ขอเครื่องหมายฮาลาล เริ่มต้นอย่างไร?

ตัวเลขระบุชัดว่า มีผู้บริโภคชาวมุสลิมทั่วโลก 24% หรือราว 2,140 ล้านคน มูลค่าการค้ากว่า 162,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ผู้ประกอบการควรนึกถึงสำหรับเจาะตลาด “มุสลิม” คือการขออนุญาติในการผลิตสินค้าให้ถูกต้องตามหลักของศาสนาสิ่งสำคัญ

คือ “ตราฮาลาล” ที่เป็นเหมือนเครื่องหมายบ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์นั้นเป็นที่ฮาลาล (อนุมัติ) สำหรับมุสลิมใช้บริโภค โดยจะมีคำว่า “ฮาลาล” ( حلال‎) เป็นภาษาอาหรับประทับอยู่ ผู้ออกตราฮาลาลในประเทศไทยคือ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าผู้ประกอบการที่ต้องการเจาะตลาดมุสลิมนี้ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการขอเครื่องหมาย “ฮาลาล” เป็นอันดับแรก

7 ขั้นตอนขอเครื่องหมายฮาลาล

ขอเครื่องหมายฮาลาล

ภาพจาก halalinfo.ifrpd.ku.ac.th
คลิกเพื่อดูภาพขยาย

1. ตรวจสอบว่ามีสำนักงานอิสลามประจำจังหวัดหรือไม่?

ก่อนจะดำเนินการยื่นขอเครื่องหมายรับรองฮาลาล สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องตรวจสอบก่อน นั่นคือ ในจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิต มีกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหรือไม่ หากมี ก็สามารถติดต่อดำเนินการได้เลย

แต่ถ้าไม่มี การรับรองฮาลาลจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายกิจการฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบรายชื่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้ที่ www.cicot.or.th หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2096-9499 (10 คู่สาย)

2. เตรียมเอกสารให้พร้อม

สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมให้พร้อม คือ เอกสารสำหรับการยื่นขอรับรองฮาลาล ประกอบด้วยเอกสารคำขอ HL.Cicot OC 01-08 ได้แก่ เอกสารที่ต้องเตรียมก่อนขอรับรองฮาลาล คู่มือฮาลาลเพื่อการขอรับรอง (Halal Manual) สัญญาคำขอให้เครื่องหมายรับรองฮาลาล เป็นต้น โดยสามารถคลิกดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำขอใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลได้ที่ https://bit.ly/2medxcc

18

ภาพจาก bit.ly/2ntOlit

3. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร

หลังจากผู้ประกอบการยื่นเอกสาร ที่สำนักงานอิสลามประจำจังหวัดแล้ว เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของเอกสาร กรณีไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะติดต่อให้ส่งเอกสารให้ครบถ้วนภายในเวลา 7 วันทำการ

4. ชำระค่าธรรมเนียมตรวจสอบสถานประกอบการ

ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการตรวจสอบสถานประกอบการ โดยจะได้รับใบแจ้งหนี้หลังจากส่งเอกสารขอรับรองฮาลาลไม่เกิน 15 วัน โดยผู้ประกอบการคลิ๊กดูรายละเอียดค่าธรรมเนียมได้ที่ https://bit.ly/2mk5tq8

5. ตรวจรับรองสถานประกอบการ

ในขั้นตอนนี้ เจ้าหน้าที่จะนัดหมายตรวจโรงงาน โดยแจ้งวันและเวลาในการตรวจรับรองสถานประกอบการ หลังจากนั้นคณะผู้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลจะเข้าตรวจสถานที่ และตรวจสอบตั้งแต่ วัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิต คลังสินค้า ตลอดจนการขนส่ง เป็นต้น ขั้นตอนนี้หากเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ฮาลาล ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้ตรวจรับรองฮาลาลเกิดข้อสงสัยในส่วนผสมบางอย่าง จะต้องส่งส่วนผสมผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการเพื่อความชัดเจน

17

ภาพจาก bit.ly/2lXFRj3

6. อนุมัติใช้เครื่องหมายฮาลาล

หากผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ที่ประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จะลงมติผลการตรวจรับรอง จากนั้นจะส่งรายงานเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อขออนุมัติการใช้เครื่องหมาย เมื่อที่ประชุมฯ มีมติอนุมัติ ก็จะดำเนินการออกหนังสือรับรองฮาลาลให้สถานประกอบการนั้นๆ สำหรับการประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามฯ จะจัดขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง

7. ชำระค่าธรรมเนียมเพื่อรับหนังสือรับรองฮาลาล

ถึงตรงนี้ ผู้ประกอบการต้องชำระค่าธรรมเนียมเพื่อรับหนังสือรับรองฮาลาล ซึ่งจะมีอายุการใช้งาน 1 ปี การนำเครื่องหมายรับรองฮาลาลไปใช้มีระเบียบและกติกามากมาย ไม่ว่าจะเป็น การนำไปพิมพ์ลงบนบรรจุภัณฑ์ การใช้เครื่องหมายในการประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

ดังนั้นผู้ประกอบการสามารถศึกษาวิธีการใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลเบื้องต้นได้ที่ ข้อกำหนดแนวทางปฏิบัติการขอใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลและการใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลบนผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ปี พ.ศ.2559 นอกจากนี้ กรณีที่ต้องการต่ออายุเครื่องหมายฮาลาล ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการภายใน 60 วันก่อนหมดอายุ มิฉะนั้นจะต้องยื่นคำขอใหม่

เครื่องหมายฮาลาล! มีข้อห้ามอะไรบ้าง

16

ภาพจาก bit.ly/2mRDCxU

1. สิ่งแรกที่ต้องห้าม

ตามที่กุรอานกล่าวถึงคือ เนื้อของ “ซากสัตว์” คือสัตว์ที่ตายเองโดยไม่ผ่านการเชือด เหตุผลที่ห้ามคือ การกินเนื้อสัตว์ที่ตายเองเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เพราะสัตว์ตายเองอาจเป็นไปได้ว่าตายเพราะเหตุปัจจุบันทันด่วนหรือตายเพราะโรคระบาดดังนั้นการกินเนื้อของมันจึงอาจเป็นอันตรายได้

2. ห้ามกินเลือด

เหตุผลคือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจต่อความรู้สึกของมนุษย์และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน

3. ห้ามกินเนื้อหมู

เนื่องจากเนื้อหมูเป็นสัตว์ที่ชอบกินของสกปรกและสิ่งปฏิกูล ยิ่งกว่านั้นทางการแพทย์ระบุว่าการกินเนื้อหมูเป็นอันตรายต่อทุกสภาพอากาศโดยเฉพาะในเขตอากาศร้อน

4. ห้ามกินสัตว์ที่ถูกเชือด

โดยผู้เชือดมิได้กล่าวพระนามของอัลเลาะห์ เหตุผลคือเป็นเรื่องกับความศรัทธา เพื่อทำให้การปฏิบัติศาสนกิจบริสุทธิ์เพื่ออัลเลาะห์ เช่นเดียวกับสัตว์ที่ตายด้วยวิธีอื่นที่มิได้ผ่านการเชือดอย่างถูกต้องตามหลักศาสนบัญญัติของอิสลาม เช่นรัดคอจนตาย ตีจนตาย หรือตกจากที่สูงก็ไม่อนุญาตให้ทานได้เช่นกัน

ข้อมูลน่าสนใจอีกประการว่าทำไมอาหารบางอย่างถึงไม่อนุญาติให้ทานหรือไม่ได้รับตราฮาลาลทั้งที่วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารนั้นถูกต้องตามหลักการ

เช่น เนื้อสัตว์อาจจะซื้อมาจากร้านค้าที่เป็นของมุสลิมหรือจากผู้ประกอบการที่มีการเชือดสัตว์อย่างถูกต้องตามกรรมวิธีของอิสลาม แต่ที่ไม่ได้ฮาลาลเพราะการประกอบอาหารนั้นอาจจะผิดหลักการอิสลาม เช่น มีการใช้ภาชนะประกอบอาหารรวมกันทั้งเนื้อวัว เนื้อไก่ ทำในภาชนะเดียวกันกับภาชนะที่มีการประกอบอาหารจากเนื้อหมูหรือสิ่งที่ถูกห้าม

15

ภาพจาก bit.ly/2lWX8Jr

ดังนั้นผู้ประกอบการรายใดที่ต้องการขอเครื่องหมาย “ฮาลาล” ก็ควรศึกษาวิธีปฏิบัติและทำตามอย่างเคร่งครัด เคารพในบทบัญญัติตามศาสนาที่ได้ตั้งไว้

แม้รายละเอียดเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องศึกษาแต่ก็ถือว่าคุ้มค่าและน่าสนใจเมื่อพิจารณาจากขนาดของตลาดมุสลิมที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นและมีกำลังซื้อที่สูงมากขึ้นทุกปีด้วย


ท่านใดสนใจอยากจดเครื่องหมายการค้าโดยถูกต้องตามหลักกฎหมายแจ้งความประสงค์ได้ที่ 
โทร : 02-1019187, Line : @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3eTzPsk

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด