ทฤษฎีใหม่! 4 รูปแบบโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ ในปี 2023
การดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบมีแนวทางธุรกิจแตกต่างกัน หากคนที่ไม่รู้ว่าแฟรนไชส์ที่ตัวเองสนใจและกำลังดำเนินกิจการอยู่นั้นเป็นลักษณะแบบไหน อาจจะพลาดโอกาสดีๆ ที่จะได้ธุรกิจแฟรนไชส์ที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด
หากอยากรู้ว่าแฟนไชส์ที่สนใจเป็นแบบไหน และแต่ละแบบมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะนำเสนอให้ทราบ
1. Company Owned Company Operated (COCO) บริษัทเจ้าของแบรนด์เป็นเจ้าของร้าน และบริหารจัดการเอง
โมเดลธุรกิจที่บริษัทเจ้าของแบรนด์เป็นเจ้าของร้านและเป็นผู้บริหารจัดการเองทุกอย่าง ทั้งการลงทุน การบริหารจัดการร้าน การขยายสาขา การจ้างพนักงาน ผู้จัดการร้าน รวมถึงรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยบริษัทเจ้าของแบรนด์จะมีรายได้และผลกำไรแต่เพียงผู้เดียว และรับผิดชอบในกรณีกิจการร้านขาดทุนแต่เพียงผู้เดียวด้วย
สำหรับธุรกิจหรือร้านในรูปแบบดังกล่าว จะสามารถเปิดดำเนินการเพื่อเป็นร้านต้นแบบ เมื่อกิจการมีรายได้และผลกำไรดี ได้รับความนิยม สามรารถต่อยอดไปสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์และขายแฟรนไชส์ให้กับผู้ที่สนใจกิจการหรือธุรกิจได้
ตัวอย่างร้านที่บริษัทเจ้าของแบรนด์เป็นเจ้าของและบริหารจัดการเอง ได้แก่ เอ็มเค สุกี้, บาร์บีคิว พลาซ่า, สุกี้ ตี๋น้อย, วราภรณ์ ซาลาเปา, ฮะจิบังราเมน, ร้านขนมหวาน เช็ง ซิม อี๊, มนต์นมสด, เคอรี่ เอ็กซ์เพรส, Sukiya (สุคิยะ), นิตยา ไก่ย่าง, บี-ควิก, Tiger Sugar Thailand, Brown Café, The Alley, KOI Thé, BEARHOUSE, Cha Tra Mue, Jones Salad ฯลฯ
2. Company Owned Franchise Operated (COFO) บริษัทเจ้าของแบรนด์เป็นเจ้าของร้าน แต่แฟรนไชส์ซีบริหารจัดการ
โมเดลธุรกิจที่บริษัทเจ้าของแบรนด์เป็นเจ้าของร้าน แต่แฟรนไชส์ซีเป็นผู้บริหารจัดการ โดยเบื้องต้นบริษัทเจ้าของแบรนด์จะเป็นผู้ริเริ่มทำธุรกิจและเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาสถานที่เปิดร้าน ค่ามัดจำเช่าสถานที่ ค่าวัตถุดิบ ค่าอุปกรณ์ ส่วนแฟรนไชส์จะดูแลในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การจ้างพนักงาน ค่าเช่าสถานที่ ค่าไฟ ค่าน้ำ ซึ่งบางธุรกิจบริษัทเจ้าของแบรนด์จะดูแลในเรื่องค่าเช่าสถานที่ หรือบางครั้งก็ให้แฟรนไชส์ซีเป็นผู้รับผิดชอบ
ข้อดีของรูปแบบแฟรนไชส์ดังกล่าว คือ แฟรนไชส์จะมีค่าใช้จ่ายน้อยในการเริ่มต้นทำธุรกิจ เพราะแฟรนไชส์ซอร์หรือบริษัทเจ้าของแบรนด์เป็นผู้ลงทุนให้ แต่ด้วยการลงทุนที่ต่ำจึงทำให้แฟรนไชส์ซีได้รับส่วนแบ่งรายได้และกำไรต่ำตามไปด้วย
โมเดลแฟรนไชส์รูปแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในกรณีบริษัทเจ้าของแบรนด์หรือแฟรนไชส์ซอร์ ไม่ต้องการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบริการจัดการร้าน รวมถึงไม่มีระบบในเรื่องของการบริหารจัดการร้านและพนักงาน จึงมองหาแฟรนไชส์ซีที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยดูแลและบริการจัดการร้านแทนเหมือนกับเป็นผู้ประกอบการเอง แต่ถ้าแฟรนไชส์ซีบริการจัดการร้านไม่ดีก็จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของแบรนด์
ตัวอย่างโมเดลธุรกิจที่บริษัทเจ้าของแบรนด์เป็นเจ้าของร้าน แต่แฟรนไชส์ซีเป็นผู้บริหารจัดการ เช่น แฟรนไชส์ซี (ผู้รับเหมา) บริหารจัดการโรงอาหารในบริษัทหรือองค์กร โรงงาน โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ รวมถึงโครงการบ้านจัดสรรและคอนโด จะมีแฟรนไชส์ซี (นิติบุคคล) เข้ามาเป็นผู้บริหารจัดการโครงการ และบริษัทรักษาความปลอดภัย (รปภ.)
3. Franchise Owned Company Operated (FOCO) แฟรนไชส์ซีเป็นเจ้าของร้าน แต่บริษัทเจ้าของแบรนด์บริหารจัดการ
โมเดลธุรกิจที่แฟรนไชส์ซีเป็นเจ้าของพื้นที่ เจ้าของสถานที่ ผู้ดูแลสถานที่ หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และเป็นผู้ลงทุนในช่วงเริ่มต้น ส่วนบริษัทเจ้าของแบรนด์จะเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการหารดำเนินงานต่างๆ การก่อสร้างและติดตั้งร้าน ติดตั้งอุปกรณ์ ติดตั้งเครื่อง โดยแฟรนไชส์ซีหรือเจ้าของพื้นที่จะได้รับส่วนแบ่งกำไรผลการดำเนินกิจการจากบริษัทเจ้าของแบรนด์ แต่บางครั้งถ้าผลประกอบการหรือยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า แฟรนไชส์ซีก็จะได้รับส่วนแบ่งน้อยตามไปด้วย
ตัวอย่างโมเดลธุรกิจที่แฟรนไชส์ซีเป็นเจ้าของร้าน เป็นเจ้าของทรัพย์สิน แต่บริษัทเจ้าของแบรนด์เป็นผู้บริหารจัดการ เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับตู่จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ธุรกิจหยอดเหรียญ ตู้เติมเงิน ตู้กดน้ำ ตู้เอทีเอ็ม เครื่องซักผ้า ฯลฯ
สำหรับแบรนด์แฟรนไชส์ที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบ FOCO เช่น ซันเวนดิ้ง โดยแฟรนไชส์ซีเจ้าของสถานที่จะเป็นผู้ลงทุนเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 30 เครื่อง 600,000 บาท ระยะเวลาสัญญา 3 ปี ส่วนแบ่งจากกำไรการขายสินค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ สัดส่วนแฟรนไชส์ซีร้อยละ 65 และ SVT ร้อยละ 35
คาเฟ่ อัตโนมัติ 24 ชั่วโมง “เต่าบิน” เจ้าของพื้นที่ เช่น บริษัท โรงงาน โรงพยาบาล โรงแรม คอนโด มหาวิทยาลัย ฯ ทางเต่าบิน ไปขอติดตั้งและดูแลตู้ให้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย (ยอดขายขั้นต่ำ 85 แก้ว/วัน) โดยพื้นที่ต้องผ่านการประเมินจากบริษัท
4. Franchise Owned Franchise Operated (FOFO) แฟรนไชส์ซีเป็นเจ้าของร้าน และบริหารจัดการเอง
โมเดลธุรกิจที่แฟรนไชส์ซีเป็นเจ้าของร้านและบริหารจัดการร้านเอง โดยแฟรนไชส์ซีจะเป็นผู้จัดหาเงินทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยได้รับการถ่ายทอดรูปแบบและขั้นตอนการทำงานจากแฟรนไชส์ซอร์
ข้อดีก็คือแฟรนไชส์ซอร์มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนน้อย เพราะใช้เงินส่วนหนึ่งจากแฟรนไชส์ซี ส่วนยอดขายและผลกำไรรวมถึงขาดทุนจะเป็นของแฟรนไชส์ซี โดยแฟรนไชส์ซอร์จะได้รับส่วนแบ่งเล็กน้อยจากค่าแฟรนไชส์, ค่าสิทธิรายเดือน รวมถึงค่าสินค้าและวัตถุดิบบางส่วน โดยปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ทั่วโลกประมาณ 90% จะดำเนินกิจการในรูปแบบ FOFO
ตัวอย่างโมเดลธุรกิจที่แฟรนไชส์ซีเป็นเจ้าของร้านและบริหารจัดการร้านเอง เช่น ธุรกิจห้าดาว, เชสเตอร์ , บาจา , กาแฟพันธุ์ไทย, ออฟฟิศเมท, ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส และเซเว่นอีเลฟเว่น, มินิโซ ประเทศไทย, ถูกดี มีมาตรฐาน, สตาร์คอฟฟี่, อินทนิล, คาเฟ่ อเมซอน, ไฮพอร์ค, ไจแอ้นลูกชิ้นระเบิด, เคเอฟซี, แมคโดนัลด์ ฯลฯ
นั่นคือ 4 รูปแบบโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ในโลก ที่ได้รับความนิยมทั้งจากบริษัทเจ้าของแบรนด์ (แฟรนไชส์ซอร์) และผู้ขอรับสิทธิในการดำเนินกิจการ (แฟรนไชส์ซี)
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/335phDi
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
ข้อมูล https://bit.ly/3RZHHsY
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3yYQBQt