ครบรอบ 130 ปี!! ย้อนตำนาน “ผู้พันแซนเดอร์ส” วัยเก๋าไก่ทอด KFC

หลายคนอาจมองว่า เมื่อถึงเวลาเกษียณอายุ เป็นช่วงเวลาสิ้นสุดการทำงาน แต่สำหรับ “ผู้พันแซนเดอร์ส” ถือเป็นจุดเริ่มต้น จากชายผู้อาภัพ และล้มเหลวเกือบทั้งชีวิต สู่การเป็นผู้เจ้าของบริษัทในวัย 65 ปี

จนกลายเป็นตำนาน และความสำเร็จของไก่ทอด KFC และในวันนี้ (9 กันยายน ค.ศ. 2020) เป็นวันครบรอบอายุ 130 ปี ของ “ผู้พันแซนเดอร์ส” ผู้สร้างตำนานอายุเป็นเพียงแค่ตัวเลข www.ThaiSMEsCenter.com จะพาย้อนกลับไปค้นหาตัวตนวัยเก๋า ผู้สร้างไก่ทอด KFC โด่งดังไปทั่วโลก

หากพูดถึง “ผู้พันแซนเดอร์ส” ผู้ก่อตั้งไก่ทอด KFC ถือเป็นบุคคลที่มีฝีมือด้านการทำอาหารอย่างมาก เพราะสามารถชนะเลิศการประกวดทำอาหารประจำหมู่บ้านเมื่อมีอายุเพียง 7 ปี แต่ด้านการเรียนไม่ค่อยสมหวัง ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน

ในเรื่องการทำงานนั้น ผู้พันแซนเดอร์สเริ่มต้นทำงานช่วยเหลือครอบครัวตั้งแต่อายุเพียง 10 ปี ทั้งทำงานในฟาร์มใกล้บ้าน ขายประกัน พนักงานดับเพลิง อีกทั้งยังต้องเข้าเป็นทหารตั้งแต่อายุ 16 ปีควบคู่กับการทำงานไปด้วย จนกระทั่งอายุย่างก้าวเข้าสู่ 40 ปี เขาได้เริ่มทำงานในด้านที่เขาถนัด นั่นคือ การทำอาหาร โดยเขาได้เป็นพ่อครัวทำอาหารอยู่ในรัฐเคนทักกี

ผู้พันแซนเดอร์ส

ภาพจาก bit.ly/3bK2aOH

หลังจานนั้น เขาก็ไปซื้อปั๊มน้ำมันที่รัฐเคนทักกี และทำเป็นร้านอาหาร อีก 9 ปีต่อมาผู้พันแซนเดอร์ส ได้คิดค้นไก่ทอดสูตรลับขึ้นมาได้สำเร็จ โดยมีเครื่องปรุงเป็นเครื่องเทศต่างๆ ถึง 11 ชนิด

ซึ่งได้รับความนิยมมีชื่อเสียงอย่างกว้างขวาง จนแซนเดอร์สในขณะนั้น ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าการรัฐเคนทักกีให้เป็น “พันเอก ฮาร์แลนด์ เดวิด แซนเดอร์ส” ในปี ค.ศ. 1935

ต่อมาธุรกิจร้านอาหารของผู้พันแซนเดอร์สเจริญรุ่งเรืองเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1950 ได้มีการตัดถนนเส้นใหม่ จึงส่งผลให้ผู้คนใช้เส้นทางเดิม สำหรับการเดินทางน้อยลง ผู้พันแซนเดอร์สจึงตัดสินใจปิดกิจการร้านอาหารของตัวเอง

41

ภาพจาก bit.ly/2ZhAcVp

จนกระทั่งในปี ค.ศ.1952 เขาได้ใช้เงินจำนวน 105 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเงินสวัสดิการเกษียณอายุใบแรก มาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางไปเยี่ยมชมและถ่ายทอดกรรมวิธีการทอดไก่ตามสูตรของตัวเอง ให้แก่เจ้าของร้านอาหาร และภัตตาคารทั่วสหรัฐอเมริกา และเมื่อเสร็จแล้วเขาจะไปนั่งรับประทานอาหารในร้าน เพื่อสังเกตลูกค้าว่าประทับใจในรสชาติไก่ทอดหรือไม่

จากจุดนี้เอง ส่งผลให้ผู้พันแซนเดอร์สมีแนวคิดเรื่องการขายแฟรนไชส์ เริ่มจากการขายสิทธิถ่ายทอดกรรมวิธีการทอดไก่ให้ร้านอาหารต่างๆ โดยคิดเงิน 5 เซ็นต์ เป็นค่าลิขสิทธิ์ของไก่ทุกชิ้น โดยใช้สัญลักษณ์เพียงแค่การจับมือเป็นสัญญาแฟรนไชส์

ปรากฏว่าในปี ค.ศ.1964 มีผู้คนสนใจเข้าร่วมธุรกิจกับผู้พันแซนเดอร์สกว่า 600 คนทั่วสหรัฐอเมริกา และแคนาดา เมื่อเครือข่ายธุรกิจขยายออกไปอย่างกว้างขวาง จนเกินความสามารถและกำลังของผู้พันแซนเดอร์สจะดูแลได้ทั่วถึง

ผู้พันแซนเดอร์จึงตัดสินใจขายธุรกิจไก่ทอด “เคนตั๊กกี้” ให้กับกลุ่มนักลงทุน ภายใต้การนำของ John Y. Brown Jr. (จอห์น วาย บราวน์ จูเนียร์) อดีตผู้ว่าการรัฐเคนตั๊กกี้ และ Jack Massy (แจ๊ค แมสซี่) จากเมืองแนชวิลล์ มลรัฐเทนเนสซี โดยผู้พันแซนเดอร์สยังได้รับเงินเดือนตลอดชีวิต มีที่นั่งในบอร์ดบริหาร และเป็น brand ambassador ของบริษัท

40

ภาพจาก bit.ly/2R9I4Ec

อีกทั้ง ยังได้มีการเปิดศูนย์ฝึกอบรมแห่งชาติของ KFC ขึ้นในปี ค.ศ.1978 โดยมีผู้พันแซนเดอร์ส เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของไก่ทอดเป็นหม้อแรก จากพีท ฮาร์แมน ผู้ที่ได้รับสิทธิแฟรนไชส์เป็นรายแรก

จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1980 ผู้พันแซนเดอส์ได้ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคปอดบวม ทำให้ผู้พันแซนเดอส์เสียชีวิตลงในวัย 90 ปีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1980 ที่หลุยส์วิล รัฐเคนทักกี (Kentucky) สหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของ “ผู้พันแซนเดอร์ส” ผู้ก่อตั้งไก่ทอดชื่อดัง KFC สอนให้เรารู้ว่า…การลงมือปฏิบัติ และมีวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจ คือ หัวใจสำคัญของความสำเร็จและยิ่งใหญ่ ขณะที่อายุเป็นเพียงแค่ตัวเลขเท่านั้น


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

แหล่งข้อมูลจาก

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3k4ZXAw

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช