รวมภาษีที่คนทำแฟรนไชส์ต้องจ่าย!
เป็นธรรมดาของการทำธุรกิจที่จำเป็นต้องมี การจ่ายภาษี ไม่เว้นแม้แต่คนทำธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งบางคนลงทุนซื้อแฟรนไชส์มาก็เข้าใจว่าเราไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษี แต่ในความเป็นจริง หากเข้ากฎเกณฑ์เงื่อนไข ไม่ว่าเราจะเป็นเจ้าของแฟรนไชส์หรือซื้อแฟรนไชส์มาอีกทีก็ต้องจ่ายภาษีไม่มีข้อยกเว้น
www.ThaiSMEsCenter.com ได้รวบรวมภาษีที่คนทำแฟรนไชส์ต้องรู้จัก และต้องจ่าย มานำเสนอให้ศึกษา และจะได้เตรียมตัวถูกต้องว่าเราต้องจ่ายภาษีแบบไหน อย่างไรกันบ้าง จะได้ไม่ต้องมาถูกปรับในภายหลัง
1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ภาพจาก www.freepik.com/
ในกรณีที่สาขาแฟรนไชส์เป็นร้านขนาดเล็ก ไม่ได้จดทะเบียนธุรกิจ ภาษีที่ต้องจ่ายให้สรรพากรคือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยมีการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาในอัตราร้อยละ 60 ของรายได้ ในส่วนที่เหลือร้อยละ 40 จะต้องนำมาคำนวณเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า ร้อยละ 5-35 โดยจะมีการยื่นขอเสียภาษีเงินได้ปีละ 2 ครั้ง คือ ครึ่งปีแรกยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 สำหรับเงินได้ที่เกิดในเดือนกรกฏาคม – มิถุนายน จะต้องยื่นแบบภายในเดือนกันยายน และครึ่งปีหลังต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยคำนวณภาษีเงินได้ตลอดทั้งปี หักด้วยยอดภาษีที่จ่ายครึ่งปีแรก จะได้มูลค่าภาษีที่จะต้องจ่ายในครึ่งปีหลัง
2.ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาพจาก www.freepik.com/
ในกรณีที่แฟรนไชส์ดำเนินธุรกิจในลักษณะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับสรรพากรในอัตราร้อยละ 20 ทุกปี โดยฐานภาษีคำนวณจากกำไรสุทธิ ซึ่งจะมีการยื่นปีละ 2 ครั้ง คือรอบครึ่งบัญชีแรก ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 สำหรับเงินได้ในช่วง 6 เดือนแรก โดยจะต้องยื่นแบบภายใน 2 เดือนนับจากวันที่ครบรอบ 6 เดือน ในส่วนครึ่งปีหลัง ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับเงินได้ในช่วง 6 เดือนหลัง หรือตั้งแต่เดือนที่ 7-12 จะต้องยื่นแบบภายใน 120 วันหลังจากปิดบัญชี โดยคำนวณภาษีเงินได้ตลอดทั้งปี หักด้วยยอดภาษีที่จ่ายในครึ่งปีบัญชีแรกจะได้มูลค่าภาษีที่จะต้องจ่ายในครึ่งปีหลัง
3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ภาพจาก www.freepik.com/
หากมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 1,800,000 บาทขึ้นไป จะต้องมีการจดทำเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 7 ซึ่งภาษีที่จะต้องนำส่งกรมสรรพากร คือมูลค่าส่วนต่างของภาษีซื้อและภาษีขาย หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ร้านค้าจะต้องนำส่งเงินส่วนต่างค่าภาษีให้กับกรมสรรพากร แต่ถ้าภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย เราสามารถจะเลือกได้ว่าจะขอคืนหรือเก็บไว้หักยอดภาษีในครั้งหน้า โดยต้องยื่นแบบ ภพ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปเพื่อรายงานมูลค่าภาษีซื้อ – ภาษีขายในแต่ละเดือน หากยื่นหลังวันที่ 15 ของเดือน จะต้องจ่ายค่าเบี้ยปรับเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
4.ภาษีป้าย
ภาพจาก www.freepik.com/
หากร้านแฟรนไชส์ของเราเป็นอาคารพาณิชย์หรือมีการทำป้ายชื่อร้าน โดยมีการแสดงชื่อ ยี่ห้อ โลโก้ เครื่องหมายการค้าในเชิงพาณิชย์ เราจะต้องชำระค่าภาษีป้ายให้กับสำนักงานเขตในพื้นที่นั้นๆ หรือเทศบาลทุกปี โดยค่าภาษีจะคิดจากภาษาที่ใช้และขนาดของป้าย ยกเว้นป้ายที่มีล้อเลื่อน หรือป้ายที่จัดทำขึ้นเป็นครั้งคราว โดยจะต้องยื่นแบบ ภ.ป.10 ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคมของทุกปี หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท
5.ภาษีศุลกากร
ภาพจาก www.freepik.com/
หากมีการนำวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือในการประกอบธุรกิจเข้ามาจากต่างประเทศ เจ้าของแฟรนไชส์มีหน้าที่ ต้องยื่นใบขนสินค้าขาเข้า โดยการลงทะเบียนเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ แบบไร้เอกสาร (Paperless) โดยลงทะเบียนเฉพาะครั้งแรกเท่านั้น และควรศึกษาเรื่องพิกัดอัตราภาษีศุลกากรเพิ่มเติม ตามแต่ละประเภทของสินค้าที่นำเข้า
เอกสารในการจ่ายภาษีเป็นสิ่งที่ต้องเก็บไว้ให้ดีเพื่อยืนยันว่าเราได้มีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรรอบคอบในการตรวจสอบข้อมูลใบกำกับภาษี ทั้งชื่อผู้ขาย ผู้ซื้อ ที่อยู่ หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และอีกเรื่องที่ต้องใส่ใจคือเอกสารทางบัญชีในการจ่ายภาษีต้องเก็บไว้อย่างน้อย 10 ปี จากเดิมที่กฏหมายกำหนดให้ต้องเก็บเอกสารทางบัญชีไว้อย่างน้อย 5 ปี จึงจะสามารถทำลายได้ แต่ปัจจุบันได้เพิ่มเป็น 10 ปี เผื่อมีการเรียกตรวจสอบย้อนหลังจากกรมสรรพากร จะต้องมีเอกสารและข้อมูลต่างๆ พร้อมชี้แจง
ท่านใดสนใจอยากให้ร่างสัญญาแฟรนไชส์โดยถูกต้องตามหลักกฎหมายแจ้งความประสงค์ได้ที่
โทร : 02-1019187, Line : @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3dH6xgo , https://bit.ly/3ku03mN
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3c4k1QW