การเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์
กบ เป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมบริโภคกันมากถือเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพและสามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลาย ทั้งนี้คนที่เลี้ยงกบเป็นอาชีพนั้นเริ่มมีมากขึ้นในปัจจุบัน จากที่เคยเพาะเลี้ยงแบบธรรมชาติก็กลายมาเป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น
ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ดีแม้ว่าจะต้องลงทุนมากหน่อยคือการเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์แต่ข้อดีของวิธีนี้คือผลตอบแทนในระยะยาวจากการลงทุนมากในครั้งเดียว
แต่ทั้งนี้ก็มีคนจำนวนมากยังไม่รู้วิธีการที่แท้จริงของการเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ว่าควรจะต้องเริ่มอย่างไร และทำอย่างไรเพื่อให้ได้ผลกำไรที่ชัดเจน www.ThaiSMEsCenter.com จึงมีวิธีสร้างอาชีพด้วยการเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์มาฝากรับรองว่าอนาคตไกลทีเดียว
ข้อดีของการเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์
- เป็นรูปแบบที่นิยมเลี้ยงกันมากที่สุด โดยบ่อที่นิยมจะมาขนาด 3 x 4 เมตร หรือใหญ่กว่า
- สะดวกในการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ทำความสะอาดบ่อ ควบคุมโรครวมถึงการจับแบบทยอยจับได้
- ดีต่อการอาศัยของกบเพราะบ่อส่วนใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีพื้นที่ที่เป็นพื้นบกสำหรับกบอาศัยอย่างน้อย 70% ของบ่อ ที่เหลือเป็นพื้นน้ำ
ลักษณะบ่อปูนซีเมนต์เลี้ยงกบ
- โดยทั่วไปแล้วบ่อเลี้ยงกบจะเป็นบ่อเอนกประสงค์ คือ ใช้ตั้งแต่ผสมพันธุ์ อนุบาลลูกอ๊อด อนุบาลลูกกบ จนถึงเลี้ยงกบขุนหรือกบเนื้อ
- บ่อเลี้ยงกบ มักเป็นบ่อซีเมนต์ มีหลายรูปแบบ เช่น ปูกระเบื้อง ทาสีเหลือง มีหลายขนาด เช่น 3×4 ,4×4 , 4×5 , 4×6 หรือขึ้นกับความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
- บ่อเลี้ยงจะมีการเทคานและใช้อิฐบล็อค 4 – 6 ก้อนก่อเป็นผนัง พื้นบ่อมีการเทปูนหนาพอสมควรเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึม ด้านในของบ่อทั้ง 4 ด้าน จะฉาบผิวสูงประมาณ 30- 50 เซนติเมตร
- บ่อกบควรตั้งอยู่กลางแจ้งมีแสลนกรองแสงทำเป็นหลังคาและกันแดด รวมทั้งมีตาข่ายกันนกหรือศัตรูที่จะเข้ามาจับกินกบ
- มีการวางระบบน้ำ โดยเดินท่อพีวีซีไปยังทุกบ่อ เพื่อเติมน้ำในขณะที่เปลี่ยนน้ำออกจากบ่อ
วิธีการเพาะเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์
- การเลี้ยงกบควรเลือกพื้นที่เป็นที่สูงหรือที่ดอน มีลักษณะราบเสมอ ใกล้แหล่งน้ำ เพื่อสะดวกต่อการถ่ายเทน้ำ แต่ควรให้ห่างจากถนนเพื่อป้องกันเสียงรบกวน
- สร้างบ่อซีเมนต์ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1.5 เมตร สูง 1 เมตร เพื่อใช้เพาะพันธุ์กบ จำนวน 1 บ่อ และสร้างบ่อขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร จำนวน 3 บ่อ โดยก่อแผ่นซีเมนต์และฉาบด้วยปูนซีเมนต์ ปูนที่ฉาบควรหนาเป็นพิเศษ ตรงส่วนล่างที่เก็บขังน้ำ สูงจากพื้น 1 ฟุต พื้นล่างเทปูนหนาเพื่อรองรับน้ำ และมีท่อระบายน้ำอยู่ตรงส่วนที่ลาดที่สุด
- พันธุ์กบที่จะเพาะเลี้ยงควรเลือกกบนาเพราะเจริญเติบโตเร็ว และเป็นที่นิยมของผู้บริโภคกบนาตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย เมื่อจับพลิกหงายขึ้นจะเห็นกล่องเสียงอยู่ใต้คางแถวมุมปาก ส่วนตัวเมียมองไม่เห็นกล่องเสียง
การเพาะพันธุ์กบ
ล้างบ่อซีเมนต์ให้สะอาด ใส่น้ำลงไปให้ได้ความลึกประมาณครึ่งฟุต แล้วหาวัชพืชน้ำมาใส่ไว้เพื่อให้ไข่กบเกาะ จากนั้นนำพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์กบ 1 คู่มาใส่ไว้รวมกันประมาณ 2-3 คืน
กบจะผสมพันธุ์และวางไข่ในช่วงเวลา 04.00-06.00 น. เมื่อเห็นว่ากบออกไข่แล้ว ให้นำ พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ออกจากบ่อ เพื่อป้องกันไม่ให้แพไข่แตก
การอนุบาลลูกกบวัยอ่อน
เมื่อไข่กบฟักออกเป็นตัวอ่อนแล้ว ช่วง 2 วันแรกไม่ต้องให้อาหาร เพราะลูกอ๊อดยังใช้ไข่แดงที่ติดมาเลี้ยงตัวเอง หลังจากนั้นจึงเริ่มให้อาหารเม็ดสำหรับลูกกบวันละ 1 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1 กำมือ
หรืออาจให้ไข่แดงบดเป็นอาหารแทนก็ได้ ซึ่งเฉลี่ยแล้วใช้วันละ 2-3 ฟองต่อลูกอ๊อด 1 คอกเมื่อลูกอ๊อดมีอายุ 20-30 วัน จึงเป็นลูกกบเต็มวัย
ในช่วงนี้ต้องนำไม้ไผ่มาทำเป็นแพหรือแผ่นโฟมลอยน้ำ เพื่อให้ลูกกบเต็มวัยขึ้นไปอาศัยอยู่ เพราะลูกอ๊อดจะโตเต็มวัยไม่พร้อมกัน อาจมีการรังแกกันจนเกิดแผลทำให้ลูกกบตายได้ ดังนั้น จึงต้องลงมือคัดลูกกบขนาดตัวยาว 2 เซนติเมตร ไปเลี้ยงในบ่อที่เตรียมไว้ บ่อละ 1,000 ตัว
การดูแลและเลี้ยงกบเต็มวัยจนเป็นกบโต
เมื่อคัดลูกกบนำไปเลี้ยงในบ่อแล้ว ใส่วัชพืชน้ำและวัสดุลอยน้ำลงไป เช่น แพไม้ไผ่หรือแผ่นโฟม เพื่อให้กบขึ้นไปอาศัยอยู่ และนำทางมะพร้าวมาคลุมบ่อเพื่อบังแดดด้วย ในช่วงที่คัดลูกกบลงบ่อซีเมนต์ใหม่ๆ นี้ ให้ใช้อาหารเม็ดสำหรับเลี้ยงลูกกบไประยะหนึ่งก่อน
เมื่อกบโตขึ้นจึงค่อยให้อาหารเม็ดสำหรับเลี้ยงกบโตวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ในอัตรา 3% ของน้ำหนักตัวกบ คือ ถ้ากบน้ำหนัก 100 กิโลกรัม ก็ให้อาหารวันละ 3 กิโลกรัม ในขั้นตอนนี้ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 3 เดือน ก็สามารถจับกบจำหน่ายได้
ข้อแนะนำที่สำคัญในการเลี้ยงกบ
- การเลี้ยงกบต้องระวังเรื่องความสะอาด ขณะสูบบุหรี่ใกล้บริเวณบ่อ ระวังอย่าให้ขี้บุหรี่ ตกลงไปในบ่อเด็ดขาด เพราะลูกกบจะตายยกบ่อ
- การเลี้ยงกบ ต้องคัดลูกกบขนาดเท่ากันไปเลี้ยงในบ่อเดียวกัน ห้ามเลี้ยงลูกกบคนละขนาดเด็ดขาด เพราะลูกกบจะกินกันเอง
- การเลี้ยงกบควรกะระยะเวลา 4 เดือน ในการจับจำหน่ายอย่าให้ตรงกับช่วงฤดูฝนเพราะกบราคาถูก
- อาหารกบ นอกจากอาหารเม็ดแล้ว สามารถใช้เนื้อปลาสับหรือเนื้อหอยโข่งก็ได้
- ก่อนที่จะปล่อยแม่พันธุ์กบลงผสมพันธุ์ ต้องสังเกตแม่พันธุ์กบว่าตัวเริ่มฝืด มีปุ่มหนาม แสดงว่าพร้อมจะผสมพันธุ์ หากปล่อยลงไปแล้ว 2-3 วัน ยังไม่เห็นไข่กบ ก็จับพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์มาแยกเลี้ยงอีกระยะหนึ่ง แล้วค่อยนำมาผสมพันธุ์ใหม่
ราคาจำหน่าย
สามารถแบ่งออกได้เป็นการขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ส่วนใหญ่ขายเมื่อตอนอายุ 9 เดือนราคาโดยประมาณคือคู่ละ 350-400 บาท แต่ที่นิยมเชิงพาณิชย์คือการขายกบเนื้อที่ใช้เวลาเจริญเติบโตเต็มที่ตั้งแต่เป็นลูกกบมาจนถึงจับจำหน่ายใช้เวลาประมาณ 80 วัน น้ำหนักเฉลี่ย 200-300 กรัม เป็นไซส์ 4-6ตัว/กก. ราคาตั้งแต่ 70-90 บาท
ช่วงเวลาจับขายประมาณ มีนาคมเรื่อยไปจนถึงช่วงปลายกันยายน ในฤดูหนาวเป็นช่วงของกบจำศีลจึงเป็นเวลาหยุดพักของธุรกิจนี้ด้วยเช่นกัน
เงินลงทุนเบื้องต้น : ประมาณ 8,000 บาท ต่อการเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์ 4 บ่อ
รายได้โดยประมาณ : ครั้งแรก 16,000 – 24,000 บาท
สถานที่ให้คำปรึกษา
- กองส่งเสริมการประมง กรมประมง โทร. 02-561-4689
- สำนักงานประมงจังหวัดและอำเภอ
มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จจากการเพาะเลี้ยงกบจำหน่าย ทั้งนี้การหาความรู้เพิ่มเติมรวมถึงเทคนิคใหม่ๆเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง
รวมถึงช่องทางการตลาดใหม่ๆที่ควรหาสำรองไว้ในยามฉุกเฉินอาชีพนี้ดีต่อผู้ลงทุนแต่ก็ควรมีช่องทางที่หลากหลายเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉินต่างๆ ด้วย
ขอบคุณรูปภาพจาก https://goo.gl/25rxNp
อ้างอิงจาก https://bit.ly/2Rc6s8e