นายกฯ FLA ชี้แบรนด์ใหญ่ขายแฟรนไชส์ไซส์เล็ก “เสี่ยง” หากไม่มีการเก็บค่าแฟรนไชส์
หลังจากช่วงโควิด-19 เริ่มเห็นข่าวเกี่ยวกับ แฟรนไชส์ร้านอาหาร มากขึ้นทั้งแบรนด์เล็กไปจนถึงแบรนด์ขนาดใหญ่ การบินไทยมีแผนจะขายแฟรนไชส์ปาท่องโก๋ซอสมันม่วง
หรือล่าสุดทางฟู้ดแพชชั่นปั้นแบรนด์น้องใหม่ “หมูทอดกอดคอ” เปิดขายแฟรนไชส์ ไม่คิดค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์และค่าสิทธิรายเดือนใดๆ พร้อมให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับคนที่ซื้อแฟรนไชส์ไปด้วย
ภาพจาก bit.ly/3davoHa
นอกจาก 2 แบรนด์ใหญ่ดังกล่าวที่หันมาทำแฟรนไชส์ไซส์เล็ก ยังมีอีก 3 แบรนด์ใหญ่อย่าง CRG เปิดขายแฟรนไชส์ภายใต้แบรนด์ “อร่อยดี” Zen ขายแฟรนไชส์แบรนด์ “เขียง” และเชสเตอร์ในเครือซีพีขายแฟรนไชส์ “ตะหลิว” ซึ่งทั้ง 3 แฟรนไชส์ได้ปรับลดขนาดของร้านให้เล็กลงจากเดิม เพื่องบประมาณการลงทุนจะได้น้อยลง ให้สามารถขยายสาขาได้ง่ายในช่วงหลังโควิด-19
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com มีโอกาสสัมภาษณ์ 2 กูรูแฟรนไชส์เมืองไทย ถึงกรณีแบรนด์ใหญ่ขายแฟรนไชส์ไซสเล็ก ลงทุนต่ำ ไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ เลย ขายแค่วัตถุดิบ มีโอกาสสำเร็จมากน้อยแค่ไหน รวมถึงทำไมแบรนด์ใหญ่แห่ขายแฟรนไชส์ในช่วงนี้อย่างต่อเนื่อง มาดูกันว่ามุมมองของทั้งสองท่านเป็นอย่างไร
แบรนด์ใหญ่ขายแฟรนไชส์ไซส์เล็ก…เสี่ยงระยะยาว
คุณบุญประเสริฐ พู่พันธุ์ นายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ (FLA) มองว่ากรณีที่บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เจ้าของร้านอาหารบาร์บีคิวพลาซ่า เรดซัน และจุ่มแซ่บฮัท เปิดขายแฟรนไชส์แบรนด์ “หมูทอดกอดคอ” ลงทุนเริ่มต้น 11,900 บาท ซึ่งถือเป็นแฟรนไชส์ไซส์เล็ก ลงทุนต่ำ ไม่เก็บค่า Franchise Fee ไม่เก็บค่า Royalty Fee และ Marketing Fee ถือว่าอันตรายและมีความเสี่ยงสูง
แม้ว่าบริษัทแม่แฟรนไชส์ต้องการที่จะสร้างอาชีพให้ประชาชนที่อยากมีรายได้เพิ่มช่วงโควิด-19 ขณะที่ในมุมของผู้ซื้อแฟรนไชส์กลับคิดว่าลงทุนไปแล้วต้องประสบความสำเร็จ เพราะแบรนด์แม่ต้องดูแลซัพพอร์ตเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่เป็นแฟรนไชส์ไซส์เล็ก ลงทุนต่ำ ไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น
ขายวัตถุดิบให้ร้านสาขาอย่างเดียว หากมีคนซื้อแฟรนไชส์ไปกว่า 1 หมื่นสาขา ถ้าแบรนด์แม่ไม่มีระบบซัพพอร์ตสาขาแฟรนไชส์ที่มากกว่าการให้แต่ละสาขาแฟรนไชส์โอนเงินเข้ามาแล้วจัดส่งวัตถุดิบให้ เชื่อว่าเมื่อทำไปในระยะยาวอาจมีปัญหาเกิดขึ้นตามมา เพราะหากมีผู้ซื้อแฟรนไชส์ไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จเหมือนที่คิดไว้ ขายไม่ดี
พวกเขาก็จะโทษแบรนด์แม่ว่าดูแลซัพพอร์ตไม่ดี เพราะเขาคิดแต่แรกแล้วว่าแบรนด์แม่ต้องซัพพอร์ตเป็นอย่างดี ซื้อไปแล้วสำเร็จแน่นอน สุดท้ายก็ส่งผลเสียต่อแบรนด์แม่ ทำให้คนที่อยากซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดสร้างรายได้ก็ไม่กล้าที่จะเสี่ยง เพราะเห็นคนซื้อไปก่อนหน้าไม่สำเร็จ
คุณบุญประเสริฐ อธิบายต่อว่า หากจะสร้างอาชีพจริงๆ ประชาชนสามารถเปิดดูยูทูปก็ทอดหมูได้ แต่เหตุผลที่ประชาชนมาลงทุนแฟรนไชส์ก็เพราะอยากลดความเสี่ยง อยากให้แบรนด์แม่แฟรนไชส์ซัพพอร์ตอย่างเป็นระบบ
