มาแรง! “น้ำนมกัญชง” เครื่องดื่มใหม่ของสายเฮลตี้

จากที่มีการปลดล็อกกัญชงและกัญชา ให้ทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกร ภาครัฐ เอกชน ประชาชนทั่วไป สามารถขออนุญาตและนำพืชทั้งสองชนิดนี้ไปใช้ในทางการค้า การแพทย์ การศึกษาวิจัย หรือการนำไปเป็นส่วนประกอบในสินค้าต่างๆ ซึ่งแต่เดิมเรารู้กันอยู่แล้วว่า “กัญชง” คือพืชที่มีประโยชน์มาก และเมื่อมีการปลดล็อคเกิดขึ้น

www.ThaiSMEsCenter.com เชื่อว่านับแต่นี้เราจะได้เห็นค้าที่เกี่ยวกับ “กัญชง” อย่างแพร่หลายและหนึ่งในสินค้าที่ชัดเจนตอนนี้คือ “น้ำนมกัญชง” ที่ขอบอกว่าเหมาะกับคนรักสุขภาพมาก

กัญชงกับกัญชา พืช 2 ชนิดที่อยู่ตระกูลเดียวกัน

น้ำนมกัญชง

ภาพจาก zenbiotech.co.th

กัญชงและกัญชาเป็น พืช 2 ชนิดในตระกูลเดียวกัน ที่มีหน้าตาละม้ายคล้ายกัน โดยลักษณะของกัญชงจะมีลำต้นสูงกว่า 2 เมตร ปล้องหรือข้อยาว แตกกิ่งก้านน้อยและแตกกิ่งไปในทิศทางเดียวกันใบเป็นสีเขียวอมเหลือง ใบมีแฉกประมาณ 7-9 แฉกการเรียงตัวของใบค่อนข้างห่างเมื่อออกดอกจะมียางที่ช่อดอกไม่มากเมล็ดมีขนาดใหญ่และเป็นลายบ้าง ผิวเมล็ดหยาบด้าน

แต่ที่สำคัญคือ ไม่มีสารเสพติดที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเหมือนกับกัญชา โดยในหลายๆ ประเทศมีการควบคุมการเพาะปลูกให้มีสาร THC ที่เป็นตัวก่อให้เกิดอาการหลอนนั้นไม่เกิน 0.3% ยกเว้นในบางประเทศรวมถึงประเทศไทยที่มีการควบคุมค่า THC ไม่เกิน 1.0% ไม่เพียงแค่กัญชงจะมีสาร THC ที่ต่ำมากจนไม่นับว่าเป็นพืชสารเสพติด

นมกัญชงคืออะไร?

21

ภาพจาก bit.ly/3bSwZkZ

นมกัญชง (Hemp Milk) เป็นน้ำนมที่ได้จากการนำเมล็ดกัญชง มาปั่นผสมกับน้ำเปล่า จนได้เป็นของเหลวเนื้อครีม เนียนละเอียด ลักษณะคล้ายนมวัวแต่มีรสชาติมันกว่า ที่เรียกว่า “นมกัญชง” หากเป็นนมกัญชงสำเร็จรูปที่วางขายตามท้องตลาดอาจมีการเติมกลิ่น รสชาติ สารให้ความหวาน รวมถึงเติมวิตามิน หรือแร่ธาตุบางชนิดลงไปด้วย

นมจากพืชอย่างนมกัญชง ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น แพ้นมวัว แพ้ถั่ว แพ้กลูเตน มีภาวะไม่ทนน้ำตาลแลคโตส (Lactose intolerance) ต้องการกินอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ นอกจากนี้ ยังเหมาะกับผู้ที่กินอาหารแบบวีแกน และมังสวิรัติด้วย

ประโยชน์ของนมกัญชง

22

ภาพจาก freepik

1. บำรุงกระดูก

แคลเซียมในนมกัญชงเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ร่างกายใช้ในการสร้างกระดูกและฟัน ช่วยให้กระดูกแข็งแรง ทั้งยังช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกได้ด้วย เมื่อกระดูกแข็งแรง จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และเมื่อเราได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ ยังช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้อย่างเป็นปกติ และช่วยป้องกันการเกิดภาวะขาดแคลเซียมที่ทำให้มีอาการ เช่น ผิวแห้ง เหนื่อยล้า ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ปวดกล้ามเนื้อ

2. บำรุงหัวใจ

ในเมล็ดกัญชงมีกรดอะมิโนที่ชื่อว่า อาร์จินีน (Arginine) ที่กระตุ้นให้ร่างกายผลิตกรดไนตริก (Nitric acid) ซึ่งมีส่วนช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว เลือดจึงไหลเวียนได้ดี โดยงานวิจัยหลายชิ้นเผยว่า คนที่บริโภคอาร์จินีนมากกว่าจะมีระดับของซี-รีแอคทีฟ โปรตีน (C-reactive protein หรือ CRP) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบต่ำกว่าคนที่บริโภคอาร์จินีนน้อยกว่า จึงส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจน้อยกว่าตามไปด้วย

3. บำรุงสุขภาพผิว

นมกัญชงมีกรดไขมันโอเมก้า 3 และกรดไขมันโอเมก้า 6 ที่ช่วยกระตุ้นการตอบสนองต่อการอักเสบของผิวหนัง โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ว่า ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) ที่บริโภคน้ำมันเมล็ดกัญชงเป็นประจำทุกวันมีปัญหาผิวแห้งและอาการคันน้อยกว่า และงานวิจัยอีกชิ้นก็ยังได้ผลลัพธ์ไปในทางเดียวกัน คือ ผู้หญิงที่บริโภคกรดไขมันโอเมก้า 6 มากกว่าจะมีปัญหาผิวแห้ง ผิวบาง น้อยกว่า ถึงแม้งานวิจัยเหล่านี้จะเป็นการวิจัยประโยชน์ของเมล็ดกัญชง ไม่ได้วิจัยนมกัญชงโดยตรง แต่เนื่องจากนมกัญชงทำมาจากเมล็ดกัญชง ผู้เชี่ยวชาญจึงเชื่อว่า ประโยชน์ที่ได้ก็น่าจะเหมือนกัน

4. ช่วยบำรุงสมอง

ไขมันดีอย่างกรดไขมันโอเมก้า 3 และกรดไขมันโอเมก้า 6 ที่มีมากในนมกัญชง นอกจากจะดีต่อผิวแล้ว ยังดีต่อสมองและระบบประสาทด้วย โดยงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นพบว่า กรดไขมันทั้งสองชนิดนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาท (Neurodegenerative disorder) เช่น โรคอัลไซเมอร์ คือ ช่วยให้ความเสี่ยงดังกล่าวลดลงได้

ความเสี่ยงที่ควรรู้ก่อนเลือกดื่มนมกัญชง

20

ภาพจาก bit.ly/3sOR2Yr

แม้นมกัญชงจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ และเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกดี ๆ ที่คุณไม่ควรพลาด แต่ก็มีความเสี่ยงบางประการที่คุณควรรู้ก่อนตัดสินใจบริโภคนมกัญชง ดังนี้

1. โรคภูมิแพ้กัญชง แม้ภาวะนี้จะพบได้ไม่บ่อย แต่บางคนก็อาจแพ้กัญชงได้ หากดื่มนมกัญชงแล้วมีอาการของโรคภูมิแพ้ เช่น ผื่นขึ้น เป็นลมพิษ บวมบริเวณใบหน้า คลื่นไส้อาเจียน ควรหยุดดื่มทันที และไปพบคุณหมอ

2. โรคเบาหวาน นมกัญชงบางยี่ห้อที่วางขายในท้องตลาดอาจเติมน้ำตาลหรือสารให้ความหวานบางชนิด หากดื่มมาก ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน หรือทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการแย่ลงได้

3. อาการปวดท้อง ในเมล็ดกัญชงมีสารแทนนิน (Tannins) และซาโปนิน (Saponins) เมื่อบางคนดื่มเข้าไปแล้ว อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องอย่างอ่อนได้

4. คนที่มีโรคประจำตัว หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพใด ๆ ควรให้ปรึกษาคุณหมอก่อนตัดสินใจดื่มนมกัญชง หมอจะได้ช่วยแนะนำให้ได้ว่า นมจากพืชชนิดนี้เหมาะกับเราหรือไม่ และควรบริโภคอย่างไรให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ

อย่างไรก็ดีน้ำนมกัญชง ถือได้ว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าและให้สารอาหารที่จัดว่าดีกว่าน้ำนมทั่วไปมากซึ่งถ้าประเมิณออกจะเห็นได้ว่า ในน้ำนมกัญชง 240 ml. ให้โปรตีนอยู่ที่ 3 กรัม ไขมันรวม 4.51 กรัม แคลเซียม 283 ม.ก.แต่ส่วนของแคลอรี่จะได้รับแค่ 60 เท่านั้นที่สำคัญปริมาณน้ำตาลยังเป็น 0 อีกด้วย

สำหรับในประเทศไทยผลิตภัณฑ์จากกัญชงอาจยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เพราะในการเพาะปลูกกัญชงในไทยถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีการควบคุมให้ปลูกได้ใน 6 จังหวัด 15 อำเภอ ทางภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่ทดลองเพาะปลูกของหน่วยราชการเท่านั้น แต่หลังจากปลดล็อคทางกฏหมายแล้วก็ต้องมาดูกันต่อไปว่ากัญชงจะมีบทบาทในฐานะพืชทางเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทยได้หรือไม่


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล
https://bit.ly/3aOZtfU , https://bit.ly/2ZOwMcY , https://bit.ly/3uuZMV1 , https://bit.ly/3qTIcYK

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/2O1PX0j

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด