ประกอบกิจการในรูปแบบของบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล มีข้อดีข้อเสีย อย่างไร

สิ่งสำคัญใน การทำธุรกิจ คือการเลือกปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งการขออนุญาต หรือจดทะเบียนการค้าต่างๆ สำหรับคนที่เริ่มกิจการใหม่ๆแบบไม่ใหญ่มากส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบของบุคคลธรรมดา

แต่ก็มีอีกหลายธุรกิจที่เลือกจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล www.ThaiSMEsCenter.com จะพาทุกท่านไปดูรายละเอียดถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลธรรมดากับนิติบุคคลว่าต่างกันอย่างไร และธุรกิจที่เราคิดทำเหมาะกับการจดทะเบียนแบบไหน

แบบบุคคลธรรมดา

ประกอบกิจการในรูปแบบของบุคคลธรรมดา

ภาพจาก freepik.com

ข้อดี

  1. ใช้คนในการเริ่มก่อตั้งกิจการได้ง่าย แค่เพียง 1 คนก็สามารถจดทะเบียนธุรกิจได้
  2. สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง มีความคล่องตัวในการตัดสินใจสูง
  3. ไม่มีการแบ่งจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไร เจ้าของกิจการรับผลกำไรขาดทุนแต่เพียงผู้เดียว
  4. ข้อบังคับทางกฏหมายมีน้อย
  5. ค่าใช้จ่ายในด้านการบริหารต่ำ

ข้อเสีย

  1. ไม่อาจระดมความคิดจากใคร ต้องคิดเอง ทำเอง ตัดสินใจด้วยตัวเอง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ผิดวิธีหรือไม่ทันกับกระแสความต้องการในสังคมได้
  2. เป็นการเสียภาษีแบบเหมาจ่าย โดยการนำรายได้ของปีนั้นๆมาหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายตามแต่ลักษณะธุรกิจ เมื่อหักแล้วเหลือเท่าไรค่อยนำเอามาคำนวนเพื่อเสียภาษีแม้ในปีนั้นขาดทุน ก็ต้องเสียภาษี
  3. อัตราภาษีแบบก้าวหน้าเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย 1 แสนบาทแรก ยกเว้นภาษี เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย 1 แสน-5แสนบาทเสียภาษี10% เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย 5แสน-1ล้านบาทเสียภาษี20% เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย 1ล้าน-4ล้านบาทเสียภาษี30% เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย4ล้านบาทขึ้นไปเสียภาษี37%
  4. ไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจมาลดหย่อนภาษีได้
  5. ความน่าเชื่อถือต่ำ ก่อให้เกิดปัญหาในการติดต่อเจรจาโดยเฉพาะหากต้องแข่งขันกับพวกที่เป็นนิติบุคคล
  6. การขอสินเชื่อทำได้ยากเนื่องจากการไม่มีงบการเงินและเอกสารอื่นๆ ทำให้ธนาคารไม่เข้าใจสถานะทางธุรกิจ
  7. หากธุรกิจเกิดความเสียหายเจ้าของธุรกิจเป็นผู้แบกภาระทั้งหมดไว้แต่เพียงผู้เดียว ไม่สามารถกระจายความเสี่ยงได้
  8. ตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีไม่บังคับให้ต้องจัดทำบัญชี แต่ในทางภาษีอากรต้องจัดทำบัญชีเงินสด รับ-จ่าย โดยเฉพาะการเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร (ค่าใช้จ่ายจริง)

แบบนิติบุคคล

41

ภาพจาก freepik.com

ข้อดี

  1. มีผู้ร่วมลงทุนมากกว่า 2 คนขึ้นไป ทำให้มีเสถียรภาพและมีความน่าเชื่อถือรวมถึงยังเป็นการสร้างรากฐานองค์กรที่แข็งแรงได้
  2. ได้รับยกเว้นเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดา
  3. ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งมีทุนที่ชําระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท
  4. สามารถรระดมเงินทุนจากผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้น ทำให้สามารถมีเงินทุนหมุนเวียนในกิจการได้สูง
  5. มีการประชุมระดมความคิดมันสมองเข้ามาใช้ในการดำเนินกิจการ ทำให้เกิดความหลากหลายในความคิดและมุมมอง
  6. กรณีประสบผลขาดทุนสุทธิก็ไม่ต้องเสียภาษี ก็จะสามารถยกผลขาดทุนสุทธิไปหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีต่อไปได้ ไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชี
  7. สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้เช่นค่าเสื่อมสภาพเครื่องจักร ค่าอบรมพนักงาน เป็นต้น
  8. สามารถขอสินเชื่อจากธนาคารได้ง่ายเพราะมีเสถียรภาพในด้านเอกสารและสถานะที่ทางธนาคารได้รับทราบตลอดเวลาทำให้เข้าใจสภาพขององค์กรเป็นอย่างดี
  9. นิติบุคคลจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างสม่ำเสมอ เช่น มาตรการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจต่างๆ , มาตรกรจากกรมสรรพากร เป็นต้น
  10. ธุรกิจดูน่าเชื่อถือ ทำให้ง่ายต่อการติดต่อประสานงาน หรือติดต่อซื้อขายกับธุรกิจรายอื่นๆ 

ข้อเสีย

  1. การมีคณะกรรมการบริหาร มีการระดมความคิด อาจทำให้เกิดความล่าช้าในการตัดสินใจ และอาจนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งภายในได้
  2. มีคณะกรรมการบริหาร หากต้องมีการตัดสินใจที่สำคัญๆ ต้องขอมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น อาจทำให้ขาดความคล่องตัว
  3. หากมีผลขาดทุนจากการประกอบกิจการ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งบาดหมางกันได้
  4. ต้องมีหน้าที่จัดทำบัญชี และจัดให้มีการสอบบัญชีโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

ทำธุรกิจแบบไหนควรเป็นบุคคลธรรมดา แบบไหนควรเป็นนิติบุคคล?

40

ภาพจาก freepik.com

บุคคลธรรมดาส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจทั่วไปที่ไม่ซับซ้อน เช่น ซื้อมาขายไป ร้านค้าออนไลน์ แต่ลักษณะการเสียภาษีจะสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล เพราะคิดตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามลำดับขั้นบันได ถ้ามีรายได้มาก ก็จะเสียภาษีมากตามอัตราภาษีสูงสุดของกำไรหลังหักค่าใช้จ่าย

ส่วนธุรกิจที่ควรเป็นนิติบุคคลคือกลุ่มที่เป็น SMEs เพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการของภาครัฐ เช่น สิทธิในการหักลดหย่อน ไม่ว่าจะมาจากค่าวิจัยและพัฒนา ค่าฝึกอบรมพนักงาน ค่าประกันภัยและค่าประกันชีวิตพนักงาน เป็นต้น โดยเฉพาะสิทธิลดอัตราภาษี แต่ต้องเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่มีเงื่อนไขตามที่สรรพากรกำหนดไว้เท่านั้น คือ มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้น้อยกว่า 30 ล้านบาทต่อปี

เหตุผลที่การจดทะเบียนนิติบุคคลดูจะได้มีประโยชน์มากมายแต่หลายคนก็ไม่อยากทำ เป็นเพราะความเคยชินกับการเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา ซึ่งนั่นอาจเป็นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับผู้เริ่มธุรกิจ แต่เมื่อธุรกิจเริ่มโตไปเรื่อยๆ แล้ว นั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดไม่ว่าจะในแง่ภาษีหรือในแง่การลงทุนอีกต่อไป รวมถึงหลายคนมองว่ากระบวนการยุ่งยาก ซับซ้อน แต่ที่จริงการจดทะเบียนนิติบุคคลถ้าหลักฐานครบถ้วนสามารถทำเสร็จได้ภายใน 1 วันเท่านั้น


ท่านใดสนใจอยากให้ร่างสัญญาแฟรนไชส์โดยถูกต้องตามหลักกฎหมายแจ้งความประสงค์ได้ที่
โทร : 02-1019187, Line : @thaifranchise

2

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล
https://bit.ly/3bBG0fQ , https://bit.ly/2WycLGA , https://bit.ly/2WW0x9L , https://bit.ly/2y2V5JI

อ่านบทความเพิ่มเติม https://bit.ly/3gqAgZX

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด