มีเหนื่อย! พ่อค้าแม่ค้าตลาดนัด ปี 2020

คิดอะไรไม่ออก! เบื่องานประจำ! ไม่มีอะไรทำ! ก็เลือกมาเป็นพ่อค้าแม่ค้า ในยุคสมัยหนึ่งอาชีพพ่อค้าแม่ค้าเคยบูมมาก ยิ่งเศรษฐกิจดีคนมีกำลังซื้อ คนขายของสนุกมากขายมือเป็นระวิงกำไรต่อวันกว่า 1,000 บาท บางคนขายของเดือนเดียวรายได้ดีกว่าทำงานประจำ แต่นั่นคือเรื่องในอดีตที่ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

สิ่งที่เห็นในยุคนี้คือเศรษฐกิจไม่ดีก็ส่วนหนึ่ง พ่อค้าแม่ค้ามีเยอะ บางทีตลาดพ่อค้าแม่ค้าเยอะกว่าคนซื้อซะอีก ไหนจะเรื่องตลาดออนไลน์ที่เข้ามาแทรกทำให้การขายของตามตลาดนัดนั้นยากยิ่งขึ้น www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าการเป็นพ่อค้าแม่ค้าในยุคนี้ “เหนื่อยสุดๆ”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 พบว่าชะลอตัวลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี อยู่ที่ร้อยละ 2.3 (ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี) ส่งผลให้ครึ่งปีแรก GDP ไทยขยายตัวร้อยละ 2.6 จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ในขณะที่การใช้จ่ายครัวเรือนยังสามารถเป็นแรงหนุนต่อเศรษฐกิจได้แม้ว่าจะชะลอตัวลงบ้างก็ตาม

สอดคล้องกับความเป็นจริงที่มองเห็นได้ด้วยตาคนบ่นกันอุบ ว่ารายได้ไม่ดี มีแต่รายจ่าย พ่อค้าแม่ค้าก็พูดไม่ต่างกันว่าตลาดมีแต่คนเดินไม่มีคนซื้อ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่นที่ตลาดสดเทศบาลเมืองพะเยาซึ่งหลายปีก่อนเศรษฐกิจคึกคัก มาก

แต่ปัจจุบันตลาดเงียบยิ่งกว่าป่าช้า พ่อค้าแม่ค้าบอกว่าขายสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค วันละไม่ถึง 100 บาท จากปกติขายวันละ 1,000 กว่าบาทแม่ค้าหลายรายต้องนั่งเล่นโทรศัพท์และนั่งหลับกัน รอคอยว่าจะมีลูกค้ามาชื้อไหม

พ่อค้าแม่ค้าตลาดนัด

ภาพจาก bit.ly/2miK5Sp

หรือจะเป็นข่าวของตลาดสำเพ็งที่มีรายงานว่าสภาพการค้าในสำเพ็งเงียบเหงาลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ 3-4 ปีที่ผ่านมา และตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบัน ถือว่าเงียบเหงามากที่สุด หลายร้านที่ต้นทุนไม่มากพอต้องทยอยปิดตัวเพราะสู้ค่าเช่าไม่ไหว

โดยค่าเช่าที่สำเพ็งถือว่าสูงมาก บางทีถึงหลักแสนบาทต่อเดือน ส่วนคนที่ไม่ต้องเช่าพื้นที่แต่มีหน้าร้านของตัวเองก็บอกว่ารายได้หดหายไปกว่า 70% ต้องหาทางออกด้วยการไปขายของออนไลน์เพื่อประคองตัวในยุคนี้

แม้กระทั่งในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา ภาพสะท้อนความเงียบเหงาของตลาดที่พ่อค้าแม่ค้าในตลาดแม่กิมเฮง เทศบาลนครราชสีมายังบ่นกันว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ทำให้ลูกค้าเลือกซื้อเครื่องไหว้น้อยลง ยอดขายลดลงกว่า 15% ขณะที่แผงขายผลไม้ และแผงขายเป็ดพะโล้ บรรยากาศก็เงียบเหงาเช่นกัน

