มีงงในดงชา ! แฟรนไชส์ ChaThai ที่คนไทยไม่ได้เป็นเจ้าของ โด่งดังสุดขีดในฟิลิปปินส์
ถ้าใครมีโอกาสไปฟิลิปปินส์และเห็นร้านเครื่องดื่มที่เขียนว่า ChaThai อย่าเพิ่งเข้าใจผิดคิดว่าคนไทยมาลงทุนเปิดร้านขายเครื่องดื่มในฟิลิปปินส์เป็นเด็ดขาด
นี่คือสิ่งที่เรียกว่าเอกลักษณ์ไทย แต่คนไทยไม่ใช่เจ้าของ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายอย่างที่คนต่างชาติเอาจุดเด่นของประเทศไทยไปต่อยอดทำธุรกิจมากมาย เห็นแล้วก็น่าเสียดายแทนคนไทยด้วยกันเอง ที่เรามีของดีใกล้ตัวมากมายแต่กลับไม่ใช้จุดเด่นที่เรามีขยายตลาดเพื่อสร้างรายได้กลับคืนสู่ประเทศให้มากขึ้น
ทั้งโลโก้ของ ChaThai ที่ใช้รูปช้าง แม้แต่ตัวหนังสือคำว่า ChaThai ทั้งสีและฟร้อนต์ก็ใกล้เคียงกับ “การบินไทย” เรียกว่างานนี้แสดงความเป็นไทยให้เห็นชัดเจน แต่สิ่งเดียวที่ไม่ใช่ไทย คือ เจ้าของแบรนด์ที่เป็นคนฟิลิปปินส์
www.ThaiSMEsCenter.com จะพาทุกท่านไปรู้จักกับ ChaThai By Farron Café ให้มากขึ้น เผื่อใครจะมีแรงบันดาลใจหรือไอเดียไปดึงเอาของดีจากต่างชาติมาพัฒนาเป็นแบรนด์ฝีมือคนไทยสวนกลับพวกต่างชาติได้บ้าง
ChaThai By Farron Café เจ้าของแบรนด์คือ คู่สามีภรรยา Ronnel Hombre และ Farwa Hombre ที่เริ่มการทำธุรกิจจากร้านอาหารสไตล์คาเฟ่ที่ชื่อ Farron Café เป็นกิจการที่เริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2010
มีรูปแบบเน้นกาแฟ อาหารว่าง ในลักษณะร้านนั่งชิลค์ สไตล์คาเฟ่ทั่วไป เน้นการขยายสาขาไปตามแนวโรงเรียน ชุมชน มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายของร้าน Farron Café
ธุรกิจ Farron Café มีการเติบโตอย่างดีมาเป็นลำดับจนถึงปี 2013 Ronnel Hombre และ Farwa Hombre เริ่มใช้การขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ พร้อมการทำตลาดด้วยการเข้าร่วมงานอีเว้นท์ต่างๆ เพื่อเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น
ปัจจุบัน Farron Café เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างดี Farron Café มีถึง 235 สาขาทั่วฟิลิปปินส์ โดยร้านสาขาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อยู่ในเมือง Ozamis ใช้พื้นที่ในการตั้งร้านกว่า 200 ตารางเมตร
และเมื่อกิจการของ Farron Café เติบโตอย่างแข็งแรง Ronnel Hombre และ Farwa Hombre ก็มีแนวคิดที่จะขยายตลาดสินค้าเครื่องดื่มรุกตลาด AEC มากขึ้น โดยมีเป้าหมายจะเจาะตลาดในอินโดนีเซียและกัมพูชา
ซึ่งด้วยจุดแข็งที่มีธุรกิจ Farron Café เป็นรากฐาน ธุรกิจตัวต่อไปที่ตั้งเป้าจะทำคือ “เครื่องดื่มชา” และก็ได้เลือกเอา “ชาไทย” ที่ได้ชื่อว่ามีเอกลักษณ์และรสชาติที่โดดเด่น เป็นที่รู้จักของคนต่างชาติอย่างดี ทั้งคู่เอา “ชาไทย” มาพัฒนาเป็นสินค้าใหม่และตั้งชื่อแบรนด์กันตรงๆ ว่า “ChaThai” ใช้สัญลักษณ์เป็นช้างไทย และใช้ฟร้อนต์ที่สีและรูปแบบตัวอักษรคล้ายกับ “การบินไทย”
จากการหาข้อมูลผ่านทาง Facebook ของ ChaThai by Farron Cafe พบว่าเริ่มสร้างเพจนี้ขึ้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2017 ซึ่งก็น่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวที่เปิดตัวขายสินค้าอย่างเป็นทางการ แต่ถ้าจะนับการเปิดตัวสู่สาธารณชนอย่างจริงจัง น่าเริ่มครั้งแรกในงาน Franchise Asia 2017 ที่จัดขึ้น ณ SMX Convention center ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นงานจัดแสดงสินค้าแฟรนไชส์ที่ใหญ่สุดในเอเชีย
และหากลองไล่เรียงใน Facebook ของ ChaThai by Farron Café พบว่า ขณะนี้มีการเปิดสาขาไปแล้ว 5 แห่ง คือ
- SM City Dasmariñas ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าอยู่ในเมือง Cavite
- SM City Cauayan ซุปเปอร์มอลล์ขนาดใหญ่ในเมือง Cauayan
- SM Center Tuguegarao Downtown
- SM Baguio ห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในเกาะลูซอน ที่อยู่ทางภาคเหนือของฟิลิปปินส์
- 888 bacolod ย่านไชน่าทาวน์ที่อยู่ในเมือง Negros Occidental ประเทศฟิลิปปินส์
และยังมีอีก 2 สาขา ที่เตรียมพร้อมจะเปิดในอนาคตอันใกล้ ได้แก่ ที่ Baliwag และ Martires จะเห็นได้ว่าการทำตลาดของ ChaThai by Farron Café เน้นการกระจายสาขาตามห้างสรรพสินค้า
ซึ่งถือเป็นแหล่งรวมผู้คนของฟิลิปปินส์และแสดงให้เห็นถึงความเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งรูปแบบสินค้าก็เน้นใช้วัตถุดิบที่เป็นชาจากประเทศไทย นำมาทำเป็นเมนูน่าสนใจต่างๆ และมีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เช่น วันปีใหม่ วันแม่ ทำให้มียอดขายที่ดีและเป็นแบรนด์ที่คนฟิลิปปินส์รู้จักเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ราคาในการลงทุนแฟรนไชส์ ChaThai by Farron Café อยู่ที่ 299,000 php หรือ ประมาณ 186,935 บาท (1 เปโซ = 0.63 บาท) พื้นที่ใช้สอยสำหรับการเปิดร้านเริ่มตั้งแต่ 4-6 ตารางเมตร
ส่วนสิทธิที่จะได้รับก็ตามกฎเกณฑ์ของแฟรนไชส์ทุกประการ คือ มีการฝึกอบรม สนับสนุนด้านการตลาด จัดส่งวัตถุดิบให้กับสาขา มีการพัฒนาเมนูใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการเก็บส่วนแบ่งยอดขายและค่าธรรมเนียมรายปี
แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ ChaThai by Farron Café เป็นแบรนด์ที่คนฟิลิปปินส์นิยมมาก จะด้วยรสชาติชาไทยที่เป็นเอกลักษณ์หรือเพราะเป็นธุรกิจของคนฟิลิปปินส์เอง แต่แน่ๆ คือ น่าเสียดายสำหรับคนไทยที่มีของดีใกล้ตัว แต่เรากลับต้องมาเสียดุลเรื่องนี้ให้กับคนต่างชาติ
ในขณะที่เราฮิตไปกับสินค้าต่างชาติ คนต่างชาติเองกลับเอาของดีเมืองไทยไปสร้างกำไรเป็นเท่าทวีคูณ หากเรื่องนี้เรายังไม่มีการปรับเปลี่ยนความคิด อีกหน่อยคงได้เห็นแบรนด์ไทยแต่เจ้าของไม่ใช่คนไทยเกิดขึ้นอีกหลายแห่งทั่วโลก
สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมาย ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก goo.gl/Da36JM, goo.gl/1d2XqR, goo.gl/ErGUxe, goo.gl/hF8KMA
อ้างอิงจาก https://bit.ly/34RhaZ8