แต่ถ้าบริษัทแม่เปิดร้านมาระยะหนึ่ง มีการศึกษาและวิเคราะห์ทำเลให้ดีว่าตรงไหนเปิดได้หรือไม่ได้ ที่ตรงไหนสำเร็จหรือไม่สำเร็จ บริษัทแม่ต้องบอกผู้ซื้อแฟรนไชส์ว่าพื้นที่ตรงไหนเปิดร้านได้บ้าง ตรงนี้จะช่วยให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์มีความเสี่ยงน้อยลง
เมื่อถามว่าทำไมแบรนด์ใหญ่ๆ หันมาขายแฟรนไชส์ คุณบุญประเสริฐ อธิบายว่า ถือเป็นเรื่องปกติของแบรนด์ใหญ่ๆ ที่จะหาช่องทางการขยายสาขาหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด ที่ผ่านมาทำเลในห้างประสบปัญหาจึงกระจายออกไปนอกห้าง ซึ่งฟื้นที่นอกห้างมีขนาดใหญ่มาก
แบรนด์ต่างๆ จึงต้องขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ เพราะขยายสาขาได้เร็ว ประหยัดเงินลงทุน ที่สำคัญรองรับเดลิเวอรี่ได้ด้วย แม้โควิดจะกลับมาระบาดอีกครั้ง ถ้าห้างปิดก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อร้านที่เปิดนอกห้าง
เทรนด์! แบรนด์ใหญ่แห่ขายแฟรนไชส์นอกห้าง
อาจารย์สุภัค หมื่นนิกร ผู้ก่อตั้งสถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร (FFI) ให้ความเห็นว่า การที่บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เจ้าของร้านอาหารบาร์บีคิวพลาซ่า เรดซัน และจุ่มแซ่บฮัท เปิดขายแฟรนไชส์แบรนด์ “หมูทอดกอดคอ” ถือว่าถูกแล้วในการเดินหน้าธุรกิจในช่วงโควิดคลี่คลาย เนื่องจากบริษัทมีความพร้อมทุกอย่าง ทั้งโรงงานการผลิต ทีมการตลาด และมีประสบการณ์
ขณะที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ก็จะได้มั่นใจในแบรนด์แม่ ซื้อแฟรนไชส์ไปแล้วประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนเมื่อเทียบกับการไปซื้อแฟรนไชส์แบรนด์เล็กๆ ที่ใช้เงินลงทุนเท่ากัน แต่ไม่มีความมั่นคง ขณะที่แบรนด์ใหญ่จะมีความพร้อมในเรื่องระบบการซัพพอร์ต ถ้าหากแบรนด์แม่มีระบบการซัพพอร์ตแฟรนไชส์ซีที่ดี ก็จะทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง
สำหรับกรณีแบรนด์ใหญ่ๆ หันมาสร้างแบรนด์ใหม่แล้วขายแฟรนไชส์ อาจารย์สุภัค มองว่า ช่วงเกิดการระบาดโควิด-19 แบรนด์ใหญ่ๆ จะเปิดให้บริการในห้างซึ่งได้รับผลกระทบจากการปิดให้บริการชั่วคราว
อีกทั้งลูกค้าเดินห้างน้อยลง จึงทำให้แบรนด์ใหญ่เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่หลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ด้วยการสร้างแบรนด์ใหม่แล้วขายแฟรนไชส์ โดยใช้ทำเลที่ตั้งนอกห้างแทน ที่สำคัญใช้เงินลงทุนน้อยกว่าเปิดร้านในห้าง เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้ทานอาหารที่รู้สึกปลอดภัยกว่าในห้าง
ขณะเดียวกัน ธุรกิจแฟรนไชส์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะมีขนาดไซส์เล็กลง เพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนลูกค้าที่เข้าใช้บริการยุคโควิด และทำเลที่ตั้งในการเปิดร้านแฟรนไชส์จะอยู่นอกห้างเป็นส่วนใหญ่ เพราะสามารถรองรับเดลิเวอรี่ได้ดีกว่า และหลังจากนี้เราจะได้เห็นแบรนด์ใหญ่ๆ สร้างแบรนด์ขึ้นใหม่แล้วขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์มากขึ้น
ต้องติดตามดูว่า มุมมองของทั้ง 2 กูรูแฟรนไชส์ไทยจะแม่นหรือใกล้เคียง
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
ขอบคุณรูปภาพจาก https://mgronline.com/
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3dpjkls