จานยักษ์แบบไทยทำอย่างไรจะดังเหมือนญี่ปุ่น
มูลค่าของ ธุรกิจร้านอาหาร ในประเทศไทยวัดจากปีที่ผ่านมามีมูลค่ากว่า 1.7 แสนล้านบาท ถือว่ามีอัตราการขยายตัวจากปีก่อนหน้านี้ประมาณร้อยละ 2 เหตุผลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจอาหารนั้นเติบโตได้น้อยลงก็เป็นผลมาจากเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลักและปริมาณคู่แข่งทางการตลาดที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้สิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจนี้คือการหยิบยกเอาสิ่งใหม่ที่แตกต่างมาสร้างให้ดูน่าสนใจด้วยเหตุนี้กลยุทธ์เกี่ยวกับพวกจานยักษ์จึงได้เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
www.ThaiSMEsCenter.com มองว่านี่เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นมาได้พักใหญ่แล้วก็กลายมาเป็นกระแสในโลกโซเชี่ยล ก็ยิ่งกระพือเรื่องนี้ให้ดังยิ่งกว่าเดิม ปัจจุบันจึงมีร้านที่เกี่ยวกับคำว่าจานยักษ์เกิดขึ้นจำนวนมากเอาเป็นแค่ในกรุงเทพฯก็ไม่ไม่ต่ำกว่า 10-20 ร้าน ไม่นับรวมในต่างจังหวัดแถบๆที่ท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ พัทยา ซึ่งถ้าเอาตัวเลขโดยรวมทั้งประเทศแล้วน่าจะเกือบหลักร้อยได้เลยเหมือนกัน
ฮิตเพราะอยากกินหรือฮิตเพราะอินเทรนด์
ภาพจาก goo.gl/XzEMaJ , goo.gl/5JT87G
แน่นวล! เอ้ยแน่นอน ว่าไซด์ใหญ่ยักษ์ย่อมเรียกเสียงฮือฮาได้อย่างดีเพราะบางทีกินไม่หมดก็ต้องร้องฮือๆกันเลยทีเดียว แต่คำถามก็คือว่าการตลาดแบบยักษ์ใหญ่นี้เรากินเพราะหิวหรือมันเป็นเพราะอินเทรนด์กันแน่ ในเรื่องนี้นั้น มีผู้รู้ในแวดวงธุรกิจได้วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า เหตุที่ อาหารจานยักษ์เข้ามาตีตลาดได้สำเร็จ เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีทางเลือกมากขึ้น
ทั้งยังชอบความท้าทาย แปลกใหม่จึงใช้ทั้งเหตุผลและอารมณ์มาเป็นเครื่องมือตัดสินใจซื้อ เพื่อสนองความต้องการของตัวเอง ซึ่งถ้ามองที่เหตุผลในการเลือกซื้อก็ต้องดูว่า กินแล้วได้อะไร อร่อยไหม มีประโยชน์กับร่างกายหรือเปล่า คุ้มค่าเงินหรือไม่
ส่วนEmotional ซึ่งผู้ประกอบการสมัยใหม่เอาเรื่องนี้มาเล่นมากขึ้นเพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น บางร้านเน้นแต่งร้านให้เก๋ไก๋สวยงาม เชิญชวนให้ลูกค้ามาเช็คอิน ถ่ายรูป ทั้งที่รสชาติอาจจะธรรมดา ไม่ได้เอร็ดอร่อยแต่อย่างใดแต่เมื่อลูกค้ามาแล้วเขากลับรู้สึกเทรนดี้ ทันสมัย อวดเพื่อนได้ อีกทั้งยังสนองความต้องการเรื่องโซเชียลเน็ตเวิร์กด้วย
พูดถึงเสน่ห์แบบยักษ์ๆ ยกให้ญี่ปุ่นก่อนเลย
ภาพจาก goo.gl/7JXnW4
ไม่ปฏิเสธเลยเหมือนกันว่าเทรนด์จานยักษ์หรืออีกหลายๆเทรนด์ในเมืองไทยส่วนใหญ่ถอดแบบมาจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่คนไทยนิยมไปเที่ยวญี่ปุ่นและเอาเทรนด์ต่างๆเข้ามา โดยตัวเลขของการท่องเที่ยวระบุว่าในช่วงปีที่ผ่านมาคนไทยไปญี่ปุ่นสูงถึง 901,458 คน เป็นการเพิ่มขึ้นจากปี 2558 กว่า 104,727 คน
ซึ่งกระแสจานยักษ์นี้ในญี่ปุ่นก็ถือว่าขึ้นชื่อลือชาและจากการจัดอันดับความนิยมของร้านที่มีอยู่จำนวนมากปรากฏว่ามีถึง 30 ร้านที่เป็นร้านสำคัญๆและมีคนสนใจไปใช้บริการจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นร้านโนะฮาระเท จากโอกินาว่า ที่ขายเมนูยักษ์ที่เรียกว่า Rafte ซึ่งเป็นอาหารจานยักษ์ที่หาทานได้เฉพาะในโอกินาว่าเท่านั้น
นอกจากนี้ก็ยังมีข้าวหน้าปลาโอใหญ่พิเศษของร้านสึรุคาเมะไดรฟ์อิน ที่อยู่ในเมืองอาโอโมริ หรือถ้าจะไปแถวฟุกุโอกะก็ต้องได้กิน ราเม็งผัดของร้าน Kenzo Café ที่ว่ากันว่ามีปริมาณเส้นเท่ากับ 5 เท่าของขนาดปกติเลยทีเดียว
ลองมาตบท้ายกันที่ของหวานแบบบ้านๆอย่างน้ำแข็งไสแต่ที่ทำให้ตะลึงตึงโป๊ะก็คือภาชนะที่ใส่นั้นคือกาละมังที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 30 เซนติเมตร เป็นเมนูของหวานแบบยักษ์ของจังหวัดไอจิ ที่กินแล้วหนาวสะท้านทรวงกันแน่นอน
เราลองมาวิเคราะห์กันดูอีกทีว่าเห็นอะไรบ้างกับเสน่ห์จานยักษ์ของญี่ปุ่นที่เห็นแล้วหิวได้ดีเหลือเกิน
ภาพจาก goo.gl/Ddz1BH
1.ชูจุดเด่นของกินเฉพาะถิ่น
เอาแค่เรื่องแรกก็ดูเหมือนจะแตกต่างกับบ้านเราซะเหลือเกินในขณะที่จานยักษ์คนไทยเน้นอาหารที่รู้จักกันทั่วไปอย่างผัดกระเพรา ข้าวมันไก่ ก๋วยเตี๋ยว แต่ในญี่ปุ่นเราจะเห็นว่าแต่ละจังหวัดที่มีเมนูใหญ่ยักษ์เขาจะใช้อาหารท้องถิ่นมาเป็นตัวชูโรงอย่างร้านโนะฮาระเท ที่ขายเฉพาะ Rafte
ซึ่งหากินได้แค่ในโอกินาว่าเท่านั้น ลองคิดกันเล่นๆ ดูว่าบ้านเราเองอาหารท้องถิ่นของแต่ละทีก็มีดีไม่น้อยหน้าญี่ปุ่น อย่างของขึ้นชื่อเมืองเพชรคือขนมหม้อแกง ทำไมไม่ลองทำเมนูหม้อแกงไซด์ยักษ์ที่ต้องมาเพชรบุรีเท่านั้นถึงจะได้กิน หรือข้าวซอยในเชียงใหม่ที่ก็ทำให้ใหญ่ยักษ์ได้เช่นกัน นอกจากจะเป็นสีสันทางการตลาดแล้วยังเป็นจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวที่น่าสนใจไม่แพ้กันด้วย
ภาพจาก goo.gl/Sva58J
2.วัตถุดิบเน้นคุณภาพไม่ใช่ปริมาณอย่างเดียว
เราสามารถใช้จุดแข็งที่สำคัญของญี่ปุ่นเรื่องวัตถุดิบมาอัพเกรดธุรกิจจานยักษ์ในเมืองไทยได้เช่นกัน หากสังเกตให้ดีจะพบว่าคำว่ายักษ์ของญี่ปุ่นนั้นวัตถุดิบทุกอย่างก็ไม่ได้ลดคุณภาพลงไปอย่างข้าวหน้าปลาโอใหญ่พิเศษของร้านสึรุคาเมะไดรฟ์อิน ใช้ปลาโอชั้นดีที่ต้องสดใหม่เท่านั้น
หรือเมนูซุปเปอร์ทงคัตสึ ของร้านทงมาสะในจังหวัดนารา ที่เป็นเนื้อหมูชั้นยอดระดับประเทศที่ใช้ความยาวถึง 44 ซม.และหนาได้ถึง 10 ซม. อีกหนึ่งตัวอย่างเรื่องคุณภาพแบบชัดๆคือสปาเก็ตตี้จานยักษ์ของร้าน Pancho ที่มีชื่อเมนูว่า Naporitan Seijin ที่มีการใช้ซอสโฮมเมดที่ทางร้านทำเอง เพื่อให้ได้รสชาติที่ดั้งเดิม ซึ่งรวมไปถึงวัตถุดิบอื่น ๆ ก็แสนจะคลาสสิกอันได้แก่ หอมหัวใหญ่ พริกหยวก ไส้กรอกเวียนนา ที่ใครได้กินจะต้องฟินแบบสุดๆทีเดียว
ภาพจาก goo.gl/TbWjro
3.จัดโปรโมทแข่งขันสร้างสีสัน
มีรายการของญี่ปุ่นมากมายที่ใช้การกินมาสร้างสีสันให้คนทั่วโลกได้รู้จักกับอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น โดยสถานีโทรทัศน์อย่าง TV Tokyo ก็มีการจัดรายการแบบนี้ขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือที่คนไทยจะรู้จักกันเป็นส่วนมากก็คือรายการ TV Champion ที่บางเทปคือการแข่งขันกินจุชนิดที่เรียกว่าดุเดือดกันเลยทีเดียว
ถามว่าการจัดแข่งกินแบบนี้ที่เรานึกถึงญี่ปุ่นก่อนเพื่อนเลยก็เพราะเราเห็นรายการแบบนี้จากฝั่งญี่ปุ่นมากที่สุดทำให้เราอยากรู้รสชาติ อยากลองกินอาหารญี่ปุ่นตามไปด้วย ซึ่งความรู้สึกเดียวกันถ้าบ้านเราจะทำเมนูจานยักษ์ให้ติดตลาดสากลได้บ้างก็ควรส่งเสริมการแข่งขันกินให้มากขึ้นเชื่อเถอะว่าเมนูของไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลกเหมือนกัน
ภาพจาก goo.gl/mwjxBE
4.สร้างบรรยากาศร้านให้สมกับคำว่ายักษ์
คำว่ายักษ์ก็ไม่ใช่ทำให้เป็นพิเศษแค่เมนูเท่านั้น แต่จะให้ดีก็ควรเพิ่มบรรยากาศภายในร้านให้ลูกค้ารู้สึกได้ถึงความแตกต่างที่มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องทำอะไรให้ดูเว่อร์วังอลังการแต่การจัดแต่งร้านที่เนี๊ยบและประณีตดูสะอาด
น่านั่งน่ากินอาหารก็ดูเป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อยเหมือนร้าน Kagurazaka Hanten กับเมนูเกี๊ยวยักษ์ที่โชว์บรรยากาศร้านด้วยความเป็นญี่ปุ่นจ๋า ชูความโปร่งโล่งสะอาดทำให้ลูกค้ารู้สึกอยากรับประทานอาหารมากขึ้น นอกจากนี้อาจมีลูกเล่นและเทคนิคน่ารักๆประจำร้านให้ลูกค้ารู้สึกได้ว่านอกจากเมนูยักษ์ใหญ่อร่อยๆแล้วยังเอนเตอร์เทนได้ดีมาก
แม้ดูในภาพรวมแล้วเสน่ห์ของจานยักษ์สไตล์ญี่ปุ่นจะนำหน้าเราอยู่บ้างแต่ก็ใช่ว่าธุรกิจอาหารจานยักษ์เมืองไทยจะไม่น่าสนใจ ปัจจุบันร้านอาหารจานยักษ์เมืองไทยก็งัดกลยุทธ์ต่างๆเข้าสู้มากขึ้น
บางร้านชูจุดเด่นที่สามารถเลือกผสมผสานวัตถุดิบได้ตามต้องการ บางร้านก็บริการรับออร์เดอร์แบบออนไลน์เพื่อให้สะดวกต่อผู้ที่จะมาใช้บริการ หรือบางทีก็ใช้ระบบสมาร์ทโฟนในการเลือกวัตถุดิบอยากได้แบบไหนก็จิ้มสั่งจิ้มเลือกได้
และเมนูอาหารจานยักษ์ส่วนใหญ่ในเมืองไทยเราก็จะเป็นเมนูที่ดูคุ้นเคยกันดีแต่มาอัพไซส์ให้ใหญ่มากขึ้นอย่าง ข้าวราดแกงกระหรี่ของร้าน Gold Curry Bangkok ที่เมนูนี้มีน้ำหนักรวมกับรวมข้าวแล้วกว่า 2 กิโลกรัม
หรือเมนูข้าวมันไก่จานยักษ์ของร้านศรีเหลืองโภชนา ที่วางไก่มาเต็มจานประมาณ 1 กิโลกรัม รวมถึงเย็นตาโฟโคตรเครื่องจากร้านพล ก๋วยเตี๋ยวโบราณ ที่เหมือนยกเอาทะเลมาไว้ในชาม (หรือเรียกว่ากะละมังดี) คืออัดแน่นไปด้วยเนื้อกุ้ง หอย ไข่ ลูกชิ้น และอีกมากมาย
โดยส่วนใหญ่ราคาอาหารจานยักษ์เหล่านี้ก็จะแตกต่างกันไปตามวัตถุดิบและประเภทอาหารอย่างข้าวมันไก่จานยักษ์ราคาประมาณ 500 บาท ส่วนก๋วยเตี๋ยวสารพัดเครื่องชามยักษ์ก็มีราคาตั้งแต่ 200-800 บาท เป็นต้น
ภาพจาก goo.gl/qBFfhv
สำหรับอาหารจานยักษ์น่าจะเป็นอีกเทรนด์สำคัญของการทำธุรกิจอาหารที่ก่อให้เกิดความแปลกใหม่และเป็นอีกมิติที่น่าสนใจ แต่อย่างไรก็ดีเมนูยักษ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของร้านที่ไม่ได้เปิดไซส์ยักษ์ทุกเมนู
หากแต่ใครต้องการก็มีออฟชั่นนี้ให้เลือก การจะทำลองทำธุรกิจแบบยักษ์ๆนี้ดูบ้าง หากเรามีร้านอาหาร อยู่ก็เริ่มต้นได้ แต่ถ้าจะให้ดีลองคิดทริคการตลาดแบบสุดเจ๋งเข้าร่วมด้วย และใช้พลังของโซเชี่ยลช่วยกระตุ้นการขาย ก็น่าจะทำให้เกิดรายได้ที่ดีตามมาได้ดีทีเดียว
สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S