มีเหนื่อย! ธุรกิจร้านขายของชำ ปี 2020

ร้านของชำหรือร้านโชห่วยยังไงก็ยังต้องมีอยู่คู่สังคมไม่ว่าจะเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ยุคดิจิทัลหรือเป็นยุคที่คนเห็นว่าร้านสะดวกซื้อนั้นสะดวกกว่า กระแสข่าวจากหลายทิศทางดูเหมือนจะพุ่งเป้าโจมตีว่า ค้าปลีก โชห่วย ร้านของชำ

กำลังจะสูญพันธุ์แต่ในความจริงสูญพันธุ์คงไม่ใช่แต่ยอดขายอาจจะไม่เฟื่องฟูเท่าในอดีตที่ผ่านมา www.ThaiSMEsCenter.com สรุปให้ฟังกันง่ายๆว่ายังไงงานนี้ก็ “มีเหนื่อย”

สาเหตุอะไรที่ทำให้ ร้านโชห่วยหรือร้านขายของชำ “ต้องเหนื่อย”

ธุรกิจร้านขายของชำ

ภาพจาก bit.ly/311PbRw

กระแสที่ได้ยินหนาหูช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมาคือ ร้านโชห่วย กำลังจะตาย อีกทั้งบรรดาโพลสำรวจต่างๆ ที่นิยมทำกันเป็นประจำทุกปีว่าธุรกิจไหนจะคือ “ดาวร่วง” เชื่อหรือไม่ว่าจะต้องมีธุรกิจ “ร้านโชห่วย” ติดอยู่ 1 ใน 10 เป็นประจำ เหตุผลเพราะ “ร้านโชห่วย” กำลังโดนจู่โจมทั้ง 2 ทางทางแรกคือการเติบโตของกลุ่ม Tesco Lotus และ Big C ในแพลตฟอร์ม HyperMarket ที่มีราคาขายสินค้าราคาถูกกว่าร้าน “โชห่วย”

ทางสองคือ กลุ่มร้านสะดวกซื้อ หรือ “โชห่วยติดแอร์” ที่กระจายอยู่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมี 7 eleven ที่มีสาขาทรงพลังด้วยจำนวน 10,300 สาขา ถึงภาพรวม 7 eleven ราคาสินค้าจะแพงกว่าร้านโชห่วย แต่เมื่อตอบโจทย์ความสะดวก ภาพลักษณ์ดูดีกว่าผลลัพธ์ที่ได้คือ “ลูกค้าเข้าร้านจำนวนมหาศาล”

10

ภาพจาก bit.ly/2nysc2U

ย้อนลึกลงไปอีกหลังวิกฤติการณ์เศรษฐกิจปี 2540 บริษัทต่างชาติไหลเข้ามาประกอบกิจการค้าปลีกในประเทศไทย และมีการขยายสาขาเพิ่มมากขึ้นจนบางครั้งแทบจะกลายเป็นการผูกขาดตลาดค้าปลีก

บรรดาร้านของชำหรือโชห่วยต่างได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ไปตามๆกัน แม้จะมีความพยายามของภาครัฐในปี 2545 ที่กระทรวงพาณิชย์จัดตั้งบริษัท รวมค้าปลีกเข้มแข็งจำกัด (ART) เพื่อสร้างพลังต่อรองกับซัพพลายเออร์ แก้ปัญหา “โมเดิร์นเทรด แต่ก็ยังไม่เป็นผล

9

ภาพจาก bit.ly/2ATubSj

หรือแม้แต่ปี 2561 ที่ผ่านมาเราก็ได้ยินข่าวมาตรการหนึ่งของภาครัฐ ที่ชื่อว่า “โชห่วยไฮบริด” ที่ภาครัฐต้องการยกระดับร้านค้าชุมชนด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยบริหารจัดการด้วยการติดตั้งเครื่องรูดบัตร (อีดีซี) กว่า 20,000 จุดทั้งในร้านธงฟ้าและตามร้านโชห่วยต่างๆ แต่สุดท้ายก็ดูเหมือนว่าทุกมาตรการจะไม่ได้ทำให้ร้านขายของชำเหล่านี้ดีขึ้นมากนัก

ทำแบบไหน! อย่างไร! ร้านขายของชำจึงจะ “เหนื่อยน้อยลง”

8

ภาพจาก bit.ly/2OyKQmi

ถ้าพูดถึงบรรดาร้านโชห่วยหรือร้านของชำ ที่นิยามคำว่า โชห่วยเราจะนึกถึง ร้านคูหาเดียวหรือสองคูหา เป็นลักษณะบ้านๆ ไม่มีกระจกกั้นหน้าร้าน ชั้นวางสินค้าเป็นชั้นธรรมดาๆ ไม่ได้จัดหมวดหมู่แบบซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าประเภทนี้ทั่วประเทศมีตัวเลขคร่าวๆ ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านราย ที่ตัวเลขไม่แน่นอนเพราะโชห่วยบางรายก็ไม่ได้จดทะเบียน

หากจะถามว่า “จุดเปลี่ยน” ที่ทำให้ “ร้านโชห่วยหรือร้านขายของชำ” ทำกำไรแซงหน้าค้าปลีกแบบสะดวกซื้อหรือโมเดิร์นเทรด คงต้องบอกเลยว่าเป็นไปได้ยาก แต่วิธีการที่จะทำให้ร้านขายของชำมีกำไรได้สูงสุดมากขึ้น ก็พอมีทางเป็นไปได้อยู่

1. ทำบัญชี สต็อกสินค้า

ในการทำบัญชีนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเลยในการเปิดร้านขายของชำ เนื่องจากเงินที่สต็อกสินค้าทั้งหมดนั้น จะต้องนำกลับมาหมุนสต็อกสินค้าอยู่แบบนั้นไปเรื่อยๆ จะต้องแบ่งรายรับ รายจ่ายให้ชัดเจนเพื่อที่จะได้รู้ว่านำเงินไปใช้อะไรบ้าง

2. จัดระเบียบสินค้า ชั้นวาง หน้าร้าน

การจัดร้านนับว่าเป็นจุดดึงดูดที่สุด จะดีมากหากเป็นร้านที่เป็นห้องกระจก เนื่องจากร้านขายของชำจะอยู่ติดถนนที่มีผู้คนสัญจรอยู่ตลอด สินค้าของเราก็จะเต็มไปด้วยฝุ่น และเทคนิคที่ดีในการจัดร้านคือ ควรจัดโซนสินค้าให้เป็นระเบียบ ชั้นวางสินค้ามองเห็นได้ชัดเจน ตู้แช่เครื่องดื่มอยู่ในโซนเดียวกัน และนำสินค้าที่ขายดีไว้ด้านในสุดของร้านเพื่อให้ลูกค้าได้เดินผ่านและเห็นสินค้าอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้มีโอกาสที่ลูกค้าจะอุดหนุนสินค้าอื่นๆ ด้วยนั่นเอง

3. เลือกสินค้าให้ถูก

ส่วนใหญ่แล้วทุกคนมักจะคิดว่า สินค้าใดน่าจะขายดี แล้วจะเลือกซื้อตามใจตัวเอง ซึ่งนั่นจะเป็นปัญหาสินค้าค้างสต็อกนานจนเสื่อมคุณภาพได้ เราจะต้องสังเกตว่าสินค้าประเภทใด ยี่ห้อใดที่ขายดีที่สุด ก็สต็อกสินค้านั้นมากกว่าสินค้าที่ขายไม่ค่อยออกจะดีกว่า

7

ภาพจาก bit.ly/2nvSRgP

4.ร้านค้าต้องตามกระแส

หากการเปิดร้านนั้นอยู่ในพื้นที่ชุมชน แนะนำว่าสินค้าจะต้องทันกระแสทั้งสำหรับเด็กๆ และสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งเราจะต้องรู้ว่า ในช่วงเวลานั้น กระแสและเทรนด์ที่กำลังมาและกำลังจะมาในอนาคตคืออะไรการเตรียมสินค้าตามเทรนด์ก็ทำให้ร้านขายของชำของเราดูน่าสนใจยิ่งขึ้น

5. บอกราคาชัดเจน

ลูกค้าส่วนใหญ่นั้นจะชอบเลือกดูสินค้าไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ การติดป้ายราคาใช้ชัดเจน จะช่วยให้สะดวกมากขึ้น โดยที่ลูกค้าไม่ต้องสอบถามราคาเราอยู่บ่อยๆ ด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะบอกว่าเลียนแบบมาจากร้านสะดวกซื้อก็ได้เพราะถือเป็นจุดแข็งที่น่าเอามาเป็นแบบอย่าง

6. จัดโปรโมชั่นตามสมควร

การจัดโปรโมชั่นของร้านนั้น สามารถดึงดูดลูกค้าได้อย่างมาก อาจจะมีการลด แลก แจก แถม หรือจับสลากลุ้นโชคกัน เพื่อให้ลูกค้าได้ติดตาม หรืออุดหนุนสินค้านั้นๆ อาจจะเป็นสินค้าที่ขายไม่ค่อยออก หรือสินค้าที่เป็นกระแสอยู่ก็ได้

6

ภาพจาก bit.ly/2IAVO6V

7. ติดตามโฆษณาและอัพเดทสินค้าตามโฆษณา

ลูกค้าส่วนใหญ่นั้น มักจะตามหาสินค้าตามโฆษณา ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ หรือแม้แต่ป้ายโฆษณาต่างๆ ซึ่งเราก็ควรที่จะคอยติดตามโฆษณาอยู่ว่ามีสินค้าอะไรมาใหม่บ้าง เพื่อให้ร้านค้าของมีสินค้าใหม่ๆ อยู่เสมอ

8. บริการประทับใจ

ในทุกๆ ธุรกิจ สิ่งสำคัญที่สุดคือการบริการครับ หากเจ้าของร้านให้บริการด้วยความสุภาพ เป็นกันเอง ไม่ทำหน้าบึ้งตึง ลูกค้าก็จะประทับใจ เราต้องล้างภาพลักษณ์เจ้าของร้านที่เอาแต่ใจ จะซื้อก็ซื้อ ไม่ซื้อก็ออกไป งานบริการในยุคนี้ลูกค้ามักต้องการความเป็นส่วนตัวในการเลือกสินค้าและเจ้าของร้านต้องเข้าใจจุดนี้และยิ้มแย้มเข้าไว้

9. สินค้าเสริม เพิ่มยอดขาย

ในส่วนนี้ควรจะมีเพื่อเป็นกำไรอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งเราอาจจะมีสิ่งที่แตกต่างจากร้านค้าอื่นๆ เช่น เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ บริการชุดใส่บาตรตอนเช้า ลูกชิ้นปิ้ง ชานมไข่มุก เป็นต้น กำไรส่วนนี้จะช่วยให้เราแบ่งเก็บ แบ่งใช้ได้มากยิ่งขึ้น

5

ภาพจาก bit.ly/2LWWWnC

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนร้านขายของชำหรือร้านโชห่วยก็ต้องมีการเปลี่ยนตัวเองไปตามกระแส หากแต่รู้จักผนวกสิ่งใหม่ๆเข้ากับ Story เดิมของตัวเองที่เป็นจุดขายทั้งตำนานความเก่าแก่ รูปแบบบริการที่เป็นเหมือนคนกันเองไม่ใช่ธุรกิจจ๋าเหมือนร้านสะดวกซื้อ

ถ้าร้านของชำที่ไหนผสมผสานสิ่งเหล่านี้ได้อย่างกลมกลืนเชื่อว่าจะสู้กับร้านสะดวกซื้อหรือโมเดิร์นเทรดได้อย่างสูสี แม้จะไม่ได้มีกำไรแซงหน้าแต่ยอดขายก็ไม่ทำให้เราเหนื่อยใจได้แน่


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

อ้างอิงจาก https://bit.ly/2Z7NMuJ

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด