มวยถูกคู่ คาเฟ่อเมซอน Vs อินทนิล

เชื่อว่าหลายคนพอจะรู้มาบ้างว่า “ คาเฟ่อเมซอน ” เป็นของฝั่งสถานีบริการน้ำมันปตท. ส่วน “อินทนิล” คือแบรนด์จากปั้มน้ำมันบางจาก แต่ในความเหมือนของกันของจุดยืนทางด้านการตลาด จึงทำให้ปัจจุบัน 2 แบรนด์ดังด้านกาแฟ ต้องแสวงหาความต่างขึ้นมาเป็นของตัวเอง เพื่อเป็นทั้งจุดแข็งและเพื่อเป็นแรงจูงใจดึงดูดลูกค้า 

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะพาคุณผู้อ่านไปเจาะลึกถึงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ “คาเฟ่อเมซอน” และ “อินทนิล” มาดูพร้อมๆ กันเลยว่า ทั้ง 2 แบรนด์ดังกาแฟ จะแลกหมัดถึงพริกถึงขิง มันหยดแค่ไหนกันครับ

กลยุทธ์ปลุกปั้น “คาเฟ่อเมซอน”

คาเฟ่อเมซอน

ปตท. ใช้เวลาเกือบ 15 ปี ปลุกปั้นแบรนด์ร้านกาแฟ “คาเฟ่อเมซอน (Café Amazon)” ขึ้นชั้นเป็นธุรกิจนอนออยล์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุด รายได้แตะ 6,000-7,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 50% ของกลุ่มนอนออยล์ และจุดพลุให้บริษัทน้ำมันทุกค่ายเข้ามาเล่นเกมในสมรภูมิจีสโตร์อย่างดุเดือด

โดยเฉพาะคู่แข่ง “อินทนิล” ของ “บางจาก” คาเฟ่อเมซอนเปิดมานานกว่า 14 ปี และถึงจุดที่จะต้องปรับภาพลักษณ์ให้สดใหม่ ไม่ใช่แค่การเพิ่มคุณภาพด้านบริการและสนองไลฟ์สไตล์ลูกค้า แต่ต้องเพิ่มกลยุทธ์การแข่งขัน เพราะมีคู่แข่งรายใหม่เกิดขึ้น

ll9

อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าคาเฟ่อเมซอนเป็นธุรกิจนอนออยล์ที่เกิดขึ้น เพื่อเติมเต็มการให้บริการแบบครบวงจรในสถานีบริการน้ำมัน ตั้งแต่ปี 2545 ขณะเดียวกันตลาดธุรกิจกาแฟสดมีโอกาสเติบโตสูงมาก เนื่องจากอัตราการดื่มกาแฟคนไทยยังต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในแถบยุโรปและอเมริกา

ระยะแรก ปตท. เน้นการขยายสาขาไปยังสถานีบริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งเส้นทางหลักที่มุ่งสู่จังหวัดในภาคต่างๆ ก่อนขยายไปสู่ภาคกลาง ภาคอีสานและภาคเหนือ โดย 3 ปีแรก สามารถผุดสาขามากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ

นับตั้งแต่ปี 2547-2550 เป็นยุคที่คาเฟ่อเมซอนขยายสาขาไปกับปั๊มปตท.ภาพลักษณ์ใหม่และกลายเป็นร้านกาแฟที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในประเทศไทย คือ 230 แห่ง จากนั้นเติบโตแบบก้าวกระโดดชนิดปูพรม ทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน รวม 500 สาขา จนกระทั่งขึ้นชั้นเป็นธุรกิจร้านกาแฟสดที่มีเครือข่ายมากที่สุดในประเทศไทย

ll15

4 ปีต่อมา ปตท.จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม Café Amazon Coaching Academy ลุยขยายสาขานอกปั๊มน้ำมัน พร้อมๆ กับลุยระบบธุรกิจรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งส่งผลให้ “คาเฟ่อเมซอน” กลายเป็นแฟรนไชส์ดาวเด่นที่มีผู้สนใจลงทุนจำนวนมาก

ปี 2556 จำนวนร้านแตะ 1,200 แห่ง และเติบโตต่อเนื่อง ทั้งในแง่สาขาที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 200-250 สาขา และรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20-25% โดยปี 2559 บริษัทแม่ตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 1,700 สาขา สร้างรายได้รวม 7,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนอยู่ที่ 5,400 ล้านบาท

ปี 2559 ท่ามกลางคู่แข่งเปิดสงครามรอบด้านปตท.งัดยุทธศาสตร์ใหม่ ทุ่มเม็ดเงิน 500 ล้านบาท สร้างศูนย์ธุรกิจคาเฟ่อเมซอน (Amazon Inspiring Campus: AICA) ที่ ต.สนับทึบ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ในฐานะเจ้าของธุรกิจกาแฟสดที่มีมาตรฐานทุกขั้นตอนการผลิต ให้ผู้สนใจ

ll16

ทั้งนักธุรกิจ นักท่องเที่ยวและกลุ่มลูกค้าคนไทย ชาวต่างชาติ สามารถเยี่ยมชมขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การคัดเลือกและรับซื้อเมล็ดกาแฟ จนนำไปผลิตเป็นเครื่องดื่มถึงมือลูกค้า

ประกอบด้วย โรงคั่วกาแฟที่ผ่านการรับรองระบบมาตรฐาน ขนาดกำลังการผลิต 2,700 ตันต่อปี สามารถรองรับการขยายธุรกิจร้านกาแฟมากกว่า 10 ปี ศูนย์ฝึกอบรมบาริสต้า และแหล่งถ่ายทอดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์กาแฟ

เป้าหมาย คือการเตรียมความพร้อมบุกตลาดต่างประเทศ หลังจากนำร่องในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน โดยปัจจุบันมีสาขารวม 28 แห่ง แบ่งเป็นประเทศ สปป.ลาว 14 สาขา และกัมพูชา 14 สาขา รวมทั้งเตรียมเข้าไปเปิดในเมียนมา และฟิลิปปินส์

นอกจากนี้ มีนักลงทุนจากญี่ปุ่นจะเปิดคาเฟ่อเมซอนที่ญี่ปุ่น 1-2 สาขา เพื่อทดลองตลาด และผู้บริหารสถานีบริการน้ำมันโอมานออยล์ สนใจนำร้านคาเฟ่อเมซอนไปเปิดในปั๊มน้ำมันที่โอมาน จำนวน 2-3 สาขาด้วย

ll17

สำหรับจุดแข็งของคาเฟ่อเมซอน อยู่ที่รสชาติกาแฟอันเข้มข้น ถูกใจคอกาแฟคนไทย บวกกับจำนวนสาขาที่มาก ทำให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงตกแต่งบรรยากาศภายในร้านให้ดูผ่อนคลาย เหมือนนั่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ช่วยให้ดื่มด่ำกับรสชาติกาแฟ ได้อย่างเต็มที่

ผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์ร้านคาเฟ่ อเมซอน ปตท. แนะนำว่า หากตั้งสาขาในอาคาร ควรมีขนาดเริ่มต้นที่ 40-100 ตารางเมตร ส่วนร้านแบบสแตนอะโลน จะเริ่มต้นที่ 100-150 ตารางเมตร โดยขนาดเริ่มต้นที่ 40 ตารางเมตร จะใช้เงินลงทุนประมาณ 2-3 ล้านบาท ราคานี้รวมค่าลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ 150,000 บาท ซึ่งต้องต่ออายุทุก 6 ปี

ขณะที่รายได้ที่ได้มา จะเรียกเก็บส่วนแบ่ง ร้อยละ 6 โดยครึ่งหนึ่งนำใช้ในการสร้างแบรนด์ และโปรแกรมส่งเสริมการขาย โดยจำนวนแก้วที่ขายได้ ควรอยู่ที่ 150-200 แก้วต่อวัน

กลยุทธ์ปลุกปั้น “อินทนิล”

ll12

ด้าน “บางจาก” ซึ่งน่าจะเป็นคู่แข่งที่ต้องทำงานหนักที่สุด เพื่อไล่ตามผู้นำตลาด แม้ในเชิงกลยุทธ์แล้ว บางจากอาจไม่ยึดแนวทางแบบ Aggressive เน้นการทำงานร่วมกับชุมชน จนดูเหมือนว่าธุรกิจร้านกาแฟอินทนิลยังก้าวไปอย่างช้าๆ แต่หลังจากนี้ บางจากอาจต้องเพิ่มกลยุทธ์เชิงรุกมากขึ้น

บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มีสถานีบริการน้ำมันประมาณ 1,070 แห่ง แบ่งเป็นปั๊มมาตรฐาน 460 แห่ง ปั๊มระดับชุมชน 610 แห่ง โดยเร่งเสริมแม็กเน็ตต่างๆ ในปั๊มมาตรฐาน ทั้งร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีมินิบิ๊กซีเป็นพันธมิตรหลักและร้านกาแฟอินทนิล

มีรายงานข่าว บางจากกำลังศึกษาร้านกาแฟโมเดลใหม่ สำหรับกลุ่มลูกค้าระดับแมส เพื่อขยายฐานผู้บริโภคที่เลือกซื้อกาแฟจาก “ราคา” เป็นหลัก เพิ่มจากร้านที่มีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ อินทนิลคอฟฟี่ พื้นที่ขนาด 50 ตารางเมตร

ll13

เจาะตลาดระดับกลาง และอินทนิลการ์เด้น พื้นที่ขนาด 90 ตร.ม.เจาะตลาดระดับพรีเมียม โดยราคากาแฟของร้านทั้งสองโมเดล เฉลี่ยต่างกัน 20-25 บาทต่อแก้ว แผนลงทุนเมื่อปี 2559 บางจากตั้งเป้าเปิดร้านอินทนิลเพิ่มขึ้น 64 แห่ง จากจำนวนสาขาล่าสุด 386 แห่ง แบ่งเป็นอินทนิล คอฟฟี่ 356 แห่ง และอินทนิล การ์เด้น 30 แห่ง

หรือจนถึงสิ้นปีจะมีสาขารวม 450 แห่ง นอกจากนี้ เตรียมทดลองเปิด “อินทนิล ไดรฟ์ทรู” สาขาแรกในย่านศรีนครินทร์ พื้นที่ 100-200 ตร.ม. ประมาณปลายปีนี้ เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ใหม่ของกลุ่มลูกค้า

รูปแบบการตกแต่งร้าน “อินทนิล” ที่ให้ความรู้สึกเหนือระดับทันสมัย มีเมนูอาหารหลากหลาย จึงสามารถเพิ่มยอดขาย Per head ได้สูงขึ้น พร้อมแนวคิด CSR นั่นเพราะ “อินทนิล” ต้องการเชื่อมโยงไปยังหัวใจของแบรนด์บางจาก ที่เน้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงนำเอากาแฟออแกนิคมาใช้ซึ่งกาแฟออแกนิคในสายตาผู้บริโภคคือกาแฟรักษ์โลก

ไม่ใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีฉีดพ่น นอกจากนั้นยังตอกย้ำคอนเซ็ปท์รักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำแก้วไบโอมาใช้ในร้านทุกสาขา ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ในแง่ของคุณภาพ เกิดเป็นแบรนด์ที่มีความโดดเด่น มีกลุ่มลูกค้าแฟนคลับ

ll11

ด้านร้านกาแฟ “อินทนิล” ปัจจุบันมีสาขาทั่วประเทศ 400 สาขา มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และมีแผนขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยชูคอนเซ็ปต์ “กาแฟรักษ์โลก” นำความเป็นกรีนมาตกแต่งร้าน

ทั้งการใช้วัสดุรีไซเคิลในการตกแต่ง บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ การรณรงค์นำแก้วส่วนตัวมาใส่เครื่องดื่ม เพื่อรับส่วนลด 5 บาท แผนการตลาดนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อช่วยเลือกผู้ประกอบการที่มีอุดมการณ์เดียวกันเข้ามาซื้อแฟรนไชส์

การลงทุนแฟรนไชส์ ร้านอินทนิล การ์เด้น ระยะเวลาให้สิทธิ 6 ปี ค่าธรรมเนียมแรกเข้า (FRANCHISE FEE) 250,000 บาท, เงินค้ำประกันสัญญา 100,000 บาท, ค่าออกแบบและจัดทำแบบก่อสร้าง 100,000 บาท, ค่าบริการ SOFTWARE ระบบ POS รายปี 27,000 บาท, เงินลงทุนค่าอุปกรณ์การขายและวัตถุดิบครั้งแรก เช่น เครื่องชงกาแฟ เครื่องบดกาแฟ เครื่องปั่นน้ำผลไม้ ฯลฯ (ประมาณการ) 550,000 บาท และการก่อสร้างและตกแต่งร้าน (ประมาณการ) 1-3 ล้านบาท

ll19

ขณะที่คอฟฟี่ร้านอินทนิล มีรูปแบบการลงทุน คือ ระยะเวลาให้สิทธิ 6 ปี ค่าธรรมเนียมแรกเข้า (FRANCHISE FEE) 200,000 บาท, เงินค้ำประกันสัญญา 100,000 บาท, ค่าออกแบบและจัดทำแบบก่อสร้าง 50,000 บาท, ค่าบริการ SOFTWARE ระบบ POS รายปี 27,000 บาท, เงินลงทุนค่าอุปกรณ์การขายและวัตถุดิบครั้งแรก เช่น เครื่องชงกาแฟ เครื่องบดกาแฟ เครื่องปั่นน้ำผลไม้ ฯลฯ (ประมาณการ) 550,000 บาท, การก่อสร้างและตกแต่งร้าน (ประมาณการ) 1-2 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ และค่าส่วนแบ่งรายได้ (Loyalty Fee) 6%จากยอดขาย

สนใจซื้อแฟรนไชส์ “อินทนิล” คลิก goo.gl/3Eg9TR

จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันปั้มน้ำมันไม่ได้แข่งขันกันเพียงเรื่องคุณภาพของน้ำมัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่าน้ำมันเป็นสินค้าตัวหนึ่งเท่านั้น น้ำมันยี่ห้อไหนก็คงมีคุณภาพใกล้เคียงกัน นั่นเพราะ Production และ Innovation ในยุคนี้สามารถพัฒนาขึ้นมาเทียบเคียงกันได้ แต่จุดที่ลูกค้ามองหาเพิ่ม คือ องค์ประกอบของสิ่งอำนวยความสะดวก

ตารางเปรียบเทียบมวยถูกคู่ คาเฟ่อเมซอน Vs อินทนิล

ll10


อ่านบทความแฟรนไชส์อื่นๆ goo.gl/HJNOjE
สนใจซื้อแฟรนไชส์ต่างๆ goo.gl/3rIUmC

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/2V6nVkd

กองบรรณาธิการเว็บไซต์

ยินดีสนับสนุน SMEs ไทยทุกแบรนด์ ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็ง อยากเรียนรู้ พัฒนาธุรกิจ ส่งเสริมความเข้าใจในการตลาด มีความคิดสร้างสรรค์ แบ่งปันเพื่อสังคม ต่อยอดธุรกิจ ให้ประสบความสำเร็จในอนาคต