ฝันที่เป็นจริง! 11 ขั้นตอนเริ่มต้นทำร้านอาหารในอเมริกา

ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสหรัฐอเมริกา (thaibicusa.com) ระบุว่า ร้านอาหารไทย เป็นแบรนด์ที่ชาวอเมริกันมองว่าเป็นอาหารที่มีระดับไม่ใช่พวกฟาสฟู้ดหรืออาหารจานด่วนราคาถูก ด้วยเหตุนี้ร้านอาหารไทยในอเมริกาจึงเติบโตได้ดีและมีกำไรที่สวยงาม

ซึ่งจำนวนร้านอาหารไทยในอเมริกานั้นแค่เพียงแคลิฟอร์เนียรัฐเดียวก็มีไม่ต่ำกว่า 1,000 ร้าน แต่แม้จะดูว่าเป็นเส้นทางลงทุนที่น่าสนใจแต่ถ้าไม่เข้าใจกฏระเบียบของอเมริกาก็คงเป็นเรื่องยากที่จะเปิดการค้าขายในในประเทศอเมริกาได้

www.ThaiSMEsCenter.com จึงมีข้อมูลที่รวบรวมมาเป็น 11 วิธีเปิดร้านอาหารในอเมริกาว่าต้องเริ่มอย่างไรทำอย่างไรเพื่อให้กิจการสามารถเดินหน้าได้ตามที่ตั้งใจไว้

ร้านอาหารไทย

ภาพจาก goo.gl/LZuUMN

1.เลือกมลรัฐและทำเลที่ตั้ง

ต้องพิจารณาปัจจัยให้รอบด้านทั้งการขนส่ง การหาวัตถุดิบอาหาร อัตราค่าแรง ความต้องของตลาด กลุ่มลูกค้า และกฎระเบียบแต่ละมลรัฐที่ต่างกันออกไป เจ้าของกิจการต้องจดทะเบียนธุรกิจเพื่อประกอบกิจการในมลรัฐที่ต้องการเปิดร้าน

ซึ่งมีเว็บไซต์ที่อย่าง city-data.com ที่สามารถสืบค้นข้อมูลประกอบการเลือกทำเลที่ตั้งเพิ่มเติมอย่างเช่นค่าเช่าสถานที่ทำธุรกิจ ที่จอดรถ ธุรกิจอื่นในบริเวณรอบร้าน แหล่งที่อยู่อาศัย ความปลอดภัยของเขตพื้นที่ที่สนใจ รวมถึงสถิติประชากรเพื่อพิจารณาฐานลูกค้าได้อีกด้วย

2.เลือกรูปแบบและจดทะเบียนกิจการ

โดยสามารถเลือกจดทะเบียนกิจการได้หลายรูปแบบ รูปแบบกิจการที่เป็นที่นิยมและเหมาะสมกับธุรกิจร้านอาหารมีสองประเภท ได้แก่ บริษัทจำกัด และ บริษัทร่วมทุน

โดยบริษัทจำกัดนั้นเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่มีเงินลงทุนเพียงพอ มีสัญชาติสหรัฐฯ หรือผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรอย่างถูกกฎหมายในสหรัฐฯ และไม่มีการร่วมลงทุนกับบุคคลจากต่างประเทศ ซึ่งสามารถเลือกได้อีกว่าจะเสียภาษีบุคคลในอัตราร้อยละ 15 หรือเสียภาษีเงินได้จากบริษัทแบบบริษัทขนาดเล็ก Small Corporation

ส่วนบริษัทร่วมทุน นั้นสำหรับผู้ประกอบการจากประเทศไทยที่ไม่มีสัญชาติสหรัฐฯ หรือยังไม่มีกรีนการ์ด ร่วมลงทุนกับญาติพี่น้องหรือเพื่อนนักลงทุนสัญชาติสหรัฐฯในสหรัฐฯ หรือคนที่มีกรีนการ์ดการทำกิจการประเภทนี้ต้องเสียภาษีในรูปแบบบริษัท (Corporation Tax) ในอัตราร้อยละ 15-34 ตามกำไรสุทธิของธุรกิจ

mm21

ภาพจาก goo.gl/q9icaz

3.จดทะเบียนชื่อร้านและขอเลขประจำตัวนายจ้าง

การจดทะเบียนชื่อร้านอาหารกับทางมลรัฐจะทำในกรณีที่ชื่อหน้าร้านอาหารไม่ตรงกับชื่อบริษัทที่จดทะเบียน (Doing Business As) หลังจากนั้น เจ้าของกิจการต้องขอเลขประจำตัวนายจ้าง (Federal Employer Identification Number – FEIN) จาก Internal Revenue Service (IRS) โดยขอได้ทั้งทางออนไลน์หรือทางไปรษณีย์

4.เปิดบัญชีธนาคาร

โดยแนะนำให้เปิดบัญชีกิจการกับธนาคารที่เจ้าของกิจการเป็นลูกค้าประจำอยู่แล้วเพื่อความสะดวกรวดเร็วขึ้น ควรสอบถามธนาคารเกี่ยวกับการรับชำระเงินจากลูกค้าด้วยบัตรเครดิตด้วย

กรณีเจ้าของกิจการจากประเทศไทยและไม่เคยมีบัญชีที่สหรัฐฯมาก่อน ให้เลือกเปิดบัญชีกับธนาคารที่น่าเชื่อถือ มีชื่อเสียง และมีหลายสาขา สามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้ ซึ่งต้องดำเนินการด้วยตัวเจ้าของธุรกิจเองเท่านั้น

mm8

ภาพจาก goo.gl/g2uBLa

5.เช่าร้าน ปรับปรุงร้าน

การเช่าร้านเป็นทางเลือกหากไม่ต้องการลงทุนซื้อร้าน ซึ่งต้องพิจารณาอัตราค่าเช่า ระยะสัญญา รายจ่ายที่ต้องรับผิดชอบให้ถี่ถ้วนอย่างเช่นภาษีโรงเรือนและที่ดิน (Property Tax) ของเมืองที่ร้านตั้งอยู่ให้ถ้วนถี่ ผู้เช่าสามารถต่อรองราคาได้อย่างเช่น

ไม่เสียค่าใช้จ่าย 3 เดือน เพราะต้องใช้เวลาช่วงนั้นปรับปรุงร้าน หรือให้ผู้ให้เช่าช่วยออกค่าปรับปรุงร้านบางส่วน ส่วนกรณีปรับปรุงร้านอย่าลืมควรตรวจสอบกฎระเบียบการประกอบกิจการ และการขออนุญาตปรับปรุงอาคารของเมืองหรือเขตให้รอบคอบ อาทิ ระบบท่อน้ำทิ้ง ระบบไฟฟ้า ทางเข้าออกสำหรับคนพิการ

6.ขอใบอนุญาตที่จำเป็น

ไม่ว่าจะเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ (Business License) ใบรับรองการค้าและการจ่ายภาษี (Sales and Use Tax Certificate) หมายเลขประจำตัวผู้จ้างงานในระดับมลรัฐ (State Employer Identification Number) ใบรับรองความปลอดภัยทางอาหาร (Food safety Certification) ใบอนุญาตกระทรวงสาธารณสุข (Permit from Health Department) ใบอนุญาตด้านความปลอดภัยอาคาร (Certificate of Fire Department clearance) ใบอนุญาตการขายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (Alcohol license)

ทั้งหมดนี้สามารถยื่นขอไปพร้อมกันได้ ในกรณีที่ซื้อร้านต่อจากเจ้าของเดิม ผู้ประกอบการควรรับโอนใบอนุญาตทั้งหมดข้างต้นจากเจ้าของเดิม รวมถึงทำเรื่องโอนการจดทะเบียน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าโทรศัพท์

mm22

ภาพจาก goo.gl/IIU5KA

7.ทำประกัน

กฎหมายของสหรัฐฯเข้มงวดมาก ผู้ประกอบการต้องทำประกันทั้งประกันอุบัติภัยของร้านอาหารรวมถึงประกันอุบัติเหตุสำหรับลูกค้า หากลูกค้าประสบอุบัติเหตุภายในร้านอาหารหรือเกิดอาการเจ็บป่วยจากอาหารที่รับประทาน ลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบการ

8.จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

เครื่องหมายการค้าหรือตราสัญลักษณ์ของร้านควรมีเอกลักษณ์และจดจำได้ง่าย ผู้ประกอบการควรยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับสำนักงานเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรสหรัฐฯ (United States Trademark and Patent Office)

เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองครอบคลุม 50 มลรัฐ รวมถึงในเขตอเมริกันซามัว เกาะกวม เขตคลองปานามา เกาะเวอร์จิน เกาะนอร์ทเทอร์นมาเรียนา และเปอร์โตริโก นอกจากนี้เราควรจัดเตรียมเรื่องภายในครัวเช่นอุปกรณ์และการทำเมนูที่หาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก FoodServiceResource.com ซึ่งจะช่วยทำให้ลูกค้าต่างชาติเข้าใจรายการอาหารได้ดีขึ้น

9.ทำบัญชี

การทำบัญชีสำหรับร้านอาหารมีรายละเอียดค่อนข้างมากจึงควรทำให้เป็นระบบ ลองใช้โปรแกรมตัวช่วยทำบัญชีรายรับรายจ่าย อาทิ QuickBooks หรือ Peachtree หรือ Quicken หรืออาจจ้างนักบัญชีที่มีใบอนุญาต (Certified Public Accountant: CPA

หรือ Enrolled Agent: EA) มาช่วย เพราะหากร้านอาหารไม่ได้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายแล้วโดนสรรพากรสหรัฐฯ สุ่มตรวจ อาจถูกเปรียบเทียบปรับเพื่อเก็บภาษีย้อนหลังถึง 3 ปี

mm20

ภาพจาก goo.gl/mHlFH5

10.ตรวจสุขอนามัยก่อนเปิดร้าน

หลังจากจัดหรือปรับปรุงร้านให้เป็นไปตามกฎระเบียบความปลอดภัยด้านอาคารและด้านสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการต้องยื่นแบบฟอร์มขอให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ (Health Department) ตรวจร้านก่อนเปิดให้บริการ ซึ่งควรทำล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน ก่อนวันเปิดร้านจริง

11.โฆษณาร้าน

ผู้ประกอบการสามารถหาช่องทางประชาสัมพันธ์ร้านที่มีค่าใช้จ่ายต่ำเช่นเริ่มจากเฟสบุคของชุมชนไทยในท้องถิ่น ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหรือนิตยสารประชาสัมพันธ์ของแต่ละเมือง รวมทั้งส่งเสริมการขายด้วยการแจกคูปองส่วนลดสำหรับการรับประทานอาหารในเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากในสหรัฐฯ

นอกจากนี้ การเข้าร่วมเทศกาลอาหารไทยหรือร่วมกันจัดเทศกาลอาหารไทยของเมืองหรือของมลรัฐ เพื่อสร้างชื่อร้านให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็เป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจ แถมยังเป็นการสร้างกระแสความสนใจในอาหารและวัฒนธรรมไทยโดยรวมด้วย

สิ่งสำคัญอีกอย่างคืออย่าลืมหาโอกาสทำความรู้จักกับกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารด้วยกันเพื่อสร้างเครือข่าย แบ่งปันประสบการณ์ ช่วยเหลือและร่วมมือกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ในโอกาสต่อไปด้วย

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด