จอลลี่แบร์ ขนมเจลลี่รูปหมี ธุรกิจสร้างรายได้กว่า 200 ล้านบาท
ความทรงจำของเราในสมัยเด็กมีอะไรให้นึกถึงบ้าง? มีขนมหลายอย่างที่เรียกว่าเป็น “ระดับตำนาน” และทุกวันนี้ก็ยังฮิตไม่เลิก และขายดีมาก แน่นอนว่าเรื่องของการตลาดคือสิ่งสำคัญแต่ที่สำคัญกว่าคือคุณภาพสินค้า
โดยหนึ่งในแบรนด์ฮิตที่ www.ThaiSMEsCenter.com มั่นใจว่าทุกคนรู้จักเป็นอย่างดีคือ Jolly Bears ลูกอมเยลลี่รูปหมีที่มีหลายสี แต่ละสีก็รสชาติต่างกันไป แถมราคาไม่แพง เคี้ยวเพลินๆ แต่เชื่อว่ามีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าแบรนด์นี้เริ่มต้นมาอย่างไร และทำไมถึงฮิตทุกยุคสมัย
หันหลังให้ธุรกิจโรงเลื่อยไม้ สู่ธุรกิจลูกอมเยลลี่
ภาพจาก facebook.com/JollyBearsLand
บริษัท พงษ์จิตต์ จำกัด ของตระกูล เชาวน์ประดิษฐ์ จดทะเบียนขึ้นเมื่อปี 2516 เพื่อผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนมหวานประเภท Gummy ซึ่งในยุคแรกๆ ก่อนเริ่มธุรกิจนี้ ก็มีธุรกิจโรงเลื่อยไม้ที่ตัดสินใจเลิกทำและหันมาทำลูกอมแบบแข็ง (hard candy) ขายแต่เมื่อเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมาก ก็มีคู่แข่งที่มากด้วยเช่นกัน
จึงตัดสินใจสร้างความแตกต่างด้วยการเปลี่ยนจากขายลูกอมแบบแข็งมาขายเยลลี่โดยได้ไอเดียมาจากการไปต่างประเทศแล้วเห็นว่าเยลลี่เป็นขนมที่น่าสนใจ เป็นขนมผสมรสผลไม้ที่มีเนื้อสัมผัสแปลกใหม่ จึงคิดว่าน่าจะเป็นอะไรที่คนไทยชอบ แต่ปัญหาที่ตามมาคือคนไทยในยุคนั้น (ประมาณ 49 ปีก่อน) ยังไม่รู้จัก “เยลลี่” มากนักทำให้ลูกอมเยลลี่ขายแทบไม่ได้ ถูกปฏิเสธจากร้านค้าไม่อยากรับสินค้ามาขายเพราะลูกค้าไม่รู้จักขนมแบบนี้
ภาพจาก facebook.com/JollyBearsLand
จุดเปลี่ยนคือการที่ Jolly Bears ตัดสินใจสื่อสารด้วยการโฆษณาเพื่อให้คนรู้จักและเข้าใจ จนกลายเป็นที่มาของโฆษณาทางโทรทัศน์ ที่มีเพลงและสโลแกนติดหูอย่าง “นุ่ม ๆ เหนียว ๆ นุ่ม ๆ เหนียว ๆ โอ้ จอลลี่แบร์” ซึ่งก็ได้ผลเกินคาดร้านค้าต่างๆ ที่เคยปฏิเสธก็หันมาสั่ง Jolly Bears กันเป็นจำนวนมากและกลายเป็นสินค้าขายดี ปัจจุบันนอกจาก Jolly Bears ขนมภายใต้ตราสินค้า Jolly นั้น ยังมี Jolly Cola เยลลี่รูปขวดกลิ่นโคล่า และ Jolly Stick ซึ่งทั้งหมดนี้มีเจ้าของเป็นคนไทยและมีการพัฒนาสินค้าพร้อมการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดให้เข้ากับยุคสมัยได้อย่างต่อเนื่อง
เสน่ห์ของ Jolly Bears คือ 1 ซองจะได้สีอะไรบ้าง?
ภาพจาก facebook.com/JollyBearsLand
จอลลี่แบร์ (Jolly Bears) เจลลีหมีรสผลไม้ที่ปกติแล้วใน 1 ซอง จะมีหลากหลายรสชาติด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ส้ม, องุ่น, แอปเปิล, สตรอว์เบอร์รี และ สับปะรดซึ่งแต่ละคนก็จะมีรสชาติที่ชอบแตกต่างกัน ทำให้ต้องลุ้นว่า ซองที่เลือกมาเราจะได้สีอะไรมาบ้าง
และการตลาดที่สำคัญของ Jolly Bears คือการรักษามาตรฐานให้เป็นขนมที่รับประทานกันได้ทุกเพศทุกวัยในราคาไม่แพง จะสังเกตว่าในปัจจุบัน Jolly Bears ก็ยังได้รับความนิยมอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นแบรนด์ที่รักษาภาพลักษณ์และภาพจำตั้งแต่อดีตมาถึงตอนนี้ได้เป็นอย่างดี แม้จะไม่ได้เน้นการโฆษณามากนักในระยะหลังแต่ก็กลายเป็นสินค้าที่อยู่ในความทรงจำให้คนบอกเล่ากันรุ่นต่อรุ่น ถือเป็นพลังของการตลาดที่นับว่ามีประสิทธิภาพมาก
รายได้ของ Jolly Bears กว่า 200 ล้านบาท
ภาพจาก facebook.com/JollyBearsLand
แม้ในยุคนี้ลูกอมเยลลี่จะมีให้เลือกมากมาย ทั้งที่เป็นแบรนด์ไทยเอง หรือแบรนด์นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ Jolly Bears ก็ยังครองส่วนแบ่งการตลาดได้อย่างดี ทุกคนรู้จัก Jolly Bears ในฐานะขนมที่เคี้ยวได้เพลินๆ โดยมีรายได้ในปี 2561 รวม205 ล้านบาท และมีรายได้ในปี 2562รายได้รวม 206 ล้านบาท และในปี 2563 มีรายได้รวม 215 ล้านบาท
จะสังเกตว่าช่วงระหว่างปี 2562 เป็นต้นมารายได้ของ Jolly Bears สูงขึ้นส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการแพร่ระบาดโควิดที่ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น และต้องการขนมที่ทานเล่น คลายเครียด ซึ่ง Jolly Bears เป็นขนมเจลลี่ที่ไม่ต้องมีคำอธิบายแต่เราเข้าใจและเป็นสินค้าที่พร้อมหยิบมาเคี้ยวกินเล่นได้อย่างเพลินๆ
นอกจากนี้ทางแบรนด์ยังพัฒนาการตลาดต่อเนื่องเช่น การไป Collaboration กับแบรนด์รองเท้า “Kito” (กีโต้) ทำเป็น “รองเท้าแตะลายหมี (จอลลี่แบร์)” มี 4 สีให้เลือก ได้แก่ สีเทา, แดง, เขียว, ดำ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือการตอกย้ำภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เป็นผู้นำการตลาดได้อย่างดี ถือเป็นอีกหนึ่งสินค้าคู่คนไทยที่อยู่มานานและยังเติบโตได้อีกมาก เป็นธุรกิจที่เราควรศึกษาแนวทางเพื่อนำมาปรับใช้การทำธุรกิจของเราเองได้
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/335phDi
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3RPXDhY , https://bit.ly/3SaYlWX , https://bit.ly/3xxkqa4 , https://bit.ly/3BNQnh6
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3dwFHdg