ร้านอาหารจะตายหมด ช่วง COVID 19 กระแสดัง Pantip

คำว่า “ร้านอาหารจะตายหมด” เหมือนเป็นการตัดพ้อ ท้อแท้ใจ แต่ในความจริงคำว่า “ตายหมด” ก็คงไม่หมดเหมือนที่พูดแต่เรื่องจริงคือ “ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม” ก่อนหน้าที่ COVID 19 จะแพร่ระบาด

เราก็เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจที่ถดถอยคนมีกำลังซื้อน้อยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่รูปแบบของธุรกิจยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงรวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ก็ยังเหมือนเดิม มีแต่การจับจ่ายที่อาจจะน้อยลงบ้างตามกลไกของภาวะเศรษฐกิจ

แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID 19 www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่แม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายมาตรการผ่อนคลายที่ภาครัฐผ่อนปรนให้เปิดร้านขายอาหารได้

ภายใต้ข้อจำกัดหลายประการแต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากการกลับมาในครั้งนี้คือคำว่า “ไม่เหมือนเดิม” และก่อนที่เราจะไปพูดถึงว่าอะไรคือ ไม่เหมือนเดิมลองมาดูตัวเลขที่สะท้อนความจริงให้เห็นกันชัดๆ ว่าธุรกิจร้านอาหารในชั่วโมงนี้ถ้าสายป่านไม่แข็งจริงอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการได้ง่ายๆ เลยทีเดียว

ธุรกิจร้านอาหารคาดการณ์มูลค่าการตลาดหายไปกว่า 3 หมื่นล้าน

6

ภาพจาก bit.ly/3cMM5aL

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ถึงธุรกิจร้านอาหารซึ่งเป็นการประเมินก่อนสถานการณ์ COVID-19 เริ่มร้ายแรง โดยระบุว่าธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย ปี 2563 มีรายได้รวมลดลงเหลือ 4.02-4.12 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นการหดตัวลง 4.3-6.6% เมื่อเทียบกับรายได้รวมของปี 2562 ที่ทำไว้ประมาณ 4.3 แสนล้านบาท (หายไปประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) แต่อย่างที่กล่าวว่านี่คือตัวเลขก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดรุนแรงและก่อนที่จะเกิดมาตรการคุมเข้มต่างๆ ซึ่งเชื่อได้ว่าความเสียหายที่แท้จริงจะสูงกว่าตัวเลขที่ได้วิเคราะห์ไว้ ยังไม่รวมถึงเรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงที่นับเป็นปัญหาใหญ่ที่คนทำธุรกิจอาหารในยามนี้ต้องคิดหาวิธีแก้ไขให้ได้

5

ภาพจาก bit.ly/2zUbCA4

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังได้คาดการณ์ไปยังร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ เน้นนั่งกินในร้าน เช่น ร้านบุฟเฟต์ สวนอาหาร ร้านในห้าง จะมีการหดตัวของยอดขายอย่างรุนแรง ลดลง 2.28 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับการประเมินรายได้ช่วงต้นปี 2563 ส่วนร้านอาหารที่มีบริการจำกัด และมีรายได้จากช่องทางเดลิเวอรีด้วย มีการหดตัวของยอดขายเช่นกัน แต่ดีกว่ากลุ่มแรกเพราะค่าใช้จ่ายไม่เยอะเท่า คาดว่ายอดขายลดลง 0.72 หมื่นล้านบาท สุดท้ายคือ ร้านอาหารที่มีสัดส่วนเดลิเวอรีสูง หรือร้านข้างทางที่ซื้อกลับบ้าน (take away) จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด คาดการณ์ยอดขายลดลง 0.15 หมื่นล้านบาท

ร้านอาหารยุค New normal แม้กลับมาได้ก็จะไม่เหมือนเดิม

4

ร้านลาหม่า เรสเตอรองต์
ภาพจาก bit.ly/2ZiH2uW

ต่อให้วิกฤต COVID-19 คลี่คลายลงไป บรรยากาศของร้านอาหารก็คงไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิม จากปัจจัยหลายอย่าง เช่น สภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองเนื่องจากผู้บริโภคไม่มีรายได้ ต้องประหยัดเพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคต ไปจนถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ที่ระมัดระวังเรื่องสุขภาพและการกินอาหารนอกบ้านมากขึ้น จนกลายเป็นนิสัยถาวรไปแล้ว หากร้านอาหารหลายแห่งต้องปิดกิจการและจำนวนร้านอาหารลดลงอย่างถาวร ผู้ที่ได้รับผลกระทบตามมาคือบรรดา เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ที่มีรายได้จากค่าเช่าของร้านอาหาร ก็อาจจำเป็นต้องปรับวิธีคิด ปรับสภาพพื้นที่และโมเดลของธุรกิจใหม่หมดเช่นกัน

ยกตัวอย่างร้านอาหารบางแห่ง เช่น ร้านลา หม่า เรสเตอรองต์ ในเมืองเหอเฟย ประเทศจีน สามารถเปิดบริการอีกครั้งตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งทางร้านยังคงมีมาตรการคุมเข้มและขอวัดอุณหภูมิของลูกค้าอย่างสมํ่าเสมอ และทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายในร้านทุกๆ 2-3 ชั่วโมง และที่ชัดเจนยิ่งกว่าคือยอดขายของทางร้านหายไปถึง 50% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนจะเกิดโรคระบาด บางวันมีลูกค้าเข้าร้านเพียงกว่า 10 คน แต่พนักงานของร้านอย่างน้อย 2 ใน 3 ของทั้งหมด ยังคงต้องเข้าร้าน

3 สิ่งที่แปลกใหม่และจะไม่เหมือนเดิมในธุรกิจร้านอาหาร

3

ภาพจาก bit.ly/2Tk29sT

1. บรรยากาศในร้าน

อันนี้ชัดเจนว่าคนมาทานอาหารที่ร้านต้องการบรรยากาศเป็นอันดับแรก สมัยก่อนร้านหมูกระทะมากินกันเป็นหมู่คณะ หรือร้านอาหารเข้ามาในร้านก็ครึกครื้น โต๊ะตั้งเรียงราย กลิ่นอาหารตลบอบอวน แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาด สิ่งที่เห็นต่อจากนี้คือ จำนวนโต๊ะที่ต้องห่างกัน ทำให้รับลูกค้าได้น้อยลง รวมถึงบางแห่งต้องมีฉากกั้นระหว่างการรับประทานอาหาร และแม้แต่ร้านบาร์บีคิว ชาบู หมูกระทะ ร้านบุฟเฟ่ต์ ก็สามารถนั่งทานได้ครั้งละไม่เกิน 2 คน ซึ่งบรรยากาศแบบนี้ไม่เอื้อประโยชน์ต่อร้านอาหาร แม้จะกลับมาขายได้แต่ก็ไม่อาจสร้างยอดขายที่ดีได้เหมือนเดิม

2

ภาพจาก bit.ly/2TgBmxK

2. ความกังวลเรื่องความสะอาด

เมื่อก่อนเข้าร้านอาหารเชื่อว่าเราไม่เคยคิดถึงเรื่องความสะอาดกันมากนัก ด้วยเชื่อมั่นเชื่อใจหลายคนเป็นลูกค้าประจำกันมานานก็ยิ่งเชื่อใจกันหนักไปอีก นับแต่มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น ความรู้สึกนี้จะเปลี่ยนไปสิ้นเชิง แม้แต่คนใกล้ตัวยังระแวงกันเองว่าติดเชื้อมาหรือเปล่า ก็เป็นโจทย์ของร้านอาหารที่ต้องสร้างความเชื่อมั่น หลายร้านก็ดำเนินการตั้งแต่ขอตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าร้าน จัดเจลล้างมือประจำโต๊ะอาหาร มีทิชชู่เปียกสำหรับฆ่าเชื้อโรค หลายร้านเพิ่มการทำความสะอาดร้านให้ถี่มากขึ้น แต่อย่างไรก็ดีแม้จะพยายามดำเนินมาตรการต่างๆ แต่นี่คือเรื่องของความเชื่อมั่นไม่แน่ใจของคนในยุคนี้ที่อาจมีผลกระทบทำให้เขาไม่อยากเข้าร้านอาหาร

