในอำเภอที่ห่างตัวเมืองกว่า 7 กิโลเมตร เรียนหนังสือก็จบแค่ ป.4 ก่อนที่จะได้อุปสมบทและบวชเรียนไปพร้อมกันจนจบ ม.8 จากโรงเรียนผู้ใหญ่กาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ หลังจากลาสิกขาได้มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ อาศัยอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร พักพิงอาศัยกับหลวงพ่อพระมหาชัยยนต์
ปี 2523 เริ่มทำงานที่การบินไทยในตำแหน่งพนักงานขนถ่ายสินค้า ในระหว่างนั้นได้พบเพื่อนมากมายที่ต่างเป็นมิตรสหายที่ดี ทำงานอยู่การบินไทยประมาณ 25 ปี มีต้นทุนชีวิตที่เรียนรู้จากมิตรสหายมากมาย ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ลุงโชประสบความสำเร็จเป็นเจ้าของธุรกิจได้ในปัจจุบัน
“เราเกิดมาบนความไม่พร้อม เราไม่ได้มีทุกอย่างเหมือนที่คนอื่นเขามี แต่ผมไม่เคยท้อ ผมไม่เคยคิดว่านั่นคือปัญหา อุปสรรคมันเกิดกับคนที่ขี้เกียจ ถ้าเราสู้เราจะไม่มีวันแพ้ คนชนะคือคนไม่ยอมแพ้ อย่าฝากชีวิตไว้กับโชคกับดวง เจอปัญหาเราต้องแก้ไข ผมว่าผมโชคดีที่ได้เกิดเป็นลูกชาวนาเพราะนั้นคือพื้นฐานที่หล่อหลอมให้เราแข็งแกร่ง” ลุงโชกล่าว
เข็นรถขายส้มตำ ทำมาหากินไม่ต้องอายใคร
ในระหว่างที่ทำงานอยู่การบินไทยลุงโชได้รับคำแนะนำจากเพื่อนคือ คุณเจษฏา ทองรุ่งโรจน์ ที่บอกให้ลุงโชขายส้มตำแบบรถเข็น และห้ามเช่าตึกเด็ดขาด เหตุผลคือถ้าเราเริ่มจากทุนน้อยๆ เวลาพลาดจะได้ไม่เจ็บตัวและยังสะสมประสบการณ์ในวันที่เรามีทุนมากขึ้นการเปิดร้านใหญ่ก็ไม่ใช่ปัญหา
ลุงโชเล่าว่า “28 ตุลาคม 2536 เริ่มขายส้มตำครั้งแรก กำไรในวันแรกได้ 150 บาท ดีใจมากทำรถเข็นส้มตำอยู่ 2 ปี เริ่มมองเห็นลู่ทางก็มาเซ้งร้านเป็นตึกในปี 2539 ถึงปี 2543ก็ขยายสาขาเพิ่มที่คลองสามวา ทุกอย่างถือว่าบรรลุเป้าหมายแม้ในปี 2540 คนอื่นเจอพิษยุคฟองสบู่แตกแต่ร้านส้มตำของเราก็ยังอยู่ได้”
สำนักรักบ้านเกิด “สู่ธุรกิจเฮือนกาฬสินธุ์-สวนดอนธรรม”
ลุงโชออกจากพนักงานการบินไทยในปี 2548 พอถึง ปี 2549 ด้วยความที่ลุงโช รู้สึกว่าชีวิตนี้ได้เจออะไรมามากมาย สักวันหนึ่งหากต้องจากไป ก็อยากให้มีอะไรหลงเหลือถึงคนรุ่นหลังบ้าง เป็นที่มาของการกลับสู่ “กาฬสินธุ์” ตัดสินใจซื้อที่ดินแปลงแรกจำนวน 25 ไร่ พัฒนาให้กลายเป็นรีสอร์ท ถามว่าลุงโช มีเงินมากมายแค่ไหน คำตอบคือไม่ ส่วนใหญ่ก็ใช้การกู้ยืมเพื่อน
ลุงโชเล่าว่า “ตอนที่จะขยายพื้นที่จาก 25 ไร่เป็น 50 ไร่ เงินเราก็ไม่มี ต้องไปขอยืมเพื่อน คือคุณจิรศักดิ์ ขุ่นขันทิน ที่เขาก็ช่วยเหลือมาอย่างเต็มใจทำให้เราขยายพื้นที่ได้อย่างที่ใจคิด”
ซึ่งถือว่าลุงโช มีเพื่อนที่ดีที่คอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำต่างๆ อย่างการสร้างเฮือนกาฬสินธุ์-สวนดอนธรรมขึ้นมาก็มีที่ปรึกษาคือ ท่านผู้อำนวยการพงษ์สวัสดิ์ ลาภบุญเรือง อดีตผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมคิด ร่วมทำ บริหารตามความใฝ่ฝัน และจินตนาการ
แนวคิดของรีสอร์ทเฮือนกาฬสินธุ์-สวนดอนธรรมจะเน้นธรรมชาติเป็นหลัก ปลูกไม้ยืนต้นเกือบทุกชนิด โดยยึดหลักปลูกทุกอย่างที่กินได้ กินทุกอย่างที่ได้ปลูก และเอาดินจากการขุดมาถมที่นาให้สูงขึ้น ส่วนที่เป็นสระเลี้ยงปลา ร่วมกับการปลูกบ้านพัก ร้านอาหาร และหอประชุม
ปัจจุบันเฮือนกาฬสินธุ์-สวนดอนธรรมประกอบด้วยบ้านพัก 20 หลัง, ห้องประชุมสัมมนา 3 หลัง พร้อมค่ายลูกเสือ และพื้นที่ในการจัดอบรมกิจกรรมต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วม ได้มีงานทำ และถือเป็นหน้าเป็นตาของจังหวัดกาฬสินธุ์
นอกจากรีสอร์ทที่บ้านสะอาดใต้ ต. เหนือ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ แล้ว สวนดอนธรรมยังมีอีก 2 แห่งได้แก่ ซอยสยามธรณีแยก27 คู้บอน และที่ ถ.พระยาสุเรนทร์ เขตคลองสามวา รวมทั้งหมดเป็น 3 รีสอร์ทของสวนดอนธรรมภายใต้การบริหารงานของคุณโชฎึก คงสมของ
คีย์เวิร์ดความสำเร็จ “อย่ามัวเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัว”
ความสำเร็จที่ดูเหมือนจะง่ายแต่กว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านเรื่องราวมากมาย สิ่งที่ทำให้ลุงโช รู้สึกว่าตัวเองโชคดีและอยากขอบคุณมากที่สุด คือ “เพื่อนที่ดี ภรรยาที่ดี และผู้หลักผู้ใหญ่ทุกท่านที่คอยให้ความช่วยเหลือ”
แนวคิดของลุงโช มองว่า “ทำดีกว่าพูด” เพราะในบ้านเมืองเราทุกวันนี้มีแต่พวกมือถือสากปากถือศีล บอกว่าจะทำเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม แต่เอาเข้าจริงๆ ก็มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก แม้คนที่รวยเป็นหมื่นล้านแสนล้านก็ยังไม่รู้จักพอ
ประเทศไทยเป็นเมืองที่สงบสุขและเป็นประเทศที่โชคดีที่สุดในโลก มีปัจจัยแวดล้อมที่สร้างความสุขให้คนได้ แต่คนไทยเองกลับไม่เคยพอใจ ไม่เคยคิดตอบแทนบุญคุณประเทศ มองแต่ว่าประเทศจะให้อะไรกับเรา แต่ถามว่าเราเคยให้อะไรกับประเทศนี้บ้าง
สิ่งสำคัญคืออยากให้ทุกคนเปลี่ยนความคิดลดความเห็นแก่ตัวลงมา อะไรที่ช่วยพัฒนาได้ก็ช่วยกัน เมื่อสังคมดี สิ่งที่เราทำอยู่ก็จะดี คำสอนของผู้หลักผู้ใหญ่มากมาย ลุงโชได้จดจำเอาไว้อย่างขึ้นใจไม่ว่าจะเป็นคุณสังข์ทอง ศรีธเรศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัด7 สมัย คุณบุญรื่น ศรีธเรศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่สอนให้ลุงโชรู้จักว่าอะไรคือแก่นแท้และความจริงของชีวิต
คำสอนที่ลุงโชจำขึ้นใจคือ “ชีวิตเราอย่าไปฝากกับดวง เราต้องกำหนดด้วยตัวเราเอง การใช้เงินก็ต้องรู้ว่าตอนไหนควรใช้ ไม่ควรใช้ก็อย่าไปใช้ ตัวเราเกิดมาก็จากไป ถามว่าเรามีอะไรเหลือไว้ให้คนรุ่นหลังได้คิดถึงบ้าง การมีเงินก็เป็นเรื่องที่ดีแต่ถ้ามีแล้วไม่รู้จักแบ่งปันไม่ทำให้เกิดประโยชน์เอามาใช้แต่ประโยชน์ส่วนตัว มันก็ไม่มีความหมายอะไร”
ปัจจุบันลุงโช อายุ 69 แต่ก็ยังมีไฟแรงกล้าในการบริหารเฮือนกาฬสินธุ์-ดอนสวนธรรมให้กลายเป็นธุรกิจที่เอื้อประโยชน์แก่คนในพื้นที่ ให้เป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่แค่ให้คนมาพักผ่อนแต่ที่เฮือนกาฬสินธุ์-สวนดอนธรรม คือสถานที่ที่จะเพาะบ่มให้คนรู้จักว่าอะไรคือความสุขที่แท้จริง
ธุรกิจทุกอย่างต้องเกิดจากความรัก นักธุรกิจที่ดีต้องรู้จักแบ่งปันไม่เห็นแก่ผลประโยชน์มากเกินไป ธุรกิจแม้จะชี้วัดกันที่กำไรแต่ “ความสำเร็จ” ก็ไม่ได้ตัดสินที่ “จำนวนเงิน” เสมอไป
รายละเอียดเพิ่ม
Facebook: www.facebook.com/cowboylao
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3a9tPZ0