บทเรียนจาก KOREAKING การโฆษณายุคใหม่ ที่เราควรรู้ไว้!
ดูท่าว่าจะกลายเป็นเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวสำหรับเรื่องกระทะ KOREAKING ที่กำลังบานปลายและกลายมาเป็นประเด็นทั้งดราม่าและน่าคิดมากที่สุดในตอนนี้ หากตัดประเด็นดราม่าออกไปเช่น กระทะแพงก็อยู่ที่ความพอใจของการซื้อขายใครอยากซื้อก็ซื้อ หรือ เขาก็มีค่าการตลาดของเขาการโฆษณาก็เป็นกลยุทธ์ของเขา ใครๆก็ทำกัน เหล่านี้เป็นต้น
เมื่อประเด็นนี้เราจะไม่พูดถึงแต่เราจะมองในแง่ธุรกิจว่าบทเรียนจาก KOREAKING นี้สอนประสบการณ์โฆษณาสินค้ายุคใหม่ไว้อย่างไรบ้าง www.ThaiSMEsCenter.com อยากนำเสนอเรื่องนี้เพื่อเป็นบรรทัดฐานสำคัญสู่แนวทางการโฆษณาสินค้าในอนาคต ก่อนอื่นมาสรุปประเด็นสำคัญที่กระทะ KOREAKING ได้รับหลังจากการพิจารณาเรื่องนี้เสร็จสิ้นเรียบร้อย
1.เริ่มต้นด้วยผลการประชุมของ สคบ. ระบุว่า ราคาตั้งของกระทะ KOREAKING Gold Series 15,000 บาท และ Diamond Series 18,000 บาท เป็นราคา Fake Original Price หรือปลอมราคาจริง และโฆษณาคุณภาพของสินค้าไม่เป็นไปตามความจริง ถือว่าไม่เป็นธรรมและมีผลต่อผู้บริโภค
ภาพจาก goo.gl/gxdHHs, goo.gl/0ps8zY
2.ประเด็นที่น่าจะโดนใจผู้บริโภคมากที่สุด คือ การโฆษณาว่ามีการเคลือบ 8 ชั้น แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า Gold Series มีการเคลือบ 5 ชั้น ส่วน Diamond Series เคลือบ 2 ชั้น แต่ต้องรอผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งหากยืนยันตามนี้ เท่ากับเป็นการโฆษณาที่ไม่เปิดความจริง
3.สำหรับการตรวจสอบตามข่าวก่อนหน้านี้ มีการส่งกระทะKOREAKING ไปที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC, กรมวิทยาศาสตร์บริการ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อตรวจสอบ วิเคราะห์ ส่วนประกอบของกระทะอย่างจริงจัง เมื่อผลดังนี้ สคบ. จึงสั่งให้ บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ผู้นำเข้ากระทะKOREAKING ห้ามโฆษณา และให้มีการแก้ไขคำโฆษณาให้เรียบร้อย
3 บทเรียนจาก KOREAKING ที่โฆษณาสินค้ายุคใหม่ต้องรู้
1.เปิดประเด็นข้อเท็จจริงให้ชัดเจน
กรณีของกระทะKOREAKING เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะตลอดเวลากว่าปีที่ผ่านมา หลายคนชื่นชอบในคุณสมบัติที่มีการโฆษณาของกระทะแบรนด์นี้ แต่หลายคนก็แปลกใจและสงสัยเกี่ยวกับราคาขาย ที่ตั้งไว้สูงและลดราคาลงมาเยอะมาก สรุปต้นทุนที่แท้จริงคือเท่าไร และทำกำไรได้จริงหรือไม่ ถ้าเปิดราคาจริงมาตั้งแต่แรก อาจจะไม่โดนโจมตีขนาดนี้
2.ยุคแห่งสังคมออนไลน์ผู้บริโภคยิ่งสงสัยยิ่งล้วงลึกข้อมูลมากขึ้น
ยิ่งเมื่อตัวเลขงบโฆษณาปรากฎออกมาตามการสำรวจของ นีลเส็น พบว่า KOREAKING เป็นแบรนด์ที่มีการใช้งบโฆษณาสูงที่สุด แซงหน้าแบรนด์ยักษ์ใหญ่หลายราย เท่ากับว่าKOREAKING เป็นกระทะที่ราคาหมื่นกว่าบาท ลดเหลือพันต้นๆ และใช้งบโฆษณาสูง ประกอบกับการโฆษณาที่ชวนสงสัยหลายประเด็นก่อให้เกิดการค้นหาข้อมูล และความจริง นั้นรวมถึงต้นทางของเรื่องนี้จากนักท่องเที่ยวที่ไปสิงคโปร์และระบุว่าKOREAKING ในสิงคโปร์ราคาเพียง 600 บาทเท่านั้น จากนั้นก็ก่อให้เกิดเรื่องราวมากมายตามมาอย่างที่เห็น
3.พลังของโซเชี่ยลไม่ใช่เรื่องล้อเล่นอีกต่อไป
เมื่อมีการนำเสนอข่าวและเผยแพร่ข้อมูลจากสินค้า KOREAKING ในสิงคโปร์แม้คนโพสต์จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ทำให้เกิดการแชร์ ส่งต่อและแสดงความคิดเห็นเป็นวงกว้างจนสำนักข่าวต้องหยิบเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นและกลายเป็นกระแสกระหึ่มในโลกโซเชี่ยล นั้นแสดงให้เห็นว่าหากเรามุ่งหวังสร้างแบรนด์ให้โด่งดังช่องทางโซเชี่ยลถือว่าสำคัญพอๆกับการทำให้เสียชื่อเสียงที่รวดเร็วไม่แพ้ใครเช่นกัน
ซึ่งโซเชี่ยลพลังเพียงพอที่จะเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบได้ดังนั้น ความจริงใจ คือสิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจยิ่งตรวจสอบพบว่า มีข้อเท็จจริงที่เป็นไปได้ว่า ไม่ตรงกับการโฆษณา ผลที่เกิดจะกลายเป็น วิกฤตสำหรับแบรนด์ในทันที
กรณีศึกษาสำหรับสินค้าที่อาจเจอแบบเดียวกันนี้ในอนาคต
ภาพจาก goo.gl/fohjIl
ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ยิ่งเป็นสินค้าดังมากเท่าไหร่โอกาสที่คนสนใจก็มีมากและก็มีแนวโน้มที่อาจเกิดปัญหาได้เช่นกันดังนั้นในอนาคตหากสินค้าเราเจอกับวิกฤติที่ว่านี้อันดับแรกคือต้องทำให้ ผู้บริโภคต้องรู้ก่อนว่า การตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์, บ้าน, โทรศัพท์มือถือ หรืออะไรก็ตาม ทุกอย่างมีต้นทุนทั้งที่สามารถตรวจสอบได้ เช่น วัตถุดิบ กระบวนการผลิต การลงทุนต่างๆ แต่ก็มีต้นทุนที่มองไม่เห็นอยู่ด้วย เช่น การวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้นวัตกรรมใหม่ หรือการใช้งบการตลาด งบโฆษณาด้วย
ทั้งหมดรวมเป็นต้นทุน เมื่อบวกกำไรที่เหมาะสม จะได้ราคาสินค้า ซึ่งหากไม่ใช่สินค้าในควบคุมราคาโดยภาครัฐ ราคาสินค้าก็อาจจะสูง แต่อำนาจตัดสินใจซื้อก็ขึ้นกับผู้บริโภค ที่จะพิจารณาว่า ราคาสูงเกินไปหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่
แต่กรณีของKOREAKING มีเรื่องการตรวจสอบที่ไม่ตรงกับโฆษณารวมอยู่ด้วย ทำให้ประเด็นดังกล่าว กลายเป็นวิกฤตของแบรนด์ในทันที จากนี้ต้องพิจารณาว่า ข้อเท็จจริงที่แบรนด์มีอยู่ในมือคืออะไร จะนำออกมาใช้อย่างไรเพื่อจัดการกับวิกฤตครั้งนี้สิ่งที่น่าจะผ่อนความรู้สึกสับสนหรือไม่พอใจของผู้บริโภคได้เร็วที่สุด คือ การออกมาขอโทษ มีมาตรการเยียวยา พร้อมกับชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา
กรณีของKOREAKING น่าจะเป็นกรณีแรกที่เกิดขึ้น ที่มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบรายละเอียดของสินค้าอย่างจริงจัง และถือเป็นสัญญาณเตือนไปยังแบรนด์สินค้าอื่นๆ ที่วางจำหน่ายในตลาด โดยเฉพาะที่ขายผ่านทางโทรทัศน์ ที่มีการลดราคามากๆ มีของแถมเยอะๆ สรุปแล้ว ต้นทุนที่เหมาะสมกับราคาที่เหมาะสม
รวมถึงคุณสมบัติของสินค้า เป็นไปตามความจริงหรือไม่ ที่สำคัญ สคบ. หน่วยงานที่ต้องดูแลผู้บริโภค อาจต้องทำงานเชิงรุกให้หนักขึ้นเพื่อดูแลสินค้าในตลาดให้มีความเหมาะสม มีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้บริโภคด้วย แม้คำถามสุดท้ายที่ตามมาตอนนี้คือในช่วงแรกที่KOREAKING ขออนุญาตโฆษณาทำไมถึงผ่าน สคบ. ได้จะน่าสงสัยไม่แพ้กันทีเดียว
สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S