ประเภทธุรกิจแฟรนไชส์ และคำศัพท์แฟรนไชส์ที่ควรรู้

ก่อนจะเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์ เจ้าของธุรกิจหรือผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์ ก็ต้องมาเรียนรู้ก่อนว่า จะทำธุรกิจแฟรนไชส์ให้ออกมารูปแบบไหน ประเภทไหน ที่มีความเหมาะสมกับกลุ่มธุรกิจของตัวเอง รวมถึงต้องรู้คำศัพท์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแฟรนไชส์ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากก่อนที่จะเริ่มทำธุรกิจแฟรนไชส์ให้ประสบความสำเร็จ

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะพาคุณไปดูพร้อมกันว่า ประเภทของธุรกิจแฟรนไชส์มีอะไรบ้าง รวมถึงคำศัพท์ที่เจ้าของแฟรนไชส์ และผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องรู้ เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ให้สำเร็จคืออะไร
ประเภทของธุรกิจแฟรนไชส์

1. Product and Brand Franchising

cv12

เป็นการให้สิทธิ์ในตัวผลิตภัณฑ์หรือเครื่องหมายการค้า เพื่อการผลิตหรือจำหน่ายสินค้าในยี่ห้อสินค้านั้น แฟรนไชส์ประเภทนี้ แฟรนไชส์ซอร์ฐานะผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ในผลิตภัณฑ์นั้นๆ มักจะกำหนดมาตรฐานทางคุณภาพด้านต่างๆ ให้แฟรนไชส์ซีปฏิบัติตาม อย่างเคร่งครัด

โดยส่วนใหญ่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ประเภทนี้ มักจะทำหน้าที่ในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้นๆ มากกว่าที่จะเป็นผู้ผลิตเสียเอง โดยปกติมักจะเป็นผู้ค้าปลีกเป็นส่วนมาก เช่น ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์จะเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์ให้กับบริษัทผู้ผลิต เป็นต้น

นอกจากนี้ เจ้าของแฟรนไชส์จะไม่เข้าไปควบคุมการดำเนินธุรกิจของผู้ซื้อแฟรนไชส์ แต่เจ้าของแฟรนไชส์จะดูแลควบคุมในด้านมาตรฐานให้เป็นไปตามที่ข้อกำหนดเท่านั้น

2. Business Format Franchising

cv11

เป็นรูปแบบแฟรนไชส์ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน คือ แฟรนไชส์ซอร์จะกำหนดระบบของการดำเนินธุรกิจให้ใช้เหมือนกันทั่วโลก ทั้งสินค้า เครื่องหมายการค้า วิธีบริหารระบบการเงิน ระบบงานต่างๆ รวมทั้งแผนการตลาด

ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์จะได้รับสิทธิ์ในการให้บริการ หรือ ทำการผลิตสินค้าที่มีสูตรหรือส่วนประกอบเฉพาะ หรือ จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ภายใต้รูปแบบและเครื่องหมายทางการค้าของเจ้าของแฟรนไชส์ โดยมีการถ่ายทอดระบบและวิธีการดำเนินธุรกิจ เพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน ให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ปฏิบัติตามให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับสูง ที่เจ้าของแฟรนไชส์กำหนด เพื่อรักษาภาพลักษณ์และศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาดของเจ้าของแฟรนไชส์

ทั้งนี้ ภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของทั้งเจ้าของและผู้ซื้อแฟรนไชส์ จะมีการระบุไว้อย่างชัดเจนในสัญญาแฟรนไชส์ โดยยึดถือประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย เช่น ร้านอาหาร ฟาสต์ฟู๊ด เป็นต้น

3. Conversion Franchising

cv13

เป็นระบบแฟรนไชส์ที่เหมาะสำหรับผู้ประกอบการอิสระที่มีอยู่เดิม ซึ่งต้องการให้ธุรกิจเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ ซึ่งมีรูปแบบ หรือ ใช้เครื่องหมายทางการค้าที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปและเป็นที่รู้จักของผู้บริโภค แฟรนไชส์รูปแบบนี้อาจเป็นการร่วมทุนกันระหว่างเจ้าของแฟรนไชส์ และผู้ซื้อ

ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีเงินทุนไม่เพียงพอ อาจนิยมแฟรนไชส์ประเภทนี้ เนื่องจากหากดำเนินธุรกิจโดยอิสระเพียงลำพัง จะต้องเจอปัญหาการแข่งขันที่รุนแรง และอาจจะไม่สามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้

แต่ผลเสียอยู่ที่ว่า ในการดำเนินงานจะถูกควบคุมจากเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์มากกว่าการดำเนินธุรกิจโดยปกติ และ ผลตอบแทนที่ได้ ต้องนำไปแบ่งกับเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ด้วย ในฐานะผู้เป็นหุ้นส่วน ตัวอย่างเช่น แฟรนไชส์ธุรกิจโรงแรม

คำศัพท์แฟรนไชส์ที่ควรรู้

cv14

1. แฟรนไชส์ (Franchise)

แฟรนไชส์ คือ กระบวนการทางธุรกิจที่องค์กรธุรกิจหนึ่งๆ ได้พัฒนาวิธีการและรูปแบบ จนได้รับการพิสูจน์ด้วยระยะเวลาแล้วว่าประสบความสำเร็จในการประกอบการ

และการจัดการธุรกิจในระดับหนึ่งและได้ถ่ายทอดสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจ ตามวิธีการและรูปแบบดังกล่าว พร้อมกับตัวสินค้าหรือบริการ ให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่นภายใต้ตราหรือเครื่องหมายการค้า และบริการอันหนึ่งอันใด

โดยกระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับการทำนิติกรรมระหว่างบุคคล 2 กลุ่มในข้างต้น ในบางกรณีอาจรวมถึงบุคคลอื่นด้วย อธิบายง่ายๆ คือข้อตกลง กันระหว่างเจ้าของธุรกิจ อนุญาตให้ผู้ขอรับสิทธิ์ ดำเนินธุรกิจและบริการภายใต้ชื่อการค้าของตน และปฏิบัติตามรูปแบบการทำธุรกิจ ของเจ้าของสิทธิ์ตามสัญญาที่ตกลงกันไว้

cv8

2. แฟรนไชส์ซอร์ (Franchisor)

แฟรนไชส์ซอร์ คือ บุคคลผู้เป็นเจ้าของตราหรือเครื่องหมายการค้าหรือบริการ ซึ่งได้คิดค้นและพัฒนาวิธีการอันได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ประสบความสำเร็จในการประกอบการและการจัดการธุรกิจ ที่สามารถทำเลียนและดำเนินการโดยบุคคลอื่นได้ กล่าวคือ เจ้าของธุรกิจอนุญาตให้ผู้อื่นได้ใช้สิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ชื่อของตน ซึ่งก็คือผู้ขายแฟรนไชส์นั่นเอง

3. แฟรนไชส์ซี (Franchisee)

แฟรนไชส์ซี คือ บุคคลซึ่งได้รับสิทธิ์ในการจำหน่ายและการดำนินธุรกิจ ภายใต้รูปแบบและตราหรือเครื่องหมายการค้า หรือบริการอันมีแฟรนไชส์ซอเป็นเจ้าของ โดยแฟรนไชส์ซีที่ร่วมกิจการไม่ได้อยู่ในฐานะของพนักงานหรือลูกจ้าง ตรงกันข้ามแฟรนไชส์ซีจะเป็นเจ้าของกิจการ ที่ทำหน้าที่บริหารงานสาขาตามรูปแบบที่แฟรนไชส์ซอร์กำหนดและถ่ายทอดให้

ผู้ที่เป็นแฟรนไชส์ซีจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบ มากกว่าพนักงานโดยปกติ เพราะผลสำเร็จหมายถึง เวลา จำนวนเงินที่ลงทุนไป อธิบายง่ายๆ คือ ผู้ขอซื้อแฟรนไชส์ หรือผู้ขอรับสิทธิ์ในการทำธุรกิจจากเจ้าของธุรกิจ ที่มีความประสงค์ให้ผู้อื่นมาดำเนินการภายใต้ชื่อกิจการของตนนั่นเอง

cv10

4. แฟรนไชส์ฟี (Franchise Fee)

ค่าตอบแทนที่เป็นจำนวนเงินที่แน่นอนจะจ่ายก่อนเริ่มดำเนินงาน หรือเรียกว่า ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ซึ่งถือว่าเป็นการจ่ายค่าสิทธิ์ต่าง ๆ ให้แก่บริษัทแม่ อธิบายคือค่าธรรมเนียมที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องจ่ายให้กับผู้ขาย แฟรนไชส์ ซึ่งโดยทั่วไปมักจะเป็นการจ่ายเพียงครั้งเดียวในช่วงเริ่มดำเนินกิจการครั้งแรก

5. รอยัลตี้ฟี (Royalty Fee)

เป็นค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายอย่างต่อเนื่องตามสัดส่วนของผลการดำเนินงาน อาจจะเรียกเก็บเป็นเปอร์เซ็นต์ ต่อเดือนหรือต่อปีจากยอดขาย หรือบางทีก็อาจจะเก็บจากยอดสั่งซื้อสินค้าก็มี อธิบายคือค่าธรรมเนียมที่ผู้ขายแฟรนไชส์เรียกเก็บ จากผู้ซื้อแฟรนไชส์โดยมากมักจะคิดเป็นสัดส่วน จากผลการประกอบการของผู้ซื้อแฟรนไชส์

cv1

6. แอดเวอร์ไทซิ่ง ฟี (Advertising Fee)

ค่าธรรมเนียมที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องจ่ายให้กับผู้ขายแฟรนไชส์ เพื่อไปใช้ดำเนินการในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งโดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับผู้ขายแฟรนไชส์ว่า จะเรียกเก็บหรือไม่และมีรูปแบบการเก็บแตกต่างกันไป เช่น เก็บเป็นรายเดือน หรือเก็บเป็นรายปี โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นจากยอดขาย

7. แฟรนไชส์แพ็คเกจ ฟี (Franchise package Fee)

ค่าตอบแทนในระบบ หรือเทคนิคต่าง ๆ (เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกรวม ๆ ถ้าพูดเมื่อไรก็ให้เข้าใจว่าหมายถึงค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เช่น ค่าโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ค่าอบรม ฯลฯ รวมเบ็ดเสร็จอยู่ในคำๆ เดียว)

8. แฟรนไชส์แบบบุคคล (Individual Franchise/Sub-Franchise)

รูปแบบการให้สิทธิ์แฟรนไชส์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือนิติบุคคลองค์กรหนึ่งองค์กรใด ให้ดำเนินธุรกิจภายใต้เครื่องหมายการค้าหรือบริการจากแฟรนไชส์ซอ เพียงแค่เฉพาะตัวเฉพาะพื้นที่ตามข้อตกลง ไม่สามารถถ่ายทอดสิทธิ์ที่ได้รับมาให้กับบุคคลอื่นได้

cv2

9. Single unit Franchise

ลักษณะย่อยของรูปแบบการให้สิทธิ์แฟรนไชส์ Individual Franchise/Sub-Franchise โดย Single unit Franchise เป็นสิทธิ์ในการดำเนินกิจการเฉพาะตัวได้เพียงหนึ่งแห่ง

10. Multi unit Franchise

ลักษณะย่อยของรูปแบบการให้สิทธิ์แฟรนไชส์ Individual Franchise/Sub-Franchise โดย Multi unit Franchise เป็นสิทธิ์ในการดำเนินกิจการเฉพาะตัวได้หลายแห่งภายในพื้นที่กำหนด

cv3

11. แฟรนไชส์แบบพัฒนาพื้นที่ (Sub-Area License or Development Franchise)

รูปแบบการให้สิทธิ์แก่บุคคลใดหรือนิติบุคคล ในการทำตลาดแฟรนไชส์ในอาณาเขตที่กำหนด โดยที่ แฟรนไชส์ซีจะสามารถดำเนินธุรกิจที่ได้รับสิทธิ์มาจากแฟรนไชส์ซอมากกว่า 1 แห่ง และจะต้องขยายตลาด แฟรนไชส์ตามสิทธิ์ที่ได้รับมา ภายในระยะเวลาที่ได้ตกลงกันโดยสามารถขายสิทธิ์ที่ได้รับมาต่อให้กับบุคคลอื่นได้

12. แฟรนไชส์แบบตัวแทน (Master Franchise)

รูปแบบการให้สิทธิ์แก่บุคคลใดหรือนิติบุคคลหนึ่ง เป็นรายแรกในอาณาเขตระดับภูมิภาคหรือ ระดับประเทศตามที่กำหนดเพื่อให้บุคคลหรือ นิติบุคคลดังกล่าวดำเนินการขยายสาขา และทำการขยายการให้สิทธิ์หน่วยย่อยทั้งแบบ Individual Franchise หรือแบบ Sub-Area License แก่บุคคลอื่นในพื้นที่ต่อไป

13. คู่มือปฏิบัติงาน (Operation Manual)

คู่มือการดำเนินธุรกิจซึ่งเขียนขึ้นโดยผู้ขายแฟรนไชส์ เพื่อแนะนำถึงขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำงาน และการทำธุรกิจ สำหรับผู้ซื้อแฟรนไชส์ โดยปกติแล้ว Operation Manual จะมีข้อมูลที่ครอบคุมในทุกๆ ด้านของธุรกิจนั้น ซึ่งอาจมีเพียงเล่มเดียว หรือหลายเล่มก็ได้

cv4

14. การเลือกทำเล (Location Selection)

แฟรนไชส์ซอร์ต้องคัดเลือกผู้ลงทุนที่รอบคอบ จะต้องมีการตรวจสอบพื้นที่และตรวจสอบความเป็นไปได้ในการลงทุน การทำการสำรวจที่ต้องมองกลุ่มลูกค้า เป็นการสร้างความมั่นใจทั้งแฟรนไชส์ซอร์และผู้ต้องการลงทุน ที่จะเห็นภาพการลงทุน ล่วงหน้าที่คาดการไว้ชัดเจน การสำรวจที่ดีก็ต้องมีการใช้งบประมาณและเวลาในการจัดทำอย่างรอบคอบเช่นกัน

15. ภูมิศาสตร์ (Geographic Areas)

พื้นที่ที่ต่างกันในทางภูมิศาสตร์จะเป็นตัวกำหนดในเรื่องแผนการตลาด การขยายงาน ที่จะต้องมองภาระที่จะเกิดขึ้น ตามระยะห่างของสาขาความสามารถในการควบคุม ระบบการขนส่งการหาวัตถุดิบ การอำนวยความสะดวกต่างๆให้กับแฟรนไชส์ซี

หลักการคิดค่าแฟรนไชส์จะรวมค่าใช้ต่างๆไว้ก่อน การวางแผนในเขตพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการขยายตลาด ก็จะมีราคาสูงถ้าต้องการเน้นเก็บเกี่ยวประโยชน์เต็มที่ แต่ถ้าต้องการให้พื้นที่เป้าหมายนั้นเป็นตัวเร่งการขยายงาน ก็อาจจะวางราคาแฟรนไชส์ให้มีการจูงใจนักลงทุนมากขึ้น เช่นการให้ส่วนลด หรือ ลดค่าธรรมเนียมลง

16. ลักษณะทำเล (Specific Location)

ในแหล่งทำเลที่มีความเป็นไปได้ไม่ต้องการสร้างกิจกรรมการตลาดมากเกินไป ค่าแฟรนไชส์ก็อาจมีการจัดปรับให้ลดลง หรือคงตามมาตรฐาน แต่ในขณะที่เป็นพื้นที่อับต้องเน้นการส่งเสริมการขาย และทีมงานในการปรับสภาพตลาด ต้นทุนการจัดการที่สูงกว่า การจัดค่าธรรมเนียมก็อาจสูงเพิ่มขึ้น

cv5

17. ความเชี่ยวชาญ ความรู้เฉพาะ (Know – How)

ค่าการคิดค้นที่เป็นความรู้ความชำนาญพิเศษที่ต้องถ่ายทอดให้แฟรนไชส์ซีรับทราบ การกำหนดมูลค่าอาจรวบรวมจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการพัฒนา ค่าความนิยม ประโยชน์ทางการเงินที่ควรได้จากธุรกิจ เมื่อได้ยอดโดยรวมแล้วก็จะต้องมาหารเฉลี่ยกับ จำนวนสาขาที่คาดว่าจะสร้างขึ้นมาในตลาด เท่ากับเป็นการกระจายต้นทุนในแต่ละสาขานั่นเอง

18. ค่าเครื่องหมายการค้า และความนิยม (Trademark)

เป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนสร้างความเชื่อถือในตราสินค้า ที่ต้องสร้างด้วยระยะเวลาและงบประมาณ เช่นเดียวกันกับค่าความรู้ คือ จากยอดเต็มที่ได้นำมาหารเฉลี่ยในแต่ละสาขาตามจำนวนสาขาคาดการณ์

cv6

19. ค่าการบริหารงานทีมงานสนับสนุนของส่วนกลาง Organization Cost

เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานส่วนกลาง ที่บริษัทแม่จะต้องเรียกเก็บมาจากแฟรนไชส์ซีที่ จะทำให้การบริหารงานระบบทั้งหมดเป็นไปได้ด้วยดี ค่าการบริหารงานนี้อาจเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจาก การวางระบบงานด้านคอมพิวเตอร์ที่ต้องใช้ร่วมกัน ค่าใช้จ่ายระหว่างสร้างทีมงานที่ต้องจัดระบบงานก่อนที่จะสามารถสร้างรายได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยรวมนี้จะต้องแบ่งเฉลี่ยต่อสาขาเช่นเดียวกันด้วย

20. ค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ

ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นอื่นๆ เช่น ค่าที่ปรึกษา ค่าทนาย ค่าภาษีค่าธรรมเนียมต่างที่จะต้องเกิดขึ้นในการสร้างธุรกิจขึ้นมา อาจจะคำนวณจัดแบ่งค่าใช้จ่ายตามจำนวนสาขาเช่นกัน

เจ้าของธุรกิจที่ต้องการเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าจะให้สิทธิแก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ในรูปแบบไหน รวมถึงคำศัพท์ต่างๆ ที่ถือว่าสำคัญอย่างมาก ในการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ให้ประสบความสำเร็จ

อ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับแฟรนไชส์ คลิก goo.gl/2P3sGf
หรือสนใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ต่างๆ คลิก goo.gl/B9VLrJ

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3jEZDI8

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช