ถอดรหัสแฟรนไชส์ไทย ยุค Next Normal
การระบาด ของโควิค-19 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดผลกระทบในวงกว้างไปทั่วโลก ทำให้ทุกคนถูกผลักเข้าสู่ยุค “New Normal” หรือ วิถีชีวิตความปกติใหม่ไปโดยปริยาย
พฤติกรรมของผู้บริโภคสินค้าเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิต การทำงาน ไปจนถึงการดูแลชีวิตและสุขภาพ ขณะที่ธุรกิจก็ปรับตัวเข้าสู่ยุค New Normal ร้านอาหารให้บริการลูกค้าซื้อกลับบ้านหรือเดลิเวอรี่ พนักงานสวมหน้ากาก ทำความสะอาดทุกๆ ชั่วโมง เพื่อรักษายอดขายให้อยู่รอด
เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนจากโควิด-19 “วิถีของธุรกิจในยุคใหม่” หรือ “Next Normal” จึงเปลี่ยนเพื่อก้าวต่อไป ผู้ประกอบการทุกคนต้องทำเพื่อให้องค์กรอยู่รอด คือ ต้องวิ่งให้ทันความต้องการใหม่ให้รวดเร็วหลายเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ที่หลายๆ คนต้องตกงาน ว่างงาน จากวิกฤติโควิด-19
ภาพจาก bit.ly/3nvUHIs
ธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นหนึ่งในโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์คนตกงานได้ดี เนื่องจากสามารถสร้างอาชีพให้กับประชาชนหลังวิกฤติโควิด-19 เพราะเป็นธุรกิจที่ลงทุนง่าย ผู้ลงทุนไม่ต้องเสียเวลาในการสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่
เพียงแค่ปฏิบัติตามระบบที่เจ้าของแฟรนไชส์กำหนดเอาไว้ ก็สามารถเปิดร้านขายได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาสร้างแบรนด์ ทำการตลาด เพราะเจ้าของแฟรนไชส์ หรือ “แฟรนไชส์ซอร์” ได้ออกแบบระบบที่มีมาตรฐาน และจัดทำคู่มือให้ผู้ลงทุนปฏิบัติตามอย่างง่ายดาย
ดังนั้น “วิถีของธุรกิจแฟรนไชส์ในยุคใหม่” หรือ “Next Normal” ผู้ประกอบการธุรกิจ หรือเจ้าของกิจการจะเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจมาสู่ระบบแฟรนไชส์มากขึ้น ธุรกิจจะถูกออกแบบมาให้เข้ากับสถานการณ์ยุคใหม่ จะเห็นได้ว่าในขณะนี้แบรนด์ร้านอาหารใหญ่ๆ ใช้วิธีการขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ เพราะเพิ่มจำนวนสาขาได้รวดเร็ว ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการลงทุน
ภาพจาก bit.ly/36Jvkgk
ยกตัวอย่างกรณี บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG ซึ่งดำเนินกิจการด้านอาหารมา 42 ปี ก็เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจเตรียมเปิดขายแฟรนไชส์แบรนด์ “อร่อยดี” ร้านอาหารไทยจานด่วน ตั้งเป้า 5 ปี ขยายสาขา 300 แห่ง แบ่งเป็น CRG 75 แห่ง แฟรนไชส์ 225 แห่งทั่วประเทศ ถือเป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุนขยายสาขาด้วยเงินทุนของตัวเอง
ภาพจาก bit.ly/2SyzGil
แม้แต่ บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เจ้าของร้านบาร์บีคิวพลาซ่า ที่ได้เผชิญมรสุมลูกใหญ่จากวิกฤติโควิด-19 บริษัทจำต้องปิดร้านอาหารชั่วคราวในเครือไป 150 สาขาจากกว่า 180 สาขา วิกฤตที่เกิดขึ้นเร่งให้ฟู้ดแพชชั่นจำเป็นต้องปรับตัวกระจายรูปแบบธุรกิจให้หลากหลายอย่างเร่งด่วน ด้วยการปั้นแบรนด์ “หมูทอดกอดคอ” ช่วยกระจายธุรกิจไปสู่โมเดลที่แตกต่าง จับตลาดราคาประหยัดที่ทุกคนต้องกินต้องใช้เข้ากับยุคเศรษฐกิจฝืด
และเป็นครั้งแรกที่บริษัทเปิดโมเดลร้านแบบ “แฟรนไชส์” ภายในประเทศ เพื่อตอบโจทย์ประชาชนที่อยากมีอาชีพและรายได้ ส่วนบริษัทได้ขายวัตถุดิบโดยลดความเสี่ยงการลงทุนอีกทาง โดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม 4 อย่าง ได้แก่ ค่าแฟรนไชส์แรกเข้า ค่า Royalty Fee ค่าใช้จ่ายในการอบรม และค่าทำการตลาด
ภาพจาก bit.ly/2SyzGil
บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารหลายแบรนด์ เมื่อเปิดร้านขนาดใหญ่ไม่ได้ ก็เปิดร้านไซส์เล็กๆ เพื่อลดต้นทุน ด้วยการปั้นแบรนด์ตรีทฟู้ดน้องใหม่ของเครืออย่าง “ร้านเขียง” ร้านอาหารไทยตามสั่ง
เปิดขายแฟรนไชส์โดยตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 9 สาขา สิ้นไตรมาส 2 จะเปิดร้านเขียงได้ทั้งสิ้น 17 สาขา โดยรวมแล้วคาดว่าปีนี้จะเปิดร้านเขียงและตำมั่วเพิ่มรวมกันราว 80 สาขา
ภาพจาก bit.ly/30JtCYM
นอกจากนี้ วิถีของธุรกิจแฟรนไชส์ไทยยุคใหม่ หรือ Next Normal ที่จะเห็นมากขึ้น ก็คือ ธุรกิจแฟรนไชส์จะย้ายจากในห้างสู่นอกห้างมากขึ้น เห็นได้จากก่อนการระบาดโควิด-19 ในไทย แฟรนไชส์ส่วนใหญ่จะเลือกทำเลในห้างสรรพสินค้าดำเนินธุรกิจ
แต่พอเกิดโควิด-19 ธุรกิจแฟรนไชส์ในห้างได้รับผลกระทบเต็มๆ ปิดสาขาจำนวนมาก เนื่องจากประชาชนไม่เดินห้างแต่หันไปช้อปออนไลน์ หรือเดลิเวอรี่แทน ดังนั้น ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ต่างๆ จำเป็นต้องมองทำเลนอกข้าง เช่น ตลาด ปั้ม เพราะอย่างน้อยหากเกิดการระบาดโควิด-19 อีกครั้ง อาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ห้างปิดให้บริการ
สรุปก็คือ ธุรกิจแฟรนไชส์ในยุค Next Normal รูปแบบของธุรกิจจะมีขนาดไซส์เล็กลง ใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก ใช้พนักงานจำนวนน้อย สามารถเปิดร้านได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะแฟรนไชส์ในรูปแบบคีออส หรือ ซุ้มร้านค้าที่ใช้พื้นที่น้อย
เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จากการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ผู้คนนิยมซื้อสินค้ากลับบ้านแทนการนั่งในร้าน โดยทำเลที่ตั้งส่วนใหญ่จะอยู่ในแหล่งชุมชน ตลาดนัดทั่วไป ปั้มน้ำมัน เพราะทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อของได้สะดวก
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
อ้างอิงจาก https://bit.ly/2SGaV3C
ท่านใดสนใจอยากให้สร้างระบบแฟรนไชส์ แจ้งความประสงค์ได้ที่
โทร : 02-1019187, Line : @thaifranchise