การปลูกองุ่น
องุ่นเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์หลายประการ แต่ต้องเลือกนำมาใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับชนิดและพันธุ์ขององุ่น เพราะนอกจากใช้รับประทานสดแล้ว ยังสามารถนำไปแปรรูปทำเป็นอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกหลายชนิด
ประโยชน์ขององุ่นในปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้
- ใช้รับประทานสด
- ใช้ตากแห้ง (ลูกเกด)
- ใช้ทำเหล้าองุ่น (wine)
- คั้นทำน้ำองุ่นสด
- บรรจุกระป๋อง
ชนิดและพันธุ์องุ่น
ชนิดและพันธุ์ขององุ่นมีมากมายนับเป็นพันเป็นหมื่นชนิด เนื่องจากมีการนำพันธุ์ต่าง ๆ มาผสมพันธุ์กันโดยเฉพาะนำพันธุ์จากยุโรปและอเมริกา ซึ่งนิยมปลูกองุ่นกันมากมาผสมพันธุ์กันเพื่อให้ได้พันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพที่ปลูก การปลูกองุ่นจะต้องคำนึงถึงความประสงค์ที่จะใช้ประโยชน์ตามที่ตลาดต้องการเนื่องจากบางพันธุ์ เหมาะสมกับการรับประทานสด บางพันธุ์เหมาะกับการทำองุ่นแห้ง บางพันธุ์เหมาะกับการทำเหล้าองุ่น (wine) ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวถึงชนิดและพันธุ์ขององุ่น เพื่อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
การขยายพันธุ์และวิธีการปลูกองุ่น
พื้นที่สำหรับปลูกองุ่น
การปลูกองุ่นให้ได้ผลดี ต้องพิจารณาพื้นที่ที่จะปลูก ดังนี้
- ดินมีความอุดมสมบูรณ์ดี
- มีอากาศที่เหมาะสม
- เป็นพื้นที่ปราศจากโรคและแมลงรบกวนหรือมีน้อย
ลักษณะของดิน
แม้ว่าองุ่นจะขึ้นได้ในพื้นที่ดินเกือบทุกชนิดก็ตาม แต่สำหรับเมืองไทยเห็นว่าจำเป็นต้องเลือกดินร่วนปนทราย มีอินทรียวัตถุสมบูรณ์ระบายน้ำได้ดีรวมทั้งดินมีความโปร่งชุ่มชื้น ซึ่งรากจะไชชอนหาอาหารได้ดีหากดินที่ปลูกขาดธาตุอาหารชนิดใดควรเสริมให้สมบูรณ์ ซึ่งองุ่นชอบดินที่เป็นกรดอ่อน มีค่า pH ระหว่าง 5.5 – 5.6
ความชื้นและอากาศ
องุ่นเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่อุณหภูมิค่อนข้างสูง แสงแดดจัด ความชื้นในอากาศต่ำ ระดับน้ำฝนไม่ควรเกิน 40 นิ้ว และไม่น้อยกว่า 15 นิ้วต่อปี นอกจากนี้ ควรมีการชลประทานช่วย เพราะในบางระยะองุ่นมีความต้องการน้ำมาก เช่น ในระยะเริ่มติดผลปราศจากโรคและแมลงดินฟ้าอากาศมีส่วนทำให้แมลงเจริญเติบโตได้ง่ายการเลือกพื้นที่ ที่จะปลอดภัยจากโรคและแมลงอาจทำได้ยากอย่างไรก็ตาม ต้องสังเกตพื้นที่รอบ ๆ ที่จะปลูกองุ่น เช่น ไม่รกรุงรัง ชาวไร่ข้างเคียงสนใจต่อการป้องกันโรคและแมลงหรือไม่ ทั้งนี้ในปัจจุบันความก้าวหน้าในการป้องกันโรคและแมลงมีความก้าวหน้ามาก สามารถที่จะต่อสู้ได้ แต่ก็ไม่ควรต้องลงทุนสูง
การขยายพันธุ์องุ่น
องุ่นเป็นผลไม้ที่ขยายพันธุ์ได้ง่ายรวดเร็ว ส่วนมากชาวไร่องุ่นจะซื้อพันธุ์จากสถานที่จำหน่ายพันธุ์ มาปลูกเพราะเป็นการสะดวก แต่ถ้าหากว่าผู้ปลูกทำการขยายพันธุ์เองจะเป็นการประหยัดและมีความมั่นใจพันธุ์ที่นำมาปลูกอย่างไรก็ตาม ผู้ปลูกองุ่นควรมีความรู้ ความชำนาญสามารถขยายพันธุ์ได้เอง จะเป็นการลดต้นทุน ซึ่งการขยายพันธุ์องุ่นสามารถทำได้ถึง 6 วิธี
- การเพาะเมล็ด
- การตัดกิ่งปักชำ
- การติดตา
- การทับกิ่ง
- การตอน
- การต่อเสียบ
การขยายพันธุ์แต่ละวิธีมีขั้นตอนและรายละเอียด ดังนี้
1. การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด การขายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ ไม่ค่อยนิยมกันมากนัก เพราะพันธุ์ที่ได้จะออกดอกออกผลช้า ไม่ตรงตามพันธุ์ บางพันธุ์มีเมล็ดเว้นแต่จะทำการผสมพันธุ์แล้วเพาะเมล็ดเพื่อได้พันธุ์ที่ดีกว่าเดิม วิธีการเพาะเมล็ดทำได้โดยการเก็บเมล็ดจากผลองุ่นที่สุกแก่เต็มที่แล้ว นำไปเก็บไว้ในทรายชื้นหรือในตู้เย็นสัก 2 – 3 เดือน เพื่อให้มีการพักตัว
หลังจากนั้นนำไปเพาะในกระบะหรือในแปลงเพาะโดยใช้ขี้เถ้าแกลบผสมกับทรายหยาบและปุ๋ยคอกลงไปด้วยหว่านเมล็ดองุ่นลงในกระบะเพาะหรือในแปลงเพาะใช้หญ้าแห้ง หรือฟางแห้งคลุมไว้เพื่อรักษาความชื้น รดน้ำให้ชุ่มชื้นทุกวันประมาณ 20 – 30 วัน จะเริ่มงอกแตกเป็นต้นสูงประมาณ 20 เซนติเมตรแยกนำไปชำในถุงพลาสติกหรือในแปลงชำ เมื่อลำต้นแข็งแรงสามารถนำไปปลูกในพื้นที่ที่เตรียมไว้
2. การขยายพันธุ์ด้วยการตัดกิ่งปักชำ การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ จะได้พันธุ์ตรงตามพันธุ์เดิม โดยตัดจากกิ่งองุ่นที่แก่ มีอายุไม่เกิน 1 ปีควรใช้กิ่งขนาดกลาง มีข้อถี่ ตัดยาวประมาณ 7 – 8 นิ้ว เลือกกิ่งที่มีตาบริสุทธ์ไม่บอดไม่เสียการปักชำ จะปักลงในกระบะทรายหรือในแปลงปักชำก็ได้ โดยใช้ขี้เถ้าแกลบผสมกับทรายและปุ๋ยคอก ราดด้วยยาฆ่าเชื้อรา เช่น ยา บอร์โดมิกซ์เจอร์ แล้วนำกิ่งที่เตรียมไว้มาปักชำควรปักลงไปในดินไม่น้อยกว่า 2 ข้อ มีตาเหลือพ้นดิน 2 – 3 ตา ควรปักให้เอนไปทางทิศตะวันตกหันตาไปทางทิศตะวันออก กดดินที่โคนกิ่งให้แน่น
อย่าให้ถูกแสงแดดมาก รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ แต่อย่าให้แฉะ ประมาณ 15 – 20 วัน ก็จะแตกใบอ่อน เมื่อแตกกิ่งและมีใบแข็งแรง ให้แยกไปชำในถุงพลาสติกที่บรรจุดินผสมปุ๋ยคอก และขี้เถ้าแกลบเพื่อให้เติบโตจึงนำไปปลูกต่อไปหรือจะนำไปชำในแปลงชำ จนกระทั่งสามารถนำไปปลูกในไร่ได้ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 7 – 8 เดือน อย่าชำไว้นานเพราะเมื่อย้ายไปปลูกจะทำให้ต้นแคระแกรน ลำบากต่อการย้ายไปปลูกซึ่งการย้ายกิ่งปักชำไปปลูกในไร่ ให้ตัดเถาเหลือ 2 – 3 ตา พ่นยาป้องกันโรคก็สามารถปลูกในไร่ต่อไปได้
3. การขยายพันธุ์ด้วยวิธีติดตา การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ ส่วนใหญ่จะทำเพื่อนำตาขององุ่นพันธุ์ดีไปติดกับต้นตอที่เป็นพันธุ์ไม่ดีแต่แข็งแรงวิธีทำให้เฉือนตาต้นพันธุ์ดีเข้าไปในเนื้อไม้แล้วบากต้นตอให้มีลักษณะเดียวกับตาที่เฉือนมา นำเนื้อไม้ที่มีตาสอดเข้าไปในรอยบากของต้นตอมัดด้วยเชือกพลาสติกหรือเชือกกล้วย แล้วพันด้วยผ้าพลาสติก หรือผ้าชุบขี้ผึ้งโดยเปิดตาไว้ เมื่อตาแตกกิ่งและรอยที่ต่อติดแน่นแล้ว จึงแก้เชือกและผ้าพลาสติกที่พันออก อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้นานมาก หากไม่แก้ออกจะทำให้กิ่งคอดไม่เติบโต
4. การขยายพันธุ์ด้วยการทับกิ่ง การขยายพันธุ์องุ่นด้วยวิธีนี้ สามารถขยายพันธุ์กับองุ่นได้ทุกพันธุ์ซึ่งได้ผลแน่นอนวิธีทำก็คือ โน้นเถาองุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ตัดแขนง ใบ และยอดอ่อนทิ้ง นอนเถาลงในรางที่ขุดลึก3 – 5 นิ้ว ใช้ไม้ไผ่หรือลวดทำเป็นง่ามปักคร่อมเถาไว้ ป้องกันการหลุดเลื่อน ใช้ดินผสมกับ ปุ๋ยคอก หรือหญ้าผุ ๆ กลบทับให้มิดพูนดินทับให้สูงกว่าระดับดินคลุมด้วยหญ้า หรือฟางรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ ประมาณ 1 – 2 เดือนก็จะออกรากตามข้อกิ่งและแตกยอดเป็นกระโดง เมื่อพ้นดินพอสมควรแล้วให้ตัดเป็นท่อนๆ ระหว่างข้อให้มียอดกระโดงท่อนละ 1 กระโดงนำไปชำในถุงพลาสติกเมื่อตั้งตัวแข็งแรงดีแล้วก็สามารถนำไปปลูกได้
5. การขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอน การตอนเพื่อการขยายพันธุ์องุ่นไม่เหมือนกันกับการตอนต้นไม้ทั่ว ๆ ไปซึ่งต้องควั่นกิ่งส่วนการตอนต้นองุ่น ให้นำดินหุ้มตรงข้อแล้วใช้มอส หรือกาบมะพร้าวหุ้มดินห่อด้วยพลาสติกหรือใบตองรดน้ำให้ชุ่มชื้นประมาณ 10 – 15 วัน ก็ออกรากหลังจากนั้นตัดกิ่งตอนนำไปชำในกระบะทรายหรือขี้เถาแกลบเมื่อกิ่งตอนแตกใบแข็งแรงดีแล้ว สามารนำไปปลูกได้
6. การขยายพันธุ์ด้วยการต่อเสียบ การขยายพันธุ์ด้วยการต่อเสียบทำได้หลายวิธี แต่จะกล่าวเฉพาะการต่อเสียบในแปลง วิธีทำก็คือขุดดินโคนต้นองุ่นที่ใช้ทำเป็นต้นตอ ลึกประมาณ 4 – 5 นิ้วแล้วใช้มีดหรือเลื่อยตัดต้นตอให้เสมอระดับดินหลังจากนั้นใช้มีดคม ๆ ผ่าต้นตอตรงกลางเพื่อให้แยกออกเป็น 2 ส่วน ลึกประมาณ 2 นิ้ว ตัดกิ่งองุ่นพันธุ์ดีมีตาบริสุทธิ์
เอามีดปาดกิ่งให้เป็นลิ่มแล้วเสียบลงในช่องของต้นตอที่ผ่าไว้ให้เปลือกของกิ่งกับเปลือกของต้นตอประสานกันให้สนิทใช้เชือกหรือพลาสติกพันรัดให้แน่น กลบดินพูนขึ้นทับตาบนกิ่งพันธุ์ดีเมื่อตาแตกกิ่งให้เอาเชือกหรือพลาสติกออก กิ่งองุ่นที่เสียบใหม่จะเจริญเติบโตเป็นองุ่นพันธุ์ดีต่อไป
วิธีการปลูกองุ่น
การเตรียมพื้นที่
องุ่นชอบดินร่วนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอินทรียวัตถุ มีความชุ่มชื้นระบายน้ำได้ดีการเตรียมดินสำหรับปลูกองุ่น มีวิธีการดังนี้
- พื้นที่ดินทราย ซึ่งเป็นดินที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ควรปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อเป็นการบำรุงดินโดยปลูกไว้ล่วงหน้าแล้วไถกลบเมื่อออกดอก
- พื้นที่ดินเหนียว น้ำท่วมถึง ให้ทำการยกร่องให้สูงอย่าให้น้ำท่วมถึงใส่ปุ๋ยหมักและทรายหยาบผสมลงในดินเพื่อให้ดินโปร่งร่วนซุย
- พื้นที่ดินดอนหรือลาดเขา ให้ทำการไถให้ลึก ตากดินไว้สัก 1 สัปดาห์ ปลูกพืชตระกูลถั่ว แล้วไถกลบเมื่อออกดอกจะเป็นการทำให้ดินมีลักษณะดีขึ้น
วิธีปลูก
เมื่อเตรียมพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้วให้กะระยะในการขุดหลุมปลูกหากเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ควรปลูกให้ห่างกันระหว่างต้น 2.50 – 3.00 เมตร ระหว่างแถว4.00 เมตร ถ้าเป็นดินเหนียวก็ให้ถี่ลงกว่านี้ ทั้งนี้การกะระยะปลูกขึ้นอยู่กับสภาพท้องที่และพันธุ์องุ่นที่ปลูกประกอบด้วย แถวที่ปลูกองุ่นควรยกเป็นลูกฟูกตลอดแถวอย่างน้อยกว้าง 1.50 เมตร หากเป็นที่ลาดให้ทำร่องขวางเพื่อป้องกันการพังของดิน
การขุดหลุมปลูก ให้ขุดหลุมกว้าง 1 เมตร ลึก 1 เมตร แยกดินปากหลุมและก้นหลุมไว้ต่างหากตากดินให้ แห้งประมาณ 15 – 20 วัน ผสมดินปากหลุมกับปุ๋ยคอกไว้ก้นหลุมและผสมดินก้นหลุมกับปุ๋ยคอกไว้ ปากหลุมแล้วจึงนำต้นองุ่นลงปลูก ตัดกิ่งเล็ก ๆ ออกเหลือแต่ลำต้นมีตา 2 – 3ตา ตัดรากที่ไม่แข็งแรงออก นำดินที่ผสมปุ๋ยคอกกลบดินที่โคนให้เป็นโคกนูน
กดดินให้แน่นปักหลักผูกลำต้นกันโยนคลอน รดน้ำให้ชุ่ม ใช้ใบมะพร้าว หรือใบไม้ทำกำบังแสงแดด หลังจากปลูกประมาณ 1 เดือน จะแตกตาแตกกิ่ง แตกใบงอกงามเจริญเติบโตแข็งแรงการปลุกองุ่นควรปลูกต้นฤดูฝนซึ่งจะเป็นการประหยัดในเรื่องการรดน้ำ
ค้างองุ่น เนื่องจากองุ่นเป็นพันธุ์ไม้เลื้อยหากปลูกแล้วไม่ทำค้าง เถาองุ่นจะเลื้อยไปตามพื้นดินทำให้ เจริญเติบโตช้า เกิดโรคได้ง่าย ผลที่ออกมาก็จะกองอยู่กับพื้นดิน เกิดการเน่าเสียจึงจำเป็นต้องทำค้างให้องุ่นที่ปลุกเลื้อยขึ้นค้าง
การทำค้างองุ่น ที่นิยมกันมี 3 แบบ ดังนี้
1. การทำค้างแบบร้านสูง หรือร้านเตี้ย โดยใช้ไม้ระแนงตีเป็นร้านจะให้สูงหรือเตี้ยก็แล้วแต่ความต้องการหรือจะใช้ลวดตาข่ายห่าง ๆ ขึงก็ได้ เมื่อองุ่นออกผลพวงองุ่นจะห้อยลงมาใต้ร้าน แต่ มีข้อเสียก็คือ ยากแก่การตัดแต่ง และการป้องกันโรค
2. การทำค้างแบบรั้ว วิธีการคือ ใช้เสาไม้หรือเสาซีเมนต์หรือเสาเหล็กปักเป็นแถวยาว เสาต้นแรกและต้นสุดท้ายต้องแข็งแรง เพื่อเป็นตัวยึดเหนี่ยวลวดในเวลาขึงจะได้มั่นคง ส่วนเสาตรงกลางจะเล็กบางก็ได้ความสูงของเสาเมื่อปักลงไปในดินแล้วให้เหลือความสูงไว้เท่ากับความสูงของคน หรือสูงกว่าเล็กน้อยการปักเสาห่างกันประมาณ 12 – 15 ฟุต
การขึงลวดจะขึงกี่เส้นก็ได้ แต่ลวดเส้นล่างต้องสูงกว่าพื้นดินไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร ลวดที่ใช้ขึงจะใช้ลวด เบอร์ 9 หรือเบอร์ 10 หรือเบอร์ 11 ก็ได้แต่มือองุ่นมักชอบเกาะลวดเส้นเล็กมากกว่าลวดเส้นใหญ่ หากไม่ใช้ลวดขึงจะใช้ ไม้ระแนงแทนลวดก็ได้ แต่จะสิ้นเปลืองมากว่าการใช้ลวด ข้อดี ของการทำค้างแบบรั้ว คือ สะดวกต่อการตัดแต่ง การบำรุงรักษา การป้องกันโรคและศัตรูพืช
3. การทำค้างแบบค้างเตี้ยเป็นรูปตัวที หรือรูปไม้กางเขน โดยใช้เสาไม้หรือเสาซีเมนต์ปักเป็นแถวให้สูงจากพื้นดิน 5 – 6 ฟุต ตอนบนของหัวเสาใช้ไม้ตีเป็นรูปไม้กางเขนยาว 1.00 – 1.20 เมตร สามารถขึ้นลวดได้ 3 – 4 แถว เพื่อให้เถาองุ่นจับเกาะค้าง แบบนี้ใบองุ่นสามารถรับแสงแดดได้เต็มที่ ง่ายต่อการตัดแต่งและการป้องกันโรควัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ทำค้างองุ่น ไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุดังกล่าวเสมอไป จะใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ ไม้รวกก็ได้ตามความเหมาะสม ทั้งในด้านความสะดวกและการประหยัด
การบำรุงรักษาองุ่นหลังปลูก
การปลูกองุ่นก็เช่นเดียวกันกับการปลูกพืชอื่น ๆ แต่การบำรุงรักษาองุ่นนั้นค่อนข้างจะมากกว่าพืชชนิดอื่น ๆ ในการบำรุงรักษาองุ่นที่ปลูกนั้น มีแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้
1. การให้ปุ๋ย ตามปกติพืชทั่ว ๆ ไปจะต้องการอาหารแร่ธาตุต่าง ๆ ที่สำคัญ 3 ชนิด คือ ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโปแตสเซียม ดังนั้น เมื่อผู้ปลูกสังเกตเห็นว่าองุ่นที่ปลูกแสดงอาการผิดปกติ ก็ต้องแก้ไขโดยการเพิ่มอาหาร แร่ธาตุต่าง ๆ ตามที่ปรากฏ เช่น เมื่อขาดธาตุไนโตรเจน ลักษณะของลำต้นจะแคระแกร็น ใบและลำต้นจะสีเหลืองซีด การเจริญเติบโตช้า แต่ถ้ามากเกินไปใบจะสีเขียวจัด ก้านเปราะ ผลสุกช้า หากขาดธาตุฟอสฟอรัส รากจะไม่เจริญเติบโต แคระแกร็น ใบสีเขียวเข้ม ผลแก่ช้ากว่าปกติ
และหากขาดธาตุโปแตสเซียม จะเจริญเติบโตช้า เส้นใบและขอบใบมีสีเหลือง ริมใบมีสีน้ำตาล ปล้องจะถี่หรือระหว่างข้อสั้น เมื่อองุ่นที่ปลูกปรากฏอาการดังกล่าว จะต้องแก้ไขโดยการเพิ่มอาหารที่ขาดไป ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ควรใช้ปุ๋ยจำพวกอินทรียวัตถุใส่เป็นประจำ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เป็นต้น
ขณะเดียวกันควรหมั่นพรวนดินระหว่างแถวด้วยจอบ หรือเครื่องทุ่นแรง นอกจากจะปราบวัชพืชแล้ว ยังเพิ่มปุ๋ยพืชสดให้กับดินอีกด้วยและเป็นการลดการระเหยของน้ำในดิน
2. การให้น้ำ แม้ว่าองุ่นจะไม่ชอบดินแฉะแต่ก็ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำน้ำไปปรุงแต่งผลให้เต่ง โดยเฉพาะในระยะแรกเริ่มปลูกและเริ่มติดผลอย่าให้ขาดน้ำ การปลูกองุ่นเป็นจำนวนมากจำเป็นต้องเตรียมน้ำไว้ให้พร้อม อาจจะขุดเป็นร่องเพื่อกักขังน้ำไว้ เมื่อองุ่นมีผลแก่เริ่มแก่จะสุก ควรงดการให้น้ำหรือให้บ้างเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ควรหาวัสดุ เช่น หญ้าแห้ง ฟางข้าวคลุม โคนต้น จะเป็นการช่วยลดการระเหยของน้ำในดิน ทำให้ดินมีความชุ่มชื้น
3. ลม ผู้ปลูกองุ่นส่วนมากมักจะไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องลมมากนัก แต่ถ้าผู้ปลูกในที่โล่งเตียนมีลมจัด จะมีผลกระทบต่อการปลูกองุ่นเหมือนกัน กล่าวคือ หากมีลมแรง ต้นองุ่นจะโยกคลอนไปตามลม ใบจะขาด ลมจะพัดพาเกสรของดอกปลิวไปที่อื่น ไม่สามารถผสมพันธุ์กันได้ หรือตัวแมลงที่ช่วย ผสมเกสรจะเกาะเกสรไม่ได้ ทำให้เกิดผลน้อย ทางที่ดีควรปลูกต้นไม้อื่นบังลมไว้บ้าง เพราะนอกจากจะบังลมแล้วยังช่วยลดการระเหยของน้ำในดินและอากาศจะมีความชุ่มชื้นสม่ำเสมอ
โรคศัตรูและการป้องกันรักษา
องุ่นนับได้ว่าเป็นผลไม้ที่มีโรคและศัตรูมารบกวนมากมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของท้องถิ่นและดินฟ้าอากาศที่ปลูกองุ่นโรคองุ่นในเมืองไทยที่พบส่วนมากเกิดจากเชื้อราต่าง ๆ ดังนี้
1. แอนแทรคโนส หรือแบล็ค สปอท (Anthracnos or Black Spot) จะเกิดที่ตรงยอดและใบอ่อนทำให้ยอดหงิก เป็นจุดสีน้ำตาลไหม้หรือจุดดำ กิ่งจะเฉา และองุ่นจะตายในที่สุด วิธีป้องกัน คือ ตัดส่วนที่เป็นโรคและเผาเผาไฟทิ้ง แล้วพ่นยาบอร์โดมิกซ์เจอร์ หรือใช้ยาแคนแทน 50 %
2. ดาวนี มิลดิว ( Zdowny Mildew)เป็นเชื้อราที่ทำลายกิ่งและใบอ่อน โดยจะเกิดรอบช้ำ ๆ บนใบและท้องใบเป็นหย่อม ๆ แล้วเปลี่ยนเป็นจุดกลมสีขาวที่ท้องใบ เมื่อแก่จะแตกเป็นละอองปลิวไปติดส่วนอื่น ๆ ซึ่งจะทำลายส่วนนั้นให้เสียหาย ต้นองุ่นจะอ่อนแอ กิ่งแห้งและตาย เมื่อพบโรคนี้ให้ตัดส่วนที่เป็นโรคเผาไฟทิ้ง แล้วพ่นยาบอร์โดมิกซ์เจอร์ ส่วนการป้องกันให้พ่นน้ำยานี้เป็นประจำ
3. พาวเดอร์ มิลดิว ((Powder Mildew) เชื้อราชนิดนี้จะทะลายใบอ่อน ดอก และผล โดยเป็นจุดสีเทาแก่ เมื่อแตกจะเป็นละอองปลิวไปทำลายส่วนต่าง ๆ ทำให้องุ่นไม่เติบโต ดอกผลไม่ติด การป้องใช้กำมะถันผงหรือกำมะถันละลายน้ำพ่นเป็นละอองให้ทั่ว ทั้งนี้ ควรใช้กำมะถันละลายน้ำผสมกับยาบอร์โดมิกซ์เจอร์ พ่นทุกเดือนจะเป็นการป้องกันได้เป็นอย่างดีศัตรู ศัตรูขององุ่นมีทั้งแมลงและอื่น ๆ ซึ่งได้แก่
- ไส้เดือนฝอย เป็นไส้เดือนที่เล็กมาก จะลายรากและอุดทางเดินของอาหาร ทำใหองุ่นเฉาแห้งและตายในที่สุด การกำจัดใช้ยาคลอร์เดนออลดรีน 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 2 แกลลอน รดบริเวณโคนต้น ส่วนการป้องกันให้รดน้ำยานี้ที่โคนต้น สัปดาห์ละ 4 ครั้ง
- หนอน กัดกินใบมีหลายชนิด หากพบน้อยก็จับทำลายให้หมด ถ้ามากใช้วิธีการฉีดยา เช่น ดี.ดี.ที สารหนู ตะกั่ว หรือโล่ติ้น
- แมลงปีกแข็ง จะกัดกินใบองุ่นให้เสียหาย ป้องกันและกำจัดโดยใช้ยาคือ โล่ติ้น ดีลดรีน สารหนู ตะกั่ว หรือ ดี.ดี.ที. ฉีดพ่นเป็นประจำ
- ตั๊กแตน จะกัดกินยอดอ่อนของกิ่งที่กำลังแตกตาใหม่ ๆ ป้องกันและกำจัดโดยใช้ยาคลอร์เดน ดีลเดน หรือ ดี.ดี.ที. ฉีดพ่นบ่อย ๆ
- หนอนผีเสื้อ ซึ่งจะม้วนตัวอยู่ในใบและจะกัดกินใบ ป้องกันและกำจัด โดยใช้ยาพาราไธออน ดี.ดี.ที หรือสารหนู ตะกั่ว ฉีดทำลาย
- เพลี้ยต่าง ๆ จะเกาะตามใบและต้นโดยจะดูดน้ำกิน จนกระทั่งต้นองุ่นตาย ใช้ยาดี.ดี.ที. ดีลดรีน นิโคตินซัลเฟต หรือพาราไธออน ฉีดทำลายและเป็นการป้องกัน
- แมงมุมแดง มีขนาดตัวเล็กมากจะเกาะกินและดูดน้ำในใบ ทำให้ใบเหลือง ร่วงหล่นไป การป้องกันรักษาใช้กำมะถันผงหรือกำมะถันละลายน้ำ ฉีดพ่นตามใบสลับกับพาราไธออนหรือคลอร์เดน
- ปลวก จะกัดกินราก การกำจัดทำได้โดยพรวนดินที่โคน ใช้ยาดีลดรีน น้ำราดลงในดิน และหมั่นตรวจดูแลอยู่เสมอ
- นก จะคอยรบกวนผลองุ่นที่ใกล้จะสุกโดยจิกกิน ควรใช้ลวดตาข่ายหรือถุงพลาสติก หรือใบตองแห้งห่อพวงองุ่นไว้
ผู้ปลูกองุ่นจะต้องเอาใจใส่ในเรื่องการป้องกันไม่ให้โรคศัตรูเกิดขึ้น โดยปฏิบัติ ดังนี้
- รักษาความสะอาดบริเวณที่ปลูกองุ่นมิให้รกรุ่งรัง
- บำรุงต้นองุ่นให้แข็งแรง มีกำลังต้านทานโรค
- สังเกตต้นองุ่นที่ปลูก หากองุ่นผิดสังเกตต้องหาสาเหตุแก้ไข หรือเมื่อโรคและศัตรูรบกวนต้องทำ การกำจัด หรือฉีดยาป้องกัน
การเลี้ยงเถาองุ่น การตัดแต่ง และการเก็บผลองุ่น
การเลี้ยงเถาองุ่นและการตัดแต่ง องุ่นที่ปลูกในเมืองไทย มีอายุการออกดอกติดผลเร็วกว่าองุ่นที่ปลูกในต่างประเทศ เพราะจะออกดอกติดผลได้ภายในระยะเวลา 1 ปี ดังนั้นการตัดแต่งจะกระทำได้เมื่อองุ่นที่ปลูกมีอายุเพียง 7 – 8 เดือน แต่ทั้งนี้ก็ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ที่ปลูก ดินฟ้าอากาศและชนิดพันธุ์ที่ปลูกประกอบด้วยการแต่งและตัดเถาองุ่น แบ่งได้ 2 ประการ คือ
- แต่งและตัดเพื่อให้องุ่นที่ปลุกแตกกิ่งก้านสาขาได้รูปทรงเข้ากับหลักหรือค้างที่ทำไว้
- แต่งและตัดเพื่อบังคับให้องุ่นแตกกิ่งออกดอกติดผลตามความต้องการ
การแต่งและตัดตามข้อ 1 เพื่อให้ได้รูปทรงตามความต้องการ ต้องดำเนินการตั้งแต่ปลูก หากองุ่นที่ปลูกไม่แข็งแรงให้ตัดต้น เหลือตาเพียง 2 – 3 ตา เมื่อแตกกิ่งจากตาแล้วตัดกิ่งออกเหลือกิ่งที่ แข็งแรงเพียง 1 กิ่ง เพื่อใช้เป็นเถาใหญ่ ต้องคอยเด็ดกิ่งแขนงข้าง ๆ ออกให้เหลือแต่ยอดเถาเดียว ผูกเถากับค้างหรือหลัก ให้ยึดเกาะเมื่อเถาเจริญเติบโตเป็นสีน้ำตาล ก็ตัดยอดหรือปลายของเถานั้นตามความต้องการตามปกติจะต้องตัดเหลือแค่ลวดเส้นล่าง
องุ่นจะแตกกิ่งจากตาปลายแถวเป็นหลายกิ่ง เลือกตัดให้เหลือ 1 – 2 กิ่ง ซึ่งจะเป็นแขนงขององุ่น มัดกิ่งแขนงนี้เข้ากับค้างตามความต้องการการแต่งและตัดตามข้อ 2 เพื่อบังคับให้ออกผลนั้นต้องดำเนินนการเมื่อองุ่นขึ้นค้างเข้ารูปทรงตามข้อ 1 แล้ว วิธีการคือ เมื่อกิ่งแขนงเจริญเติบโตจนยาวให้ตัดยอดของแขนงนั้นออก เหลือไว้ตามที่ ต้องการโดยคำนึงถึงระยะของต้น ขนาดของค้าง และหลักที่ทำไว้ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะมีตาแตกจากแขนงนี้กี่ตา
เมื่อตาบนแขนงนี้แตกเป็นกิ่งเจริญเติบโตจนเป็นกิ่งแก่มีสีน้ำตาล ให้ตัดกิ่งให้สั้นเป็นตอกิ่ง มีตาเหลือ 2 – 3 ตา เพื่อให้เกิดกิ่งจากตาของตอกิ่งที่เหลือไว้ กิ่งที่เกิดเมื่อสมบูรณ์แข็งแรงจะออกดอกติดผลเมื่อออกผลแล้วต้องเลี้ยงกิ่งนี้ไปจนเป็นกิ่งแก่จึงตัดให้สั้นเข้าเหลือตาไว้ 2 – 3 ตา เพื่อให้เป็นตอกิ่ง ซึ่งจะแตกกิ่งต่อไป และกิ่งที่แตกนี้เจริญเติบโตแข็งแรงก็จะออกดอกติดผลการตัดแต่งกิ่ง ถ้าเห็นว่างอกกิ่งมากเกินไป ควรตัดออกบ้างเพื่อมิให้แยกอาหาร กิ่งที่ตัดออกนี้
หากเป็นกิ่งแก่สามารถนำไปปักชำเป็นพันธุ์ต่อไป การเด็ดตาตาที่แตกเป็นกิ่งซ้อนขึ้นมาใหม่ ถ้าไม่มีประโยชน์ควรตัดทิ้งยิ่งเห็นว่าเป็นตาที่ไม่สมบูรณ์ควรรีบตัดทิ้งไปการตัดมือความจริงมือขององุ่นมีไว้เพียงเพื่อยึดเกาะรับน้ำหนักของกิ่ง ถ้ามากเกินไปควรตัดทิ้ง หากปล่อยไว้ก็จะแย่งอาหาร และเมื่อองุ่นตาย จะแกะมือออกค่อนข้างยากอายุการตกผลและการเก็บผลองุ่น ตามปกติองุ่นจะตกผลปีละครั้ง สำหรับองุ่น ในเมืองไทย หากต้นแข็งแรงเจริญเติบโตดีจะให้ผลในระยะ 1 ปี การตกผลจะราวต้นเดือนกันยายน – ตุลาคม และแก่เก็บได้ราวปลายเดือนธันวาคม – มกราคม
สำหรับองุ่นที่ตกผลปีละ 2 ครั้งนั้นจะตกผลในเดือนกันยายนถึงตุลาคม ผลจะแก่เก็บได้ ในเดือนธันวาคม – มกราคม และจะตกผลในครั้งที่สองเดือนกุมภาพันธ์ ผลจะแก่เก็บได้ในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์การบำรุงรักษาสภาพพื้นที่รวมทั้งดินฟ้าอากาศ อายุขององุ่น หากบำรุงรักษาเป็นอย่างดี สามารถจะออกผลได้นานถึง 50 – 60 ปี ส่วนการที่องุ่นจะเริ่มตกผลเมื่ออายุ 1 ปีนั้นจะเกิดขึ้นเฉพาะองุ่นที่ขยายพันธุ์ด้วยการตัดกิ่ง ปักชำ ติดตา ทับกิ่ง ต่อกิ่งและตอนส่วนการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดจะตกผลเมื่ออายุ 3 – 4 ปี
การเก็บผลองุ่น
ระยะเวลาการเก็บผลองุ่นจะกำหนดให้แน่นอนทำได้ยาก รวมทั้งการเก็บผลก็แล้วแต่ประโยชน์ที่จะนำไปใช้ เช่น รับประทานสด ตากแห้งหรือทำเหล้าองุ่นต้องใช้ ดุลยพินิจและความชำนาญและฤดูกาล อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตบางประการนำมาประกอบการพิจารณาในการเก็บผล ดังนี้
- แสดงสีตามพันธุ์ออกมา เช่น สีเขียวเมื่อแก่ และสุกก็จะเป็นสีขาว
- รสและกลิ่นหอมหวาน
- เนื้ออ่อนนุ่ม
- ขั้วเปลือกจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาล
- ผลดึงหลุดจากพวงได้ง่าย
- เมล็ดล่อนจากเนื้อเป็นสีน้ำตาล
นอกจากนี้ อาจจะใช้วิธีเก็บมาชิมเพราะองุ่นบางพันธุ์เมื่อตัดแล้วนำมาแขวนทิ้งไว้สัก 2 – 3 วัน จะมีรสหวานขึ้น แสดงว่าองุ่นแก่และสุก สามารถเก็บได้
วิธีเก็บ
ใช้กรรไกรค่อย ๆ ตัดพวงองุ่นจากเถาอย่าใช้มือดึง เมื่อตัดแล้วใส่กระบะหรือถาด นำไปเก็บไว้ในห้องเย็นจะอยู่ได้นาน
การจัดการและการตลาด
ปัจจัยทางด้านการตลาดขององุ่น
การตลาด หมายถึง การกระจายหรือเคลื่อนย้ายของสินค้า และบริการจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค ในปัจจุบันตลาดในประเทศไทยและต่างประเทศมีความต้องการผลองุ่นเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ปลูกองุ่นมักจะคำนึงถึงด้านการปลูกองุ่นเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงมากกว่า
ปัญหาทางด้านการตลาด ซึ่งจะมีปัญหาเกิดขึ้นในภายหลัง ดังนั้น เพื่อมิให้ผู้ปลูกองุ่นเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมต้องขาดทุนจึงควรศึกษา และเลือกตัดสินให้ถูกต้อง โดยวางแผนดำเนินการ ดังนี้
1. จำนวนองุ่นที่ปลูกและพันธุ์ที่ปลูก ต้องพิจารณาความต้องการของตลาดหลาย ๆ แห่ง เพื่อพิจารณาดูว่าตลาดมีความต้องการมากน้อยแค่ไหน ต้องการองุ่นพันธุใดมากที่สุด มีความแปรผันในด้านราคาห่างกันประมาณเท่าใด เพื่อเป็นข้อมูลในการปลูกและการคัดเลือกพันธุ์องุ่นที่จะปลูก
2. การขายผลผลิต การขายองุ่นมีทางเลือกหลายทาง เช่น ขายให้ผู้บริโภคโดยตรง ขายให้พ่อค้าคนกลาง ขายโดยผ่าน สหกรณ์ หรือขายโดยการตกลงทำสัญญาล่วงหน้า ซึ่งผู้ปลูกองุ่นต้องพิจารณาเลือกให้ถูกต้อง หากเลือกได้ถูกต้องจะมีส่วนช่วยเพิ่มผลกำไรได้มาก
3. ระยะเวลาในการจำหน่าย โดยปรกติราคาองุ่นในตลาดแต่ละแห่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ช่วงเทศกาล ปริมาณผลผลิต ผู้ปลูกองุ่นจำเป็นต้องวางแผนในการจำหน่าย โดยการเลือกเวลาที่เหมาะสม อาจจำหน่ายผลสดหรืออาศัยการเก็บรักษาผลผลิตไว้จำหน่ายในช่วงเวลาที่ได้ราคา หรือแปรรูปเพื่อจำหน่ายได้ระยะเวลานาน
4. สถานที่จำหน่าย ผู้ปลูกองุ่นทั่วไปต้องพิจารณาว่าจะขายผลผลิตที่ไหน เพราะตลาดที่รับซื้อแต่ละแห่งจะแตกต่างกันเนื่องจากปัจจัยอื่น ๆ ไม่เหมือนกัน เช่น การขนส่งจำนวนที่พ่อค้าสามารถขายได้มากน้อย เป็นต้น ดังนั้น จะต้องเอาปัจจัยนี้มาพิจารณาด้วย เพื่อจะได้กำไรจากการขายมากที่สุดอย่างไรก็ตาม ผู้ปลูกองุ่นเพื่อการจำหน่าย
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือ ต้นทุนที่ลงทุนทั้งหมดและเมื่อจำหน่ายแล้วต้องมีกำไรมากที่สุดจึงจะประสบผลสำเร็จประเทศไทยนับว่ามีสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะแก่การปลูกองุ่นมาก เพราะองุ่นที่ปลูกโตเร็วกว่าประเทศอื่นบางประเทศ แต่ผลผลิตยังมีไม่เพียงพอต่อการบริโภคเพราะยังปลูกกันน้อย แต่ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่ผลผลิตจะบริโภคเฉพาะภายในประเทศ ราคาซื้อขายก็ถูกกว่าแต่ก่อนมาก ทั้งนี้แล้วแต่ชนิดและพันธุ์ขององุ่นความต้องการของตลาดในประเทศไทยไม่แน่นอน
บางระยะเวลามีความต้องการสูงมาก เช่น ช่วงเทศกาลต่าง ๆ จึงทำให้ราคาองุ่นสูง บางช่วงราคาองุ่นจะถูก เช่น องุ่นขาว – เขียว ราคากิโลกรัมละ30 – 40 บาท ชาวไร่ก็ยังอยู่ได้ โดยพยายามลดต้นทุนและบำรุงรักษาให้ได้ผลดียิ่งขึ้นองุ่นที่จำหน่ายภายในประเทศส่วนใหญ่จำหน่ายผลองุ่นสดการนำองุ่นไปแปรรูปโดยใช้ทำเหล้าองุ่น (Wine) องุ่นบรรจุกระป๋อง หรือทำน้ำองุ่นสดยังไม่สามารถดำเนินได้ เนื่องจากมีปัญหาด้านพันธุ์องุ่น และการลงทุนที่สูงไม่คุ้มค่าการทำองุ่นตากแห้งด้วยแสงแดด
ในปัจจุบัน ประเทศไทยนับได้ว่ามีองุ่นที่จำหน่ายมากพอสมควร ในช่วงที่มีปริมาณมาก ราคาจะต่ำควรนำมาแปรรูปเป็นองุ่นตากแห้ง เพื่อเก็บไว้บริโภคหรือเพื่อจำหน่าย สำหรับการแปรรูปเป็นองุ่นตากแห้ง ใคร่ขอเสนอวิธีทำโดยตากแห้งด้วยแสงแดด ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย ลงทุนน้อย เหมาะสมกับเมืองไทยเพราะมีแสงแดดมาก
วิธีทำ
เก็บผลองุ่นด้วยมืออย่างระมัดระวังอย่าให้เสียหาย นำไปใส่ถาดที่ทำด้วยกระดาษแข็งมีกรอบทำด้วยไม้ เกลี่ยองุ่นให้ทั่วถาดอย่าให้พวงซ้อนกัน นำไปตากแดดประมาณ 10 – 15 วัน แล้วใช้ถาดเปล่าขนาดเท่ากันครอบถาดที่มีองุ่นไว้กลับพลิกโดยเร็ว
โดยให้องุ่นกลับมาอยู่ในถาดใหม่ ทั้งนี้ด้านล่างจะยังไม่ถูกแสงแดดเมื่ออยู่ในถาดเดิม ตากไว้อีก 10 – 15 วัน องุ่นก็จะแห้งทั่วกัน คือ มีความชื้นประมาณ 15% นำไปบรรจุหีบหรือลังหุ้มด้วยกระดาษหนา ๆ เพื่อให้องุ่นมีความชื้นเท่ากัน หลังจากนั้นบรรจุในกล่องหรือหีบห่อ เพื่อนำไปเก็บไว้รับประมาณหรือเพื่อจำหน่ายต่อไป
อ้างอิงจากข้อมูลจาก SME bank
ขอบคุณรูปภาพจาก goo.gl/3bUX5e