1

ภาพจาก bit.ly/3fZOAsd

3. เคยชินกับการสั่งอาหาร Delivery

นับเป็นเวลานานที่คนส่วนใหญ่ต้องปรับพฤติกรรมจากมาตรการคุมเข้ม หลายคนต้องอยู่กับบ้านมากขึ้น ทานข้าวที่ร้านอาหารน้อยลง อยากกินอะไรก็สั่ง Delivery จากที่เคยทำเป็นชั่วครั้งชั่วคราว พฤติกรรมเหล่านี้ก็กลายเป็นพฤติกรรมถาวร หลายคนเริ่มที่จะติดใจและมองว่าสะดวกสบายกว่าการออกจากบ้าน เจอรถติด ไปรออาหารที่โต๊ะนานๆ สู้สั่งมากินที่บ้านไม่ต้องออกไหน ก็อิ่มอร่อยได้เหมือนกัน นี่คือแนวคิดที่เป็นผลร้ายทางอ้อมต่อร้านอาหาร แม้ว่าบางร้านจะปรับมาสู่บริการ Delivery มากขึ้นแต่ถ้าเลือกได้ก็อยากให้ลูกค้ามาทานที่ร้านมากกว่าเพราะต้นทุนที่ร้านอาหารจะเสียน้อยกว่า

ทิศทางหนึ่งที่เป็นไปได้ของร้านอาหารในอนาคตคือ Ghost Kitchen หรือการรักษา “ครัว” เอาไว้ แต่เน้นทำอาหารเพื่อส่งเดลิเวอรีเป็นหลักแทนการให้นั่งกินในร้าน ลูกค้าอาจยังอยากกินอาหารร้านชื่อดังอยู่เหมือนเดิม แต่ไม่อยากนั่งกินในร้านอีกแล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องปรับคือเรื่องสภาพพื้นที่ของร้าน อาจต้องลดพื้นที่นั่งกินในร้านลง ขยายพื้นที่ครัว หรือเพิ่มจุดจอดรถสำหรับเดลิเวอรีด้วย

และหากร้านอาหารจำนวนมากต้องปิดตัวลงไปในช่วงการระบาดของ COVID-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแค่เจ้าของร้าน และลูกจ้างของร้านอาหารเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น วัตถุดิบ ขนส่ง รวมถึงบริการสนับสนุนร้านอาหาร อย่างบริการทำความสะอาด ฉีดพ่นยา ซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ในร้านอาหารด้วย

ปัญหาหลักของธุรกิจร้านอาหารในตอนนี้คือ “ขาดแคลนเงินทุน” เพราะรายได้หดหาย แต่รายจ่ายไม่ได้หายตามไปด้วย ทั้งค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าที่ ค่าวัตถุดิบ ฯลฯ ถึงแม้รัฐบาลออกมาตรการ “ซอฟต์โลน” หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 1.5 แสนล้านบาท (ไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท, ดอกเบี้ย 2% เป็นเวลานาน 2 ปี) มาแล้ว ผ่านช่องทางธนาคารของรัฐอย่าง SME Bank และธนาคารออมสิน แต่กว่าเงินกู้จะเริ่มไหลเข้ามาในระบบก็อาจไม่ทันการณ์ อีกทั้งยังเป็นการช่วยประคองตัวในระยะสั้น เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนเท่านั้น


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล
https://bit.ly/35SpdUy , https://bit.ly/2TgnJP9 , https://bit.ly/3fPCLoH

อ่านบทความเพิ่มเติม https://bit.ly/2TrhiZo

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด