จาก “ซอสศรีราชา” ถึงแฟรนไชส์ ศรีราชา เฮาส์ ชื่อไทยแต่ไม่ใช่ของคนไทย
เชื่อว่าในตอนนี้ หลายคนคงรู้แล้วว่า “ซอสศรีราชา” ที่เป็นของคู่โต๊ะอาหารของคนอเมริกัน ไม่ใช่ของคนไทย แต่เป็นของคนเวียดนาม ที่ชื่อ “เดวิด ทราน” (David Tran) โดยซอสศรีราชาของเวียดนาม ทุกคนจะรู้จักในนาม “ซอสศรีราชาตราไก่โต้ง”
ภาพจาก www.srirachahouse.com, goo.gl/images/A9jHW4
จากสินค้าโด่งดังในสหรัฐฯ มานาน “ศรีราชาตราไก่” เพิ่งจะเริ่มมีขายในประเทศไทยในบางร้าน และแบบจำหน่ายออนไลน์ ที่จะทำให้คนไทยได้พิสูจน์กันซะทีว่า อะไรกันแน่ที่ทำให้ “ซอสศรีราชา” ของคนเวียดนามยี่ห้อนี้ประสบความสำเร็จอย่างน่าตกใจ
โดยปัจจุบัน “ซอสศรีราชาตราไก่” อยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท Huey Fong Food ในสหรัฐฯ ที่สำคัญยังไม่ได้จดทะเบียนและเป็นเจ้าของชื่อสินค้า “ซอสศรีราชา” แต่อย่างใด ถึงตอนนี้ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของชื่อ “ซอสศรีราชา” ในสหรัฐฯ
เพราะอย่างที่คนไทยทราบกันว่าคำว่า “ศรีราชา” หรือ “Sriracha” เป็นสถานที่และชื่ออำเภอในประเทศไทย จึงยากที่จะจดเป็นเครื่องหมายการค้าในสหรัฐฯ เมื่อซอสตราไก่ประสบความสำเร็จ ก็ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Heinz, Frito-Lay, Applebee’s, P.F. Chang’s, Pizza Hut, Subway และ Jack in the Box นำคำว่า “ศรีราชา” ไปใช้ได้โดยอัตโนมัติ
สหรัฐฯ ถือว่าเป็นประเทศที่มีความเข้มงวดเรื่องลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ดังนั้น นายเดวิด ทราน จึงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซอสศรีราชา และใช้ชื่อ “ศรีราชา ชิลลี่ซอส” เหมือนกับซอสศรีราชาของบ้านเรา
โดยซอสศรีราชาของไทย ผู้ผลิตต้นตำหรับ คือ ศรีราชาพานิช ปัจจุบันขายกิจการให้กับ ไทยเทพรส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตซอสตราภูเขาทอง และเปลี่ยนไปใช้ชื่อแบรนด์ว่า “ภูเขาทองศรีราชาพานิช” แล้ว
ล่าสุดก็มีการนำชื่อ “ศรีราชา” หรือ “Sriracha” ไปเป็นชื่อแบรนด์แฟรนไชส์ร้านอาหารในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นมาอีก นั่นคือ “ศรีราชา เฮาส์” หรือ “Sriracha House” เรื่องราวของแบรนด์แฟรนไชส์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะหาข้อมูลที่มีเพียงน้อยนิดมาเล่าให้ฟัง เพราะเป็นแบรนด์แฟรนไชส์น้องใหม่ ในสหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ได้ไม่นานมานี้เอง
“Sriracha House” ร้านอาหารเอเชียแบบฟิวชัน ทั้งไทย มาเลเซีย เวียดนาม ออกแนว Street Food เมนูอาหารหลักจะเป็นเมนูเส้นอย่าง ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง อาหารมังสวิรัติ ไก่ทอด ไก่ย่าง ที่มีรสชาติเผ็ดจัดจ้าน
แต่ละเมนูลูกค้าสามารถเลือกปรุงด้วยซอสหลากหลายรสชาติ หลากหลายหลายยี่ห้อ เรียกว่าเป็นศูนย์รวมของซอสพริกต่างๆ รวมถึงซอสศรีราชาที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐอเมริกา ให้ลูกค้าได้เลือกปรุงได้ตามใจชอบ โดยแฟรนไชส์ “Sriracha House” จะเปิดให้บริการลูกค้าในช่วงเวลากลางวัน (11.00 น.) และช่วงค่ำ (จนถึง 04.00 น.)
นอกจากจะมีเมนูอาหารเอเชียหลากหลายแล้ว ยังมีบริการเครื่องดื่มเกือบทุกชนิด เช่น ชานมไข่มุก ชาเขียว รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลากหลายยี่ห้อมาจากปลายประเทศ แม้แต่เบียร์ไทย (สิงห์ ช้าง ลีโอ) จีน และเบียร์ลาว ก็ยังมีบริการลูกค้าในร้านด้วย โดยวัตถุดิบและเครื่องปรุงต่างๆ เป็นการนำเข้าแบบสดใหม่จากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จึงนับได้ว่า “ ศรีราชา เฮาส์ ” เป็นอีกแบรนด์แฟรนไชส์ในสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ชื่อยี่ห้อไทย (ภาษาในร้านก็ไทย “เผ็ด”) แต่ไม่ใช่ของคนไทย โดยเจ้าของและผู้บริหาร คือ Emilio Benzadon ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ.2013 เริ่มขายแฟรนไชส์ในปีค.ศ.2017 โดยสำนักงานใหญ่ของ Sriracha House ตั้งอยู่ที่ 1502 Washington Ave. Miami Beach, FL 33139 สหรัฐอเมริกา
สำหรับงบประมาณในการลงทุนซื้อแฟรนไชส์ “Sriracha House” ค่าแฟรนไชส์แรกเข้า $30,000 – $30,000 งบประมาณการลงทุนตกแต่งร้าน $222,250 – $402,000 ค่าธรรมเนียม Royalty Fee 5% และค่าการตลาด 1% ของยอดขาย
เรื่องราวที่เกิดขึ้นทำให้รู้ว่า ใครจะนำชื่อ “ศรีราชา” ไปใช้ในการตั้งชื่อธุรกิจก็ได้ แล้วแต่ว่าใครจะใช้ชื่อนำหน้า หรือตามหลังคำว่า “ศรีราชา” อย่างไร เพราะ “ศรีราชา” เป็นชื่ออำเภอในประเทศไทย ใครก็ตามก็ไม่สามารถจดทะเบียนได้ แม้แต่ในเมืองไทย
แต่เรื่องนี้อาจจะซ้ำรอย กรณีที่มีนักธุรกิจชาวต่างชาติ พยายามนำเอาชื่อของ ข้าวหอมมะลิ, รถตุ๊กตุ๊ก, อาหารไทย หรือแม้แต่มวยไทย ที่กำลังได้รับความนิยมของชาวต่างชาติไปใช้ในการทำธุรกิจในประเทศของเขา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชาวต่างชาติทำได้ในตอนนี้ ก็คือ ทำการดัดแปลงสิ่งที่เป็นของไทยแท้ๆ ให้เข้ากับประเทศของเขา เพื่อสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ เหมือนกับกรณี “ซอสศรีราชา” และแฟรนไชส์ร้านอาหาร “ศรีราชา เฮาส์” ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศไทย แต่ธุรกิจได้รับความนิยมและเป็นธุรกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา
ดังนั้น เรื่องของชื่อไทยอาจจะไม่สำคัญในการทำธุรกิจในอนาคต เพราะถ้าเป็นชื่อเฉพาะเจาะจง อย่างเช่น “ศรีราชา” หรือ “พิซซ่า” “โดนัท” “แพนเค้ก” ฯลฯ ใครๆ ก็สามารถนำไปใช้ได้หมด แล้วแต่ใครจะมีคำนำหน้า และต่อท้ายอย่างไร
แต่มีสิ่งเดียวที่ทำให้ “ธุรกิจของคนไทย” ที่ชาวต่างชาติไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ นั่นคือ อัตลักษณ์ของความเป็นไทย ดังนั้น ผู้ประกอบไทยจะต้องพยายามสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยใส่เข้าไปในธุรกิจของตัวเอง เพื่อให้มีความโดดเด่นขึ้นมา ตรงนี้จะทำให้ลูกค้ารู้ว่าชื่อนี้เป็นของคนไทย หรือเป็นของคนต่างชาติอย่างแท้จริง
คุณผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com/document
เลือกซื้อแฟรนไชส์ไทยขายดี เปิดร้าน www.thaifranchisecenter.com/directory/index.php
อ้างอิงข้อมูล
goo.gl/Kj1oqA, goo.gl/CT322T, goo.gl/H66fBh, goo.gl/RPFKSe, goo.gl/QZhbcY, goo.gl/xhfY6K