สิ่งเหล่านี้สะท้อนความ “เหนื่อย” ที่ชัดเจนของพ่อค้าแม่ค้าว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะขายดีมีกำไรเหมือนแต่ก่อน

อย่างไรก็ดีคงไม่ใช่ทางออกที่ดีถ้าเอาแต่บ่นและโทษโน่นนี่นั่น ในเมื่อหลีกเลี่ยงกับปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซาไม่ได้ พ่อค้าแม่ค้าก็ต้องหาวิธีแก้ไข จะได้ “ลดความเหนื่อย” ให้น้อยลง และจะได้เป็นการเพิ่มยอดขายให้มากขึ้นด้วย

7 วิธีขายของให้มีกำไรมากขึ้น พ่อค้าแม่ค้า “เหนื่อย” น้อยลง

10

ภาพจาก bit.ly/2mfOOnU

ถ้าเราตัดปัจจัยภายนอกออกไปและลองหันมาโฟกัสว่า “อะไรคือเหตุผลที่คนไม่ซื้อ” “อะไรคือเหตุผลที่คนไม่อยากจ่ายเงิน” และ “ต้องทำอย่างไรให้ลูกค้าอยากซื้อสินค้าเรามากขึ้น” เมื่อเราพิจารณาตัวเองเป็นหลักเราอาจจะพบทางแก้ไขได้หลายวิธี

1. สินค้าไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการ

คนยุคนี้ประหยัดในการใช้เงินมากขึ้น สินค้าอะไรก็ตามที่ไม่จำเป็น แม้จะดูน่าสนใจแต่คนส่วนใหญ่มักจะ “ไม่ซื้อ” แม้เราจะมั่นใจว่าสินค้าที่เราขายนั่นดีแสนดีแต่บางที “ผิดที่ผิดเวลา” การจับจ่ายก็ไม่เกิดขึ้น ทางที่ดีลองสำรวจพื้นที่ที่ตัวเองเปิดร้านว่าสินค้าอะไรที่ลูกค้าต้องการ อาจจะไม่ใช่แค่ อาหาร เครื่องดื่ม แต่สินค้าบางอย่างก็ความต้องการในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกันหากจับจุดความต้องการนั้นได้หาสินค้ามาขายได้ ยอดขายเราก็จะดีขึ้น

9

ภาพจาก bit.ly/2mKfb5r

2. กระจายทำเลค้าขายมากขึ้น ไม่กระจุกตัวเหมือนเดิม

พ่อค้าแม่ค้าอาจจะต้องลงทุนกับจำนวนคนที่มาช่วยในการขายของ โดยอาจจะเลือกเปิดร้านในหลายๆ ตลาดที่อาจจะดีกว่าการยึดติดอยู่กับตลาดใดตลาดหนึ่ง ที่สำคัญการขายของในหลายๆตลาดเป็นการกระจายความเสี่ยงและมีโอกาสได้พบกับลูกค้ารายใหม่ๆ มากขึ้น

8

ภาพจาก bit.ly/2miXeed

3. เพิ่มช่องทางการซื้อให้มากกว่าเดิม

สมัยนี้จะยึดติดกับการขายแบบออฟไลน์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่เวลาน้อยลง การซื้อของใช้ต่างๆ ก็เข้าสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น แม้เราจะไม่คุ้นเคยกับการขายผ่านออนไลน์แต่ในยุคนี้เราต้องศึกษาและพัฒนาเอาสินค้าของเราไปขายในตลาดออนไลน์ดูบ้าง จะช่วยเพิ่มยอดขายได้ดีขึ้นแน่นอน

7

ภาพจาก bit.ly/2lf4DLa

4. ราคาสินค้า สมเหตุสมผลกับคุณภาพ

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าคือ “ราคา” ในตลาดเดียวกัน สินค้าแบบเดียวกัน บางร้านขายดี ในขณะที่บางร้านขายไม่ได้ นั่นเพราะคนตัดสินกันที่ราคาขาย พ่อค้าแม่ค้าอาจจะแย้งว่า “ก็ต้นทุนมาแพงจะให้ขายต่ำกว่าทุนได้ยังไง” ความเป็นจริงคือใช่ แต่สิ่งที่ต้องแก้ไขคือเราจะหาวิธีลดต้นทุนเหล่านี้ได้อย่างไร ต้องลองตัดสินใจว่าจะขายของที่ราคาสูงกว่าแล้วขายไม่ได้หรือเลือกขายในราคาที่ถูกลงโดยอาจไปลดต้นทุนด้านอื่นที่ไม่กระทบคุณภาพสินค้าอาจจะทำให้ขายได้มากขึ้น

5. อย่าขายสินค้า “ตามกระแส”

การเลือกเป็นพ่อค้าแม่ค้าอะไรที่เป็นกระแสมักจะมีคนแห่ขายกันจนเกลื่อน เมื่ออุปสงค์มากกว่าอุปทาน ลูกค้าก็รู้สึกเบื่อที่จะซื้อ บางคนลงทุนสต็อกสินค้าตามกระแสมาจนมากเกินพอดี เมื่อกระแสนั้นเปลี่ยนไป สินค้าที่สต็อกมาก็ยังขายไม่ได้ สุดท้ายก็ทุนหายกำไรหด อันนี้จะไปโทษว่าเศรษฐกิจไม่ดี ก็คงไม่ได้ต้องโทษตัวเองที่ตามกระแสมากเกินไปต่างหาก

6

ภาพจาก bit.ly/2mHAaWt

6. หาจุดเด่นให้กับร้านค้า

พ่อค้าแม่ค้ายุคใหม่ต้องรู้จัก “สร้างจุดขาย” ทำอย่างไรให้คนรู้จักให้คนจำร้านเราได้ ไม่ว่าเราจะขายสินค้าแบบไหนอย่างไร การมีจุดขายที่โดดเด่นสะดุดตา จะทำให้เกิด “ภาพจำ” และเมื่อมีความต้องการในสินค้าหรือบริการก็จะนึกถึงร้านของเราเป็นอันดับแรก

5

ภาพจาก bit.ly/2kJLLUp

7. โปรโมชั่น ลดแลก แจกแถม ตามโอกาส

ทฤษฏีการตลาดบอกว่าจัดโปรโมชั่นมากไปก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดีเพราะคนจะรอแค่ช่วงโปรโมชั่นจึงจะมาซื้อสินค้าและบริการ แต่ถึงอย่างไรโปรโมชั่นก็ยังเป็นสิ่งดึงดูดลูกค้าได้เสมอ หากแต่ต้องรู้จักใช้ให้ถูกช่วงเวลา อย่าให้พร่ำเพื่อ การจัดโปรควรให้มีธีมที่ดึงดูดเช่นเทศกาลต่างๆ หรือหากเป็นช่วงเวลาพิเศษเช่นครบรอบ 1 ปี เปิดร้าน การมีโปรโมชั่นจะช่วยทำให้ร้านค้าดูมีสีสันไม่น่าเบื่อ

แต่ไม่ว่าจะกลยุทธ์แบบไหน อย่างไร การเป็นพ่อค้าแม่ค้าในยุคนี้ ก็ต้องแอคทีฟตัวเองมากกว่าเดิม ไม่ใช่คิดว่าเอาของมาวางขาย ยังไงก็ขายได้ ไม่ต้องทำอะไรยังไงเดี๋ยวก็มีคนมาซื้อ สมัยนี้คู่แข่งมาก เศรษฐกิจไม่ดี เป็นตัวแปรที่ทำให้ยอดขายไม่ได้ตามเป้า ยิ่งพ่อค้าแม่ค้าไม่สนใจกลยุทธ์การขายปล่อยไปตามใจชอบ การขายสินค้าใดก็จะยิ่งมีแต่คำว่าเหนื่อยและเหนื่อยยิ่งขึ้น

พ่อค้าแม่ค้าท่านใดสนใจเปิดร้านขายของตลาด เช่าพื้นที่ค้าขายทั่วไทย คลิก https://bit.ly/2YZvM3a


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

01

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/2FMrZOq

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด