มหันตภัย Covid-19 เศรษฐกิจโลกถดถอย! เศรษฐกิจไทยนิ่งสนิท!
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิตของคนทั่วโลก แต่ยังทำให้เศรษฐกิจทั้งระบบของโลกได้รับผลสะเทือนไม่แพ้กัน คนตกงาน ธุรกิจปิดกิจการ
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง
เศรษฐกิจโลกถดถอย
ภาพจาก bit.ly/2RfXt68
การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกครั้งใหญ่ นับว่าเป็นมหันตภัยร้ายแรงสุดในรอบหลายทศวรรษยังคุกคามโลกไม่หยุด หากยังไม่สามารถสกัดกั้นการแพร่ระบาด จะยิ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโลกที่กำลังมีปัญหาดิ่งลงหนักกว่านี้ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ประมาณการผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยใช้ข้อมูลการระบาด ว่า GDP ของทั้งโลกน่าจะถดถอยลงราว 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรุนแรงกว่า ซาร์ราว 70 เท่า
ไวรัสโควิด-19 จะสร้างปัญหาให้เป็นเศรษฐกิจโลกได้ขนาดไหน หลายคนมองว่าอาจจะมากกว่า SARS อย่างแน่นอน เพราะ เศรษฐกิจจีนตอนนี้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีสัดส่วนสูงถึง 19% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) โลก เทียบกับในช่วงที่โรค SARS ระบาดซึ่งเศรษฐกิจจีนมีสัดส่วนเพียง 8% ของ GDP โลก
โดยในภาพรวมเศรษฐกิจโลกภายใต้สถานการณ์โควิด-19 OECD ประเมิน GDP โลกปี 2563 หดตัวเหลือ 1.6% จาก 2.9% ในปี 2562 ขณะที่ IMF ประเมินโควิด-19 ทำเศรษฐกิจโลกลดลงหนักกว่าวิกฤติซับไพรม์
ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมิน GDP โลกลดลงระหว่าง -2.5% ถึง 0.5% ในปี 2563 โดยประเมินมูลค่าการส่งออกปี 2563 อยู่ที่ 228,816- 241,846 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเติบโต -1.8% ถึง -7.1% ซึ่งวิกฤติโควิด-19 รุนแรงกระทบส่งออกไทยต่ำสุดใน “รอบ 10 ปี” ฉุดส่งออกไทยลดไป 431,360 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน Economist Intelligence Unit (EIU) วิเคราะห์ว่า การท่องเที่ยวโลกนี้จะสูญเสียรายได้จากผลกระทบไวรัส COVID-19 ราว 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท คาดว่าไม่น่าจะฟื้นตัวได้ภายใน 1 ปี และการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวจีนจะไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้จนกว่าจะถึงไตรมาสที่ 2 ของปีหน้าหรือปี 2021
ด้านนางคริสตาลินา จอร์จีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างวิกฤตทางการเงินอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
“ในประวัติศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ เราไม่เคยพบว่าเศรษฐกิจโลกหยุดชะงักแบบนี้ นี่เป็นวิกฤตการณ์ที่รุนแรงกว่าวิกฤตการเงินในปี 2551-52” นางจอร์จีวา กล่าว
ก่อนหน้านี้ ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว เพราะผลพวงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมย้ำว่า เป็นที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจได้เข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งอาจจะย่ำแย่กว่าช่วงวิกฤตการเงินในปี 2551
แต่เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า และอาจเป็นการดีดตัวครั้งใหญ่ หากประเทศต่างๆประสบความสำเร็จในการสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และป้องกันไม่ให้ปัญหาสภาพคล่องส่งผลให้เกิดภาวะล้มละลาย และการปลดพนักงานตามมา
ภาพจาก bit.ly/2RfXt68
ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกหดตัวลง 0.10% ในปี 2552 หลังจากเกิดวิกฤตการเงิน ซึ่งมีสาเหตุจากการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์ อิงค์ ในปี 2551 และถ้าหากเศรษฐกิจหดตัวในปีนี้ จะถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2552
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจโลกตอนนี้ ถือว่าได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างมาก ทำให้ทาง แมคคินซีย์ (McKinsey & Company) บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารชั้นนำของโลก ได้เปิดเอกสารแสดงงานวิจัย คาดการณ์ผลกระทบ รวมถึงระยะฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เอาไว้หลายประเด็น ดังนี้
- เชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบ GDP ปี 2020 ของสหรัฐอเมริกา มากที่สุดในรอบ 120 ปี รองจากสงครามโลกครั้งที่ 2
- GDP จีนจะกลับมายืนเหมือนก่อนวิกฤตได้ ประมาณช่วง Q2/2021
- GDP ปี 2020 ของทั้งโลกมีโอกาส -4.7% โดยคาดการณ์ GDP สหรัฐอเมริกาไว้ที่ -8.4% ส่วนจีนที่ -2.7% และยุโรป -9.7%
- จากการสำรวจข้อมูลบริษัททั่วโลก 3,000 แห่ง ที่มีมูลค่ามากที่สุดในปี 2019 พบว่า “หุ้นทุกกลุ่ม” มีผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นลดลง หลังเจอวิกฤตโควิด-19
- อุตสาหกรรมที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนานที่สุด คือ กลุ่มผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์ (Commercial Aerospace) ซึ่งคาดว่าจะฟื้นกลับเป็นปกติได้ประมาณช่วง Q3/Q4 ปี 2021
- อุตสาหกรรมที่จะฟื้นตัวเร็วที่สุด คือ กลุ่มสินค้าแฟชั่น / Luxury คาดว่าจะฟื้นกลับเป็นปกติได้ประมาณช่วง Q2/Q3 ปี 2020
- อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ประมาณช่วง Q1/Q2 ปี 2021
- ราคาหุ้นกลุ่มที่จะโดนกระทบมากที่สุด คือกลุ่มน้ำมันและก๊าซ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ -48% และจะฟื้นตัวได้ประมาณช่วง Q3/2020
- หุ้นกลุ่มยานยนต์ (Automotive) จะฟื้นตัวประมาณช่วง Q3/2020
- หุ้นกลุ่มประกันภัย จะฟื้นตัวประมาณช่วง Q4/2020
เศรษฐกิจไทยนิ่งสนิท
ภาพจาก bit.ly/34nkzx9
ท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นที่ทราบกันดีว่า SMEs ของไทย ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป การลดลงของกิจกรรมภายนอกบ้านจากความวิตกกังวลของผู้บริโภค ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการ SMEs หายไป จนบางรายถึงขั้นต้องปิดการดำเนินกิจการชั่วคราว
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะหดตัว 5.3% นับเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุด นับแต่วิกฤตเศรษฐกิจของไทยและเอเชียเมื่อปี 2540-2541
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงเชิงลบมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เป็นเพราะจากความกังวลของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อรวมกับมาตรการที่เข้มงวดในการสกัดกั้นการแพร่ของเชื้อในประเทศต่างๆ ย่อมส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการผลิต การบริโภค และการลงทุนทั่วโลกต้องชะงักงัน
สำหรับเศรษฐกิจประเทศไทยนั้น แน่นอนว่าก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนอกประเทศจีน มีระดับความรุนแรง และมีแนวโน้มที่จะลากยาวไปมากกว่าไตรมาสแรก
โดย “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองว่า ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทย จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวมากที่สุด จากคาดการณ์ที่ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทย จะหดตัวลึกในช่วงครึ่งแรกของปี และจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้ไทยสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นมูลค่าราว 4 แสนล้านบาท
ภาพจาก bit.ly/3c1VDhr
ขณะที่ภาคการส่งออก คาดว่าจะติดลบ 5.6% เนื่องจากการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกทรุดตัวอย่างมาก อีกทั้งยังก่อให้เกิดดิสรัปชั่นในห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห่วงโซ่อุปทานของจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าขั้นต้น และสินค้าขั้นกลางของไทยอย่างมีนัยสำคัญ
ไม่เพียงเท่านี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคในไทย ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนในไทยมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน จากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น อาจเป็นผลให้นักลงทุนไทยและต่างชาติมีความเป็นไปได้ที่จะชะลอการลงทุนในไทย ส่งผลให้การลงทุนจากภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ
ด้านการบริโภคภายในประเทศ เป็นอีกปัจจัยที่มีแนวโน้มซบเซาลงจากเศรษฐกิจที่อ่อนแรง การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ก่อให้เกิดความกังวลในการออกไปใช้จ่าย ส่งผลให้ภาคการค้าปลีกของไทยในปีนี้น่าจะได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ภายใต้มูลค่าการตลาดที่หดตัว 0.8-2.2% จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป
รวมถึงบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศที่ซบเซา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ที่น่าจะมีการใช้จ่ายลดลง แต่อาจจะถูกแทนที่ด้วยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
อาทิ อาหารแห้งและของใช้ส่วนตัว รวมถึงหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ล้างมือ ซึ่งมีความจำเป็นและอาจมีการสำรองสินค้ากลุ่มนี้ไว้ ตามกำลังซื้อท่ามกลางความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ภาพจาก bit.ly/2V6CYKy
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองว่า ธุรกิจค้าปลีกที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสะดวกซื้อ รวมถึงร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกที่อยู่ในย่านแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น สยาม ราชประสงค์ รัชดาภิเษก ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่
โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า จากเดิมก็เผชิญความท้าทายจากการบริหารจัดการสินทรัพย์ ที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้านั้น หรือการลงทุนขยายสาขาใหม่ และการบำรุงซ่อมแซมสาขาเก่า รวมถึงการบริหารพื้นที่เช่าให้สามารถสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ตลอดจนการแข่งขันกับอีคอมเมิร์ซที่มีบทบาทในตลาดมากขึ้น
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศไทย ดังนี้
- การเติบโตของธุรกิจ SMEs ในปี 2563 จะลดลงเหลือ 2.7% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ถึง 3.5% ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบต่อภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีสัดส่วนผู้ประกอบการสูงถึง 58% (วิมลกานต์ โกสุมาศ,2563)
- การส่งออกสินค้าระหว่างไทย-จีน เกิดข้อยุ่งยากและมีปัญหาความยุ่งยาก เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกหลักสินค้าของไทย ในระยะสั้นจึงมีการ disrupt จากปัญหาการขนส่งและมาตรการจำกัดต่างๆ ของจีน
- ภาคอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ หยุดชะงัก เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์เทคโนโลยีชั้นสูง โดยประเทศไทยต้องพึ่งพาการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากจีน เมื่อประเทศจีนประกาศปิดเมือง จึงทำให้สายการเดินเรือระหว่างจีนและประเทศอื่นๆ ต้องปิดการเดินเรือชั่วคราว
- การส่งออกสินค้าเกษตรไปประเทศจีน ได้รับผลกระทบและอาจเกิดความเสียหายระหว่างการขนส่งได้จากปัญหาการขนส่ง ซึ่งสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบที่ผ่านมาได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าว ลำไยสด
เนื่องจากมีการส่งออกในช่วงต้นปี ในขณะที่มีการปิดเมืองและปิดท่าเรือหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ของข้าวที่มีการส่งออกไปเมืองอู่ฮั่นที่มีปริมาณสูงถึง 53% ทุเรียนสด มังคุดสดที่จะมีการส่งออกมากในช่วงเมษายน และยางพาราที่ส่งออกมากสุดในช่วงเดือนมิถุนายน ให้รัฐต้องหามาตรการรองรับกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ในขณะนี้
สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เพียงจะคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกให้เพิ่มจำนวนต่อเนื่องเพียงเท่านั้น แต่ยังคงสร้างความเสียหายถึงระบบเศรษฐกิจของโลก และรายประเทศอีกด้วย
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
อ้างอิงข้อมูล
- https://bit.ly/2XeIai0
- https://bit.ly/2V7FfF5
- https://bit.ly/38cYhys
- https://bit.ly/38fdDCr
- https://bit.ly/38hVKmH
- https://bit.ly/2V6x1NI
- https://bit.ly/2XfmimM
- https://bit.ly/2wXEUwV
- https://bit.ly/2Xjzxmj
อ่านบทความเพิ่มเติม https://bit.ly/3j8JaPw