ขั้นตอนเขียนแผนธุรกิจแฟรนไชส์ สำหรับมือใหม่!
แผนธุรกิจ หรือ Business Plan เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับผู้ประกอบการที่คิดจะเริ่มต้นธุรกิจ แผนนี้เป็นผลสรุป กระบวนการคิดพิจารณา และการตัดสินใจ ที่เปลี่ยนความคิดของผู้ประกอบการออกมาเป็นโอกาสทางธุรกิจ
คนส่วนใหญ่มักเปรียบเทียบว่าแผนธุรกิจเปรียบเหมือนแผนที่ในการเดินทาง ที่จะชี้แนะขั้นตอนต่างๆ ทีละขั้นตอนในกระบวนการก่อตั้งกิจการ แผนจะให้รายละเอียดต่างๆ ทั้งเรื่องของการตลาด การแข่งขันกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ การคาดคะเนทางการเงิน ที่จะชี้นำผู้ประกอบการไปสู่ความสำเร็จ หรือชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนและข้อควรระวังด้วยเช่นกัน
สำหรับใครที่อยากทำแฟรนไชส์นั้น ขั้นตอนเขียนแผนธุรกิจ แฟรนไชส์ก็ไม่แตกต่างไปจากการเขียนแผนธุรกิจทั่วๆ ไป เพราะก่อนทำแฟรนไชส์ธุรกิจแบรนด์นั้นได้เติบโตมาเหมือนกัน วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะนำเสนอให้ทราบ
1. บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
ภาพจาก https://pixabay.com/
เป็นส่วนที่จะสรุปใจความสำคัญๆ ของแผนธุรกิจทั้งหมดให้อยู่ในความยาวไม่เกิน 1-2 หน้า ส่วนนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นส่วนแรกที่ผู้ร่วมลงทุนจะอ่านและจะต้องตัดสินใจจากส่วนนี้ว่า จะอ่านรายละเอียดในตัวแผนต่อหรือไม่ บทสรุปผู้บริหารจึงต้องชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญ ว่า ธุรกิจที่จะทำมีโอกาสจริงๆ ในตลาด และต้องชี้ให้เห็นว่า สินค้าหรือบริการที่จะทำนั้น จะสามารถใช้โอกาสในตลาดที่ว่านั้นให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร
บทสรุปผู้บริหารจึงต้องเขียนให้เกิดความน่าเชื่อถือ หนักแน่น และชวนให้ติดตามรายละเอียดที่อยู่ในแผนต่อไป ผู้เขียนแผนควรระลึกไว้เสมอว่า คุณภาพของบทสรุปผู้บริหารจะสะท้อนถึงคุณภาพของแผนธุรกิจโดยภาพรวม จึงควรให้เวลากับการเขียนส่วนนี้อย่างพิถีพิถัน โดยสรุปเนื้อที่ต้องมี ก็คือ
- ภาพรวมของธุรกิจ
- โอกาสในการดำเนินธุรกิจและการแข่งขัน
- ข้อมูลสินค้าและบริการ
- วิสัยทัศน์ เป้าหมาย จุดประสงค์
- กลยุทธ์ธุรกิจ
- แผนการลงทุน
- ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ
2. ประวัติโดยย่อของกิจการ
ภาพจาก https://pixabay.com/
ส่วนนี้คือการให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการก่อตั้งกิจการ ทั้งในด้านรูปแบบการจัดตั้ง หรือจดทะเบียน ตลอดจนแนวคิดและที่มาของการเล็งเห็นโอกาสทางการตลาด การคิดค้นและพัฒนาสินค้า/บริการ ที่ต้องการนำเสนอให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายระยะสั้น ที่ต้องการให้เกิดในอนาคต
- อธิบายลักษณะของธุรกิจ
- ความเป็นมาธุรกิจ
- แนวทางการพัฒนาธุรกิจ
- สถานที่ตั้งของธุรกิจ
3. การวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาส
ภาพจาก https://pixabay.com/
ขั้นตอนแรกของการจัดทำแผนธุรกิจ คือ การพยายามทำความเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของปัจจัยสำคัญๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การแข่งขัน ความน่าสนใจโดยรวมของอุตสาหกรรม ตลอดจนความสามารถในการทำกำไร และความพร้อมในด้านต่างๆ ของกิจการ
ดังนั้น การวิเคราะห์สถานการณ์จึงเป็นงานอันดับแรกที่สำคัญที่ผู้ประกอบการควรกระทำ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ และแผนการดำเนินงานของกิจการ รวมถึงเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ข้อได้เปรียบกับคู่แข่ง แล้วสรุปเหตุผลว่า กิจการหรือธุรกิจของคุณดีอย่างไร ทำไมถึงต้องทำแฟรนไชส์
- จุดแข็งและจุดอ่อน
- โอกาสทางธุรกิจ
- วิธีแก้ไขปัญหา-อุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น
4.แผนการตลาด
ภาพจาก https://pixabay.com/
เป็นการเขียนแผนธุรกิจที่อธิบายเกี่ยวกับกลยุทธ์การเข้าถึงตลาดที่กิจการได้ตั้งเป้าหมายไว้ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการวิเคราะห์ส่วนผสมทางการตลาด (Marketing Mix) ตลอดจนกลยุทธ์ในการเข้าถึงและการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมถึงเป้าหมายทางการตลาด เพื่อสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจให้กับนักลงทุน หรือผู้ให้บริการแหล่งเงินทุน
- กลยุทธ์การตลาด
- การสื่อสารทางการตลาด
- การเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
5. แผนการดำเนินงาน
ภาพจาก https://pixabay.com/
เป็นการเขียนระบุขั้นตอนการดำเนินงานและการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างละเอียด ประกอบด้วย
- การผลิต
- การควบคุมคุณภาพ
- การบริหารบุคลากร
- การคัดเลือกผู้ซื้อแฟรนไชส์
- การควบคุมวัตถุดิบ และการจัดส่งสินค้าสำเร็จรูป
- การควบคุมคลังสินค้า
- การบริการลูกค้า
6. แผนการเงิน
ภาพจาก https://pixabay.com/
แผนการเงินถือเป็นส่วนที่แสดงข้อมูลเชิงปริมาณที่ผู้ให้บริการแหล่งเงินทุน และนักลงทุนใช้เป็นหัวข้อสำคัญในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งแผนการเงินที่ดีจะดึงดูดนักลงทุน และผู้ให้บริการแหล่งเงินทุน การเขียนแผนธุรกิจ ควรมีแผนการบริหารเงินให้กิจการสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น ไม่มีสะดุด โดยต้องสะท้อนความเป็นจริงทั้งเป้าหมาย และตัวเลขทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงภายในกิจการ โดยข้อมูลสำคัญที่ควรมีในการเขียนแผนธุรกิจหัวข้อนี้ คือ
- แผนการลงทุน
- การประมาณการรายได้และผลตอบแทนที่จะได้รับ
- ข้อมูลทางการเงินของกิจการ ได้แก่ งบแสดงฐานะทางการเงิน งบกำไรขาดทุนสุทธิ และงบกระแสเงินสด
- การวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน
- การวิเคราะห์ระยะเวลาคืนทุน
- การวิเคราะห์จุดคุ้มทุน
7. แผนฉุกเฉิน
ภาพจาก https://pixabay.com/
ในกรณีที่กิจการตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน หรือเกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบเช่น โควิด-19 น้ำท่วม ภาวะทางเศรษฐกิจ หรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ กิจการควรมีแผนการรับมือรองรับ เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินการต่อไปได้ในภาวะที่เกิดปัญหา เป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุน และผู้ให้บริการแหล่งเงินทุน ถึงความสามารถในการรับมือกับทุกสถานการณ์
ทั้งนี้ ขั้นตอนเขียนแผนธุรกิจ แฟรนไชส์ที่ดี ย่อมจะให้รายละเอียดถนนหนทาง และทิศทางในการทำธุรกิจที่ชัดเจน ช่วยให้ผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์ตัดสินใจได้ว่า ธุรกิจแฟรนไชส์นั้นควรจะร่วมลงทุนด้วยหรือไม่
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3rGon6O
ท่านใดสนใจอยากให้ร่างสัญญาแฟรนไชส์โดยถูกต้องตามหลักกฎหมายแจ้งความประสงค์ได้ที่
โทร : 02-1019187, Line : @thaifranchise