รวม 12 แอพส่งอาหาร ยอดฮิตในไทย
จากผลสำรวจของ Home Delivery/Takeaway In Thailand จากยูโรมอนิเตอร์ฯ ระบุว่าธุรกิจเดลิเวอรี่/เทคอะเวย์อาหารมีมูลค่าสูงถึง 26,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นมาจากปี 2560 ที่ผ่านมา
และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในปีต่อๆไป ซึ่งรูปแบบFood Delivery ความจริงมีมานานร้านอาหารหลายแห่งมีบริการจัดส่งอาหารให้ลูกค้าเพียงแต่ยังไม่ได้พัฒนาของขนาดกลายมาเป็นธุรกิจเหมือนในปัจจุบัน
ระยะเวลาประมาณ 5 ปีที่ผ่านมาที่เราเริ่มรู้จักกับสมาร์ทโฟน มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นมาเพื่ออำนวยความสะดวกมากขึ้น เป็นจุดเริ่มของธุรกิจ Food Delivery ที่ไม่ใช่แค่ส่วนหนึ่งของการตลาดในร้านอาหารแต่มีหลายแบรนด์กระโดดเข้ามาลุยตลาดนี้
www.ThaiSMEsCenter.com เองมั่นใจว่า Food Delivery ยังมีทิศทางการเติบโตได้อีกมากดูได้จากธุรกิจที่เปิดตัวกันมากขึ้นและพัฒนาศักยภาพในการลงทุนให้ครอบคลุมชัดเจนที่สำคัญยิ่งมีคู่แข่งมากการต่อสู้เพื่อพัฒนาตัวเองก็ยิ่งมากผลดีก็จะอยู่ที่ผู้บริโภค เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นเราลองมาดูแอพสั่งอาหารในปัจจุบันว่าถึงตอนนี้มี
แอพไหนอย่างไรกันบ้าง
1.Line Man
ภาพจาก goo.gl/TGNbWq , goo.gl/YHf1dR
Line เป็นโปรแกรมยอดฮิตของคนยุคนี้ซึ่ง Line ก็มีการต่อยอดและแตกแขนงธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นคือ Line Man ที่นอกจากสั่งซื้ออาหาร ยังมีบริการเรียกแท็กซี่ ส่งไปรษณีย์ สั่งของจากร้านสะดวกซื้อ และแมสเซ็นเจอร์ ได้อีกด้วย
ข้อดีของ Line Man คือเราสามารถใช้ Account เดียวกับ Lineโดยไม่ต้องสมัครใหม่ และการที่ Line Man ร่วมมือกับ Wongnai ก็ช่วยให้ Line Man มีร้านอาหารในแพลตฟอร์มจำนวนมาก และทาง Wongnai ยังได้คัดเลือกร้านเด็ดมาให้เลือกทานอีกมากมายโดยค่าบริการจัดส่งเริ่มต้น 55 บาท และจะบวกเพิ่มตามระยะทางของการจัดส่ง
2.Skootar
ภาพจาก goo.gl/pEcAYN
เป็น Startup สัญชาติไทยที่พัฒนาบริการรับส่งเอกสารให้มีความทันสมัยในนามของ Skootar หลังจากที่ไอเดียนี้ได้รับการสนับสนุน Skootar ก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาตามลำดับ และมีการแตกแขนงเพิ่มประสิทธิภาพหนึ่งในนั้นคือเพิ่มบริการจัดส่งอาหาร
แต่ทั้งนี้ข้อจำกัดของ Skootar ก็ยังจัดส่งสินค้าได้เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ รวมถึงการไม่รับส่งเค้กทุกชนิด เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยค่าบริการในการจัดส่งเริ่มต้นที่ 70 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทางที่กำหนด ซึ่งคนสนใจใช้บริการสามารถเลือกใช้ได้ทั้งการผ่านแอพหรือเข้าไปที่เว็บไซต์ของ Skootar โดยตรง
3.GrabFood
ภาพจาก goo.gl/VBGrVe
GrabFood ถือเป็นแอพใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัว เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 นี้ โดยมีร้านอาหารในแพลตฟอร์มเกือบ 4,000 ร้าน ผู้ใช้สามารถเลือกสั่งอาหารจากร้านที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากจุดอยู่
เพื่อความสดและรวดเร็วในการจัดส่ง มีระบบติดตามแบบเรียลไทม์ และก่อนสั่งยังมีการคำนวณเวลาคร่าวๆ ว่าจะใช้เวลาเท่าไรเบื้องต้นผู้ใช้ต้องชำระเงินสดปลายทาง GrabFood คิดค่าจัดส่งแบบเหมาจ่ายราคา 60 บาทสำหรับทุกการใช้บริการ
4.FoodPanda
ภาพจาก goo.gl/YjpQbU
FoodPanda แต่เดิมอยู่ในนามของ Rocket Internet บริษัทจากเยอรมัน ในปี 2016 Rocket Internet ขาย FoodPanda ให้กับบริษัทคู่แข่งอย่าง Delivery Hero จึงถือว่า FoodPanda เป็นแอพสำหรับสั่งอาหารที่คนไทยอาจจะนิยมมากแต่ไม่ใช่ธุรกิจของคนไทยโดยตรงและเริ่มเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 3 ปีก่อน
ซึ่งก็เติบโตขึ้นเป็นลำดับ มีรายได้ต่อปีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีร้านอาหารที่อยู่ในแพลตฟอร์มมี รวมกว่า 1,000 ร้านทั่วประเทศ และโปรโมชั่นพิเศษมากมาย ที่สำคัญคือผู้ใช้สามารถติดตามสถานะการจัดส่งได้แบบเรียลไทม์คิดค่าบริการจัดส่งเริ่มต้น 40 บาททั่วกรุงเทพฯ
5.NOW
ภาพจาก goo.gl/XiW3Lo
NOW อาจเป็นแอพสั่งอาหารที่ดูจะไม่คุ้นหูสักเท่าไหร่แต่ก็ถือว่าเป็นแอพที่ไม่ธรรมดามีร้านอาหารที่เป็นพาร์ทเนอร์ในกรุงเทพฯกว่า 10,000 ร้าน จุดเด่นของ NOW อยู่ที่การแบ่งหมวดหมู่อาหารแต่ละประเภทได้อย่างลงตัว
ทั้งการแบ่งตามเขตในกรุงเทพฯ แบ่งตามประเภทอาหาร อาหารที่เหมาะกับมื้อเที่ยง อาหารมื้อประหยัด และอาหารสุขภาพ รวมถึงเลือกช่องทางการชำระเงินได้หลายแบบเช่น เงินสด ,AirPay e-Wallet และ Now Credits ค่าบริการจัดส่งเริ่มต้น 10 บาท และบวกเพิ่ม 9 บาทต่อกิโลเมตร
6.HAPPY FRESH
ภาพจาก goo.gl/VXSd3v
ถ้าเราเป็นคนเมืองชนิดที่ไลฟ์สไตล์แบบเช้าทำงานเย็นกลับบ้านหาเวลาแวะตลาดไม่ได้ต้องรู้จัก HAPPY FRESH ให้มากเข้าไว้เพราะนี่คืแอพที่รวมสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ไว้มากมาย นั้นรวมถึงอาหารแบบแกะกล่องอุ่นไมโครเวฟ
พร้อมทานทั้งจาก เทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี, Sweet & Green, Gourmet Market และ Wine Connection โดยเราสามารถติดตามการจัดส่งได้แบบเรียลไทน์ คิดค่าบริการสำหรับชั่วโมงปกติที่ 60 บาท (0-10 กม.แรก) กม.ถัดไป กิโลเมตรละ 12 บาท ส่วนชั่วโมงเร่งด่วนอยู่ที่ 80 บาท (0-10 กม.แรก) สามารถใช้งานผ่านทางเว็บไซต์หรือใช้แอพก็ได้
7.Honestbee
ภาพจาก goo.gl/zwo95u
Honestbee เป็นธุรกิจบริการจัดส่งสินค้าอาหารที่เริ่มต้นมาจากประเทศสิงคโปร์และมาขยายสาขาในประเทศไทย เริ่มเปิดตัวเมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ใช้จุดเด่นคือการจัดส่งที่รวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง (เฉพาะเขตกรุงเทพฯ)
ค่าบริการเริ่มต้นที่ 70 บาท นอกจากนี้ยังเพิ่มบริการด้วยการส่งอาหารพร้อมทานและยังมีการจัดโปรโมชั่นออกมาอย่างต่อเนื่องเช่นโปรสั่งครบ 690 บาทจัดส่งฟรี ทั้งนี้สามารถเลือกใช้งานได้ทั้งผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน
8.Ubereats
ภาพจาก goo.gl/buFKxG
เป็นธุรกิจ Food Delivery ในเครือของ Uber ที่เปิดตัวธุรกิจในฐานะแอพเรียกรถเดินทางชั้นนำ ซึ่ง UberEATS หนึ่งในการแตกไลน์ทางธุรกิจจัดส่งอาหารนี้เปิดตัวครั้งแรกในปี 2557 และให้บริการใน 57 เมืองจาก 20 ประเทศ
ซึ่งบริการที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองลำดับที่ 5 ในเอเชียต่อจาก สิงคโปร์ โตเกียว ฮ่องกง และไทเป โดยมีร้านอาหารเข้ามาร่วมกับ UberEATS มากกว่า 100 ร้าน ทั้งอาหารไทย ตั้งแต่เมนูยอดนิยมอย่างผัดไทยและข้าวเหนียวมะม่วง
ไปจนถึงอาหารจากนานาชาติ UberEATS รับทั้งเงินสดและบัตรเครดิต อย่างไรก็ตาม UberEATS นั้นยังจำกัดรัศมีร้านอาหารกับที่อยู่จัดส่ง บางครั้งจึงไม่อาจสั่งอาหารจากบางร้านได้หากไม่อยู่ในพื้นที่รัศมีที่กำหนดไว้ ซึ่งค่าส่งจะอยู่ที่ 30 บาท
9.ครัวคุณต๋อย
ภาพจาก goo.gl/9eMqmn
เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมามีการจัดแถลงข่าวความเป็นพันธมิตรกันระหว่าง Lalamove กับ ครัวคุณต๋อย รายการโทรทัศน์ชื่อดัง ในการเปิดตัวแอพพลิเคชั่นชื่อว่า “ครัวคุณต๋อย” ที่รวมเอาร้านอร่อยที่เคยออกอากาศมารวมไว้ให้ลูกค้าที่กำลังมองหาของอร่อยได้สั่งไปทานกัน
โดยได้ร่วมมือกับผู้นำด้านการจัดส่งอาหารในประเทศไทยอย่าง “ลาล่ามูฟ” มาเป็นผู้บริการจัดส่งความอร่อยนี้ไปยังลูกค้าอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ในตลาด Food Delivery ที่หลายคนน่าจะนิยมอยู่ไม่น้อย
10.EatRanger
ภาพจาก goo.gl/ffpwZq
EatRanger แอพบริการสั่งอาหารและเครื่องดื่มที่เปิดตัวเมื่อปลายปี 2559 จากชื่อเดิมคือ DropDrink เป็น eatRanger โดยเปิดให้บริการในเขตจังหวัดกรุงเทพฯ นครราชสีมา และขอนแก่น
รวบรวบเมนูความอร่อยมาให้เลือกกว่า 10,000 เมนู จากร้านค้าชื่อดังมากมายกว่า 500 ร้าน โดยลูกค้าเพียงแค่เปิด Eat Ranger App ขึ้นมา ค้นหาร้านค้าและคลิกเมนูที่ต้องการ อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องการจะมาส่งให้ถึงที่นอกจากนี้ ยังมีระบบ Pickup Order ที่ให้เราสามารถกดสั่งไว้ล่วงหน้าและไปรับที่ร้านได้ทันทีอีกด้วย
11.Ginja
ภาพจาก goo.gl/kfNgP4
Ginja เป็นบริการสั่งอาหารใช้ได้เฉพาะการผ่านเว็บไซต์แต่ก็ถือว่าใช้งานได้ง่ายและสะดวกมาก โดยจะมีร้านอาหารและเครื่องดื่มให้เลือกได้หลากหลายมาก เพียงเราระบุตำแหน่ง ก็จะมีปุ่มแสดงร้านอาหารที่อยู่ใกล้เคียงขึ้นมาให้เราเลือกเมนูต่าง ๆ ได้เลย
หรือเข้าไปสั่งใน Facebook ก็จะง่ายและสะดวกเช่นกัน ส่วนค่าบริการนั้นเราสามารถจ่ายได้ด้วยเงินสดและบัตรเครดิต ค่าจัดส่ง 59 บาท ส่วนค่าบริการคิดเป็น 4.9% ของค่าอาหารและเครื่องดื่ม
12.Zabdelivery.com
ภาพจาก zabdelivery.com
Zabdelivery.com เป็นผู้ให้บริการรับส่งอาหาร Food delivery เว็บซื้ออาหารออนไลน์ มอบความอร่อยสู่ลูกค้าได้เพียงปลายนิ้วคลิ๊ก รวมถึงสามารถสั่งอาหารผ่านมือถือ ได้สะดวกอย่างง่ายดาย พร้อมทีมงานจัดส่งอาหาร กระจายทั่วกรุงเทพและปริมณฑล พร้อมกันนี้ยังเปิดโอกาสให้ร้านอาหารลงประกาศขายฟรี และมีระบบเว็บขายอาหารออนไลน์ เพิ่มช่องทางของคนอยากมีร้านอาหารแต่ไม่มีทำเลให้เริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายดายขึ้นอีกด้วย
เราจะสังเกตได้ว่า Food delivery เป็นอีกหนึ่งการทำธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต แต่การเริ่มต้นธุรกิจนี้จำเป็นต้องมีพื้นฐานที่ดีร่วมด้วย หลายธุรกิจเติบโตมาจากการที่มีฐานลูกค้าตัวเองและมาต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ทำให้เกิดอำนาจต่อรองกับร้านอาหารและดึงดูดร้านอาหารให้เข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอได้
ซึ่งนอกจาก Food delivery ที่กล่าวมานี่แล้วยังมีอีกหลายแอพที่เป็นบริการจัดส่งอาหารแต่จำกัดเฉพาะพื้นที่เช่น Dr.Food Delivery ที่ให้บริการเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสงขลา ดังนั้นใครที่คิดจะกระโดดมาในธุรกิจนี้ต้องศึกษาแนวทางให้ดีเพราะหากพื้นฐานไม่แน่นก็ยากที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3jIdzkO