ช้อปดีมีคืน VS คนละครึ่ง แบบไหนเหมาะกับตัวคุณ
เริ่มแล้วทั้ง 2 โครงการของรัฐบาล “ช้อปดีมีคืน และ คนละครึ่ง” ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2563 จนถึง 31 ธันวาคม 2563 โดยโครงการ “ช้อปดีมีคืน” หักลดหย่อนภาษีค่าซื้อสินค้าหรือบริการสูงสุด 30,000 บาท
แต่ผู้มีเงินได้ต้องไม่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการคนละครึ่ง หรือ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนโครงการ “คนละครึ่ง” จะได้รับสิทธิประโยชน์จากรัฐบาลช่วยจ่ายสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม คนละ 3,000 บาท ไม่เกิน 150บาท/วัน แต่ผู้รับสิทธิ์ต้องโอนเงินเข้าระบบด้วยเช่นกัน
หากถามว่าทั้ง 2 โครงการ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะนำเสนอข้อมูลและวิเคราะห์ภาพรวมของแต่ละโครงการให้ทราบ โครงการไหนเหมาะตัวคุณมากที่สุด รวมถึงคุณเหมาะกับแฟรนไชส์แบบไหนด้วย
เปรียบเทียบโครงการ “ช้อปดีมีคืน VS คนละครึ่ง” (1 คนเลือกใช้ได้เพียงโครงการเดียวเท่านั้น)
ช้อปดีมีคืน
ภาพจาก bit.ly/2TuFhX8
คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ร่วมโครงการ ต้องเป็นผู้เสียภาษีปี 2563 ไม่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยไม่ต้องลงทะเบียนใดๆ เพียงขอใบกำกับภาษีจากร้านค้าที่ซื้อของเท่านั้น ซึ่งผู้รับสิทธิสามารถนำค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุด 30,000 บาท รวมถึงสามารถใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้าโอท็อป และหนังสือ ยกเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ลอตเตอรี่ น้ำมัน ค่าที่พัก ตัวเครื่องบิน เป็นต้น
ส่วนระยะเวลาการใช้จ่าย เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.-31 ธ.ค. 2563 ซึ่งโครงการนี้เหมาะกับผู้ที่มีรายได้สุทธิเกิน 150,000 บาท/ปี สามารถซื้อของในห้างที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีแผนซื้อของมูลค่าสูงปลายปี 2563
สำหรับตัวอย่างสำหรับโครงการช้อปดีมีคืน กรณีที่บุคคลนั้นๆ มีรายได้ต่อปีเกิน 150,000 บาทขึ้นไป จะได้รับเงินคืนภาษี กี่บาท หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 150,001-300,000 บาท (อัตราภาษี 5%) หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์คืนภาษีสูงสุด 1,500 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 300,001-500,000 บาท (อัตราภาษี 10%) หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 3,000 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 500,001-750,000 บาท (อัตราภาษี 15%) หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 4,500 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 750,001-1,000,000 บาท (อัตราภาษี 20%) หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 6,000 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 1,000,001-2,000,000 บาท (อัตราภาษี 25%) หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 7,500 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 2,000,001-5,000,000 บาท (อัตราภาษี 30%) หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 9,000 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 5,000,001 บาทขึ้นไป (อัตราภาษี 35%) หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 10,500 บาท
สรุปก็คือ โครงการช้อปดีมีคืนนั้น จะเหมาะสำหรับบุคคลที่มีรายได้สุทธิต่อปี 150,000 บาทขึ้นไป ซึ่งถือเป็นบุคคลที่จะต้องเสียภาษีประจำปี ส่วนบุคคลที่มีรายได้สุทธิต่ำกว่า 150,000 จะไม่เหมาะกับโครงการนี้ เพราะไม่ต้องเสียภาษีประจำปีอยู่แล้ว
คนละครึ่ง
ภาพจาก www.คนละครึ่ง.com
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (จำนวน 10 ล้านคน หรือจนกว่าสิทธิจะหมด) สามารถลงทะเบียนผ่าน www.คนละครึ่ง.com
ส่วนสิทธิประโยชน์ รัฐบาลจะช่วยจ่ายสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม คนละ 3,000 บาทไม่เกิน 150บาท/วัน สามารถสินค้าอาหาร เครื่องดื่มกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ยกเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ ล็อตเตอรี่ และบริการ
ระยะเวลาการใช้จ่าย 23 ต.ค. – 31 ธ.ค. 2563 ซึ่งโครงการนี้เหมาะกับผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี คือต่ำกว่า 150,000 บาท/ปี สามารถซื้อสินค้าจากร้านค้าขนาดเล็ก ตลาด โชห่วย และมีมูลค่าลดหย่อนภาษีในส่วนอื่นๆ อยู่แล้วทำให้ไม่ต้องเสียภาษี
สำหรับโครงการ “คนละครึ่ง” เหมาะกับคนที่เป็นระดับรากหญ้า และบุคคลไม่ได้มีภาระการจ่ายภาษีสูงๆ เรียกได้ว่าเป็นคนธรรมดา หรือแรงงานทั่วๆ ไป เพราะรัฐบาลมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือร้านค้ารายย่อย หาบเร่แผงลอย และกิจการพวกร้านอาหาร เครื่องดื่มและสินค้าทั่วไป ที่ไม่ใช่ร้านค้าสะดวกซื้อประเภทแฟรนไชส์ (อาทิเช่น 7-11, Family Mart, Lawson เป็นต้น)
ภาพจาก www.คนละครึ่ง.com
ทั้งนี้ โครงการนี้มีข้อเสียตรงที่คนสูงวัยไม่สามารถใช้สมาร์ทโฟน จึงไม่สามารถเข้าถึงโครงการดังกล่าได้มากนัก โดยหลังจากที่ผู้มีสิทธิ์ได้ลงทะเบียนแล้ว ทางภาครัฐจะช่วยจ่ายเงิน 50% และ ผู้มีสิทธิออกเงินเอง 50% โดยรัฐจะช่วยออกให้ไม่เกิน 150 บาท / วัน หรือตลอดโครงการไม่เกิน 3,000 บาท
โดยผู้ได้รับสิทธิจะต้องจ่ายครึ่งหนึ่งของราคาสินค้าเองผ่านทาง G Wallet ใน Application เป๋าตัง และใช้กับร้านที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น ตรงจุดนี้ทำให้หลายคนไม่สะดวก ล้มเลิกความตั้งใจในการลงทะเบียนไปเพราะต้องเอาเงินไปเข้าระบบก่อน
คุณเหมาะกับแฟรนไชส์แบบไหน?
เราได้เห็นแล้วว่า โครงการ “ช้อปดีมีคืน และ คนละครึ่ง” มีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน และเหมาะสำหรับกลุ่มคนแต่ละกลุ่มด้วย โดยโครงการ “ช้อปดีมีคืน” เหมาะกับคนที่มีเงินได้สุทธิต่อปีเกิน 150,000 บาทขึ้นไป (เสียภาษี) และมีเงินใช้จ่ายจำนวนมาก
ส่วนโครงการ “คนละครึ่ง” เหมาะกับคนทำงานทั่วไป แรงงาน พนักงานโรงงาน ประชาชน ที่ไม่ต้องเสียภาษี รัฐบาลออกค่าใช้จ่ายให้ไม่เกินวันละ 150 บาท สมทบกับเงินตัวเองอีกครึ่งหนึ่งของราคาสินค้าที่ซื้อ หากราคาสินค้า 300 บาท ก็ต้องออกอีก 150 บาท
สำหรับทั้ง 2 โครงการดังกล่าว หากนำมาเปรียบเทียบกับธุรกิจแฟรนไชส์ ก็จะมีความคล้ายคลึงกัน คือ ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมลงทุนในปัจจุบันจะมี 2 รูปแบบ
แฟรนไชส์ลงทุนต่ำ (Product Franchise หรือ สร้างอาชีพ) และ แฟรนไชส์ลงทุนสูง (Business Format Franchise) โดยแฟรนไชส์ลงทุนต่ำจะเหมาะสำหรับคนธรรมดาทั่วไปที่อยากมีอาชีพ อยากมีรายได้เสริมแต่มีเงินลงทุนไม่เยอะ เปิดร้านได้เร็ว ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ซื้อเพียงแค่วัตถุดิบจากแฟรนไชส์ซอร์
ส่วนแฟรนไชส์ลงทุนสูงจะเหมาะกับคนที่มีเงินทุนหรือเงินเก็บจำนวนมาก อยากสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต อาจจะเป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาก็ได้ ซึ่งผู้ลงทุนนอกจากจะต้องเสียค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์แรกเข้าแล้ว ยังต้องเสียค่าการตลาด และค่าสิทธิรายเดือนด้วย แต่แฟรนไชส์ที่ใช้เงินลงทุนสูงจะค่อนมีระบบที่เป็นมาตรฐาน มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง
การซื้อแฟรนไชส์ก็เหมือนกับการสมัครโครงการ “ช้อปดีมีคืน และ คนละครึ่ง” ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า แบบไหนมีประโยชน์ แบบไหนคุ้มค่า แบบไหนเหมาะกับตัวคุณมากที่สุด
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
แหล่งข้อมูล https://bit.ly/3ju0iMo , https://bit.ly/3oy0f5M
อ้างอิงจาก https://bit.ly/2HJlMYO