ลงทุนร้านกาแฟสด แบบไหน? อย่างไร? ถึงจะรวย!

ธุรกิจยอดฮิตคงหนีไม่พ้น “ เปิดร้านกาแฟ ” ถามว่าทำไม “คนถึงอยากเปิดร้านกาแฟ?” คำตอบก็ง่ายๆ เพราะว่า “ลูกค้าเยอะ” เป็นสินค้าที่ไม่มีวันตกเทรนด์ ไม่ว่ายุคไหนสมัยใดก็ขายได้

แต่เมื่อมีตัวเลือกมาก แล้วโอกาสที่จะขายดีมีมากแค่ไหน อันนี้น่าเป็นห่วง! โดยผู้เชี่ยวชาญในแวดวงของการลงทุนก็ยืนยันว่า “ลงทุนร้านกาแฟมีโอกาสรวย” แต่ก็มี “เงื่อนไข” ที่คนลงทุนต้องทำให้ได้เพื่อที่ประตูแห่งความสำเร็จจะได้เปิดต้อนรับอย่างที่ใจต้องการ

www.ThaiSMEsCenter.com เชื่อว่าในปี 2564 จะมีร้านกาแฟเปิดขึ้นในรูปแบบต่างๆอีกจำนวนมาก ซึ่งข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (ณ วันที่10 กุมภาพันธ์ 2563) นับเฉพาะร้านที่ตั้งอยู่บนห้างสรรพสินค้า 770 ราย เพิ่มขึ้น 2.12% แบ่งเป็นร้านกาแฟสัญชาติไทย 691 ราย และต่างชาติร่วมทุน 79 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 2,155 ล้านบาท รายได้รวม 12,260 ล้านบาท

ไม่ใช่แค่นั้นหากย้อนดูปี 2562 พบว่า อัตราการเปิดร้านกาแฟใหม่เติบโตสูงถึง 64.75% และอัตราการอยู่รอดของร้านกาแฟที่เปิดช่วงปี 2559-2563 ยังสูงถึง 94.7% และเมื่อเห็นตัวเลขที่ชัดเจนว่าโอกาสรอดมีสูง แล้ว “เงื่อนไข” ที่จะทำให้ “รวย” ให้ “รอด” คืออะไรบ้าง

1.อย่าคิดเปิดร้านแบบ “เท่ห์ๆ”

5

ภาพจาก bit.ly/3lztEdh

บางคนมองว่าเปิดร้านกาแฟเป็นเรื่องง่าย แค่เปิดร้านมีกาแฟขาย เดี๋ยวก็มีลูกค้ามาเอง ความคิดแบบผิดๆ นี้พาให้เราจมสู่หายนะได้ การเปิดร้านกาแฟที่ดูว่าง่ายแต่ความจริงต้องมีการวางแผน เตรียมการ หาข้อมูลด้านการตลาดเป็นอย่างดี เริ่มต้นเราต้องรู้ก่อนว่าเราต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าแบบไหน โดยส่วนใหญ่ร้านกาแฟมี 3 ประเภทคือ

  1. ร้านกาแฟแบบเคาน์เตอร์เล็กๆ เริ่มต้นที่หลักหมื่น มักตั้งอยู่ใกล้ อาคารสำนักงาน รถไฟฟ้า สถานศึกษา
  2. ร้านกาแฟแบบมุมกาแฟ เริ่มต้นที่หลักแสน ลักษณะคล้ายเคาน์เตอร์บาร์ อาจมีโต๊ะเล็กๆ เพื่อให้ลูกค้านั่งรอกาแฟ มักจะอยู่ภายในห้างสรรพสินค้าหรือ Community Mall
  3. ร้านกาแฟแบบ Stand Alone ร้านแบบนี้ลงทุนค่อนข้างสูง ตั้งแต่หลายแสนบาทไปจนถึงหลักล้าน ลักษณะเป็นร้านเดี่ยวๆดัดแปลงจากที่พักอาศัย อาคารพานิชย์

2.ตัดสินใจให้ดีว่าจะเลือกแบบแฟรนไชส์หรือไม่แฟรนไชส์ดี

4

ภาพจาก bit.ly/3g1nYaG

ข้อดีของการลงทุนเอง คือ เราได้รูปแบบร้านตามที่ต้องการ สามารถดีไซน์ทุกอย่างได้แบบที่เราชอบ ไม่ต้องเสียค่าแฟรนไชส์ มีความยืดหยุ่นในการลงทุนสูง ส่วนใหญ่หากมีเงินทุนมากพอ มีประสบการณ์มาบ้าง การลงทุนด้วยตัวเองก็เป็นทางเลือกที่ดี แต่ข้อดีของการซื้อแฟรนไชส์ก็มีที่น่าสนใจ

เช่น เราไม่ต้องมาเริ่มต้นจากศูนย์ แฟรนไชส์วางระบบบริหารจัดการ สินค้า วัตถุดิบให้เราเริ่มเปิดร้านได้เลย แถมยังส่งเสริมเรื่องการตลาด การพัฒนาสินค้าใหม่ และบางแบรนด์เป็นที่รู้จักในตลาดอย่างดี เราสามารถต่อยอดขายได้กำไรง่ายขึ้น โดยปัจจุบันมีแฟรนไชส์กาแฟที่น่าสนใจมากมายเช่น กาแฟ ดริป เมซโซ่เอ็กซ์ , สตาร์คอฟฟี่ , เวิลด์ไวด์ คอฟฟี่ , คอฟฟี่ทูเดย์ , กาแฟมวลชน , กาแฟเขาทะลุชุมพร เป็นต้น

3.เครื่องชงกาแฟ หัวใจสำคัญของการเปิดร้านกาแฟ

3

ภาพจาก bit.ly/3ogVxsj

บางคนเลือกใช้เครื่องที่ไม่เหมาะสมกับร้าน ก็ทำให้ทุนหายกำไรหดได้ เช่นหากเป็นร้านขนาดเล็กรองรับลูกค้าวันละไม่เกิน100แก้ว ควรเลือกใช้เครื่องชงกาแฟขนาดเล็ก 1 หัวชง เพราะลูกค้าที่เดินผ่านก็จะเห็นว่าราคาไม่น่าจะแพงจะตัดสินใจเดินเข้าร้านง่ายขึ้น แต่หากเป็นร้านกาแฟที่มีพื้นที่กว้างขวางและมีที่นั่งรองรับลูกค้าได้มาก สามารถรับลูกค้าได้วันละ 150 แก้วขึ้นไป ควรเลือกใช้เครื่องชงกาแฟ 2 หัวชงเพื่อรองรับการใช้งานจำนวนมาก เป็นต้น

ซึ่งราคาเครื่องชงกาแฟขนาดเล็ก ราคาเริ่มต้นที่ 30,000 – 60,000 บาท , ขนาดกลาง ราคาเริ่มต้นที่ 50,000 – 80,000 บาท และขนาดใหญ่ ราคาเริ่มต้นที่ 100,000 – 300,000 บาท ยังไม่รวมอุปกรณ์อื่น ๆสำหรับเปิดร้าน และวัตถุดิบที่ใช้ทำเครื่องดื่มต่างๆ งบประมาณลงทุนโดยรวมมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับขนาดร้าน ทำเล และการตกแต่งเป็นสำคัญ

4.เข้าใจคำว่า “ระยะเวลาคืนทุน”

2

ภาพจาก bit.ly/3lvbPff

แม้การเปิดร้านกาแฟจะดีแสนดี และมีลูกค้ามาก แต่ก็ใช่ว่าเราจะคืนทุนได้เลยทันที ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราลงทุนไปเท่าไหร่ โอกาสในการขายของเราเป็นอย่างไร ถ้าอยากรวยด้วยร้านกาแฟเราต้องคำนวณส่วนนี้ให้ได้โดยแนวทางคำนวณเบื้องต้นเช่น

ลงทุนเปิดร้าน 400,000 บาท (รวมทุกอย่างหมดแล้ว) ขายกาแฟแก้วละ 40 บาท ถ้าคิดว่าต่อวันเราขายได้ 100 แก้ว รายได้ต่อเดือนคือ (40×100) x30 = 120,000 บาท หักต้นทุนต่อแก้วเฉลี่ย 12 บาท ต้นทุนต่อเดือนประมาณ (12×100) x30 = 36,000 บาท

เราจึงมีรายได้ก่อนหักค่าดำเนินการอื่นๆ อยู่ที่ 120,000 – 36,000 บาท = 84,000 บาท ซึ่งค่าดำเนินการก็เช่น ค่าเช่าพื้นที่ , ค่าจ้างพนักงาน , ค่าน้ำค่าไฟ , จิปาถะต่างๆ หากคิดเบ็ดเสร็จหักหมดทุกอย่างเหลือกำไรต่อเดือนจริงๆ ประมาณ 20,000 บาท ก็เท่ากับว่าใช้ระยะเวลาในการคืนทุนประมาณ 14 เดือนเป็นอย่างน้อย

5.ร้านกาแฟยุคใหม่ “แข่งกันที่การตลาด”

1

ภาพจาก bit.ly/3mAuVlG

ใครๆ ก็เปิดร้านกาแฟ ลูกค้ามีตัวเลือกมาก จะทำอย่างไรให้ลูกค้าต้องเจาะจงมาซื้อกาแฟกับร้านของเรา คำตอบก็อยู่ที่เรื่อง “การตลาด” ทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ , การทำโปรโมชั่นต่างๆ , การเพิ่มช่องทางเดลิเวอรี่ , การจัดกิจกรรมพิเศษส่งเสริมการขายต่างๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญ เพราะต่อให้กาแฟเราอร่อย บรรยากาศร้านเราดี แต่เราโฆษณาไม่เป็น คนที่เขาทำการตลาดเก่งกว่าเขาก็จะเด่นกว่า และคนจะรู้จักมากกว่า หากคิดจะเปิดร้านกาแฟให้รุ่งและรวย ต้องฉลาดเรื่องการตลาดมากๆ

อย่างไรก็ดีการลงทุนร้านกาแฟในปี 2564 ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่อง “รายได้ของประชาชน” ที่ลดน้อยลง คนส่วนใหญ่มองหาสินค้าราคาประหยัด ดังนั้นในฐานะคนเปิดร้านก็ต้องโฟกัสให้ชัดเจนไปเลยว่าเราเจาะตลาดกลุ่มไหน กาแฟราคาแพงหรือเจาะตลาดขนาดกลางกาแฟราคาหลักสิบ (40-60 บาท) หรือจะเลือกเปิดร้านกาแฟแบบราคาถูก (ราคา 20-25 บาท)

ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับเงินทุนและวิสัยทัศน์ที่เรามองเห็น โดยร้านกาแฟสดทั่วไปต้นทุนกาแฟเย็น 1 แก้วขนาด 22 ออนซ์ ต้นทุนประมาณ 18.19 บาท หากตั้งราคาขายต่ำกว่านี้ก็ไม่กำไร ก็ต้องตั้งราคาที่เหมาะสมคิดรวมกับค่าเช่าพื้นที่และปัจจัยอื่นๆ ราคาเฉลี่ยจึงอยู่ที่ 35-40 บาท เป็นอย่างน้อย

โดยรวมแล้วการเปิดร้านกาแฟยังมีความน่าสนใจมาก แต่ “เงื่อนไข” สำคัญคือ เราต้องหาทำเลที่ดี บรรยากาศร้านที่ใช่ คุณภาพสินค้าที่ดี และมีบริการที่หลากหลาย จะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้มากขึ้นหรือหากลงทุนเอง เปิดร้านเองและไปได้ดีจะลองขยายธุรกิจในแบบแฟรนไชส์ก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/377UYu2 , https://bit.ly/33qrhmE

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/37ut4IK

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด