“ดารุมะ” เป็นธุรกิจแฟรนไชส์หรือไม่

ผมได้รับการสอบถามว่าธุรกิจของร้าน ดารุมะ เป็นธุรกิจแฟรนไชส์หรือไม่ บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินว่ามีธุรกิจที่บอกว่าตนเป็นธุรกิจแฟรนไชส์และประกาศขายแฟรนไชส์ แล้วก็มีคนจำนวนมากที่เข้าใจเอาเองว่าธุรกิจนั้นใช่เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ 

จึงยินยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อแฟรนไชส์นั้น และธุรกิจนั้นก็บอกว่าจะมีการจ่ายเงินปันผลคืนให้ทุกเดือน หลายคนก็อาจได้รับเงินที่เรียกว่าปันผลนั้นคืนมาบ้าง แล้วอยู่ๆ ก็ไม่มีการจ่ายเงินปันผลให้อีกต่อไป วันนี้เราจะมาคุยกันว่าแล้วธุรกิจแฟรนไชส์ที่ถูกต้องเป็นที่ยอมรับกันในทางสากลเป็นอย่างไร

ดารุมะ

ภาพจาก https://bit.ly/3NFtcIF

ธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchising) เป็นรูปแบบหนึ่งของธุรกิจ ที่ธุรกิจหนึ่งซึ่งดำเนินการประกอบกิจการมาด้วยระยะเวลาหนึ่งแล้วประสบความสำเร็จ เราจะเรียกธุรกิจนี้ว่า แฟรนไชส์ซอร์ (Franchisor) หรือผู้ให้สิทธิ อนุญาตให้บุคคล กลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคลซึ่งเราจะเรียกว่า แฟรนไชส์ซี (Franchisee) หรือผู้รับสิทธิ ประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับแฟรนไชส์ซอร์

โดยแฟรนไชส์ซีสามารถใชัทรัพย์สินทางปัญญาของแฟรนไชส์ซอร์ หรือที่แฟรนไชส์ซอร์มีสิทธิ์ในการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้เพื่อการประกอบธุรกิจของตน (ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ ความลับทางการค้า ลิขสิทธิ์)

ทั้งนี้การดำเนินธุรกิจของแฟรนไชส์ซีนั้นต้องอยู่ภายใต้แผนธุรกิจ ความช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน และการควบคุมของแฟรนไชส์ซอร์ แฟรนไชส์ซีมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่แฟรนไชส์ซอร์ ทั้งสองฝ่ายจะมีข้อตกลงเรื่องสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันที่เป็นสัญญาแฟรนไชส์

ค่าตอบแทนที่แฟรนไชส์ซีต้องจ่ายให้แก่แฟรนไชส์ซอร์ โดยทั่วไปจะประกอบไปด้วยค่าแฟรนไชส์ (Franchise Fee) หรือค่าแรกเข้า (Initial Fee) ค่าสิทธิ (Royalty Fee) และอื่นๆ เช่นค่าการตลาด หรือค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์

3

ภาพจาก https://bit.ly/3yng7zc

ค่าแฟรนไชส์เป็นการเรียกเก็บจากการอนุญาตให้แฟรนไชส์ซีใช้สิทธิต่างๆ ของแฟรนไชส์ซอร์ การช่วยให้แฟรนไชส์ซีเปิดร้านได้ เช่น ค่าฝึกอบรม ค่าใช้จ่ายในวันเปิดร้าน อาจจะรวมค่าแบบของร้าน แต่การลงทุนในการก่อสร้าง ตกแต่งร้าน ค่าเครื่องมือ อุปกรณ์ภายในร้าน และสินค้าแรกเข้าร้านเป็นค่าใช้จ่ายที่แฟรนไชส์ซีต้องจ่ายต่างหากออกไปเรียกว่าการลงทุนเริ่มแรก (Initial Investment)

ค่าสิทธิ เป็นการจ่ายเพื่อการที่แฟรนไชส์ซอร์ให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนให้ธุรกิจของแฟรนไชส์ซีดำเนินการอย่างราบรื่น และมีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด รวมทั้งเพื่อการพัฒนาให้ธุรกิจเครือข่ายแฟรนไชส์มีความสามารถในการแข่งขัน

นั่นก็คือ แฟรนไชส์ซีเป็นเจ้าของร้าน และต้องดำเนินงานร้านด้วยตนเอง หลังจากการผ่านการฝึกอบรมโดยแฟรนไชส์ซอร์แล้ว แฟรนไชส์ซอร์จะสอนการบริหารร้านให้แก่แฟรนไชส์ซีและสอนการทำงานประจำวันให้แก่พนักงานของแฟรนไชส์ซี แฟรนไชส์ซีเป็นนายจ้างของพนักงานในร้าน

ดังนั้นร้านสาขาของแฟรนไชส์ซีจึงเป็นหน่วยธุรกิจต่างหากออกไปจากแฟรนไชส์ซอร์ เพียงแต่แฟรนไซส์ซีต้องประกอบกิจการตามที่แฟรนไชส์ซอร์แนะนำ และมีหน้าที่ต่างๆ ตามที่มีกำหนดในสัญญาแฟรนไชส์ อย่างไรก็ตามแฟรนไชส์ซีสามารถทำการตลาดในพื้นที่ (Local area marketing LAM) ได้เมื่อผ่านการอนุมัติจากแฟรนไชส์ซอร์ตามที่แฟรนไชส์ซีเสนอแผนงานเข้าไป

แฟรนไชซ์ซอร์เป็นผู้บริหารภาพรวมของธุรกิจ ก่อนที่จะมีมาตรการอะไรออกไปแฟรนไชส์ซอร์ที่ดีต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้าน และมีการทดลองในร้านของตนเองเสียก่อนจนแน่ใจว่าจะเกิดประโยชน์แก่ร้านสาขาต่างๆ จึงจะกำหนดให้ร้านสาขาและแฟรนไชส์ซีปฏิบัติตาม สำหรับการทำการตลาดโดยรวมเป็นสิ่งที่แฟรนไชส์ซอร์ต้องดำเนินการเพื่อการสร้างความต่อเนื่องของการจดจำแบรนด์ การทำโปรโมชั่นต่างๆ ก็เพื่อการกระตุ้นยอดขาย

2

ภาพจาก https://bit.ly/3yng7zc

ข้อมูลพฤติกรรมของเจ้าของธุรกิจดารุมะตามข่าวที่เสนอในสื่อต่างๆ นั้น ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์กล่าวว่าได้จ่ายเงินลงทุนสาขาละ 2.5 ล้านบาท และมีบางคนบอกว่าต้องจ่ายค่าก่อสร้างและค่าตกแต่งร้านอีกต่างหาก บางรายถึงกับกล่าวว่ามีการขายแฟรนไชส์ร้านเดียวกันให้กับบุคคลถึง 2 คน โดยที่เมื่อครบเดือนเจ้าของดารุมะก็จะจ่ายเงินปันผลคืนมาให้ซึ่งก็มีการจ่ายเงินปันผลให้เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้นเอง

ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ยังกล่าวว่า การดำเนินงานทั้งหมดเป็นของสำนักงานใหญ่ดารุมะ รวมทั้งการคิดเรื่องของโปรโมชั่น มีผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้จัดการร้านสาขาหนึ่งของดารุมะกล่าวว่าทำงานมา 3 ปี ไม่พบว่าบริษัทมีฝ่ายบุคคลหรือฝ่ายการเงินเลย ทุกอย่างเจ้าของทำเองทั้งหมด รายละเอียดอยู่ในสื่อที่นำเสนอกันอย่างมากในช่วงนี้

เช่นนี้จะเห็นได้ว่าธุรกิจ ดารุมะ ไม่เข้าองค์ประกอบของธุรกิจแฟรนไชส์ในประเด็นที่สำคัญคือ

  1. เจ้าของธุรกิจดารุมะอาจจะโดยเข้าใจด้วยตนเองว่าสิ่งที่นำเสนอนั้นเป็นแฟรนไชส์ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่รูปแบบของธุรกิจแฟรนไชส์ หรือรู้อยู่แล้วตนเองไม่ใช่แฟรนไชส์แต่นำคำว่าแฟรนไชส์มา กล่าวอ้างเพื่อให้ผู้คนหลงเข้าใจผิด ซึ่งเคยมีผู้ที่กล่าวอ้างเช่นนี้และถูกศาลลงโทษตัดสินจำคุกมาแล้ว
  2. ผู้รับสิทธิ หรือแฟรนไชส์ซีตามข่าวนี้ไม่ได้รับการฝึกอบรมในการบริหารร้าน และไม่ได้บริหารร้านด้วยตนเอง เพราะมีการขายสิทธิให้กับบุคคลถึง 2 คน
  3. แฟรนไชส์ซีไม่มีการจ่ายค่าสิทธิ (Royalty Fee) ในระหว่างการประกอบธุรกิจ แต่กลับได้รับเงินปันผลจากเจ้าของธุรกิจดารุมะ

ดังนั้นธุรกิจดารุมะจึงไม่ใช่ธุรกิจแฟรนไชส์ตามความหมายที่ยอมรับกันทั่วไป มีอีกคำถามหนึ่งคือ แล้วผู้ที่คิดจะรับสิทธิแฟรนไชส์มีข้อที่ต้องพิจารณาอย่างไร

1

ภาพจาก https://bit.ly/3yng7zc

ก็ขอฝากแง่คิดง่ายๆ ดังนี้ครับ

  1. พิจารณาว่าธุรกิจนั้นมีการเสนอรูปแบบแฟรนไชส์เข้ากับหลักเกณฑ์ตามที่กล่าวมาข้างต้นหรือไม่
  2. หาข้อมูลของแฟรนไชส์ซอร์ และทีมบริหารธุรกิจนั้นว่าเป็นมืออาชีพหรือไม่ ถ้าในธุรกิจที่เราสนใจมีแฟรนไชส์ซอร์ที่นำเสนอตัวสู่ตลาดอยู่หลายรายก็เป็นผลดีของเราที่จะได้มีโอกาสเลือก
  3. ประเมินว่าธุรกิจที่เราสนใจนั้นการแข่งขันเป็นเช่นไร มีศักยภาพที่จะดำเนินงานต่อไปในอนาคตได้นานเท่าไร เพราะสัญญาแฟรนไชส์มักจะมีระยะเวลานาน เช่น 3, 5, 6, 10 ปี
  4. ต้องแน่ใจในตัวเองว่าจะต้องทำงานหนัก อาจจะไม่ได้หยุดงานอย่างที่ตนเองต้องการ และต้องดำเนินงานร้านตามที่แฟรนไชส์ซอร์แนะนำ นั่นคือต้องยอมเป็นผู้ตามที่ดีรับได้หรือไม่
  5. มีเงินทุนเพียงพอหรือไม่ เราไม่แนะนำให้กู้มาเพราะจะมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มจากค่าสิทธิต่างๆ ที่ต้องเสียอยู่แล้ว ซึ่งอาจทำให้กำไรเหลือไม่มากพอ
  6. วิเคราะห์ว่าในยอดขายระดับต่างๆ จะให้ผลตอบแทนเท่าไร ต้องมียอดขายเท่าไรจึงจะให้ผลตอบแทนที่พอใจ และจะคืนทุนในระยะเวลาเท่าไร รับได้หรือไม่
  7. หรือจะนำเงินลงทุนนั้นไปทำอย่างอื่นที่อาจให้ผลตอบแทนที่มากกว่า แต่ต้องเข้าใจว่า การลงทุนมีความเสี่ยงธุรกิจแฟนไชส์ไม่ใช่ธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยง

ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/335phDi
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

สำหรับท่านที่มีธุรกิจและอยากสร้างระบบแฟรนไชส์ หรือต้องการปรึกษาเรื่องการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ให้เติบโตมากยิ่งขึ้น

คลิกรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/33k6nZE
สนใจรับคำปรึกษาโทร.02-1019187, Line : @thaifranchise

วิทยากร : อ.สุชาติ กิติเฉลิมเกียรติ

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3atbt9N

กองบรรณาธิการเว็บไซต์

ยินดีสนับสนุน SMEs ไทยทุกแบรนด์ ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็ง อยากเรียนรู้ พัฒนาธุรกิจ ส่งเสริมความเข้าใจในการตลาด มีความคิดสร้างสรรค์ แบ่งปันเพื่อสังคม ต่อยอดธุรกิจ ให้ประสบความสำเร็จในอนาคต