รวมข้อดี-ข้อเสีย การจัดตั้งธุรกิจในแต่ละรูปแบบ
สิ่งที่ควรรู้ก่อนคิดจะสร้างธุรกิจของตัวเองคือ “รูปแบบของธุรกิจ” ที่แต่ละแบบล้วนมีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกันออกไปการจะเลือกว่าควรจัดตั้งธุรกิจแบบไหนขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของกิจการนั้น ๆ โดยดูจากเรื่องธุรกิจที่ทำ, แนวทางการบริหาร, เงินทุน และทรัพยากรที่มี ซึ่ง www.ThaiSMEsCenter.com ได้รวบรวมข้อมูลให้คนที่สนใจได้ศึกษาว่าธุรกิจแต่ละประเภทเป็นแบบไหนอย่างไรและมีจุดเด่น ข้อเสียอะไรบ้าง
1.ธุรกิจเจ้าของคนเดียว
กิจการเจ้าของคนเดียว (Sole or Single Proprietorship) เป็นการประกอบธุรกิจที่บุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของกิจการ และบริหารจัดการธุรกิจทุกเรื่องด้วยตนเอง การประกอบธุรกิจในรูปแบบนี้จะใช้ต้นทุนต่ำ มีวิธีการดำเนินงานที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก การบริหารจัดการต่างๆ มีความคล่องตัวสูง และเป็นธุรกิจที่สามารถพบเห็นในชีวิตประจำวันมากที่สุด เช่น หาบเร่ แผงลอย ร้านขายของชำ ร้านเสริมสวย ร้านขายเสื้อผ้า เป็นต้น
ข้อดี
- จัดตั้งง่าย ใช้เงินน้อย
- เจ้าของกิจการมีอำนาจตัดสินใจโดยตรง
- กำไรอยู่ที่เจ้าของทั้งหมด
- ข้อบังคับกฎหมายน้อย
- เลิกกิจการง่าย
ข้อเสีย
- เงินทุนมีจำกัด
- หากมีหนี้สิน เจ้าของกิจการรับผิดชอบเพียงคนเดียว
- เสียประโยชน์ด้านภาษี เนื่องจากรายได้จะต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษี
- ระดมทุนได้ยาก
- กิจการมีอายุจำกัด โดยจะคงอยู่เมื่อเจ้าของมีชีวิตอยู่
2.ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน
ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนหรือที่นิยมเรียกกันว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญ” คือ การตกลงทำกิจการร่วมกันระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 บุคคลขึ้นไป โดยเกิดจากความสมัครใจของบุคคลที่จะดำเนินธุรกิจร่วมกัน มีการตกลงได้เสียร่วมกัน โดยอาจมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่มีก็ได้ แต่จะต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาลงหุ้น เช่น เงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงาน
โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำกำไรมาแบ่งร่วมกัน มีข้อดีคือจัดตั้งได้ง่ายและมีความเสี่ยงน้อยกว่าการประกอบกิจการแบบคนเดียว เพราะมีหุ้นส่วนช่วยแบ่งเบาภาระ ซึ่งห้างหุ้นส่วนประเภทนี้ กฎหมายไม่ได้บังคับให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จึงมีฐานะเป็นบุคคลธรรมดา ทั้งนี้ หุ้นส่วนกับห้างหุ้นส่วนจะไม่แยกจากกัน ดังนั้น หุ้นส่วนทุกคนต้องช่วยกันรับผิดชอบหนี้สินอย่างไม่จำกัดและเจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องบุคคลใดก็ได้
ข้อดี
- มีแหล่งเงินทุนมากกว่ากิจการคนเดียว
- ความเสี่ยงน้อย เพราะมีผู้มาร่วมบริหารความเสี่ยง
- จัดตั้งง่าย เลิกกิจการง่าย
ข้อเสีย
- ระดมทุนได้เฉพาะผู้ถือหุ้นส่วน
- มีอายุจำกัด หากหุ้นส่วนถอนตัว หรือเสียชีวิตลง
- เสียภาษีซ้ำซ้อน นอกจากจะต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดาแล้ว ห้างฯ ยังต้องแบ่งกำไรให้กับหุ้นส่วนแล้วนำไปเสียภาษีบุคคลธรรมดาอีกต่อหนึ่ง
- หุ้นส่วนต้องรับผิดชอบหนี้สินของห้างฯ อย่างไม่จำกัด
3.ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล (จดทะเบียน) เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียน
ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน คือ ห้างหุ้นส่วนที่มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและมีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” เป็นรูปแบบของห้างหุ้นส่วนที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนเป็นหุ้นส่วนชนิดที่ “ไม่จำกัดความรับผิดชอบ” ซึ่งหมายถึงหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดในหนี้สินทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวนในกรณีห้างหุ้นส่วนมีหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการ และผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิดำเนินกิจการในนามห้างหุ้นส่วนได้อย่างเท่าเทียมกัน
ข้อดี
- มีแหล่งเงินทุนมากกว่าเจ้าของกิจการคนเดียว
- ความเสี่ยงน้อย เพราะมีผู้ร่วมเฉลี่ยความเสี่ยง
- จัดตั้งง่าย เลิกกิจการง่าย
- มีความน่าเชื่อถือกว่าห้างหุ้นส่วนสามัญ
- ได้ประโยชน์ทางภาษีมากกว่าห้างหุ้นส่วนสามัญ
ข้อเสีย
- ผู้ถือหุ้นต้องรับภาระหนี้สินของห้างฯ อย่างไม่จำกัด
- มีอายุจำกัด ความเป็นห้างสิ้นสุดลงเมื่อหุ้นส่วนถอนตัว หรือเสียชีวิต
4.ห้างหุ้นส่วนจำกัด
ห้างหุ้นส่วนจำกัด (Limited Partnership) เป็นรูปแบบห้างหุ้นส่วนที่จะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จึงมีผลทำให้กิจการนั้นเสมือนเป็นบุคคล และมีสิทธิดำเนินการต่างๆตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดชอบ และหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดชอบ
ข้อดี
- ผู้ลงทุนที่เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดชอบมีความเสี่ยงต่ำ ไม่ต้องรับผิดชอบมากกว่าส่วนที่ตนลงทุน
- มีแหล่งเงินทุนมากกว่าเจ้าของคนเดียว
- จัดตั้งง่าย เลิกกิจการง่าย
- ได้ประโยชน์ทางภาษีมากกว่าห้างหุ้นส่วนสามัญ เนื่องจากการเสียภาษีนิติบุคคลสามารถหักค่าใช้จ่าย
- มีความเสี่ยงน้อยลง เพราะมีผู้ร่วมบริหารเสี่ยง
ข้อเสีย
- ขั้นตอนการจัดตั้งยุ่งยาก
- มีค่าใช้จ่ายการบริหารงานสูง
- ยกเลิกกิจการได้ยาก เพราะต้องมีการชำระบัญชี และจัดการให้ถูกต้องตามกฎหมาย
- ต้องทำบัญชี และจัดส่งงบดุล
5.บริษัทจำกัด
บริษัทจำกัด (Corporation) เป็นการประกอบการที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จัดตั้งเพื่อวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรจากกิจการ ซึ่งจะแบ่งทุนออกเป็นหุ้นที่มีมูลค่าหุ้นละเท่าๆกัน และมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 100 คน โดยผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะมีความรับผิดชอบจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ถืออยู่
ในปัจจุบันประเทศไทยแบ่งบริษัทจำกัดออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ บริษัทเอกชน จำกัด (แบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่าๆกัน โดยมีผู้ถือหุ้นไม่เกิน 100 คน) และ บริษัทมหาชนจำกัด (จัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน ซึ่งถือหุ้นตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป โดยผู้ถือหุ้นมีความรับผิดชอบจำกัดไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ต้องชำระ)
ข้อดี
- มีความน่าเชื่อถือ
- ผู้ถือหุ้นไม่จำเป็นต้องบริหารเอง
- ระดมเงินทุนได้มาก
- ผู้ถือหุ้นมีความรับผิดชอบในหนี้สินของกิจการเพียงมูลค่าที่ตนยังค้างชำระเท่านั้น เจ้าหนี้ไม่สามารถยึดทรัพย์ส่วนตัวของผู้ถือหุ้นได้
- ขาย หรือโอนหุ้นให้กับผู้อื่นได้
- บริษัทยังดำเนินกิจการต่อไปได้ แม้ผู้ถือหุ้นจะเสียชีวิตหรือล้มละลาย
ข้อเสีย
- ขั้นตอนจัดตั้งยุ่งยาก
- ค่าใช้จ่ายบริหารสูง
- ยกเลิกกิจการได้ยากต้องมีการชำระบัญชี และจัดการให้ถูกต้องตามกฎหมาย
- ต้องจัดทำบัญชี จัดส่งงบดุล
นอกจากนี้ยังมี การจัดตั้งธุรกิจ ในรูปแบบสหกรณ์ (Cooperative) ซึ่งมีคณะบุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ที่มีอาชีพความต้องการ ความสนใจที่คล้ายคลึงร่วมกันจัดตั้งขึ้น และจดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติ สหกรณ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพ การครองชีพของสมาชิกและครอบครัวให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
การจัดตั้งธุรกิจ ในรูปแบบรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise) รัฐวิสาหกิจ เป็นองค์กรของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐบาลเป็นเจ้าของ รวมทั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมีหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 มีระบบการบริหารงานอยู่ระหว่างราชการและเอกชน โดยคำนึงถึงหลักสำคัญทางการบริหารให้เป็นไปตามขั้นตอน เพื่อป้องกันการทุจริต ตลอดจนความสงบสุขของประชาชนในประเทศเป็นหลักสำคัญ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/335phDi
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3cFqwOI